กรณีการพยายามจะยกเลิก ม.42


การสร้างระบบการเยียวยาร่วมกันโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิดขึ้นในสังคม ในระบบสาธารณสุขของไทย โดยเร็ว

          มีข่าวว่า ครม.มติเห็นชอบในการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยการตัด ม.42 ออกไป มาดูเนื้อความตาม ม.41 และ ม.42 แห่ง พระราชบัญญัติ ฉบับนี้ มีดังนี้ ครับ

          มาตรา 41 “ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้
หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหาย
ที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้
แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
ที่ คณะกรรมการกำหนด” (อันนี้คณะกรรมการก็มีการกำหนดไว้แล้ว ติดตามได้ที่ http://www.nhso.go.th)

          และ มาตรา 42 “ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล
ของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร
ตามมาตรา 41 เมื่อสำนักงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการไปแล้ว สำนักงาน
มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้กระทำผิดได้”

          ประเด็น “สำนักงานมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้กระทำผิดได้” ซึ่งหมายถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสิทธิไล่เบี้ยฯ จึงเป็นประเด็นร้อนมาคราวหนึ่งเมื่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้เริ่มบังคับใช้ ซึ่งฝั่งผู้ให้บริการเองจะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยจากการให้บริการที่ ไม่น่าจะมีว่า “ตั้งใจให้เกิดความผิดพลาดขึ้นจนผู้รับบริการได้รับความเสียหาย” แต่หากเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เป็นไปได้ ตามที่ได้เขียนไว้แล้วที่ กรณี คุณดอกรักฯ และที่ ความเข้าอกเข้าใจกัน + การให้อภัยซึ่งกันและกัน + การเยียวยาอย่างทันท่วงที

          นับตั้งแต่มีบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้มาประมาณ 3 ปี มีกรณีเกิดขึ้นมากมาย และมีการเยียวยา ด้วยการให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการที่ได้รับผลกระทบ (รวมถึงผู้ให้บริการก็ได้ หากเป็นผู้ได้รับผลกระทบเอง) แต่ไม่มีการนำบทบัญญัติตาม ม.42 มาบังคับใช้แต่อย่างใด ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นด้วยที่ไม่ควรนำมาบังคับใช้ และให้มีการแก้ไขโดยตัดออกไป ด้วยเพื่อให้เป็นไปตามเจตนา “ของการเยียวยาผู้รับที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด” สำหรับเหตุผลก็ได้นำเสนอไว้ตามที่กล่าวถึงไปครั้งหนึ่งแล้ว (กรณี คุณดอกรักฯ และที่ ความเข้าอกเข้าใจกัน + การให้อภัยซึ่งกันและกัน + การเยียวยาอย่างทันท่วงที)

          แต่ประเด็นที่นำเสนอขึ้นมา คือการเยียวยาเบื้องตนที่ว่านี้ ไม่ได้ครอบคลุมแก่ประชาชนทุกสิทธิ ที่ไปรับบริการ ณ ที่เดียวกัน สถานบริการเดียวกัน แต่เป็นไปเฉพาะสิทธิบัตรทอง (โครงการ 30 บาทฯ) เท่านั้น แล้วหากเกิดความเสียหายขึ้น (เน้นว่าไม่น่าจะมีว่าการตั้งใจให้เกิดขึ้น) กับประชาชนสิทธิอื่น จะไม่มีการเยียวยาโดยสังคมร่วมรับผิดชอบใช่ไหม ต้องให้มีการฟ้องร้องกันเองหรือ หรือต้องมีการไกล่เกลี่ยยอมชำระค่าเสียหายกันนอกระบบ (เครียร์) กรณีผู้รับบริการเป็นคนด้อยโอกาสในสังคม จะเกิดอะไรขึ้น กรณีผู้รับบริการเป็นผู้ใหญ่ ผู้โต ในสังคมนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ที่แน่ ๆ ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคม จริง ๆ ได้พูดถึงความรู้สึกของคนให้บริการเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้นไว้แล้วตามที่เชื่อมโยงไป หรือดูจากกรณีผู้รับบริการเองที่ต้องไปฟ้องร้องเองต่อศาล ยาวนานมาราธอนแค่ไหน ก็พอได้รับรู้จากสื่อสารมวลชนอยู่แล้ว สิ่งที่เรียกร้องมาตั้งแต่ 2 บันทึกที่อ้างถึงคือ การสร้างระบบการเยียวยาร่วมกันโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิดขึ้นในสังคม ในระบบสาธารณสุขของไทย โดยเร็ว จึงมาชวนคุยให้คิดถึงกันอีกครั้ง ก่อนที่จะมีข่าวออกมาอีก (ทั้ง ๆ น่าจะมีอยู่ แต่ไม่ปรากฎเป็นข่าว)

หมายเลขบันทึก: 5639เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2005 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
     เพิ่มเติม : ดาวน์โหลดเรื่อง หมอยิ้มออกหลังวิปรัฐบาล มีมติตัดมาตรา 42 ได้ที่หน้าเวบ สปสช.ได้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท