ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๐๒. สบายใจเมื่อได้ไปชนบท ...สู่ความคิดคำนึง


imprinting เป็นเรื่องยึดติด ฝังใจ resilience เป็นความยืดหยุ่น ไม่ยึดติด สองขั้วตรงกันข้าม เมื่อไรที่สองขั้วตรงกันข้าม ร่วมกันสร้างพลังได้ เมื่อนั้นจะเกิดการผุดบังเกิดของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

 

          คงเป็นเพราะอิทธิพลของ imprinting ผมจึงรู้สึกสบายใจทุกครั้ง เมื่อได้ไปชนบท    

          ปรากฏการณ์ imprinting อาจแปลว่า จารึกลงสมอง    ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือในห่านป่า     เมื่อเอาไข่ห่านป่ามาฟัก แล้วเมื่อเขาออกจากเปลือกไข่มาเห็นใครเป็นคนแรกหรือตัวแรก นั่นคือแม่ของเขา     สัญชาตญาณจะบอกให้เขาติดตามผู้นั้น ในฐานะผู้คุ้มครองความปลอดภัย และสอนการดำรงชีวิต    อ่านเรื่องราวของ psychology imprinting ที่นี่

          ที่จริงเรื่อง imprinting มีหลายมิติ    มิติที่ผมรู้จักก่อนมิติอื่นๆ คือ genomic imprinting   เป็นเรื่องการแสดงออกของยีน ที่ไม่เป็นไปตามกฎของ เมนเดล    เพราะยีนจากแม่หรือพ่อเท่านั้นที่แสดงออก     และยังมีมิติอื่นๆ ของ imprinting อีก    แต่ในบันทึกนี้ ขอจำกัดเฉพาะเรื่อง psychology imprinting   หรือ จารึกฝังสมองทางจิตวิทยา

          ผมเชื่อว่า จารึกฝังสมองทางจิตวิทยา  มีอิทธิพลต่อชีวิตของผมมาก    ทำให้ผมชอบที่โล่ง    ไม่ชอบที่ ที่มีคนแออัด    ไม่ชอบพิธีกรรม    ผมเดาว่าเป็นจารึกฝังสมองของเด็กบ้านนอก    แต่เดาว่าเด็กบ้านนอก อีกจำนวนมากคงแตกต่างออกไป    ส่วนตัวผมสมัยเด็กๆ เข้าใจว่ามีสมองที่อ่อนไหวมาก    จนเป็นคนขี้ขลาด กลัวทุกอย่างที่ขวางหน้า     จนพ่อแม่ใจเสีย คิดว่าลูกคงจะเสียสติในที่สุด    

          ผมเดาว่า สมองที่อ่อนไหว น่าจะเกิด psychology imprinting ง่าย หรือมากกว่าสมองปกติ    และ imprinting ของสภาพแวดล้อมชนบทจึงตราตรึงอยู่ในใจของผม

          ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๑๘ ม.ค. ๕๗ ผมลงพื้นที่จังหวัดสตูล กับทีมมูลนิธิสยามกัมมาจล    เพื่อเยี่ยมชม กิจกรรมส่งเสริมชุมชนจัดการตนเอง    และเช้าวันที่ ๒๔ ม.ค. ๕๗ ผมลงพื้นที่ อ. เชียงม่วน  จ. พะเยา  ไปดูงาน กิจกรรมสิทธิบุคคล ที่คณะนิติศาสตร์  มพ. ไปดำเนินการ เรื่องสิทธิทางกฎหมายของคนไทลื้อ    การได้ออกพื้นที่ ชนบทเช่นนี้ ผมมีความสุขมาก    ยิ่งได้ไปฟังชาวบ้านเล่าเรื่องราวของเขา    ที่เขาดำเนินการเก็บข้อมูล เอามาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจ    เพื่อวางระบบการทำมาหากินและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ผมยิ่งมีความสุข

          ทำให้ผมระลึกถึงช่วงเวลาเมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว    ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว แนะนำพวกเราคนหนุ่ม ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่า     ให้หมั่นออกไปเรียนรู้จากชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวบ้าน    ผมฟังไม่รู้เรื่อง    มาตอนนี้เข้าใจแล้วว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงสำหรับคนมหาวิทยาลัย    อยู่ที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านนี่เอง    ถ้าเราไม่ไปสัมผัส เราก็จะไม่รู้จริง     ไม่สามารถทำงานสร้างสรรค์ เพื่อสังคมได้อย่างแท้จริง

          เพราะ imprinting จากการลืมตามาดูโลกในชนบท    และเติบโตขึ้นมาในชนบทจนอายุ ๑๕ ปี    เป็นคุณต่อชีวิตของผมใหญ่หลวงนัก    ทำให้ผมเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ทำความเข้าใจชีวิตของผู้คนในชนบท    สำหรับนำมาประกอบการทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม ในบั้นปลายของชีวิต

          และทำให้ชีวิตของผมมีความยืดหยุ่นมากกว่าคนทั่วๆ ไป    คืออยู่ในสังคมชั้นสูงหรูหราก็ได้ (แต่ไม่ชอบ)     อยู่ในสภาพยากลำบากหรือมีความไม่สะดวกแบบชนบท ก็ไม่รู้สึกยากลำบาก    ความสามารถปรับตัวให้เข้ากับ สภาพการณ์ที่แตกต่างมากๆ เรียกว่า resilience    ใครพัฒนา resilience ในตัวได้สูง    ชีวิตจะมีความสุขง่าย ทุกข์ยาก   ถือเป็นโชคดีในชีวิต

          imprinting เป็นเรื่องยึดติด ฝังใจ    resilience เป็นความยืดหยุ่น ไม่ยึดติด    สองขั้วตรงกันข้าม    เมื่อไรที่สองขั้วตรงกันข้าม ร่วมกันสร้างพลังได้   เมื่อนั้นจะเกิดการผุดบังเกิดของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ม.ค. ๕๗

 

 

หมายเลขบันทึก: 562142เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2014 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2014 08:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นความคิดที่ดีที่ชอบชนบท ในเมืองวุ่ยวายที่พบกับการทุจริตไม่ยอมลงจากอำนาจเห็นประโยชน์แก่พวกพ้องไม่เห็นแก่ส่วนรวม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท