รศ.ดร เนาวรัตน์ เจริญค้า


รศ.ดร เนาวรัตน์ เจริญค้า

--------------------------------------------------------------------------------------------------

แนะนำบุคคลในข่าว คือ รศ.ดร เนาวรัตน์ เจริญค้า อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.ดร เนาวรัตน์ เจริญค้าได้เขียนงานวิจัยให้กับศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) เรื่องควันบุหรี่ในท่าอากาศยานนานาชาติ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและแนวทางแก้ไข ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ได้มีการจัดแถลงข่าว ในหัวข้อ “ควันบุหรี่มรณะเต็มสุวรรณภูมิ เร่งรัฐประกาศการะทรวงด่วน”เมื่อวันที่ 7 พ.ค.56 รศ.ดร เนาวรัตน์ เจริญค้า กล่าวว่า

                ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ.๒๕๕๓ ท่าอากาศยานนานาชาติเป็นสถานที่สาธารณะประเภทที่สามารถจัด “เขตสูบบุหรี่”ได้ เป็นที่ทราบดีว่าพิษภัยจากควันบุหรี่ที่ผู้ไม่สูบบุหรี่สูดดมเข้าไปโดยไม่ตั้งใจนั้นเป็นสาเหตุการเสียชีวิต และโรคร้ายหลายชนิด ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคในระบบทางเดินหายใจ ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ รายงานสำนักงานแพทย์ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2549 ระบุว่าการสัมผัสควันบุหรี่มือสองนั้นไม่มีระดับความปลอดภัย แม้การสูดดมควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ ในระยะเวลาสั้น ๆ ก็อาจทำให้มีผลต่อระบบหลอดเลือดในหัวใจ และระบบทางเดินหายใจได้ จึงแนะนำว่าการห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารทั้งหมดเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะขจัดความเสี่ยงจากการรับสารพิษในควันบุหรี่มือสองได้ และในปีเดียวกัน ที่ประชุมร่วมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาองค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบได้มีมติรับรองมาตรา 8 ว่าด้วยการปกป้องอันตรายจากควันบุหรี่มือสองอีกด้วย

                ท่าอากาศยานขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกตื่นตัวในการดำเนินนโยบายการเป็นท่าอากาศยานปลอดบุหรี่ เช่น ท่าอากาศยานกรุงปักกิ่ง ได้ปิดห้องพักสูบบุหรี่ทั้ง 36 ห้อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ท่าอากาศยานที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่เป็นท่าอากาศยานปลอดบุหรี่ ในช่วงเวลา 10 ปี ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2545-2555 เพิ่มขึ้นจาก 13 แห่ง (ร้อยละ 42) เป็น 24 แห่ง (ร้อยละ 83) และหากนับรวมท่าอากาศยานขนาดกลางและขนาดเล็กด้วยแล้ว ปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกามีท่าอากาศยานปลอดบุหรี่ถึง 150 แห่ง 

                เอกสารลับบริษัทบุหรี่ระบุถึงความพยายามในการคัดค้านนโยบายท่าอากาศยานปลอดบุหรี่ และสนับสนุนที่จะให้คงไว้ซึ่งห้องพักสูบบุหรี่และการสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ระบายอากาศ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ไร้ผลในการลดความเสี่ยงจากการสัมผัสควันบุหรี่มือสองทั้งสิ้น เนื่องจากพบว่าขณะที่อุปกรณ์เหล่านั้นทำงานอยู่ ยังมีสารพิษจากควันบุหรี่กระจายตัวออกสู่บริเวณนอกห้องสูบบุหรี่ด้วย ผลจากการศึกษาวิจัยที่คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาในท่าอากาศยานนานาชาติ 4 แห่งในประเทศไทยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าระดับฝุ่นขนาดเล็กซึ่งเป็นตัวชี้วัดควันบุหรี่มือสองที่ตรวจวัดได้จากห้องพักสูบบุหรี่ในระดับสูงมากนั้น บ่งชี้ถึงภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้เดินทางที่ใช้บริการท่าอากาศยาน และผู้ที่ปฏิบัติงานประจำในนั้น

                จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการให้ท่าอากาศยานนานาชาติ ยกเลิกการใช้ห้องพักสูบบุหรี่ภายในอาคาร และกำหนดให้เป็นท่าอากาศยานปลอดบุหรี่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะปกป้องสุขภาพของผู้ใช้บริการ และผู้ปฏิบัติงานประจำในท่าอากาศยานในการลดความเสี่ยงจากการรับพิษภัยจากควันบุหรี่มือสองและสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศสะอาดเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับบรรทัดฐานทางสังคมไม่ให้เยาวชนได้เห็นต้นแบบการสูบบุหรี่ และเป็นการกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่ต้องการเลิกบุหรี่อีกด้วย

ศจย. 21 มี.ค. 57

หมายเลขบันทึก: 564357เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2014 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2014 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท