"ยุ่งเหยิง..ที่ยืนหยัด"


เมื่อเดินทางเข้าป่า ท้องทุ่ง ภูเขา เราจะพบกับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เกลียวสัมพันธ์กันอย่างสงบนิ่ง ปราศจากภาษา ไร้เสียง (พูด) แต่มีภาพปรากฏแห่งสายใยที่ถักทอ ล้อลื่น ไปกับผืนป่า ภูเขา ที่สร้างความประทับใจให้สายตาและสมองได้สืบสวน ย้อนรอยอดีตว่า พวกมันเจริญเติบโตมาขนาดนี้ ผ่านร้อน ดอนหนาว ท้าทายสายฝน ทนอยู่กับแสงแดดมาได้อย่างมั่นคง มันสะท้อนให้เห็นความมั่นคงที่มุ่งมั่นอย่างแท้จริง เมื่อเข้าป่า ลงทุ่ง ปรุงทัศน์ ให้มองเห็นสรรพสิ่งเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในโลกที่กว้างใหญ่

กิ่งไผ่

บางเขาเหล่ากอไผ่ ขึ้นแตกใหญ่ห้อมล้อมกอดกันแน่น แตกกอตอหน่อเป็นครอบครัวใหญ่ มีกิ่งใบปกคลุมเป็นพุ่มหนา เห็นใบ้แห้งตกหล่นกร่นพสุธา ผืนดินก็กลายเป็นปุ๋ยให้แม่ต่อไป แต่ทำไมไผ่จ๋าจึงมีกิ่ง มีหนามปรามผู้บุกรุก ใครบอกท่าน แผนการอันสุดยอด ว่าจะปลอดจากศัตรูอยู่ได้มั่นคง กิ่งก้านสานกันอย่างไร้ระเบียบ แต่กลับมีความมั่นหมายเป็นสายลับ คือ เป็นเครื่องประกันความมั่นคงและปลอดภัย กอดเกาะกันไว้มิให้แยกแตกกอ กลัวแต่พ่อผู้พาลจะเอนเอื้อให้เป็นด้ามขวานของนรชน ที่มีใจหยาบอยากแย่งแท่งลำไผ่ไปสร้างเรือน

ใบข้าว

ออกจากเขาเข้านา เดินลงทุ่งมุ่งสายตาป่าข้าว เห็นสีเขียวผืนยาวปกคลุมสุดสายตา ชาวนาปลูกข้าวปรัง เห็นอีกข้างมีแต่ฟางข้าวที่ถูกเกี่ยวเก็บไปแล้ว เห็นแต่ซังฟางข้าวราวกับหญ้านาสีน้ำตาล เห็นฝูงวัวควายน้อยใหญ่ แต่ไม่มากเล็มแทะหญ้า ด้วยท่วงท่าก้มลงเคารพปฐพี เหมือนกำลังชี้ให้รู้ว่า นี่คือ อาหารที่ฉันพอใจ ใช่รสนิยมอันเลอเลิศเหมือนนรชนที่ชื่นชอบกัน เลยออกไปไกลถิ่นท้องนายังไม่สิ้นกลิ่นรวงข้าว เห็นลำข้าว ต้นข้าวมีลูกผลกร่นกิ่ง จนโอนเอนโง้งงอ เป็นขอเกี่ยว สะท้อนให้รู้ว่า ปราชญ์ผู้รู้อยู่ในตน ย่อมบกพร่องตน ว่าสนใจในวิทยาอยู่เสมอ ใช่เชิดหน้าด่าก่นคนทั่วไป และท้าทายว่าข้า คือ มหาปราชญ์

เถาวัลย์

ผ่านเขาภูพาน ด่านป่า ด่านเขา ดงเหล่าเถาวัลย์ ที่ผูกพัน ฟั่นเกลียวเลี้ยวล้อมไปกับต้นไม้ใหญ่ เป็นที่อาศัยไต่เต้า เพื่อเป้าหมายคือ "แสงแดด" จนเนิ่นนานผ่านกาลเวลาหลายปี เถาวัลย์ก็กลายเป็นพุ่มคลุมต้นไม้ คล้ายรูปทรงวงกลม หรือรูปสัตว์ สารพัดหลากหลาย บ้างก็โผล่โชว์ยอดกอดกันแน่น บ้างก็แอ่นยื่นยอดหาราวเกาะ ถึงฤดูกาลผ่านสัญญา ก็พร้อมหน้าดาออกดอก โหยหอมล้อมป่า ยามเดินเยือนหอมกรุ่นกลิ่นมาลา ตามพนา กลิ่นฟุ้งจรุงจิต พิศมัย ชื่นใจจัง

รากหญ้า

เมื่อเดินย่ำเหยียบหญ้าในนา ทำให้รู้ว่าหญ้ามีราก ที่รักนา รักน้อง รักพ้องเพื่อนเหมือนญาติกัน และผูกพันกับต้นข้าวราวเป็นพี่ แต่ชาวนากลับมองว่า แกนะคือ ศัตรูอยู่ในนาฉัน เมื่อนั่งพิจ สงบนิ่ง แล้วจ่มดิ่งในกิ่งหญ้า และราก ถามตัวเอง ว่าเป็นไฉน มันแตกกอ ทอยอดกอดกก ไปตามนา ป่าข้าวอย่างสบาย เมื่อดึงดก ถอนดูก็รู้ว่า มันมีรากหญ้าที่น่าทึ่ง ที่ชอนไชไปไกลหลายเมตร เพื่อหาเกรดอินทรีย์ที่มีค่าเป็นอาหาร รากที่เลื้อยทิ่มแทง แยงไปตามช่องดินที่ชอนไชไปตามร่องนา เพื่อดูดสารอาหารบำรุงตัวเอง เมื่อนานวันรากนั้นก็เดินทางไกลจากต้นแม่ ปลายรากคือ ปากดูด เป้าหมายคือ ผลิตผล ออกดอก ออกเมล็ด แผ่เผ่าเฝ้าท้องนา แผ่นดินต่อไป

สิ่งที่เห็นคือ "กิ่งไผ่" ที่โอบกอดกันอย่างแนบแน่น อย่างไร้ระเบียบ แต่มีระบบในการป้องกันตนเอง "ใบข้าว" ก็กอดเกาะสานแทรกแตกกอไปมาอย่างไร้ระเบียบเช่นกัน แต่ก็มีความหมายในการป้องกันต้นมิให้โยกเยกในดินล่มที่หลวมหล่ม ส่วน "เถาวัลย์" คือ การพึ่งพาอาศัยไม้อื่น เพื่อให้ตนอยู่ได้ เป้าหมายคือ แสงแดด มิได้สนใจว่า บันไดที่ปีนป่ายจะใหญ่หรือเล็กหรือรำคาญอย่างไร เป้าหมายมีไว้ให้ไปถึง จึงดูไร้กติกา ไร้ความเห็นใจ ไร้ระเบียบ แต่มีระบบนิเวศ ส่วน "รากหญ้า" ตามนาทุ่ง เป็นที่โล่งที่รับแดดได้อย่างโดดเด่น แสงพอแต่อาหารไม่พอ จึงต้องตะเวนหาใต้โต๊ะ แย่งชิง แทงรากไปมาอย่างไร้ทิศทาง รากหญ้าจึงดูกอดก่าย สอดสานกันไปมาอย่างไร้ระเบียบ แต่ก็มีระบบที่สร้างความสมดุลให้กับผืนดิน

ส่วนมนุษย์ อยู่กันอย่างไร้ระบบระเบียบ มีแต่ความยุ่งเหยิง ดั่งเปลวเพลิงเริงร้อนในตอนนี้ ไร้ความมั่นคงและยั่งยืน ต่างจากพืช ไม้ ที่่อยู่อย่างไร้ระเบียบ กลับอยู่กันอย่างมีระบบและยั่งยืน เราควรก้มหน้า สอดสายตาส่องกล้องใจ ให้ลุ่มลึก เพื่อศึกษาวิทยาการจากพฤกษาจารย์บ้าง

หมายเลขบันทึก: 561551เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2014 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2014 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กิ่งไผ่ ใบข้าว เถาวัลย์ ได้ยินแล้วรู้สึกดีจังเลยครับ

บรรยายได้เห็นภาพ ด้วยภาษาที่ลื่นไหล

คล้ายธรรมชาติของแมกไม้ที่เลื้อยร้อย

อ่อนไหว งดงาม ยิ่งนัก

ขอบคุณครับ

ความเป็นธรรมชาติ คนก็เป็นส่วนสำคัญของธรรมชาติในโลกใบนี้

หากธรรมชาติถูกดัดจริต ธรรมชาติก็จะย้อนกลับมาจัดสรรตัวของเขา

อย่างที่เขาเป็นอยู่ นั้นหมายความว่า หากเราหวังดีกับธรรมชาติอย่าง

ท่านรัตนภักดิ์ ได้ให้คำนิยามไว้แล้วนั้น ธรรมชาติก็จะสอนมนุษย์ให้รู้

จักพอมีพออยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล อีกทั้งแบ่งเบาภาระที่เกิดจาก

การเบียดเบียนกันและกันน้อยลง การทำลายทำร้ายก็จะเบาบางจาง

คลายไปในที่สุด หากเราไม่ทำลายธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา ธรรมชาติ

ก็จะรักษาสรรพสัตว์ และทุกสรรพสิ่งก็จะคงอยู่อย่างสมดุลและสมบูรณ์

ต่อไป

เป็นงานเขียนที่มีคุณค่าจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท