"เขียว ขาว เหลือง คืนถิ่นเทาทอง"


แดนเทาทอง ของเรานี้อบอุ่น เกื้อการุณย์ ด้วยรักสมัครสมาน ต่างมุ่งมั่น สรรค์สร้างอุดมการณ์ ให้ลือสถาน ว่าถิ่นเรานี้เทาทอง"

วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖
รุ่นพี่และน้องๆได้รวมตัวกันจัดงานคืนสู่เหย้า"พลศึกษาบางแสน"
ภายใต้ชื่องานว่า "เขียว ขาวเหลือง คืนถิ่นเทาทอง"
สีเขียว ขาว เหลือง นั้น เป็นสีสามสีในห่วงสามห่วงคล้องไขว้กัน

เป็๋นสัญลักษณ์ ของการพลศึกษา และเป็นสัญลักษณ์ของกรมพลศึกษาด้วย
ส่วนเทาทองนั้น เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย
มีเพลงที่ใช้ร้องตอนรับน้องร้องว่า

"น้องเอย..ถิ่นเรานี้เทาทอง
ขวัญเอย ขวัญน้อง อย่าหวั่นภัย
จากบ้าน พ่อแม่มาไกล
แสนเศร้าเปล่าเปลี่ยวใจ
ร้องไห้ครัน
แดนเทาทอง ของเรานี้อบอุ่น
เกื้อการุณย์ ด้วยรักสมัครสมาน
ต่างมุ่งมั่น สรรค์สร้างอุดมการณ์
ให้ลือสถาน ว่าถิ่นเรานี้เทาทอง"


เพลงนี้จะใช้เป็นเพลงรับน้องทุกคณะ ไม่ทราบว่าปัจจุบันยังใช้อยู่หรือไม่
แต่จำได้ว่าเพื่อนๆหลายคนแม้กระทั่งผู้ชายก็ยังร้องไห้ตามเมื่อพี่ๆร้องเพลงนี้ตอนผูกข้อมือให้เรา

ผู้เขียนสำเร็จการศึกษาพลศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพาเมื่อปี พ.ศ.2536 นับเป็นเวลา 20 ปีแล้ว(โอ้ว!ทำไมตัวเลขมันเยอะจัง!)
ตอนแรกเข้านั้น สอบเข้าไปด้วยระบบเอ็นทร้านซ์และติดพลศึกษา มศว.บางแสน ซึ่งยังเป็นคณะพลศึกษาอยู่
เป็นรุ่นที่ 9 ของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต(พลศึกษา)

มศว.บางแสนปีแรกของผู้เขียนนั้น เราเป็นเจ้าภาพกีฬา 8 วิทยาเขตเมื่อปีพ.ศ. 2533
และผู้เขียนเป็นเด็กเก็บลูกวอลเลย์บอล ในสนามแข่งขัน
ยังจำได้ว่า มศว.บางแสนขณะนั้นเอาชนะ มศว.พลศึกษา ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นนักกีฬาทีมชาติไทยลงได้
แต่ถึงกระนั้นรุ่นพี่ก็ไม่ได้สิทธิ์ไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์แต่อย่างใด เพราะนักกีฬาทีมชาตินั้นน่าจะมีภาษีดีกว่า
พอผู้เขียนขึ้นชั้นปีที่ ๒ มศว.หรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทุกวิทยาเขตได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย
จากมศว.บางแสน ก็เปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยบูรพา
เมื่อผ่านไปถึง 20 ปี
คณะพลศึกษากลายเป็นคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มีน้องๆศึกษาอยู่ชั้นปีละเกือบ 300 คน!
ตอนที่ผู้เขียนเรียนอยู่นั้น มีแค่ 33 คน!และเป็นหญิงเพียง 7 คน!
รุ่นพี่ที่ถัดขึ้นไปจากเรา 3 รุ่น เราจะรู้จักกันหมด
หลายคนเป็นใหญ่เป็นโตในวงการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) เป็นครูบาอาจารย์ก็เยอะ
เป็นนักแสดง นักธุรกิจ และส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในชีวิต
งานนี้สร้างรอยยิ้ม ความสุข ความสนุกสนานและพบปะพี่ๆกับเพื่อนรัก
ได้กราบคารวะครูบาอาจารย์ รุ่นเก่าๆ
ซึ่งคณาจารย์ทุกท่านล้วนแล้วแต่เป็นแบบอย่างของอาจารย์ที่รักลูกศิษย์ ทุ่มเทในการทำงานสั่งสอน
หล่อหลอมให้ชีวิตเรามีวันนี้ ทุกท่านไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ มีแต่ความเมตตาที่เปี่ยมล้น
และเห็นประโยชน์ของศิษย์มาก่อนเสมอในทุกเรื่อง
ตอนผู้เขียนออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือฝึกงานนั้น
อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยพาผู้เขียนกับเพื่อนๆขนของใส่รถยนต์ส่วนตัวมาส่งถึงหอพักในกทม.
เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเลือนไปจากหัวใจ
ทุกวันนี้ถ้ามีโอกาสกับไปบางแสนต้องไปแวะไปกราบไหว้อาจารย์และเยี่ยมเยียนผู้มีพระคุณดั่งพ่อแม่คนที่สองอยู่เสมอ
ชีวิตของนักศึกษาต่างจังหวัดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ (เห็นมีก็เป็นแบบติดรถยนต์ อันใหญ่มากๆและนักธุรกิจที่ร่ำรวยเท่านั้นที่มีใช้) ไม่มีอินเตอร์เน็ต
เราใช้จักรยานปั่นไปตามชายหาด
ทุกเช้าตี5 รุ่นพี่จะนัดหมายให้เราออกไปพร้อมกันที่หน้าตึกคณะแล้วพาเราวิ่งออกกำลังกายทั้งเช้า-เย็น อยู่ตลอดเดือนแรกของการเป็นนิสิตปี 1ฯลฯ
วิ่งไปได้ไม่กี่ก้าว ถูกสั่งให้หมอบ ให้คลาน นอนกางมุ้ง คอหนุนหมอน ฯลฯ
หล่อหลอมให้เราแข็งแกร่ง เจริญงอกงาม รักพี่รักน้อง
รักความเป็น "บางแสน" ยิ่งนัก

เก็บภาพบรรยากาศมาฝากค่ะ
****รายได้ที่เหลือจากการจัดงานมอบให้กับน้องๆรุ่นปัจจุบันเป็นทุนการศึกษาต่อไป****

หมายเลขบันทึก: 558055เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2014 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2016 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์มะนาวหวาน

ตื่นเต้นมาก

ปีนั้นไปร่วมงานด้วย

แต่มาจาก มศว สงขลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท