การบริหารของหนังสือพิมพ์ภายใต้กระแสการหลอมรวมสื่อ


เอกสารงานวิจัยชื่อ การบริหารของหนังสือพิมพ์ภายใต้กระแสการหลอมรวมสื่อ

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารนานาชนิดสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระและมีลักษณะเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน รวมถึงมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมหลากหลายด้าน เราสามารถเห็นจำนวนผู้ใช้สื่อ ในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเป็นสื่อใหม่ที่ผู้ใช้มีเสรีภาพสูงในการกำหนดเนื้อหาและรูปแบบการใช้ประโยชน์ หรือที่เราอาจเรียกว่ามันมีลักษณะความเป็นสาธารณะโดยส่วนตัว (Personic = public+person) ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าของผู้ใช้แต่ละคน จึงมีประเด็นสำคัญซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับวิธีการหรือแนวทางการใช้ของผู้ใช้แต่ละคนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษกับสังคม ในกรณีหากมีการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมอันก่อให้เกิดความเสียหายกระทบกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของรัฐ รัฐในฐานะเป็นผู้ดูแลและบริการสาธารณะต่างๆแก่ประชาชนก็ต้องดำเนินการจัดการผ่านมาตรการการกำกับดูแลหรือกำหนดนโยบายต่างๆที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน และนี่เองที่น่าจะเป็นจุดเร่งให้เกิดกฎหมายใหม่สำหรับสื่อใหม่ในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยี และการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ การกำกับดูแลเนื้อหาในสื่อใหม่ยุคแห่งการหลอมรวมเทคโนโลยี จึงกลายเป็นประเด็นทางนโยบายที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจ

          ในอดีต สื่อสารมวลชนโดยลักษณะของพวกมันจะมีความแตกต่างกันอันทำให้เราสามารถแยกออกพวกมันจากกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ หนังสือ วิดีโอและภาพยนตร์ ฯลฯ แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณดิจิตอลจากประเภทของเนื้อหา จากภาพ เพลง วิดีโอที่สามารถแพร่กระจายในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือผ่านทางอินเทอร์เน็ต ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘การหลอมรวมสื่อเทคโนโลยี’ (Convergence Technology Media) ขึ้น โดยนัยของมันไม่เพียงแต่หมายความว่ารูปแบบที่แตกต่างกันของสื่อที่มาบรรจบกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสื่อสารโทรคมนาคมที่จะบรรจบกันอีกด้วย

          เคยมีนักวิชาการด้านสื่อท่านหนึ่ง ชื่อ Jenkins ได้อธิบายเกี่ยวกับการเข้าสู่ยุคของการหลอมรวมเทคโนโลยี ในหนังสือของเขา Convergence Culture: Where Old and New Media Collide (2006) ว่า: “...เป็นการหลอม รวมของเนื้อหาของสื่อหลายๆ แพลตฟอร์ม รวมถึงพฤติกรรมการ ผู้บริโภคสื่อซึ่งมีความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมสื่อหลายๆ รูป แบบ เช่น การให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่แตกต่างกัน เช่นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ โทรทัศน์ โทรศัพท์ และ อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ”

      

 

โดยเหตุผลสำคัญของการหลอมรวมเข้าหากันดังกล่าว คือ เรื่องการมุ่งสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขัน สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มในแง่ธุรกิจ แต่หากเราหันมามองจากอีกข้างหนึ่งด้วยมุมมองของผู้บริโภคแล้ว การหลอมรวมเข้าหากันของเทคโนโลยีได้สร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตย่อมเกิดขึ้นอย่างไม่น่าสงสัย พร้อมกันนั้นผู้บริโภคต่างมีความต้องการ และมีความเข้าใจในการบริโภคเทคโนโลยีมากขึ้นการบริโภคเทคโนโลยีเหล่านี้ก่อให้เกิด สื่อชนิดใหม่ (New Media) จำพวกสื่อดิจิทัล ซึ่งแต่ละชนิดต่างมีข้อเด่นแตกต่างกันไป ดังนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงของ การเปลี่ยนแปลงที่จะมีการหลอมรวมสื่อทางด้านโทรคมนาคม รวม ถึงวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิดที่ต้องผัน ตัวเองเข้าสู่ระบบดิจิทัล

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ในยุคของการหลอมรวมสื่อ (Media Convergence) หลายประเภทอย่างที่กล่าวมา ทั้งสื่อด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และสื่อบรอดแคสติ้ง การจะจัดแยกประเภทของสื่อจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและสับสนยิ่งขึ้น การกำกับดูแลตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ก็มีความยุ่งยากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการกำกับดูแลการใช้สื่อนั้นแยกออกจากกันได้ยากว่าเป็นชนิดใดจะใช้กฎหมาย หรือ พ.ร.บ. ฉบับใดกำกับดูแล ขณะที่กฎหมายก็ยังมีช่องโหว่มากมายที่ใช้ได้เพียงการกำกับดูแลเฉพาะสื่อบางสื่อเท่านั้น เมื่อมีการตอบสนองด้วยสื่อใหม่มากขึ้น ทำให้การเติบโตของสื่อกระแสหลักมีรายได้ลดน้อยลง ยกตัวอย่าง เรื่องโฆษณาที่หันไปใช้บริการสื่อใหม่ ปัญหาคือการโฆษณาไม่มีการกลั่นกรอง เพราะนำเสนอได้โดยง่าย และยังมีการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต การละเมิดลิขสิทธิ์และการกระทำผิดกฎหมายทางด้านสื่อ โดยใช้ ช่องว่างที่ไม่มีกฎหมายใดๆ ออกมารองรับการเกิดสื่อใหม่ และ พ.ร.บ. ฉบับเดิมๆ ก็ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง

          องค์การสื่อที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกำกับการทำงานให้เป็นไปตามหลักจรรยาบรรณของสื่อ เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็เริ่มคิดถึงการกำกับดูแลสื่อใหม่ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อในฐานะที่เป็นสมาชิก และต้องปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่ในขณะที่ยังไม่มีการตราข้อบังคับ หรือหลักปฏิบัติเรื่องจริยธรรมสื่อใหม่ที่ชัดเจน ผู้ประกอบวิชาอาชีพสื่อจะต้องเข้าใจสถานะความเป็นสื่อมวลชนในการใช้สื่อใหม่ ตัวอย่างเช่น การใช้เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ที่อาจได้รับความเชื่อถือมากกว่าสื่อบุคคลโดยทั่วไปแม้จะส่งผ่านข้อความที่เป็นส่วนตัวได้ แต่ในพื้นที่ข่าวหรือความคิด เห็นยังต้องเคารพหลักการ “พูดความจริง” เพื่อมิให้พื้นที่สาธารณะในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นเพียงพื้นที่ในการกระจายข่าวร้าย หรือเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น

          ประเทศไทยมีการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสื่อใหม่หลายด้าน รวมถึงมีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อใหม่ อันส่งผลให้เมื่อพิจารณาในด้านของการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยีจึงต้องทำงานด้วยความระมัดระวังและรับผิดชอบมากขึ้น เพราะโอกาสในการกระจายข่าวสารข้อมูล ก็คือโอกาสในการถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาท ในขณะเดียวกันผู้นำเสนอข้อความ หรือเจ้าของงานเขียนหรือบทความที่อาจถูกส่งผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ก็จะต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายคดีหมิ่นประมาท บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บรรณาธิการเว็บไซต์ เว็บมาสเตอร์ ที่มีส่วนรู้เห็นในข้อความหมิ่นประมาท อาจต้องรับผิดในฐานะตัวการร่วม ในขณะที่การกำกับดูแลสื่อในประเทศไทยแต่ละประเภทจะต้องมีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลสื่อสื่อใหม่ในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยี

หมายเลขบันทึก: 562136เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2014 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2014 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บริหารสื่อบางครั้งมีการปิดปาก สื่อจึงบิดเบือน

สวัสดีครับ คุณpap2498

ใช่ครับ ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท