ถ้ายังมีรัก ก็อย่ารักอย่างนางวิสาขารักนางสุทัตตี หรือ พระวักกลิรักพระผู้มีพระภาค


สิ่งหนึ่งที่จะช่วยจรรโลงบุคคลในโลกให้เป็นสุข มีกำลังใจในการรักษาชีวิต ดำเนินชีวิตอย่างใฝ่หาความก้าวหน้า ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็คือความรัก เช่น ความรักในพระพุทธเจ้า ในพระราชา ในผู้นำ ในครูอาจารย์ ในศิษย์ ในเพื่อนร่วมงาน ในคู่รัก ในบุตรธิดา ฯลฯ

ความรักสามารถนำมาได้ทั้งความสุข และ ความทุกข์ แต่ทั้งๆที่รู้ว่ารักทำให้เกิดได้ทั้งทุกข์และสุข บุคคล อันแปลว่า ตนบ้าง คนบ้าง ผู้กินของเน่าบ้าง ผู้ไปสู่นรกบ้าง ก็ยังตัดความรักไม่ได้โดยเด็ดขาด ยังคงอาศัยความสุขที่เกิดจากความรักเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตด้วยยังไม่พ้นโลก ดังพระดำรัสของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกที่ว่า

ดังนั้นเมื่อมีความรัก จึงต้องมีสติคอยควบคุมใจค่ะ เพื่อไม่ให้รักแล้วนำไปสู่ทุกข์ สู่การยิ่งยึดถือมั่น อย่างนางวิสาขารักนางสุทัตตี หรือที่พระวักลิรักพระพุทธเจ้า

ขอนำเรื่องราว ของสองท่านนี้มาเล่า นะคะ

เริ่มจากพระวักกลิก่อนค่ะ พระวักกลิเกิดในสกุลพราหมณ์ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงดำเนินบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เมื่อพราหมณ์วักกลิได้เห็นพระสรีระของพระผู้มีพระภาคก็หลงรัก อยากได้เห็นพระองค์อีก ท่านจึงบวชในพระพุทธศาสนาเพราะคิดว่าเมื่อบวชแล้วจะได้คอยตามเห็นพระพุทธเจ้าตลอดไป และเพราะคอยตามดูพระพุทธเจ้าจึงไม่ใส่ใจศึกษาธรรม พระผู้มีพระภาคแม้จะทราบความคิดของพระวักลิ แต่เพราะอินทรีย์ท่านยังอ่อน พระองค์จึงไม่ได้ทรงห้ามปราม เมื่อินทรีย์ท่านกล้าแข็งขึ้น จึงตรัสบอกพระวักกลิว่าประโยชน์อะไรกับการติดตามดูกายอันเน่าเปื่อยนี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม

จนกระทั่งพรรษาหนึ่ง พระองค์เสด็จไปจำพรรษาในกรุงราชคฤห์และตรัสบอกพระวักกลิให้หลีกไป

พระวักกลิเมื่อเสียใจว่าจะไม่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคถึง ๓ เดือนก็หมดอาลัยในชีวิต จึงปีนเขาคิชฌกูฏหวังจะฆ่าตัวตาย พระพุทธองค์ทรงทราบเหตุนั้นด้วยพระญาณ จึงทรงแผ่พระรัศมี ราวปรากฏพระกายต่อหน้าพระวักกลิ เมื่อพระวักกลิได้เห็นพระพุทธองค์อีกก็ปีติ จึงกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อข่มปีติ ละความรักอย่างยึดมั่นในพระพุทธเจ้าได้แล้ว ก็บรรลุอรหันต์ในขณะที่กลับมานั่นเอง

ส่วนนางวิสาขามหาอุบาสิกานั้น มีหลานรักอยู่คนหนึ่งชื่อว่านางสุทัตตี และให้นางสุทัตตีคอยทำช่วยเหลือบำรุงสงฆ์ วันหนึ่งนางสุทัตตีผู้ยังอยู่ในวัยสาวเสียชีวิตลง นางวิสาขาจึงโศกเศร้ามาก หลังจากที่ฝังร่างหลานแล้วก็ยังไม่อาจหยุดความโศก จึงไปเฝ้าพระศาสดาทั้งๆที่น้ำตานองหน้า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถามถึงเหตุ จึงกราบทูลว่า นางสุทัตตี ผู้เพียบพร้อมด้วยคุณความดีอย่างที่ตนไม่สามารถเห็นผู้ใดจะเป็นได้ในเวลานี้ ได้เสียชีวิตลงแล้ว

นางวิสาขานั้นนอกจากจะรักหลานแล้วยังรักผู้คนในเมืองสาวัตถีประดุจญาติตนด้วย เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามว่าคนในกรุงสาวัตถีมีอยู่เท่าใด

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีหลายโกฏิพระเจ้าค่ะ พระองค์ตรัสบอกแก่หม่อมฉันเอง”

นางจึงได้กราบทูล

“ก็ถ้าคนในกรุงสาวัตถีมีมากขนาดนี้ และต้องตายเหมือนหลานของเธอ เธอยังปรารถนาคนเหล่านั้นอีกหรือ”

“ พระเจ้าค่ะ “

และกราบทูลซ้ำ

“ก็ถ้าคนในกรุงสาวัตถีมามากอย่างนั้นและล้มตายทุกวัน เธอไม่ต้องร้องไห้ทุกวันหรอกหรือ เมื่อเป็นอย่างนี้ การที่เธอเที่ยวร้องไห้ทั้งกลางวันกลางคืนนั้น สมควรแล้วหรือ”

เมื่อได้ยินพระดำรัสอย่างนี้นางวิสาขาจึงระลึกได้ด้วยความที่นางเองก็บรรลุธรรมคือโสดาบันแล้ว จึงกราบทูลว่านางทราบเหตุแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสบอกต่อนางอีกว่า

เปมโต ชายเต โสโก, เปมโต ชายเต ภยํ;

เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก, กุโต ภยํ.

ความโศกเกิดจากความรัก ภัย ก็เกิดจากความรัก ผู้ปราศจากความรักย่อมไม่โศก ภัยจะมีมาจากไหน

ความรักที่นางวิสาขามีต่อหลานนี้ เป็นความรักที่เรียกว่า เปม (เป – มะ) พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งอรรถกถาอธิบายเปมะไว้ในเรื่องของนางวิสาขา อธิบายไว้ว่าหมายถึงความรักที่มีต่อ ปิยชน ทั้งหลายเช่นบุตรธิดา เป็นต้น

อ่านแล้วก็ชวนให้งงนะคะ ว่าทำไมจึงตรัสว่าความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นจากความรักได้อย่างเด็ดขาด อย่างนี้มิได้หมายความว่าเราไม่ควรรักลูกหลาน หรือบุคคลอื่นๆหรอกหรือ

ครั้นมาถึงเรื่องของเด็กชายทั้งร้อยห้า ก็ดูราวกับคำตรัสจะขัดกัน เพราะเรื่องของเด็กชายประมาณร้อยห้าคนเป็นอย่างนี้ค่ะ

วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเสด็จนำมหาเถระทั้ง ๘๐ และภิกษุบริวารเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ทอดพระเนตรเห็นเด็กชายประมาณร้อยห้าคนถือกระเช้าขนมเดินไปยังสวน เด็กเหล่านั้นถวายบังคมแล้วก็พากันหลีกไปโดยที่ไม่ได้ถวายขนม พระพุทธองค์ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่าเจ้าของขนมกำลังเดินตามมา เราพักรับขนมกันก่อนแล้วค่อยไปก็ได้ โดยที่ไม่ได้ทรงริษยาแต่อย่างใด จากนั้นจึงทรงพาหมู่ภิกษุไปประทับรออยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่

เด็กๆเหล่านั้นเดินจากไปสักครู่ก็เห็นพระมหากัสสปะเดินมา พวกเขาเกิดความรักในพระมหากัสสปะขึ้นมาทันที จึงพากันถวายขนม แต่พระมหากัสสปะบอกให้พวกเขาถือขนมไปที่โคนไม้แล้วค่อยถวายต่อพระพุทธเจ้าและภิกษุทุกรูป

เด็กๆทำตามคำบอกกล่าว

พอพระพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุรวมทั้งพระมหากัสสปะฉันขนมเสร็จแล้ว ภิกษุก็พากันกราบทูลว่าการที่เด็กเหล่านี้ไม่ถวายขนมแก่พระพุทธเจ้าแต่กลับไปถวายกับพระมหากัสสปะนั้น ดูไม่สมควร พระพุทธองค์จึงตรัสว่า บุคคลเช่นพระมหากัสสปะ ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา ใครเห็นใครก็รัก อยากบูชาด้วยปัจจัย ๔

โดยตรัสเป็นพระคาถาว่า

สีลทสฺสนสมฺปนฺนํ ธมฺมฏฐํ สจฺจวาทินํ

อตฺตโน กมฺมกุพฺพานํ ตํ ชโน กุรุเต ปิยํ.

ชนย่อมทำผู้ที่เพียบพร้อมด้วยศีล ทัศนะ ตั้งอยู่ในธรรม กล่าวคำสัตย์เป็นปกติ ทำงานของตน ให้เป็นที่รัก

พระพุทธโฆสาจารย์อธิบายความหมายของชนว่าหมายถึงโลกิยมหาชน เมื่อทำผู้มีคุณธรรมดังกล่าวให้เป็นที่รัก ก็อยากที่จะเห็น อยากกราบไหว้ อยากบูชา

ความรักในที่นี้ คือคำว่า ปิย (ปิ – ยะ)

อ่านแล้วชวนให้สงสัยนะคะ ว่าความรักของเด็กเหล่านี้ต่างจากความรักของสองท่านข้างต้นอย่างไร และ เปมะ กับ ปิยะ ต่างกันตรงไหน ทำไมตรัสราวกับว่าบุคคลไม่ควรรักใคร แต่กลับตรัสว่าโลกิยชนย่อมรักผู้มีศีล ผู้ที่มีการเห็นธรรมคือได้บรรลุมรรคผล ผู้มีคำพูดที่เป็นสัมมาวาจา และทำหน้าที่ของตนอย่างไม่บกพร่อง

อันที่จริงไม่ต่างกันค่ะ เพราะทั้งสองคำมาจากรากเหมือนกัน เพียงแต่ เปม เกิดจากการเติมปัจจัยทางไวยากรณ์ที่ทำให้ธาตุที่ยังนำไปใช้ในทางภาษาไม่ได้ กลายเป็นคำนาม แปลว่า ความรัก ส่วน ปิย เกิดจากการเติมปัจจัยทางไวยากรณ์อันทำให้ธาตุ ที่หากกลายเป็นคำคุณนามก็จะแปลว่า เป็นที่รัก หรือหากทำให้เป็นคำนามก็แปลว่า ความรัก ของรัก เช่นกัน

เพราะรัก จึงอยากดื่มสิ่งดีๆจากเขา

พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสบอกปุถุชนว่าอย่ารักบุคคลใดๆ หรือ ไม่ทรงเห็นคุณค่าของความรักค่ะ ดังที่มีคำตรัสในอีกที่หนึ่งว่า ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก

แต่ตรัสว่า อย่ารักแบบ เปมะ

เปมะ ปิยะ เป็นการรักแบบยึดผู้นั้นไว้เป็นของตน อยากเห็น อยากอยู่ด้วย ไม่อยากให้เขาจากไปไหน เห็นเขาเป็นที่ดื่มความอิ่มใจ เพราะรักจึงคอยบำรุงเขาให้มีความสุข ให้เขาสะดวกสบาย แม้เปมะจะเป็นความรักที่ทำให้เกิดการให้ แต่ก็เป็นการให้ที่หวังได้ คือหวัง “เสพสิ่งดีๆ” จากเขาเป็นการตอบแทน

ดังนั้นเมื่อบุคคลที่เรารักอย่างยึดมั่นจากไป เราจึงเศร้าโศก ทุกข์ใจ

แล้วรักอย่างไรคะ จึงจะไม่ต้องโศกเศร้า

ยังมีความรักอีกอย่างที่เป็นความรักอย่างมิตร อย่างมีเยื่อใยต่อกัน ปรารถนาและทำสิ่งดีๆให้แก่กันโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ความรักอย่างนี้คือ เมตตา นั่นเอง

แต่ถึงแม้เราจะรักใครอย่างมิตร ก็ยังต้องมีสติกำกับเสมอค่ะ เพราะไม่เช่นนั้น อาจเกิดเสี้ยนในเมตตา คือ เสน่หา แทรกเข้ามา จนทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นได้

การจะรักโดยไม่ยึดมั่นในบุคคลที่รักจะสำเร็จได้ก็ด้วยการวางใจเป็นกลางทั้งที่เป็นโลกิย และ โลกุตตระ ค่ะ นั่นก็คือ

๑ วางใจเป็นกลางในหลักกรรม คือ มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นของตน เป็นไปตามกรรม (อุเบกขาในพรหมวิหาร)

๒ วางใจในระดับสูงสุด คือ โดยปรมัตถ ในเมื่อไม่มีสิ่งที่เป็นตัวตนเที่ยงแท้ถาวรให้เรายึดได้แล้ว เราจะไปยึดสิ่งใดๆว่าเป็นของเราได้ล่ะค่ะ

แล้วเราๆที่ยังอยู่ในโลก ยังมีหน้าที่การงานให้ต้องดูแล ยังมีทรัพย์สินให้ต้องรักษา ยังมีบุคคลในครอบครัวให้เอาใจใส่ ก็ย่อมมีความรักให้บุคคลรอบข้างและมักยึดเขาเหล่านั้นไว้เป็น เช่น เขาเป็น “ลูกของเรา” “สามีของเรา” “ภรรยาของเรา” เป็นธรรมดา จะทำอย่างไรดีคะ ความรักที่เต็มไปด้วยความยึดมั่นเหล่านี้จะกลายเป็นความรักที่ไม่นำทุกข์มาให้ หรือนำทุกข์มาให้ก็ทำให้เราทุกข์น้อยเท่าที่จะเป็นไปได้

เรื่องนี้น่าจะนำสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสกับธรรมทินนอุบาสกมาปฏิบัติได้ค่ะ

เมื่ออุบาสกชื่อว่าธรรมทินนะกับบริวาร ไปถามพระพุทธองค์ว่ามีธรรมใดที่จะเกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่เขา ขอพระองค์โปรดตรัสเล่าธรรมนั้น

ตรัสบอกว่าให้ชนเหล่านั้น พึง "ศึกษา" ว่า

“พระสูตรเหล่าใดที่ตรัสแล้ว มีความลึกซึ้ง มีเนื้อความลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง เราจักเข้าถึงพระสูตรเหล่านั้นอยู่เป็นนิตย์”

ซึ่งคำว่าศึกษานั้น รวมไว้แล้วทั้งการเล่าเรียนปริยัติและการปฏิบัติ

เมื่อนายธรรมทินนะกราบทูลว่า พวกเขายังครองเรือน ยังนอนกกลูก ยังยินดีในเงินทอง เครื่องแต่งกาย เครื่องลูบไล้อยู่ การที่จะเข้าถึงความว่างดังที่ตรัสนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แล้วจึงกราบทูลอีกว่า

“ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมอันยิ่งแก่พวกข้าพระองค์ผู้ตั้งอยู่แล้วในศีล ๕ เถิด”

“ดูกรธรรมทินนะ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... จักเป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรธรรมทินนะ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ”

ดังนั้น การปฏิบัติสำหรับฆราวาสก็คือ มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ฝึกตนด้วยสิกขาบท ๕ (ศีล ๕) โดยให้เป็นศีลที่ ถึงใจ เพื่อให้ชีวิตเป็นปกติ เอื้อต่อการฝึกสมาธิหรือเป็นอยู่อย่างจิตที่เป็นสมาธิ และเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็ให้หมั่นวิปัสสนาเพื่อให้เห็นตามที่เป็นจริง

และด้วยการปฏิบัติและรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสบอกธรรมทินนอุบาสกและบริวารว่า ท่านเหล่านั้นได้พยากรณ์โสดาปัตติผลแล้ว

แล้วความรักแบบยึดถือมั่น ก็จะค่อยๆคลาย กลายเป็นรักแบบเมตตา เมื่อค่อยๆขยายความเมตตาที่ยังเป็นประมาณคือเฉพาะในหมู่ตน ไปสู่บุคคลอื่น สัตว์อื่น อันเป็นเมตตาที่ไม่เป็นประมาณ สังคมก็จะน้อมไปสู่ความสงบ อันจะยิ่งเป็นปัจจัยเอื้อให้วิถีชีวิตเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้น

รวมไปถึงตัวเราที่จะค่อยๆหมุนออกออกจาก ความเห็นว่าเป็นเรา เพราะการหมั่นพิจารณาที่น้อมลงสู่ความว่างอยู่เรื่อยๆ การปฏิบัติจึงค่อยๆคลายกิเลสโดยไม่สร้างสมุทัยใหม่ และ ไม่เบียดเบียนใครๆให้ต้องร้อนรุ่มไปกับการน้อมนำธรรมมาสู่ตนของเราค่ะ

หมายเลขบันทึก: 561623เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2014 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2014 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มีดอกงิ้วมาฝาก..ในวันวาเลนไทน์..เจ้าค่ะ...ยายธี

สาธุ...

ขอบคุณบันทึกดีๆ ในวันดีๆนี้ครับ

เจริญธรรม อ่านแล้วจะเข้าใจดี และมีคำตอบอยู่ตัวธรรมและความหมายทั้งหมดโดยไม่ต้องสงศัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท