แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จุดบริการ (๒)


เสนอให้มีการเปิดให้ ผู้มารับบริการของโรงพยาบาลแห่งนี้ได้มีโอกาสได้เข้ามาสัมผัส หรือ ได้เห็นห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตรให้มากขึ้น ผู้ที่ทำงานด้านนี้ เปรียบกับผู้ที่ ปิดทองหลังพระ เพราะผู้ที่รับบริการจะไม่ได้พบโดยตรงกับผู้ให้บริการ...

     ต่อจากการเรียนรู้ที่ ห้องนมแม่ แล้ว จุดแลกเปลี่ยนเรียนรู้จุดต่อ ๆไปก็คือ.....

 

     จุดบริการที่ ๕ เรียกว่า คลินิกสุขภาพเด็กดี  ซึ่งมีบริการให้คำปรึกษา สำหรับเด็กตั้งแต่หลังคลอด จนถึงวัยหนุ่มสาว รวมทั้งพ่อแม่ด้วยอย่างครบถ้วน.....โครงการเด่นที่กำลังดำเนินการอยู่ในช่วงนี้คือ โครงการโรงเรียนพ่อแม่ ที่ให้คำปรึกษากับพ่อแม่ในการดูแลลูกน้อยอย่างถูกต้องเหมาะสม   โครงการเด่นของคลินิกก่อนหน้านี้ก็คือ โครงการศูนย์ ๓ วัย ซึ่งให้บริการแนะนำกิจกรรมเชื่อมความรักและความผูกพันของ ๓ วัยหรือ ๓ รุ่น คือ พ่อแม่ ลูก และ ปู่ย่าตายาย....ภายในห้องจึงมีหนังสือ และอุปกรณ์ที่หลากหลาย สำหรับทั้ง ๓ วัย ที่จะได้มาใช้ร่วมกัน

หลังจากสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ได้รับรู้รับทราบและเห็นหนังสือและอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว  บางท่านที่เคยมารับบริการเกี่ยวกับศูนย์ ๓ วัยก็แสดงความชื่นชม และอยากให้ทำต่อ ๆ ไป  บางท่านก็เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มชนิดของสื่อ และ อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น.....

 

        จุดบริการที่ ๖ คือ ห้องฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบริเวณที่จอดรถ โดยมีทางลาดขึ้นมาที่บริเวณหน้าห้องนี้ได้โดยตรง มาถึงการแลกเปลี่ยนรู้ที่ตรงห้องนี้ สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ จำนวนหนึ่งเริ่มจับจองที่นั่งที่มีอยู่หน้าห้องฉุกเฉิน ระหว่างการฟังคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ประห้อง  แน่นอนห้องฉุกเฉิน จะเป็นห้องที่เปิดทำการ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง จะมีทั้งหมอ พยาบาล และ เจ้าหน้าที่ผลัดกันมาอยู่เพื่อให้บริการตลอดเวลา...นวตกรรมของห้องนี้ที่นำเสนอก็คือ การใช้แท็กหรือแถบสี ติดที่ตัวผู้ป่วย เพื่อแยกประเภท ตามความเร่งด่วนของการรักษาหรือตามสถานะภาพของผู้ป่วย ในช่วงที่มีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ มารับบริการจำนวนมาก.....สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ หลายท่านรวมทั้งตัวผมเองก็เคยได้มาใช้บริการห้องนี้กันมาแล้ว และต่างก็ประทับใจในบริการที่ดี จากหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่จากห้องฉุกเฉินนี้....

 

      จุดบริการที่ ๗ ที่ผู้รับบริการปกติจะไม่ได้เข้าไปสัมผัสโดยตรงเลยก็คือ ห้องเวชศาสตร์ชันสูตร หรือ ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ห้องแลป ที่ทำหน้าที่ตรวจเลือด ตรวจปัสวะ และ ตรวจวิเคราะห์อื่น ๆ จากตัวอย่างที่ส่งมา โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ แล้วรายงานผลการวิเคราะห์ไปให้ หมอ ที่เป็นผู้สั่งตรวจได้นำไปประกอบการรักษาผู้ป่วยต่อไป....ผู้ที่นำชมห้องนี้ในวันนี้ คือ ดร. ยุพิน โจ้แปง หัวหน้างานเวชศาสตร์ชันสูตร และ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ  จึงได้นำชมและอธิบายเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการนี้ ให้แก่สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ได้อย่างละเอียด....

      สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เคยได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัส ในห้องปฏิบัติการนี้มาก่อน เมื่อได้เห็นห้องปฏิบัติการและเครื่องมือวิเคราะห์อันทันสมัยในห้องนี้แล้ว ทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ในการที่จะมารับการตรวจวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ และก็จะนำไปบอกต่อ แก่ลูกหลาน ญาติมิตรต่อไป.....บางท่านเสนอให้มีการเปิดให้ ผู้มารับบริการของโรงพยาบาลแห่งนี้ได้มีโอกาสได้เข้ามาสัมผัส หรือ ได้เห็นห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตรให้มากขึ้น  ผู้ที่ทำงานด้านนี้ เปรียบกับผู้ที่ ปิดทองหลังพระ เพราะผู้ที่รับบริการจะไม่ได้พบโดยตรงกับผู้ให้บริการ...

 

      จุดบริการที่ ๘ คือ ห้องผู้ป่วยใน เป็นจุดบริการสุดท้าย ที่สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ จะได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ ที่ประกอบด้วย ห้องพักสำหรับผู้ป่วยในจำนวนหนึ่ง พร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ  เช่นเดียวกับโรงพยาบาลทั่ว ๆ ไป นอกจากนั้นยังมีบริเวณที่จัดแสดง เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรประเทศญี่ปุ่น พร้อมการส่งอาสาสมัครมาอยู่ช่วยปฏิบัติงานเป็นระยะเวลาหนึ่งอีกด้วย  และก็ยังมีห้องฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ที่มีเครื่องทำกายภาพบำบัดต่าง ๆ อยู่หลายอย่างด้วยกันในห้อง

      อุปกรณ์หนึ่งที่ สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ หลาย ๆ คนสนใจก็คือ แท่นยืนเพื่อสุขภาพ  ช่วยเรื่องโรคปวดหลัง ปวดเข่า ปวดเอว ปวดต้นคอ ไมเกรน ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต ท้องผูก นิ้วล็อค แล้วช่วยยืดเส้นสาย ยืดกระดูก ใช้ได้ทุกวัย ทุกอาชีพ พ่อค้าแม่ค้า นักกีฬา ครู ราชการ นักธุรกิจ ช-ญ วัยทอง ผู้สูงวัย ถวายพระ เพื่อเป็นการยืนยืดเส้นให้หย่อน 

       เนื่องจากเห็นมีสมาชิกชมรมผู้สูงอายุหลายท่านสนใจมาก และสอบถามว่าจะสามารถหาซื้ออุปกรณ์นี้ได้ที่ไหน ? ราคาเท่าไหร่ ?  ผมเคยรับทราบเกี่ยวกับอุปกรณ์นี้มาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว จึงลองมาค้นดูในอินเทอร์เน็ต พบว่า แท่นยืนเพื่อสุขภาพ หรือ เก้าอี้มหัศจรรย์ลุงแสวง  มีการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผ่านทาง facebook ด้วย..(https://www.facebook.com/e21nxpp และดู วีดิโอ การใช้ประโยชน์ส่วหนึ่งได้ ที่นี่ http://youtu.be/dwHur7_Xu0w ) ครับ

หมายเลขบันทึก: 563039เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2014 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2014 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นการเรียนรู้ที่ดีมากนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท