เพราะอะไรลูกจึงพูด "ไม่" เสมอๆ เวลาที่เราบอกให้ทำอะไรๆ


เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แม่ดาวคัดลอกมาจากหน้ากระดานของ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" หมอมินบานเย็น นามแฝงเนอะเป็นจิตแพทย์เด็กแบ่งปันไว้ใน Facebook  อ่านแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์มากเลยอยากนำมาแบ่งปันกันไว้ค่า หากใครสนใจไปติดตามอ่านกันได้นะคะ มีเรื่องดี ๆ ที่ใช้ได้จริง เห็นผลได้  อยากรู้ต้องลองไปอ่านและลองทำตามกันดูจ้า

มีคุณแม่ถามมาว่า รู้สึกว่าลูกอายุสามขวบ ตอนนี้เวลาพูดอะไรบางทีก็จะไม่ทำตามและทำนิ่งเฉย บางทีก็จะแอบต่อต้านเช่น ขอให้แบ่งของเล่นให้พี่ๆ เพื่อนๆ หรือการจะให้ไปแปรงฟัน ก็จะบอกว่า ไม่ ควรทำยังไงดี? หมอเห็นว่าน่าจะนำมาแบ่งปันกันได้จึงขอยกมาเขียนให้อ่านกัน...

พฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราเจอได้ในเด็กเล็กอายุประมาณขวบครึ่งถึงสามขวบค่ะ เพราะเป็นช่วงพัฒนาการความเป็นตัวของตัวเอง หรือที่เรียกว่า Autonomy เด็กจะอยากทำโน่นทำนี่เอง ดังนั้นเด็กจะเริ่มเถียงในทุกๆเรื่องที่ตัวเองเถียงได้ แม้จะเป็นเรื่องที่เค้าชอบ เค้าก็อาจจะพูด "ไม่" ไว้ก่อน แต่จริงๆก็ไม่ได้คิดจะต่อต้านหรือไม่ทำตามจริงๆ หาได้ยากมากในเด็กเล็กๆที่จะร่วมมือกับเราไปทุกๆเรื่อง ดังนั้นเราต้องมีวิธีจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อให้เด็กผ่านพัฒนาการช่วงนี้ไปอย่างราบรื่น ส่วนใหญ่ถ้าเราจัดการได้ดี เด็กจะต่อต้านเราน้อยลงเรื่อยๆ ลองทำตามเทคนิคที่หมอจะให้ดู...

1. พยายามไม่เป็นอารมณ์มากเวลาที่เด็กต่อต้าน ให้คิดว่าเป็นช่วงวัยปกติที่เขาจะดื้อ บางครั้งเด็กบอกว่า "ไม่" แต่จริงๆความหมายของเด็กคือ "ต้องทำด้วยเหรอ?" หรือว่า "แม่หมายความว่าแบบนั้นจริงๆเหรอ" อย่าคิดว่าเด็กที่พูด "ไม่ๆ" กับเราเป็นเพราะเค้าไม่เคารพเรา มันแค่เป็นช่วงที่เด็กกำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง มองให้เป็นเรื่องขำๆ และท้าทายของเรา พยายามจัดการด้วยความสนุก

2. อย่าลงโทษเด็กเพราะเด็กพูดว่า "ไม่" หมายถึง ถ้าจะลงโทษ ก็ให้ลงโทษในการกระทำมากกว่าคำพูดของเค้า ปล่อยผ่านคำพูด เช่น ไม่เอา ไม่ทำ ของเด็ก ไม่ต้องไปเถียงกับคำพูดเค้า แต่ให้ใช้เทคนิคที่หมอกำลังจะบอกต่อไป

3. ให้ทางเลือกกับเด็กเวลาที่เขาดื้อ เป็นทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับความอยากเป็นตัวของตัวเองของเขา และเขาก็จะร่วมมือมากขึ้น ยกตัวอย่างการให้ทางเลือก เช่น เลือกว่าหนังสือเล่มไหนที่อยากจะอ่าน ผลไม้ชนิดไหนที่อยากกินเป็นของว่าง อยากไปเดินเล่นหรือไปว่ายน้ำ สำหรับเรื่องที่เด็กไม่ชอบทำ เช่น เก็บของเล่น เมื่อเล่นเสร็จ อาจใช้คำถามเช่นว่า "หนูอยากจะช่วยแม่เก็บของเล่นแบบเร็วๆ หรือ จะค่อยๆทำจ๊ะ" ลองทำให้เหมือนเกมส์ ให้สนุกสนาน เช่น "มาแข่งกันเถอะว่าแม่กับหนูใครจะเก็บของเล่นได้เร็วกว่ากัน" ยิ่งทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาได้เป็นคนตัดสินใจเอง เด็กก็จะยิ่งร่วมมือมากขึ้น

4. ในเรื่องที่เป็นเรื่องของกฏระเบียบ ความปลอดภัย เราไม่สามารถให้เด็กเลือกได้ หรือ อะไรที่ต้องทำ ก็คือ ต้องทำ เช่น ต้องนั่งคาร์ซีท ต้องไปโรงเรียน แบบนี้เราต้องบอกไปเลยว่าเด็กต้องทำ โดยใช้คำพูดที่อ่อนโยนแต่หนักแน่น เช่น "แม่รู้ว่าหนูง่วง แต่หนูต้องตื่นไปโรงเรียนจ้ะ" 

5. ให้เวลากับเด็กเมื่อต้องเปลี่ยนกิจกรรมจากอย่างหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง ถ้าเด็กๆกำลังสนุกและต้องเปลี่ยนไปทำอีกอย่าง เช่น เล่นอยู่แต่ต้องไปอาบน้ำ เราต้องเตือนเด็กล่วงหน้าก่อนสักห้านาที เพื่อให้เวลาเด็กในการหยุดเล่นไปอาบน้ำ บอกเด็กว่า "แม่รู้ว่าหนูกำลังสนุก แต่หนูคงต้องไปอาบน้ำแล้ว แม่จะให้เวลาหนู5นาทีนะจ๊ะ อีกห้านาทีคงจะต้องหยุดเล่น"

6. พยายามมีกฏระเบียบให้น้อยที่สุด เอาแค่ที่จำเป็น ยิ่งกฏกระเบียบยิบๆย่อยๆมาก เด็กจะต่อต้านและทำให้เราขัดแย้งกับเด็กมากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีกฏระเบียบเลย เพราะนั่นจะเป็นการตามใจเด็กจนขาดการควบคุมตัวเองซึ่งเป็นผลเสียตามมา กลายเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง

7. ผู้ใหญ่พยายามทำตัวเป็นตัวอย่าง ด้วยการพูดตอบคำขอร้องของเด็กด้วยคำว่า "ไม่" ให้น้อยที่สุด ถ้าคิดว่า สามารถทำได้ ก็ให้ตอบตกลงไปทันที ถ้าคิดว่าเป็นคำขอร้องที่ตอบตกลงไม่ได้ ก็อาจใช้คำตอบว่า "เดี๋ยว ให้แม่ลองคิดดูก่อนนะจ๊ะ" แล้วเมื่อปฏิเสธ ก็ต้องบอกเขาถึงเหตุผลว่าทำไมจึงทำตามคำขอของเขาไม่ได้

ลองนำไปใช้ปฎิบัติกันดูค่ะ

#หมอมินบานเย็น
 — กับ Annop Siruntawineti และ 2 อื่นๆ
 
หมายเลขบันทึก: 561102เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2014 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2014 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท