PLC_CADL_019 : วิพากษ์การทำงานเกี่ยวกับ "คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์" โดยผู้ทรงคุณวุฒิ


วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ทีม CADL จัดเวที KM ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในงานพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยเลือกเชิญเฉพาะผู้ที่่ผมเองในฐานะตัวแทนของ GE (ที่มุ่งมั่นอยากทำ) รู้จักคุ้นเคยกับท่าน จำนวน ๘ ท่าน (ขอสงวนชื่อท่านไว้ก่อนครับ) เพื่อเสนอให้ท่านได้วิพากษ์แนวทางการพัฒนานิสิตสู่ "คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์" ของรายวิชาศึกษาทั่วไป

ผมให้ข้อมูลและเล่าให้ฟัง ดังนี้ครับ

วันที่ ๗-๘ กันยายน ๒๕๕๖ เราไปสัมนาผู้ประสานงานรายวิชาศึกษาทั่วไปที่จังหวัดนครราชสีมา ผมเขียนบันทึกไว้ที่นี่ โจทย์หรือการบ้านสำคัญคือ นิสิตที่เรียนจบหลักสูตร ๓๐ หน่วยกิต ของ GE จะต้องมีคุณลักษณะอย่างไร

วันที่ ๒-๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ได้มีโอกาสสอบถามอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ด้วยกิจกรรมของฝ่ายวิชาการ ในฐานะกระบวนกร ผมนำเสนอคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย โดยหยิบเอาตัวชี้วัดตามแบบสอบถามคุณภาพบัณฑิตตามกรอบ TQF ที่มหาวิทยาลัยส่งไปสำรวจกับผู้ใช้บัณฑิต

แล้วถามอาจารย์ผู้สอน (จำนวนหนึ่ง) ว่ารายวิชาของท่าน (รายวิชาที่ท่านสอนอยู่) ทำให้นิสิตมีคุณลักษณะอย่างไร ในแต่ละด้านตามคุณลักษณะฯ ผลสรุปโดยละเอียดอ่านได้ที่นี่


ด้านคุณธรรม จริยธรรม

๑) มีความละอายและเกรงกลัวต่อการทำความผิด
๒) มีจิตสำนึกที่ดีต่อการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคม (มีจิตสาธารณะ มีจิตอาสา)...สอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัย "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"
๓) ซื่อสัตย์สุจริต
๔) กตัญญู
๕) เคารพกฎระเบียบ กติกา ขององค์กรและสังคม
๖) มีจรรยาบรรณวิชาชีพ
๗) มีความอดทน และขยันหมั่นเพียร


ด้านความรู้

๑) มีความรู้เกี่ยวกับตนเอง
๒) มีความรู้เกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น และวัฒนธรรมของตนเอง
๓) มีความรู้ที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น กฎหมายในชีวิตประจำวัน มนุษยวิทยาและสังคมศาสตร์เบื้องต้น การเมืองการปกครองเบื้องต้น ฯลฯ
๔) มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และสิ่งแวดล้อม
๕) มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน
๖) มีความรู้รอบตัวเกี่ยวกับ ประเทศ อาเซียน และโลก
๗) มีความรู้ที่จำเป็นด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน บัญชี ผู้ประกอบการ ฯลฯ


ด้านทักษะทางปัญญา
๑) สามารถควบคุมและพัฒนาตนเองได้ดี
๒) สามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้
๓) สามารถวิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
๔) สามารถค้นหาข้อมูล/หลักฐาน รวบรวมข้อมูล แปรความหมาย ลงความเห็น และสื่อความหมาย ข้อมูลได้อย่างน่าเชื่อถือ
๕) สามารถวางแผนและจัดการให้งานสำเร็จลุล่วงได้
๖) สามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดี
๗) สามารถบูรณาการความรู้ และนำความรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้


ด้านทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี
๑) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลข แปรความหมาย วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขและตัวแปร สามารถอธิบายความในรูปแบบกราฟ ภาพ ข้อมูลเชิงสถิติ และแปรผลค่าแนวโน้มทางสถิติได้
๒) ประเมินสถานการณ์ต้นทุน กำไร และความคุ้มค่าได้
๓) สามารถวิเคราะห์ รู้เท่าทันสื่อแอบแฝง และสามารถเลือกใช้สื่อได้อย่างถูกต้อง
๔) สามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
๕) สามารถถ่ายทอด/ถ่ายโอนความรู้ได้
๖) สามารถใช้เทคโนโลยีที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้ดี
๗) สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ดี


ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
๑) เข้าใจตนเองและผู้อื่น
๒) มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล ยอมรับความคิดเห็นและเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น และเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์
๓) มีทักษะความร่วมมือ ทักษะการทำงานเป็นทีม มีภาวะความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมั่นใจในตนเอง และรู้จักเชื่อใจผู้อื่น
๔) รับผิดชอบต่อตนเอง มีวินัยในตนเอง ตรงต่อเวลา
๕) รับผิดชอบต่อหน้าที่ รับผิดชอบต่อชุมชน และสังคม
๖) รู้จักการให้ เสียสละ และการช่วยเหลือชุมชนและสังคม
๗) อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข


เรานำผลการสำรวจนี้ไปจัดทำเป็นแบบสอบถาม และนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับการวิพากษ์ ครั้งนี้ด้วย

ได้ข้อเสนอแนะและข้อวิพากษ์ ดังนี้

  • ควรมีการนำแบบสอบถามในลักษณะนี้ไปสำรวจข้อมุลจากหลายแหล่งได้แก่ นิสิต ผู้ปกครอง ผู้ใช้บัณฑิต และผู้บริหารมหาวิทยาลัย
  • เมื่อกำหนดคุณลักษณะฯ นี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ กำหนดรายวิชาที่สอดคล้อง และนำไปปรับหรือออกแบบการเรียนการสอนในขั้นตอนสุดท้าย
  • การจัดทำคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของรายวิชาศึกษาทั่วไป ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับ บัณฑิตในอุดมคติ ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ (ทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะไอซีทีและการสื่อสาร)
  • การจัดทำแบบสอบถามควรให้มีวัตถุประสงค์ในการสำรวจที่ชัดเจนว่า สำรวจแล้วจะได้ข้อมูลอะไร ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำเครื่องมือวิจัยช่วยดู
  • นอกจากนี้แล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิก็เห็นด้วยในหลักการในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการใช้กระบวนวิจัยในการทำงาน

นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อเสนอแนะต่อการทำงานของศึกษาทั่วไป ในเชิงวิพากษ์ เพื่อการพัฒนา ที่คน GE น่าจะเปิดใจรับ ดังนี้

  • กิจกรรมพัฒนาอาจารย์ที่ผ่านมา กำหนดประเด็นไม่น่าสนใจ เวลาไม่เหมาะสม เป้าหมายในไม่ชัดเจน วิทยากรไม่เชี่ยวชาญ
  • แนะนำให้แบ่งหัวเรื่องการพัฒนาอาจารย์ออกเป็นหลายเวที เช่น การพัฒนาภายใน ปฏิบัติธรรม ทักษะกระบวนการเรียนรู้ บุคลิกภาพของความเป็นครูอาจารย์ การเขียนตำราหรือเอกสารประกอบการสอน ฯลฯ โดยเปิดโอกาสให้อาจารย์ผู้สอนได้เลือกตามความสมัครใจของตนเอง
  • เสนอแนะวิทยากรการพัฒนาจากภายใน เช่น วิสิษฐ์ วังวิญญู
ฯลฯ
หมายเลขบันทึก: 561368เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2014 06:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2015 00:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท