Enron อภิมหาจรรยาบรรณวิบัติระดับองค์กรเดี่ยวที่โลกลืม


อาจารย์จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

[email protected]

 

 

เมื่อใดที่นึกถึงจรรยาบรรณวิบัติระดับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ชื่อบริษัทที่ผู้คนทั่วโลกบังคงนึกได้เป็นอันดับแรกยังน่าจะชื่อของบริษัท เอนร่อน (Enron) ที่ล่มสลายไปเมื่อปี 2001 และนาย Jeff Skilling CEOของ Enron ที่ถูกตัดสินจำคุกก็จะครบกำหนดและออกจากห้องขังประมาณปี 2017

การล่มสลายของกิจการ Enron เกิดมานานแล้ว แต่ยังไม่อยากให้ลืมเลือนไป ด้วยความที่คนเรามักจะมีความจำที่สั้น จนลืมเลือนบทเรียนด้านจรรยาบรรณวิบัติครั่งใหญ่ไปแล้ว ทั้งที่ Enron คือบทเรียนของการล่มสลายรายใหญ่ที่สุดของภาคเอกชน ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ และทำให้สหรัฐขายหน้าทั่วโลกในด้านจรรยาบรรณวิบัติชนิดที่เถียงไม่ออก

ผู้บริหารของ Enron บริหารจัดการธุรกิจของ Enron พร้อมได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นทุกปีท่ามกลางการเบียดเบียนมาจากความสูญเสียของพนักงานและของสังคมโดยรวม แต่ในที่สุดพฤติกรรมที่ทุจริตดังกล่าวก็ทำลายตัวกิจการ Enron เองพร้อมกับทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องล่มสลายตามไปด้วย

(1) พฤติกรรมบิดเบือน ฉ้อฉลของบุคคลมีอิทธิพลต่อกิจการ และทำให้กิจการมีพฤติกรรมที่ฉ้อฉลไม่ผิดเพี้ยนกัน

(2) มีความเชื่อกันว่า กรณี Enron คงจะไม่ใช่กรณีสุดท้าย ซึ่งหากการกำกับจริยธรรมทางธุรกิจและการควบคุมการฉ้อฉลไม่ได้ผล กฎหมายและการกำกับกิจการที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงยังจะต้องปรับปรุงต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง

(3) การทุจริตและจรรยาบรรณวิบัติ ไม่จำเป็นต้องเกิดกับบริษัทขนาดใหญ่เสมอไป เพราะ Enron ไต่เต้าขึ้นมาจากบริษัทธุรกิจค้าก๊าซธรรมชาติเล็กๆ ที่ได้รับการสนับสนุนการเติบโตจากที่ปรึกษา บริษัทผู้สอบบัญชีภายนอก และสถาบันการเงินเจ้าหนี้ให้มีช่องทางซิก แซ็ก จากช่องว่างของกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่ควบคุมอยู่ จนกลายเป็นบริษัทมหาชนใหญ่ที่สุดอันดับ 7 ของประเทศในเวลาอันสั้นและสุดยอดกิจการที่มีนวัตกรรมทางธุรกิจมากมาย

(4) การฉ้อฉลของ Enron น่ากลัวเพราะกระทำโดยผู้บริหารระดับสูง ซึ่งทำให้ผู้บริหารที่ถูกจำคุกจากการทุจริตมีจำนวนถึง 16 คน ไม่นับผู้ที่เสียชีวิตไปก่อน 1 คน

(5) กรณีของ Enron มีผู้ที่ได้รับผลกระทบเสียหายเป็นจำนวนมากและกว้างขวาง ไม่จำกัดแต่เพียงผู้ถือหุ้นและสมาชิกกองทุนประกันสังคมเท่านั้น และถือว่าเป็นเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านสังคมและเศรษฐกิจจากเดิมสู่ New Economy ที่เป็นยุคของอินเทอร์เน็ต และยุคที่คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมหาศาล

(6) กรณีของ Enron อาจจะโด่งดังเพราะพฤติกรรมฉ้อฉลที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ใช่กรณีเดียว มีกิจการอื่นในเวลาไล่เลี่ยกันที่มีพฤติกรรมทุจริตที่โด่งดังเหมือนกัน รวมถึง

-  Adelphia Communications

-  Tyco International

-  World Com

(7) การลงโทษผู้กระทำผิดหลังจากกรณีของ Enron อาจจะดูเหมือนเพิ่มความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ต้องรับผิดชอบทางอาญาที่หนักขึ้น แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ต้องปลูกฝังจริยธรรมและธรรมาภิบาลให้ได้มากว่า และต้องพิจารณาทุกครั้งก่อนที่จะเกิดการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

(ก) ผลประโยชน์หรือกำไรระยะสั้น

(ข) เสถียรภาพในระยะยาว ที่เป็นความยั่งยืน

(8) Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลกกล่าหาว่า การที่กิจการต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมว่า จะต้องหาทางเพิ่มกำไรอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทุกปีน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนทำงานหนัก และจ่ายภาษีในอัตราก้าวหน้า เพื่อสนับสนุนแผนงานและโครงการที่ให้ประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป

แต่ถ้ากิจการและสังคมให้ความสำคัญกับจริยธรรมทางธุรกิจมากกว่า จะต้องลดความสำคัญและต้องได้กำไรตามความคาดหวังของสังคมและนักลงทุนด้วย ผู้บริหารและกิจการจึงเลือกที่จะไม่ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา อย่างยึดความเป็นธรรม

(9)  สิ่งที่หน่วยงานกำกับต้องให้ความสำคัญมากขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญ ส่งเสริม คุณค่าของความซื่อสัตย์ให้มากขึ้น การสอดส่องพฤติกรรมของกิจการและผู้บริหารที่อาจจะส่อไปในทางที่เกิดจรรยาบรรณวิบัติ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร บุคลากรต้องระมัดระวังและดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมมากขึ้น และกดดันให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลดลงจนเหลือน้อยมาก

ขณะเดียวกัน กิจการที่มีการด้อยหรือพฤติกรรมที่บกพร่องทางจริยธรรม จะต้องถูกลงโทษจากสังคมอย่างหนัก นอกเหนือจากโทษทางอาญา หรือทางกฎหมาย

(10)  หลังจากเกิดวิกฤติการณ์ Enron นักลงทุนได้ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับพฤติกรรมที่มีจรรยาบรรณของกิจการ และสะท้อนคุณค่าของจริยธรรมอยู่ในราคาหุ้นของกิจการที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และการสนใจให้มีการเปิดเผยประเด็นการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากขึ้น มีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นการเฉพาะ

(11)  แนวคิดของการส่งเสริมจริยธรรม ได้ถูกถ่ายทอดและสร้างเป็นค่านิยมและคุณค่าใหม่ของกิจการ ในฐานะส่วนหนึ่งขององค์ประกอบแห่งความยั่งยืนของกิจการ และนำเอาไปเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนกลยุทธ์ของกิจการ เพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายของกิจการอย่างที่Enron ประสบมากแล้ว

(12)  การพัฒนาจริยธรรมทางธุรกิจ ต้องไม่ใช่เรื่องของความสมัครใจ หากแต่ต้องเป็นกฎที่เป็น “กฎของโลก” ที่บรรดาผู้บริหารกิจการจะต้องยึดมั่นอย่างเคร่งครัด

อย่างเช่น CFO ก็ต้องแปลงจริยธรรมทางธุรกิจไปใช้กับจริยธรรมทางการเงิน ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายฉบับใดที่บอกว่าจรรยาบรรณวิบัติทางการเงินเป็นสิ่งผิดกฎหมายตรงๆ แต่การทำกิจกรรมที่วิบัติเชิงจริยธรรมก็ไม่ใช่เรื่องไม่ผิดกฎหมาย (= ผิดกฎหมายของโลก)

(13)  ความท้าทายที่สำคัญคือ กฎของโลกว่าด้วยจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องที่ทุกกิจการขานรับแบบแซ่ซ้อง และยอมรับโดยสดุดีกันทั้งวงการและทุกสังคม ยังมีสังคมและวงการที่ยอมให้มีพฤติกรรมจรรยาบรรณวิบัติอยู่ได้อีก เพราะโลกยังคงบอกว่าธุรกิจคือ กำไรและความสามารถในการทำเงิน ยังไม่มีอะไรที่สำคัญเหนือกำไรจริงๆ

ไม่มีกิจการใดที่กล้าประณามกิจการที่ทำเงิน และทำกำไร ไม่มีใครบอกว่าเงินคือสิ่งเลวร้ายและทุกคนเชื่อว่าเงินคือความยั่งยืนของกิจการ

(14)  ตราบใดที่ผู้บริหารกิจการยังคงให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพียงไม่กี่กลุ่ม และเป็นกลุ่มเดิมๆ ที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต บทเรียนของ Enron ก็คงไม่เกิดประโยชน์ และผลประโยชน์ส่วนตัวยังเป็นสิ่งที่เป็นแรงจูงใจต่อการตัดสินใจก็อาจจะยังคงสุ่มเสี่ยงต่อจรรยาบรรณวิบัติได้ทุกเมื่อ

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับ Enron เพียงรายเดียว แต่ที่ผู้คนตกใจเพราะเกิดขึ้นกับผู้สอบบัญชีรายใหญ่และเก่าแก่ของโลกอย่าง Arthur Andersen ซึ่งไม่ควรจะเกิดอย่างยิ่ง

(15)  บทบาทสำคัญของผู้บริหารคือ คำเสนอวิสัยทัศน์ของกิจการ ด้วยการเสนอความฝันที่จะดีกว่าสภาพกิจการในปัจจุบัน และต้องสามารถชักชวนให้ทุกคนในกิจการ เข้าร่วม สนับสนุนให้ความฝันนั้นเป็นความจริง ซึ่งอาจจะเรียกสิ่งนี้ว่า วัฒนธรรมองค์กร ก็ย่อมได้

 

หมายเลขบันทึก: 563499เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2014 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2014 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท