10 ความจริงกับสุขภาพคนไทย


หลังจากห่างหายไปนาน จึงได้แวะเวียนนำผลการศึกษา มาเล่าย่อๆ สกัดออกมา เป็น 10 เรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนไทย จากการศึกษาภาระโรคและสุขภาพของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2552 ดังมีความจริงดังนี้ 

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก 

http://www.dreamstime.com/royalty-free-stock-photos-concept-public-health-services-healthy-way-life-image2026488

 

1. คนไทย กับอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น

อายุขัยเฉลี่ยนับจากแรกเกิดของคนไทย เพิ่มขึ้นแต่ต้องอยู่อย่างเจ็บป่วย พิการมากขึ้นอายุขัยเฉลี่ยของชายอยู่ที่ 70.5 ปี หญิงอยู่ที่  77.3 ปี  แต่...อายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี ของชายอยู่ที่ 64.5 ปี และหญิงอยู่ที่ 68.2 ปี ดังนั้น ชาย ต้องแบกรับภาระโรค โดยอยู่อย่างเจ็บป่วยพิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 6 ปี และหญิงอายุยืนกว่าชาย แต่สูญเสียมากกว่าชายถึง 3 ปี

2. คนไทย ตายไปจากสาเหตุอะไรเป็นอันดับสูงสุด

การตายจำแนกตามรายโรคของคนไทย ปี 2552 พบว่า ทั้งชายและหญิงเสียชีวิตด้วยสาเหตุโรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 1 ในชาย ถึงร้อยละ 10.4 และ หญิง ร้อยละ 14.4  ของการเสียชีวิตทั้งหมดในชายและหญิงตามลำดับ

3. คนไทย ปีสุขภาพดีหายไป 10.2 ล้านปี

ในปี 2552 ชายไทยสูญเสียปีสุขภาพดี 5.8 ล้านปี (DALYs) และหญิงสูญเสีย 4.4 ล้านปี (DALYs)  นับว่าชายสูญเสียมากกว่าหญิงถึง 1.3 เท่า เท่ากับว่า คนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับภาระจากการเจ็บป่วย จากโรคต่างๆ รวมกันแล้วถึง 10.2 ล้านปี

4. คนไทย ในกลุ่มผู้ชายชีวิตที่สูญหายไปกับแอลกอฮอล์

ชายไทยในปี 2552  สูญเสียปีสุขภาพดีจากการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดถึงร้อยละ 9 จากการสูญเสียปีสุขภาพดีทั้งหมดในเพศชาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสูญเสียจากการต้องอยู่อย่างเจ็บป่วยพิการ และมีภาวะบกพร่องทางสุขภาพ

5. คนไทย ในกลุ่มผู้หญิง กับข้อเท็จจริง กับโรคเบาหวาน

ปี 2552 โรคเบาหวาน เข้ามามีบทบาทค่อนข้างสูงกับคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงไทย เป็นสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาพดีอันดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 8.6 ของการสูญเสียทั้งหมดในเพศหญิง และโรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 2 ในหญิงไทย

6. คนไทย วัยเด็ก ชีวิตเล็กๆ ที่ต้องสูญเสีย

การศึกษาการสูญเสียปีสุขภาวะดีในวัยเด็กแยกออกเป็น 2 กลุ่มอายุ คือ 0-4 ปี และ 5-14 ปี ซึ่งมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ในช่วงแรกจะสูญเสียปีสุขภาวะที่ดีจากโรคที่เกิดในช่วงปริกำเนิดสำหรับในช่วงวัย 5-14 จะสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งเรื่องของการจมน้ำ และอุบัติเหตุจราจร เป็นหลัก

7. คนไทย วัยรุ่นว้าวุ่นกับวิกฤตทางสุขภาพจิต และอุบัติเหตุ

สาเหตุหลักของการสูญเสียปีสุขภาวะของกลุ่มอายุ 15-29 ปี ได้แก่ กลุ่มโรคความผิดปกติทางจิตและอุบัติเหตุ ซึ่งในวัยรุ่นชาย คิดเป็นร้อยละ 62 และหญิงร้อยละ 36 จากการสูญเสียทั้งหมด ในกลุ่มอายุ 15-29 ปี

8. คนไทย วัยทำงานเผชิญกับการสูญเสียสุขภาพดีมากกว่าวัยอื่น

ปีที่มีสุขภาพดีของวัยนี้ หายไปสูงกว่าวัยอื่น เนื่องด้วย การสูญเสียปีสุขภาพดีของกลุ่มช่วงอายุ 30 – 59 ปี จัดกว่าเป็นกลุ่ม ที่มีความสูญเสียถึง 4.5 ล้านปี โดยที่ชายจะสูญเสียมากกว่าหญิงถึง 1.6 เท่า ซึ่งสาเหตุหลักของการสูญเสียในชายจะมีความใกล้เคียงกันใน สี่อันดับแรกคือ ความผิดปกติทางจิต อุบัติเหตุ โรคหัวใจและหลอดเลือด และ โรคติดเชื้อ ส่วนในหญิงช่วงวัยนี้ จะสูญเสียจากโรคมะเร็งมากที่สุด และรองลงมาคือ ความผิดปกติทางจิต โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน ตามลำดับ

9. คนไทย วัยชรา อ่อนล้ากับโรคเรื้อรัง

ช่วงกลุ่มอายุ 60 ปี ขึ้นไป เป็นช่วงวัยเดียวที่ชาย มีความสูญเสียน้อยกว่าหญิง และสาเหตุหลักทั้งชายและหญิงคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มโรคที่ทำให้สูญเสียปีสุขภาพดี ในวัยนี้จะเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด ต้อกระจก รวมถึงมะเร็งหลายๆ ชนิด

10. สุขภาพคนไทย ในระดับนานาชาติ

เมื่อเปรียบเทียบ การศึกษาของระดับโลก ทิศทางของสุขภาพ คนไทยจะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไปภาพรวม ประเทศไทย มีความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อสูงสุด คล้ายกับประเทศในกลุ่มรายได้ตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป  ซึ่งสัดส่วนการสูญเสียของกลุ่มประเทศที่มีรายได้แตกต่างกันจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ความแตกต่างจากประเทศในกลุ่มที่มีรายได้น้อย จะพบกลุ่มโรคติดต่อ เรื่องแม่และเด็ก และภาวะโภชนาการ เป็นลำดับความสูญเสียที่มากที่สุด

 

ฝากไว้กับความสูญเสียทางสุขภาพของคนไทยทั้ง 10 ข้อ แม้จะเป็นผลภาวะสุขภาพในอดีต แต่อดีตก็จะสะท้อนให้เกิดปัจจุบัน ดังนั้นหากไม่รักษาสุขภาพกันในวันนี้ ผลสะท้อนความจริงเกี่ยวกับสุขภาพคนไทยในอีกสิบปี อาจจะแย่ลงกว่านี้ก็เป็นได้ 

 

เรียบเรียงโดย จักร์วิดา อมรวิสัยสรเดช 

หมายเลขบันทึก: 559188เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2014 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2014 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

.... ขอบคุณมาก นะคะ ชอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ ...


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท