ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๘๐.ไม่เห็นด้วยกับข้อเขียนของตนเอง


 

           บันทึก คุยกับ ศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณบันทึกนี้   มีคุณลูกหมูเต้นระบำมาแสดงความคิดเห็นเชิงเห็นด้วย   ผมพิจารณาใหม่ กลับไม่เห็นด้วยกับที่ตนเองเขียนไป   ว่าอาจสื่อความหมายผิด 

          จริงๆ แล้ว ในยุคสมัยปัจจุบัน ศาตร์ต่างๆ ยืนโดดเดี่ยวยาก   เพราะโลกมันซับซ้อน ในท่ามกลางทุนนิยม บริโภคนิยม มูลค่านิยม ศาสตร์ที่เป็นคุณค่า เป็นนามธรรมต้องหาทางดำรงอยู่ด้วยวิธีต่างๆ    วิธีหนึ่งคือจำแลงกาย" เข้าไปฝังตัวอยู่ในสินค้า หรือบริการ    เหมือนอย่างที่ แบคทีเรียในสมัยโบราณ หาทางดำรงอยู่โดยเข้าไปอยู่ใน เซลล์ ของสิ่งมีชีวิตอื่น    จนในปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อmitochondria

          ไมโตฆอนเดรีย มีความสำคัญมากเสียจนต้องไปอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด    เพราะเซลล์ต้องการเพื่อการดำรงชีวิต    เนื่องจากเป็นโรงงานผลิตพลังงาน    จนในที่สุด แบคทีเรียชนิดนี้ก็ไม่ต้องอยู่แบบตัวเดียวโดดเดี่ยวอีกต่อไป    เข้าไปอยู่ในเซลล์ เป็นส่วนหนึ่งของเซลล์เสียเลย

          ศาสตร์ หรือวิชาการด้านมนุษยศาสตร์   เป็นศาสตร์ว่าด้วยความเป็นมนุษย์    มิติของความเป็นมนุษย์จะต้องอยู่ใน สินค้าและบริการทุกชนิด    เพราะสินค้าและบริการก็เพื่อมนุษย์เป็นผู้บริโภค    วิชาการด้านมนุษยศาสตร์จึงต้องเป็นศาสตร์หนึ่ง ที่ใช้พัฒนาสินค้าและบริการ

          หลายปีมาแล้ว ผมอ่านพบในนิตยสารด้านธุรกิจ ไม่แน่ใจว่าใช่ Fortune หรือไม่    ว่าบริษัท สมาร์ทโฟน แห่งหนึ่ง จ้างนักมานุษยวิทยาระดับปริญญาเอก เป็นผู้จัดการแผนก human interphase หรืออะไรทำนองนี้    มีหน้าที่บินไปตามประเทศต่างๆ ในโลก    เพื่อไปดูว่าผู้คนเขาใช้ สมาร์ท โฟน กันอย่างไร    แล้วกลับมาเล่าให้วิศวกรผู้ออกแบบ สมาร์ท โฟน รุ่นใหม่    สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบ ให้ถูกใจผู้ใช้ 

          เห็นไหมครับ จะอย่างไรก็ตาม มนุษย์เราก็ยังยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง    แล้ววิชาการว่าด้วยความเป็นมนุษย์ จะไม่สำคัญได้อย่างไร    แต่ความสำคัญนั้น อาจต้องตีความหลายแบบ    โดยอาจสำคัญแล้วต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ก็แบบหนึ่ง    หรือสำคัญมากจนไม่ต้องมีตัวตน กลายเป็น ไมโตฆอนเดรีย หรือ intel inside (คอมพิวเตอร์) ก็อีกแบบหนึ่ง    ที่เป็นคนละขั้วทีเดียว

          ผมเห็นบางมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีหลักสูตรการท่องเที่ยว    มีวิชาด้านมนุษยศาสตร์เพียบ    เห็นแล้วคิดว่า นี่คือหนทางหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งของวิชาการด้านมนุษยศาสตร์    คือเปิดโอกาสให้นักวิชาการด้านนี้ทำงานวิจัย และสอน บนพื้นฐานของการสร้างสรรค์วิชาการจากชีวิตจริงในปัจจุบัน    ไม่ใช่สร้างสรรค์จากเอกสารหรือจารึกจากอดีตเท่านั้น   มนุษยศาสตร์ในปัจจุบัน จึงควรสร้างศาสตร์ทั้งจากอดีต และจากปัจจุบัน  

          หากนักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สามารถสร้างสรรค์วิชาการจากปัจจุบันได้จริง    จากกิจกรรมและปรากฏการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน    ศาสตร์ด้านนี้ ก็น่าจะเอาใจใส่สร้างวิธีวิทยาการวิจัยจากข้อมูลจริงนี้    แล้วศาสตร์ทั้งสองก็จะเฟื่องฟูรุ่งเรืองมาก    เพราะมีข้อมูลเรื่องราวให้วิจัยไม่จำกัด    เพราะสังคมมันเปลี่ยนเร็ว

          นั่นหมายความว่า วิธีสร้างศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์และสังคม ต้องไม่ใช่แค่ยึดโยงกับอดีตเท่านั้น    ต้องยึดโยงกับปัจจุบันและอนาคตด้วย    โดยจะต้องสร้างวิธิการ และจารีตทางวิชาการขึ้นใหม่    ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับจารีตวิชาการที่ตนเล่าเรียนมาเท่านั้น

          ทั้งหมดนี้ เป็นการเถียงกับตนเอง    ไม่เห็นด้วยกับตนเอง

          ผมเป็นโรคจิตเภทหรือเปล่า

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ธ.ค. ๕๖

 

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 559739เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2014 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2014 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท