Triple Bottom Lines กำไร 3 ชั้นของกิจกรรม CSR


อาจารย์ จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

[email protected]

ในอดีต ความสำเร็จของการประกอบการต่าง ๆ ที่มุ่งแสวงหากำไร หรือ Bottom Line คือ ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Performance) ทำให้กิจการต่าง ๆ สนใจที่ตัวเลขทางบัญชี ให้ความสำคัญกับบัญชีบริหาร เพื่อที่จะบริหารรายการที่เป็นตัวเลขสำคัญในทางบัญชี

แต่เมื่อเกิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับกิจกรรม CSR หรือกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ระบบการประเมินผลประกอบการของกิจการจึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

คำว่า Bottom Lines ที่ใช้มาก่อนหน้าที่จะเกิดการประเมินผลการดำเนินกิจกรรม CSR หมายถึง ผลกำไรสุทธิ ที่คำนวณจากรายได้หักด้วยรายจ่ายของกิจการที่ปรากฏในบรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุนของกิจการ ซึ่งจะมีผลประกอบการที่ดีเมื่อ

1)     ผลตอบแทนทางการเงินจากการลงทุนเป็นบวก

2)     การบริหารต้นทุนของเงินทุนให้อยู่ต่ำกว่าเพดานที่ยอมรับได้ ซึ่งจะทำให้กิจการมีกำไรหลังจากรวมต้นทุนทางการเงินกับต้นทุนดำเนินงานแล้ว

3)     การบริหารต้นทุนดำเนินงาน ที่ประกอบด้วย ต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนขาย ต้นทุนการขาย และต้นทุนการบริหาร

ส่วนคำว่า Triple Bottom Lines หมายถึง เกณฑ์การประเมินผลประกอบกี่ของกิจการที่พิจารณาในมุมมองอย่างกว้าง ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วน

การพิจารณาผลประกอบการจะนำเอาทั้ง 3 ส่วน มาพิจารณาประกอบกัน ไม่ได้พิจารณาองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งเพียงด้านเดียว

องค์ประกอบที่ 1

ผลประกอบการที่เป็นผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ ที่เกิดกับกิจการ ซึ่งรวมทั้งผลประกอบการที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ที่อยู่ในรายการค้างรับค้างจ่าย แต่สามารถนับมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้

 

องค์ประกอบที่ 2

ผลประกอบการของกิจการที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนหรือประโยชน์ทางสังคม โดยเฉพาะการทำให้

1)     ความเป็นอยู่ของคนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในสังคมดีขึ้น ในส่วนของตัวบุคคลในสังคม ซึ่งบุคคลที่ว่านี้รวมทั้งความเป็นอยู่ของบุคคลที่เป็นพนักงานและลูกจ้างของกิจการเองด้วย

2)     สภาพสังคมที่เป็นบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันในสังคมให้ดีขึ้น

3)     สภาพแวดล้อมทางสังคมที่สร้างไว้รอท่าเพื่อหวังว่าจะทำให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป (Next Generation) ดีขึ้นและได้ประโยชน์มากขึ้น

4)     ภาระค่าใช้จ่ายของคนในสังคมในส่วนที่ต้องจ่ายได้ลดลงไป ซึ่งอาจจะเป็นรายจ่ายจากการกระทำที่สร้างผลทางลบของบุคคลนั้นเอง หรือรายจ่ายที่บุคคลที่ได้รับผลกระทบทางลบต้องมีภาระจ่ายลดลงไป อันเนื่องมาจากการกระทำของบุคคลอื่น

องค์ประกอบที่ 3

ผลประกอบการของกิจการ ที่ไปมีส่วนในการก่อให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ

1)     สิ่งแวดล้อมที่เป็นพื้นดิน

2)     สิ่งแวดล้อมที่เป็นอากาศ

3)     สิ่งแวดล้อมที่เป็นน้ำกินน้ำใช้

4)     สิ่งแวดล้อมที่เป็นพืช สัตว์ในธรรมชาติ

5)     สิ่งแวดล้อมที่เป็นภูมิทัศน์

ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์

การวัดและแสดงผลประกอบการของกิจการ ที่เป็นผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ตามองค์ประกอบที่สามารถดำเนินการได้ง่ายที่สุด และผลการวัดค่าค่อนข้างถูกต้อง แม่นยำมากที่สุด เพราะมาตรฐานการบัญชีได้พัฒนามารองรับแล้วเป็นส่วนใหญ่

ตั้งแต่ส่วนที่เป็นทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้า ไปถึงเงินสดที่ไหลเข้า-ออกจากกิจการ สินทรัพย์ทางการเงิน สินทรัพย์หมุนเวียนจากการดำเนินงาน และสินทรัพย์ถาวร ตลอดจนหนี้สินแต่ละประเภท

ผลประกอบการของกกิจการทางเศรษฐศาสตร์จึงเน้นทูลค่าที่วัดเป็นตัวเงินได้ และกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “Net Worth” ของกิจการ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

ผลตอบแทนทางสังคม

การวัดและแสดงผลประกอบการของกิจการที่เป็นผลตอบแทนทางสังคม จะมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่าการวัดผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ เพราะ

1)     ต้องนิยามคำว่าผลตอบแทนทางสังคมให้ชัดเจน

2)     ต้องระบุเกณฑ์และวิธีการในการวัดผลตอบแทนทางสังคมที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดนิยามของผลตอบแทนทางสังคมว่าควรจะครอบคลุมถึง

1)     การไม่มีอุบัติเหตุ หรืออันตรายใด ๆ เกิดขึ้นกับบุคลากรภายในกิจการและภายนอกกิจการ

2)     การชดเชย เยียวยา ฟื้นฟูสภาพของบุคลากรภายในกิจการ และบุคคลภายนอกกิจการที่ประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับอันตรายจากกิจการอย่างเหมาะสม

3)     การจัด ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในระหว่างการปฏิบัติงาน และระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว

4)     การบูรณาการ ฟื้นฟู ปรับปรุง สภาพแวดล้อมจนมาตรฐานการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ของบุคคลดีขึ้น

5)     ความมั่งคั่ง การเพิ่มพูนของทรัพย์สินของบุคลากรในกิการและภายนอกกิจการ

6)     ความสุข ความพอใจที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรภายในกิจการและภายนอกกิจการ

ผลตอบแทนด้านสิ่งแวดล้อม

เป็นการวัดผลประกอบการของกิจการ ที่พยายามมีส่วนร่วมในการ

1)     อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

2)     เยียวยา ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

3)     ดูแล รักษา ทะนุบำรุงสิ่งแวดล้อม

4)     ลดขนาดของผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมจนเป็น 0

การดำเนินการในส่วนนี้ จะเน้นการวัดว่ากิจการได้พิจารณาวงจรการดำเนินกิจการของตนเอง ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างครบถ้วนและครอบคลุม เพื่อดูว่าสินค้าและบริการมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในทางลบอย่างไรบ้าง และกิจการได้กิจกรรม CSR ใดบ้างที่เกี่ยวข้อง

การยอมรับการแสดงผลประกอบการของกิจการบนหลักการ Triple Bottom Lines ทำให้กิจการสามารถยืนยันแก่สังคมได้ว่า ปรัชญาและแนวทางการดำเนินงานของกิจการเป็นแบบกว้างขวาง มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นได้ทั้งในระดับผลตอบแทนทางสังคมและผลตอบแทนด้านสิ่งแวดล้อม

และที่สำคัญ ผลประโยชน์ทางธุรกิจไม่ได้ขัดแย้งแต่อย่างใดกับผลประโยชน์ทางสังคม และผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์ทั้ง 3 ด้านนี้อยู่ในกระบวนการคิดและวางแผนกลยุทธ์ของกิจการทั้งหมด

หมายเลขบันทึก: 558991เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2014 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2014 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่แบ่งปันความรู้เรื่องนี้ไว้ใน go to know ค่ะ ผู้ที่เริ่มศึกษาอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย นำไปเป็นแนวทางได้ ขอบพระคุณอย่างสูงจริงๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท