มองพัฒนาการขบวนประชาธิปไตยของอินโดนีเซียในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตอนที่ 1)


New Order Period เสรีภาพเฉพาะส่วน

ประธานาธิบดีซูฮาร์โต ผู้นำแห่งระบอบ New Order กว่าสามสิบปี  ที่มา: fredtezar.com

ย้อนหลังไปเมื่อราวปลายปี 2533 นึกถึงคำสนทนากับเพื่อนริมป้ายรถเมล์หน้าเซเว่นสามย่านที่พึ่งเปิดใหม่ๆ ว่าเมืองไทยจะมีปฏิวัติอีกหรือไม่ จำได้เถียงเพื่อนว่าโอกาสน้อยแต่เพื่อนพูดตรงข้ามไม่กี่เดือนถัดมาก็เกิดรสช.กุมภาพันธ์ 2534 เพื่อนพูดไว้แม่น พอเข้าปี 2535 เหตุการณ์ก็พัฒนาเลวร้ายลงจากการเสียสัตย์เพื่อชาติของใครบางคนจนเกิดเหตุพฤษภาคมทมิฬ ผมไม่ได้ไปร่วมเดินประท้วงกับเพื่อนๆ วัยหนุ่มสาวหลายคนซึ่งสุดท้ายต้องวิ่งหนีตายจากการสลายชุมนุมที่ราชดำเนิน หากบินลงใต้ข้ามทะเลอ่าวไทยลัดทะเลชวาไปทำงานที่อินโดนีเซียเป็นครั้งแรก และได้เห็นฉากความรุนแรงที่เกิดกับประชาชนภายใต้รัฐบาลสุจินดาแบบสดๆ จากหน้าจอซีเอ็นเอ็นที่กรุงจาการ์ต้า โชคดีที่เพื่อนๆ หนีรอดห่ากระสุนออกมาได้ ในขณะที่อีกหลายคนต้องสูญเสียอย่างที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้

อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เรียกกันชื่อเดิมว่า “นูซานตาร่า” (Nusantara) แปลว่าดินแดนแห่งหมู่เกาะ ล่าสุดนับได้ถึงหมื่นเจ็ดพันกว่าเกาะ มีขนาดแผ่นดินรวมกันใหญ่กว่าเมืองไทยเกือบสี่เท่า มีความกว้างราวพันห้าร้อยกิโลเมตรเท่ากับความยาวจากเชียงรายถึงยะลา และมีความยาวถึงห้าพันกิโลเมตรจากภาคใต้ของไทยจนจรดออสเตรเลีย มีทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลที่สมบูรณ์มหาศาล มีผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันในตอนนี้สองร้อยกว่าล้าน ส่วนใหญ่อยู่บนห้าเกาะใหญ่ ชวา (ร้อยกว่าล้านคน) สุมาตรา (หลายสิบล้านคน) กะลิมันตัน (ร่วมยี่สิบล้านคน) สุลาเวสี (สิบกว่าล้านคน) และอีเรียนจายา (ไม่กี่ล้านคน) เกือบเก้าสิบเปอร์เซนต์เป็นมุสลิม วิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนอินโดนีเซียจึงประกอบไปด้วยความหลากหลายทางสายพันธุ์และความเชื่อ มีวัฒนธรรมและภาษาที่สืบเนื่องของแต่ละพวกมาเป็นพันปีก่อนที่จะมาเป็นแบบทุกวันนี้

หมู่เกาะอินโดนีเซีย ที่มา: www.worldofmaps.com

เกาะชวาเป็นที่อยู่ของประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศแต่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดเช่นกัน ประกอบด้วยคนสองกลุ่มหลักคือชวากับซุนด้าซึ่งมีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกันมีอาณาจักรเป็นของตัวเองแล้วก็รบพุ่งชิงความเป็นใหญ่มาตลอดช่วงประวัติศาสตร์เมื่อหลายร้อยปีก่อน จนล่มสลายทั้งสองอาณาจักรจากการรุกรานของพวกพ่อค้ามุสลิมที่เข้มแข็งตามด้วยการยึดครองของนักล่าจากตะวันตก คนเชื้อสายชวาเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดในสังคมอินโดนีเซีย มีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ มีความเชื่อเก่าแก่ฝังลึกในสายเลือดในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ลำดับชั้นทางสังคม พระผู้สูงสุด เทพเจ้า เทวดา ผี การทำสมาธิ เรียกรวมว่า “ความเชื่อหรือวิถีแห่งชวา”

วิถีแห่งชวานี้เป็นอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์บวกพุทธที่มีมานานก่อนจะรับศาสนาอิสลามเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม องค์กรมุสลิมที่ใหญ่สุดในประเทศสององค์กรคือ Nahdlatul Ulama (ท้องถิ่นนิยม) และ Muhammadiyah (ทันสมัยก้าวหน้า) ที่ก่อตั้งมานานร่วมร้อยปีในแถบชวาตะวันออกมีเครือข่ายหลายสิบล้านคนก็ยังจัดเป็นมุสลิมสุหนี่สายกลางๆ ไม่เคร่งเครียดเท่ากับทางอาเจ่ะห์ที่ต้องการใช้กฏหมายชารีอะห์แทนกฏหมายของรัฐ หรือจะเห็นมหาภารตะและรามายณะในการละเล่นพื้นเมืองที่เรียกว่า “วายัง” ของคนชวา รวมไปถึงเพลงพื้นเมืองเช่น “ดังดุ๊ด” ซึ่งมีทำนองคล้ายเพลงแขกอินเดียแพร่หลายในสังคมชาวบ้านมุสลิมปัจจุบัน

มหาพุทโธและหุ่นวายัง  ที่มา: www.demotix.com

บนเกาะสุมาตราพื้นราบก็เป็นถิ่นที่อยู่เดิมของคนสายพันธุ์มาลายู (Melayu) พี่น้องกับคนมาเลเซีย เคยมีอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เป็นของตนเองในอดีตศรีวิจายา กินอาณาเขตขึ้นเหนือข้ามช่องแคบมะละกาจนถึงสุราษฎร์ธานี ลงใต้ข้ามช่องแคบซุนด้าไปจนเกือบหมดเกาะชวา ภาษาอินโดนีเซียปัจจุบันก็ใช้ภาษามาลายูเป็นภาษากลางไม่ใช่ภาษาชวาแต่อย่างใด พอขึ้นเขาข้ามไปทางตะวันตกของเกาะสุมาตราก็เป็นถิ่นของพวกสายพันธุ์ปิด เช่นพวกบาตั๊ก (Batak) ที่ปัจจุบันนับถือคริสต์ พวกมินังกาบาว (Minangkabau) พวกนี้จะไม่ค่อยสังคมกับใครนอกกลุ่มมากนัก หรือขึ้นเหนือสุดก็เจอกลุ่มอาเจ่ะห์ชาตินิยมรุนแรง

ข้ามไปเกาะกะลิมันตันก็มีทั้งพวกมาลายู พวกบันจา (Banjar) และดายัค (Dayak) คนเผ่าเฝ้าผืนป่าพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งแตกออกไปอีกเป็นสิบเผ่าพันธุ์ที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเองทั้งสิ้น อาณาจักรกูไต (Kutai) ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศก็มาจากคนเผ่านี้ หรือข้ามไปที่เกาะสุลาเวสีก็เป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าภูเขาท้องทะเลอีกเป็นสิบๆ สายพันธุ์ สุดท้ายข้ามแถบวอลเลซ (Wallace zone) ไปที่อีเรียนจายาซึ่งเป็นถิ่นของคนไม่ใช่ผิวเหลืองแต่เป็นพวกเดียวกับชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย และยังไม่นับชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้อีกหลายล้านคน ในทุกวันนี้คนกลุ่มน้อยส่วนมากจะนับถือคริสต์แต่ครอบครองผืนดินผืนน้ำที่กว้างใหญ่ไพศาล ในกรุงจาการ์ตาถ้าสมมุติสุ่มคนร้อยคนมารวมตัวแล้วให้สนทนากันโดยห้ามใช้ภาษากลางมาลายู ใช้ได้แต่เฉพาะภาษาของตัวเองผมว่าเราจะเข้าใจคำว่าร้อยพ่อพันแม่ได้ดี ซึ่งแตกต่างจากเมืองไทยที่อยู่คนละภาคก็ยังพูดกันรู้หรือไทยกับลาวก็สื่อสารกันพอไปได้ 

ชนเผ่าต่างๆ ของอินโดนีเซีย  ที่มา: wikipedia

ถึงแม้ในอดีตช่วงท้ายของปธน.ซูการ์โนจะเกิดรอยแผลใหญ่ร้าวลึกในสังคมอินโดนีเซียจากการปลุกปั่นเกลียดชังลัทธิคอมมิวนิสต์จนเป็นเหตุรุนแรงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนจีนที่สงสัยว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไปถึงหลายแสนคนบ้างว่าเป็นล้านในเวลาเพียงไม่ถึงปี จนน่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ ตามมาด้วยการจำกัดสิทธิที่เปิดเผยของคนจีนอินโดตลอดช่วงการครองอำนาจของปธน.ซูฮาร์โต เช่นห้ามโรงเรียนสอนภาษาจีน ห้ามคนจีนเล่นการเมือง ห้ามมีช่องโทรทัศน์ภาษาจีนเป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติคนจีนได้กลับมาเติบโตในทางธุรกิจอย่างเสรีมือใครยาวสาวได้สาวเอาจนสามารถกุมเศรษฐกิจของประเทศไว้เกือบทั้งหมด ขนาด ปธน.ซูฮาร์โต ยังต้องมีเพื่อนทำธุรกิจใหญ่โตคับประเทศเป็นคนจีน สิ่งที่ปรากฏชัดในสังคมคือความห่างเหินกันระหว่างคนจีนอินโดและคนอินโด มีแค่ความสัมพันธ์แบบเพื่อนร่วมงานหรือนายจ้างลูกจ้างเป็นส่วนใหญ่ มีขอบเขตเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มตลอดจนถึงถิ่นที่อยู่บ้านช่องก็ไม่ปะปนกันแบ่งแยกเป็นย่านๆอย่างชัดเจน น้อยมากที่จะเห็นภาพลูกผสมเป็นเนื้อเดียวกันแบบเมืองไทยในสังคมอินโดนีเซีย

  

ธนบัตรสมัย ปธน.ซูการ์โน   ที่มา: www.indobanknotes.com

ที่ยกมาน่าจะเป็นสาเหตุหลักให้การสร้างประเทศอินโดนีเซียหลังได้เอกราชจากพวกดัชท์จึงต้องวางอยู่บนความหลากหลายด้วยคำขวัญประจำชาติว่า “Bhinneka Tunggal Ika” เป็นภาษาชวาโบราณที่แปลว่า “ในหนึ่งมีหลากหลาย ในหลากหลายรวมเป็นหนึ่ง” (Unity in Diversity) ซึ่งแทนด้วยต้นไทร (Banyan tree) และใช้หลักปัญจศีละในการปกครองบริหารประเทศ ไม่มีการบังคับให้คนต่างศาสนาต้องเข้ารีตเปลี่ยนศาสนา หรือผู้หญิงมุสลิมก็ไม่ถูกบังคับให้ต้องใส่ผ้าคลุมหน้าทุกคนเมื่อออกนอกบ้าน สิทธิความเท่าเทียมของผู้หญิงทั่วไปมีความก้าวหน้ามากกว่าสังคมมุสลิมอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด หรือสัญลักษณ์ของประเทศก็เป็นรูปนก “การูด้า” (Garuda) นั่นก็คือพญาครุฑ นกในตำนานของพราหมณ์ฮินดูกางปีกกว้างโอบอุ้มโล่ปัญจศีละที่มีดาวศาสนาวางอยู่ตรงกลาง อ้ากรงเล็บจับสายคำขวัญประจำชาติ หรือธงชาติก็มีเพียงแถบแดงขาวโดยไม่ปรากฏสัญลักษณ์ของดาวและเดือนแต่อย่างใด

 

การูด้า ครุฑของชาวอินโดนีเซีย  ที่มา: wikipedia

และถ้าไม่นับสองสามแห่งที่ต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพทั้งที่อีสติมอร์ อีเรียนจายาและอาเจ่ะห์ อย่างไรสังคมอินโดนีเซียที่เป็นมุสลิมเกือบทั้งหมดก็ค่อนข้างสงบไม่ถูกกดดันภายใต้กฏระเบียบที่เคร่งครัดมากนักในช่วงปธน.ซูฮาร์โตครองอำนาจที่ถึงจะเป็นเผด็จการทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจทางการค้าการทำมาหากินของประชาชนแล้ว ถึงจะต้องผ่านระบบพวกพ้องเส้นสายและการคอรัปชั่นเกือบทุกขั้นตอนก็ยังมีความเสรีค่อนข้างมาก และเป็นรัฐที่พยายามแยกอำนาจทางศาสนาออกจากอำนาจทางการเมืองได้พอสมควร

อินโดนีเซียเมื่อผมไปถึงกำลังอยู่ในช่วงแรลลี่หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปของประเทศพอดี น่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ห้าภายใต้ระบอบออเดอร์บารู (Orde Baru) ของปธน.ซูฮาร์โตซึ่งครองอำนาจในฐานะประธานาธิบดีอย่างยาวนานมาตั้งแต่ปี 2511 มีกลุ่มการเมืองลงสนามแค่สามกลุ่มคือใหญ่สุดโกลข่าร์ (Golkar)ที่สนับสนุนซูฮาร์โตกับสองพรรคเล็กเปเปเป (PPP) ของกลุ่มมุสลิมและเปเดอี (PDI) ของกลุ่มประชาธิปไตยสายกลาง เป็นบรรยากาศหาเสียงที่ดุเดือดร้อนแรง ในกรุงจาการ์ต้าขบวนแรลลี่ขนาดใหญ่พร้อมริ้วธงสัญลักษณ์กลุ่มจะเคลื่อนไปตามถนนสายหลักๆ เต็มไปด้วยเสียงไชโยโห่ร้องอึกทึกครึกโครมเหมือนกองทัพพร้อมออกรบอย่างบ้าคลั่ง กลุ่มโกลข่าร์ใช้ธงสีเหลือง เปเปเปใช้ธงมุสลิมสีเขียว ส่วนเปเดอีใช้ธงสีแดงและไม่มีใครกลัวใครในช่วงหาเสียงเหมือนเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจที่ถูกเก็บกดมานาน ข่าวออกว่ามีคนตายและบาดเจ็บเป็นร้อยในช่วงการแรลลี่หาเสียง โดยเฉพาะสองพรรคหลังนี่มีประวัติที่เจ็บปวดถูกกดดันตีกรอบให้เดินอย่างเฉียบขาดจากปธน.ซูฮาร์โตมาตั้งแต่ช่วงยุคแรกๆ ของการขึ้นครองอำนาจ แล้วผลการเลือกตั้งก็ออกมาแบบหวยล็อคไปทางกลุ่มโกลข่าร์ ได้ที่นั่งประมาณเจ็ดสิบเปอร์เซนต์ของทั้งหมด ปธน.ซูฮาร์โตยังครองอำนาจต่อไปในวัยใกล้ฝั่ง ไม่เคยเห็นการรณรงค์แบบนี้มาก่อนจนไม่กี่ปีมานี่เองถึงได้สัมผัสบรรยากาศแบบนั้นบ้างที่เมืองไทย

ในกรุงจาการ์ต้าวิถีชีวิตดำเนินค่อนข้างเสรีไม่แตกต่างจากกรุงเทพมากนัก ตำรวจอินโดก็มีนิสัยแบบเดียวกับตำรวจไทย ยกเว้นสื่อสารมวลชนต่างๆ ถูกควบคุมทิศทางโดยรัฐอย่างชัดเจน ในที่สาธารณะผู้คนจะไม่ค่อยวิจารณ์ปธน.แบบเปิดเผยคล้ายๆ กับในสิงคโปร์ เบียร์หาซื้อกินได้ง่ายกว่าเหล้า เช่นเบียร์บินตัง (Bintang) ลูกหลานไฮเนเก้น ผลิตโดยโรงงานและเจ้าของอินโดขายได้อย่างเสรีในจาการ์ต้าและเมืองใหญ่ๆ ยกเว้นบางจังหวัดที่เป็นมุสลิมค่อนข้างเคร่งต้องไปแอบซื้อในที่มิดชิดห่อมาอย่างดีและไม่แช่เย็น ส่วนใหญ่คนมุสลิมจะไม่กินเบียร์กินเหล้าเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว ที่เห็นคือคนจีนคนศาสนาอื่นและคนต่างชาติเช่นคนไทยแบบผมที่จัดหนักเกือบทุกวัน เนื้อหมูหาซื้อได้ในห้างทั่วไปแม้แต่ห้างที่เจ้าของเป็นคนมุสลิม ธนาคารเปิดอย่างเสรีมีเป็นร้อยๆ ธนาคารและไม่ได้ถูกควบคุมโดยกฎศาสนา ชีวิตหนุ่มสาวถือได้ว่ามีความอิสรเสรีอย่างมากยกเว้นเรื่องการเมือง บางแง่มุมเสรียิ่งกว่าหนุ่มสาวในเมืองไทยด้วยซ้ำ ไปไหนมาไหนค่ำมืดดึกดื่นก็โบกแท็กซี่กลับบ้านได้ ซอยบางแห่งไม่ไกลจากบ้านปธน.มากนักยังมีสาวประเภทสองออกมาทักทายเรียกเพื่อนริมถนนริมทางฟุตบาทในยามค่ำคืนอย่างเสรี ไม่เห็นมีตำรวจมาไล่หรือสายตรวจศาสนามาจับ รถต่อคิวขับผ่านไปอย่างช้าๆเป็นแถวยาวพร้อมเสียงกิ๊วก๊าว ไม่เว้นแม้แต่สถานที่สำหรับผีเสื้อราตรีว่าจะจัดแบบไหนโดยเฉพาะย่านไชน่าทาวน์ปิดตีหนึ่งตีสองเหมือนกัน ยกเว้นช่วงถือศีลอดมีข้อกำหนดให้ปิดเร็วมาก

กรุงจาการ์ต้าที่มีภูเขาไฟคุกรุ่นเป็นฉากหลังทางตะวันตกและมัสยิดใหญ่กลางเมือง   ที่มา: realjakarta blogspot.com และ www.beautifulmosque.com

ระบอบซูฮาร์โตได้รับการขนานนามโดยทั่วไปในหมู่คนอินโดฯสมัยนั้น เป็นระบอบที่คุมอำนาจและผลประโยชน์แบบรวบเบ็ดเสร็จทั้งประเทศโดยประธานาธิบดี เครือญาติ กลุ่มธุรกิจและกลุ่มทหารตำรวจ (ABRI) ที่สนิทไว้ใจผ่านทางสภาจากการแต่งตั้งตำแหน่งบางส่วนและการเลือกตั้งที่กำกับได้โดยกลุ่มการเมืองโกลข่าร์ การแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศซึ่งมีอำนาจดูแลพื้นที่อย่างเต็มที่ หนึ่งจังหวัดอาจมีขนาดใหญ่เกือบหนึ่งภาคของเมืองไทย รวมถึงการแต่งตั้งนายทหารตำรวจระดับสูง มีการจัดสรรอำนาจและแบ่งปันผลประโยชน์กันภายในกลุ่มแบบไม่ต้องเกรงใจคนอื่น ใครต้องการอะไรก็วิ่งไปหาเส้นสายทางนี้เท่านั้น โดยเฉพาะมาดามเทียนภรรยาคู่บารมีปธน.ซูฮาร์โตที่เป็นเจ้าของสัมปทานในทุกๆโครงการ รู้กันในชื่อ “บูเช็กเทียน” หรืออีกชื่อว่า “มาดามเทนเปอร์เซ็นต์” เธอลาจากโลกไปก่อนปธน.ซูฮาร์โตจะถูกไล่ลงจากอำนาจปีหรือสองปี ระบอบนี้ได้สร้างหน่วยงานของรัฐที่อุ้ยอ้ายและมีระเบียบขั้นตอนต่างๆมากมายไม่มีประสิทธิภาพแถมด้วยประเพณีการหยอดน้ำมันตลอดรายการ ช่วงยุคท้ายๆ ของระบอบนี้ได้พัฒนากลายเป็น “คาคาเอ็น” (KKN) ที่สมบูรณ์แบบ K ตัวแรกมาจากคำว่าคอรัปชั่น (corruption) K ตัวที่สองมาจากคำว่าคอลลูชั่น (collusion) และ N มาจากคำว่านีโปติซึ่ม (nepotism) ซึ่งตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับหลักการปัญจศีละที่ปธน.ซูฮาร์โตได้ส่งเสริมอย่างเต็มที่ในช่วงต้นๆ ต่อจากปธน.ซูการ์โนคนก่อน และก่อให้เกิดแรงสะท้อนกลับมากขึ้นเรื่อยๆ จากคนที่เห็นต่าง แม้แต่กองทัพที่เคยคิดว่าไว้ใจได้อยู้ใต้อาณัติก็เริ่มมีปฏิกิริยา เช่นในกรณีการคัดเลือกรองประธานาธิบดีในช่วงหลังๆ

  

ปธน.ซูฮาร์โต  ที่มา: Time

หลังการเลือกตั้งในปี 2536 มีการเปลี่ยนแปลงในพรรคเปเดอี อีบูเมกาวาตี เรียกสั้นๆกันว่า “อีบูเมกา” ลูกสาวของปธน.ซูการ์โน ได้รับเลือกให้นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่งผลให้ปธน.ซูฮาร์โตหวั่นไหวมากพยายามทุกทางจะเขี่ยอีบูเมกาออกไปให้ได้ อีบูเมกาเป็นที่นิยมของคนในเมืองที่รู้ไส้รู้พุงระบอบซูฮาร์โต คนศาสนาอื่นๆ มุสลิมที่ไม่สุดโต่งและชาวจีนอย่างมาก ปธน.ซูฮาร์โตอยู่เบื้องหลังการปลดอีบูเมกาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเปเดอีได้สำเร็จราวกลางปี 2539 พรรคเลยแตกเกิดการประท้วงของพวกคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจซูฮาร์โตในกรุงจาการ์ตา ที่สุดกลายเป็นจลาจลแล้วมีการส่งทหารเข้ามาจัดการเจ็บตายไปหลายคน เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวขบวนคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านระบอบซูฮาร์โตจนโค่นล้มลงได้ในสองปีถัดมา ได้สัมผัสบรรยากาศความรุนแรงเห็นตึกถูกเผาทำลายเป็นครั้งแรกก็คราวนี้ หลังจากนั้นอีบูเมกาก็ออกมาจัดตั้งพรรคใหม่ในชื่อเปเดอี-เปอจวงงัน (PDI-P) ซึ่งแปลว่าพรรคต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตยแห่งอินโดนีเซีย ใช้ธงพื้นแดงและมีหัววัวป่าบันเตงเขาโง้งดูดุดันกำลังบ้าเลือดพร้อมขวิดทุกคนที่ขวางหน้าวางอยู่ตรงกลางผืนธง แล้วลงเลือกตั้งแบบเสรีครั้งแรกของประเทศหลังการกระเด็นออกจากอำนาจของปะฮาร์โตในปี 2542

อีบูเมกาและพรรคใหม่ของเธอ ที่มา: www.shadowness.com และ www.itoday.co.id

หนึ่งปีก่อนการล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต มีการเลือกตั้งทั่วไปและลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีครั้งสุดท้ายของปธน.ซูฮาร์โตในปี 2540 ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ เกิดการประท้วงที่นำไปสู่ความรุนแรงหลายครั้ง แล้วเหตุการณ์เดิมๆ ก็คล้ายจะกลับมาหลอนคนจีนอินโดอีกครั้ง เกือบทุกครั้งที่มีการประท้วงจนรุนแรงเป็นจลาจลย่อมๆ ความรุนแรงมักไปจบที่ย่านคนจีนอินโดไม่ว่าจะเป็นการปล้นการเผาทำลายทรัพย์สินจนถึงชีวิต เพื่อนคนจีนอินโดบางคนเล่าประสบการณ์หนีตายในโรงแรมต้องขี้นไปแอบบนเพดานฝ้าในห้องน้ำจึงรอดจากการรุมสกรัมมาได้ส่วนของมีค่าหายหมด ยังดีอยู่บ้างว่าในกฎหมายห้ามประชาชนทั่วไปมีอาวุธปืนในครอบครอง ยกเว้นพวกมีเส้นสายทำธุรกิจคาบเส้นกฏหมายต่างๆ แต่นึกภาพโดนกระหน่ำฟันหรือปาดคอด้วยมีดกับการถูกยิงไม่แน่อย่างหลังอาจจะสยดสยองน้อยกว่า ในระยะหลังจากนั้นจึงเห็นบ้านเรือนตึกทำมาค้าขายของคนจีนอินโดเสริมรั้วประตูเหล็กพร้อมพันลวดหนามแบบหนาแน่นจนเหมือนคุกไปเลย ส่วนความขัดแย้งระหว่างศาสนาโดยเฉพาะระหว่างมุสลิมและคริสต์พอมีเค้าลางให้เห็นบ้างแต่ยังไม่รุนแรงเหมือนที่เกิดกับชาวจีนอินโด แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังปธน.ซูฮาร์โตลงจากอำนาจใหม่ๆ ความขัดแย้งในเรื่องนี้ได้ถูกปลุกปั่นพัฒนาไปในทางเลวร้ายมาก

ผมกลับเมืองไทยชั่วคราวช่วงปลายปี 2540 เนื่องจากผลกระทบวิกฤติต้มยำกุ้งหลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็ได้อ่านข่าวว่า ปธน.ซูฮาร์โตต้องหลุดจากอำนาจที่ยึดกุมแบบเบ็ดเสร็จภายใต้หน้ากากประชาธิปไตยอย่างยาวนานกว่าสามสิบปีด้วยสาเหตุปัญหาที่พอกพูนสะสมมานานหลายเรื่อง โดยมีตัวกระตุ้นจากการติดเชื้อต้มยำกุ้งอย่างแรงจากเมืองไทย จากความไม่พอใจกรณีอีบูเมกา จากความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อระบอบซูฮาร์โตจนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่มากมีแกนนำเป็นนักศึกษาจากมหาลัยต่างๆ ในช่วงพฤษภาคมปี 2541 มีการยิงนักศึกษามหาวิทยาลัยตายไปหลายคน ที่สุดตามมาด้วยจลาจลทั่วเมืองและขยายไปหลายจุดในประเทศ บาปกรรมไปตกที่คนจีนอินโดต้องสังเวยทรัพย์สินและชีวิตไปมากมายจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เอาซูฮาร์โตลงจากบัลลังก์ครั้งนี้ และคงต้องใส่เครื่องหมายดอกจันหลายดอกไว้ที่กองทัพด้วย ในฐานะผู้มีอิทธิพลระดับสูงและมีส่วนได้ส่วนเสียมาอย่างยาวนาน

การประท้วงและจลาจลครั้งใหญ่ก่อนการล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต  ที่มา: groupsyahoo.com, www.scoopsofjoy.com, www.sfgate.com และ www.fixya.com

ซูฮาร์โตพื้นฐานเดิมเป็นลูกชาวนาจากเมืองย็อกยาการ์ต้ามีบ้านส่วนตัวอยู่ในย่านเมนเตงถิ่นผู้ดีที่พักเจ้าอาณานิคมเก่าแก่ของกรุงจาการ์ต้า ถ้าจำไม่ผิดเป็นบ้านเก่าสไตล์โคโลเนียลหลังใหญ่ชั้นเดียวถึงชั้นครึ่งน่าจะสร้างมานานแล้วดูเคร่งขรึมน่าเกรงขามทาสีเขียวแบบทหารรั้วเตี้ยโปร่งมีรั้วต้นไม้กั้นอีกชั้นนึง เข้าใจว่าอดีตปธน.ชอบบ้านหลังนี้มากอยู่มานานและหลังจากหมดอำนาจก็ยังอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้จนวาระสุดท้ายของชีวิต

บ้านพักหลังเดียวของ ปธน.ซูฮารโต และนสพ.ลงหน้าหนึ่ง ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ RIP ปะฮาร์โต ที่มา: kabarnet.wordpress.com และ www.ft.com

ปล. ภาษาอินโดนีเซียที่ใช้อักษรโรมันเป็นตัวเขียน ทำให้ความสวยงามของภาษาหายไปอย่างมาก เพราะภาษาดั้งเดิมของเขานั้นมีวรรณยุกต์ เช่น ซูการ์โน อ่านว่า ซู-กา-โน่  ซูฮาร์โต อ่านว่า ซู-ฮา-โต้  อีบูเมกา อ่านว่า อี-บู-เม-ก้า

จันทบุรี 14 กุมภาพันธ์ 2557

หมายเลขบันทึก: 561689เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2014 01:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2014 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท