"ค้นธรรม ในคำคน"


                                                    "สื่อ คำ สื่อ ธรรม"

๑) ภาษาคนมีความสำคัญอย่างไร?

            กิจกรรมของเราที่ทำหรือแสดงออกอยู่ทุกวัน มีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเราอยู่เสมอ สิ่งนั้นคือ "ภาษา" เราใช้ภาษาสื่อออกมาผ่านเสียง ผ่านลายมือ เพื่อสร้างรหัสหรือความหมาย เพื่อบ่งบอกผู้อื่นให้รับรู้เจตจำนงตนเอง และต้องการให้คนอื่นตอบสนองเรา ในแต่ละกิจกรรม เรามักจะใช้ภาษาในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ สร้างความแน่นอน ในการประสานงานร่วมกัน

             การที่เราใช้ภาษาได้อย่างคล่องตัวนั้น มาจากพฤติกรรม การฝึกฝน การกระทำอยู่เป็นกิจวัตร จนเราสามารถจดจำคำต่างๆ ได้ดี จนใช้ภาษาสื่อสารได้อย่างชำนาญ แล้วเราก็เป็นนายภาษา ที่สามารถใช้ภาษาเรียกสิ่งต่างๆ ได้มากมาย ยิ่งกว่านั้น เราใช้ภาษาสร้างสารพิเศษขึ้นมา เช่น ภาษาทางการ วิชาการ ภาษากวี ภาษาธรรม ภาษาสัญญะ และภาษาเฉพาะขึ้นมาสื่อสารกัน

             ภาษาที่เราใช้นั้น ต้องผ่านกระบวนการทางสมองมาก่อน ถ้าสมองได้ข้อมูลฐานดีและมีความสมบูรณ์พร้อมทักษะในสาขาใดๆ เราย่อมใช้ภาษาได้อย่างสละสลวยและมีนัยแอบแฝง ซ่อนความหมาย ลึกซึ้ง หรือผู้ที่ฝึกฝนในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งมานาน ย่อมเป็นข้อมูลให้ใช้ภาษาได้มากด้วยคือ มีศัพท์ มีคำ ในสมองมาก มีอิสระในการใช้ภาษาได้อย่างไม่ติดขัด

             ในการใช้ภาษาเป็นประจำนี้ จะสร้างความรู้ ความลุ่มลึกในการสร้างภาพของความคิดออกมาผ่านภาษา จนกลายเป็นข้อคิด คำคม ต่อคนอื่นได้ บางทีเราอาจไม่ได้เจตนาที่จะสื่อกับใครเป็นการเฉพาะ เพียงต้องการสื่อหรือพูดตามความรู้สึกออกไป แต่กลับกลายเป็นข้อคิด หรือเป็นหลักธรรมโดยไม่รู้ตัวก็มี

             ฉะนั้น คำพูด การสื่อสารของเราในแต่ละวัน ย่อมเป็นข้อคิด สะกิดใจ ให้เกิดสติ เกิดแรงบันดาลใจเราได้ ทุกคนจึงสามารถเป็นครู เป็นกัลยาณมิตรให้กับทุกคนได้ ในแต่ละวัน เราจะได้ยินคำพูดของคนมากมาย จากการสนทนา สัมมนา ประชุม พูดคุยทางโทรศัพย์ ฟัง อ่าน ฯ เป็นประจำทุกๆวัน แล้วเราเก็บเอาจากพลความเหล่านั้นมา เลือกเอาคำ เนื้อหาอะไรบ้างมาเก็บไว้ในสมองของเรา

              หากเราสังเกตรอบตัวในทุกขณะชั่วโมง เราจะถูกภาษา คำ ศัพท์ สหนัย ฯ ผ่านประสาทหู ประสาทตาเราอยู่ตลอดเวลา เราพูด คนอื่นพูด เสียงจะอื้ออึงทีเดียว แต่เราก็สามารถจับใจความนั้นได้ และภาษาที่เรารู้เอง บางทีก็ทำให้กระทบจิตหรือไม่พอใจ หรือพอใจได้ หรือกลายเป็นข้อคิดได้ จากนั้น เราก็แสดงปฏิกิริยาตอบสนอง

              บุคคลที่เราเชื่อและปฏิบัติตามในคำพูดของเขาอย่างพินิจ เช่น แฟน เพื่อน สามี ภรรยา ลูก เจ้านาย คนที่เคารพ คนบริการ โจร เจ้าหน้าที่ หรือคนที่เราเกี่ยวข้องด้วยในกิจกรรมหรือในเหตุการณ์นั้นๆ ยกตัวอย่าง ตำรวจขอตรวจใบขับขี่ เจ้านายสั่งให้ไปพบ ลูกสั่งซื้อของ โจรสั่งให้หยิบเงินให้ ฯ บุคคลเหล่านี้ ใช้คำพูดที่เราต้องแสดงการตอบสนอง อาจด้วยความพอใจหรือไม่พอใจก็ได้

              บุคคลดังกล่าวใช้คำที่แตกต่างกันไป ทั้งน้ำเสียง ท่าทางประกอบ ซึ่งเราสามารถรู้ได้ว่า เราควรหรือต้องหรือจำต้อง ตอบสนองพวกเขา อาจเป็นเพราะความรัก ความใกล้ชิด ความกลัว เคารพ ฯ จะเห็นว่า คำพูดมีส่วนทั้งสองคือ ๑) บังคับเราในแง่กฏหมาย คำสั่ง ๒) เราเข้าใจและตอบสนองได้ เนื่องจากว่า คำพูด ความหมายที่คนอื่นพูด เรารู้แล้วและรู้ถึงเจตจำนงของคนพูด คนสั่งแล้วนั่นเอง

              แต่ถ้าในกรณีที่เราไม่รู้คำ ไม่รู้ความหมายละ แน่นอนเราย่อมลังเลหรือาจย้อนถามกลับคนพูดได้ว่า หมายความว่าอย่างไร ในกรณีนี้เรากำลังเผชิญกันอยู่ โดยเฉพาะยุคใหม่นี้ ที่ใช้ภาษาผ่านสื่อโซเชี่ยลมิเดีย นอกจากนี้ ยังเกิดภาษาใหม่ๆ ตามมาอีก ทั้งภาษาเก่า ภาษาใหม่ ภาษาเทศ ภาษาเฉพาะกลุ่มฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนหรือสงสัยตามมา หรืออาจสื่อผิดนัยไปได้ 

๒) ภาษาธรรมสำคัญต่อชีวิตอย่างไร?

              ในด้านศาสนาก็เกิดปัญหาขึ้นเช่นกัน กล่าวคือ ภาษาเฉพาะศาสนาเป็นภาษาที่มีนัยหรือความหมายที่อมความหรือนัยประหวัดมากมาย เวลาเราฟังศาสนกร หรือธรรมกร ผู้ให้ความรู้ หลักธรรมคำสอน เราอาจไม่เข้าใจ ทั้งๆ ก็เป็นภาษา ที่ใช้กันบ่อยๆ ประจำ นั่นเป็นเพราะว่า ผู้สื่อมีฐานในฝ่ายตนอยู่แน่นหนักหรือไม่คำนึงถึงฝ่ายคนฟังว่า จะเข้าใจหรือไม่ จึงคิดเองว่า ผู้ฟังเข้าใจ

             ภาษาทางฐานศาสนา มีวัตถุประสงค์ อยู่ ๓ เรื่องคือ ๑) เพื่อสื่อความจริงของโลก ๒) เพื่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าหรือเทพเจ้า ๓) เพื่อสื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับโลก หากเราสนใจหลักธรรมในศาสนา เราอาจกำหนดได้ว่า เรามีจุดหมายใด หลักการสื่อสารด้านศาสนามีเจตนาให้คนอ่านได้รู้ ได้ข้อคิด เพื่อจำไปบำบัด บริหาร และพัฒนาตนเองในเชิงลึกต่อไป

             ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเอาภาษาของพระสงฆ์ที่เป็นนักปฏิบัติแสวงหาธรรมในอดีต ที่กล่าวไว้ มาแสดงเน้นย้ำ เพื่อให้เราอ่านคำ ให้ถึงธรรม เตือนใจ หรือเป็นบทศึกษาหาข้อธรรมในการดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่ อันที่จริง คำพูดเหล่านี้ เป็นภาษาง่ายๆ ไม่ใช่ภาษาวิชาการ แต่เป็นภาษาของผู้ที่มีประสบการณ์ด้านจิตมาก่อน กล่าวง่ายๆ คือ ภาษากาย ภาษาใจ ที่สัมพันธ์ตามกฏธรรมชาตินั่นเอง

            ๑) พระพุทธเจ้า : อินเดีย "อย่าประมาทในชีวิต" ก่อนปรินิพพาน พระองค์ตรัสเตือนแก่สาวกทั้งหลายว่า สังขารร่างกาย เป็นสิ่งที่เอาแน่นอนไม่ได้ อย่าชะล่าใจหรืออย่าเหลิงในกาลเวลาของชีวิต เพราะชีวิตอาจสิ้นลมลง วันใดก็ได้ การตรัสสั้นๆ แต่ครอบคลุมไปถึงกาลของชีวิตทั้งหมดทีเดียว

            ๒) สมเด็จพระสังฆราชฯ : วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. "ชีวิตนี้น้อยนัก...จงคิดดี พูดดี ทำดี" เป็นคำเตือนสติเราได้เป็นอย่างดี กาลเวลาชีวิตมีน้อยนัก สิ่งสำคัญคือ ในช่วงมีชีวิตอยู่จงกระทำในสิ่งที่มีค่า มีคุณต่อตนเอง เพื่อให้พ้นมหากรรมคือ วัฏสงสาร ที่ดักเราอยู่

            ๓) หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล : วัดดอนธาตุ อุบลราชธานี "กายเราเป็นเพียงธาตุสี่...(จง) พิจารณาย้อนกลับไป กลับมา จิตจะค่อยๆ เข้าสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรม เป็นลำดับไป" เป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ของนักปฏิบัติสายป่า ภาคอีสาน ซึ่งเป็นผู้ใฝ่ธรรมด้านวิปัสสนา และธุดงควัตร ใฝ่หาความจริง อยู่อย่างสันโดษ พูดน้อย ชอบวิเวก ในป่าเขาชายแดนไทย-ลาว ท่านอาศัยกายนี้เองเป็นเครื่องฝึกฝน ทดสอบใจตนเอง เพื่อสื่อเข้าไปถึงธรรมอย่างแท้จริง

            ๔) หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต : วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร "ถึงใจตน คือ ถึงนิพพาน" ท่านเป็นบรมครูที่เน้นการใช้หลักภาวนาว่า "พุท-โธ" ส่วนใหญ่ท่านเน้นที่จิต ให้รู้จิต รู้ตัว เพราะร่างกาย เป็นอปุกรณ์ในการดำเนินไปถึงพระนิพพานได้ แต่เพราะยุคใหม่เราเอาใจออกห่างตัว ห่วงตนเกินไป ไม่หาธรรม จึงหาทางไปนิพพานยาก นับวันจะมีคนปฏิเสธเส้นทางนี้มากขึ้น 

            ๕) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร : วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร "เราเป็นแต่ฟัง เป็นแค่พิธี มิได้ฟังได้ธรรม ให้ถึงวินัย ถึงข้อปฏิบัติ" เราฟังมาก อ่านมาก แต่เป็นแค่พิธีกรรม คือ เอามาจับจิต หรือน้อมเข้ามาใส่ตนไม่ได้ ฝึกตนยาก และที่ยากยิ่งคือ ไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องบังคับพฤติกรรมให้เกิดวินัย เกิดแนวทางปฏิบัติธรรมได้ เป็นการกล่าวตำหนินิดๆ ทั้งนี้ ท่านต้องการให้ผู้ฟังเกิดความตื่นตัวในการฟังธรรม คำสอนให้เป็นนั่นเอง

             ๖) หลวงปู่ดุลย์ อตุโล : วัดบูรพาราม สุรินทร์ "หลักธรรมที่แท้จริง คือ จิต" สั้นๆ แต่มีความหมายลึก หมายถึง ธรรมที่เป็นหลัก เป็นวินัย เป็นข้อปฏิบัตินั้น ล้วนต้องอาศัยจิตเป็นผู้ดำเนินไปตามหลักนี้ ท่านจึงว่า หลักธรรมนี้ คือ จิต ที่ดำเนินไปตามเส้นทางนี้ เพราะตัวธรรมแท้ๆ หากไม่มีผู้รู้ ผู้รับรอง ธรรมนั้นก็ไร้ความหมาย

             ๗) หลวงปู่หล้า เขมปัตโต : วัดบรรพตคิรี มุกดาหาร "ถ้าสำคัญใจว่าเป็นตน ตนเป็นใจแล้ว ก็ไม่มี (ทาง) ที่จะขุดรากกิเลสออกจากใจได้ โดยง่าย" หมายความว่า ถ้าเราคิดว่า ตัวเรา ใจเรา คือ ตัวตนของตนแล้ว ก็จะไม่มีทางที่จะรู็ว่า ในตนเองมีอะไรซ่อนอยู่ เพราะเรามักจะเข้าข้างตนเองเรื่อยไป จนมองเห็นกิเลสเป็นของตนเองไปในที่สุด

             ๘) หลวงปู่ขาว อนาลโย : วัดถ้ำกองเพล หนองบัวลำภู "สติเป็นแก่นธรรม เมื่อบุคคลอยู่กับสติแล้ว...สติเป็นใหญ่ สติมีกำลังดีแล้ว จิตมันรวม เพราะสติคุ้มครองจิต" นี่คือ แก่นคำสอนของพระนักปฏิบัติทั้งหลายที่เน้นตัวสติ สติมีความสำคัญทั้งทางการงานและงานจิต เรียกว่า เป็นพื้นฐานของสรรพกิจ นั่นเอง เมื่อสติมีบริบูรณ์แล้ว จิตกับสติก็คือ ตัวเดียวกัน

             ๙) หลวงปู่บุดดา ถาวโร : วัดกลางชูศรีเจริญสุข สิงห์บุรี "เจตนาละเว้น ทุกลมหายใจเข้า-ออก...ธรรมของจริงจะบังเกิดขึ้นทุกเมื่อ"  หมายความว่า ธรรมจะเกิดขึ้นได้ เริ่มมาจากเจตนางดเว้น ละ ลด เลิก สิ่งที่ไม่ดี ทุกอย่าง แม้แต่ในจิต ความคิด ความอยากก็ไม่มีเยื่อใยในโลก มีแต่ธรรม มีแต่รู้ นั่นคือ ธรรมแห่งปัญญา นั่นเอง

            ๑๐) หลวงปู่ชอบ ฐานสโม : วัดป่าสัมมานุสรณ์ เลย "ถ้าใจมีธรรมเป็นที่อยู่แล้ว จะอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่มีความเดือดร้อน ตรมกันข้าม ...แม้จะอยู่ในปราสาททอง ก็เดือดร้อนอยู่มิเว้นวาย" หมายความว่า ชีวิตเรา จะอยู่ร่มเย็น ทุกที่ก็ต่อเมื่อเราเอาธรรมเป็นเรือนอยู่ ใจก็ย่อมมีที่พึ่ง ที่พิง ที่อาศัยมิให้เกิดความลำบาก แม้จะอยู่ที่ใดก็จะเป็นสุข ไม่ลำบากใจ

            ๑๑) หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ : วัดอรัญญบรรพต หนองคาย "สติ สมมติเป็นโชเฟอร์ เป็นผู้กุมพวงมาลัย เหมือนผู้มีสติ คอยระมัดระวัง กาย วาจา ใจ อยู่เสมอ" นี่ก็เน้นสติ เหมือนคนขับรถ ผู้กุมพวงมาลัยให้วิ่งไป อย่างถูกทาง คือ สติควบคุมพฤติกรรมทางกาย ภาษาพูด และความคิด ให้อยู่ในหลักธรรมหรือความถูกต้องได้เสมอ

            ๑๒) หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส : วัดป่าสถิตย์ หนองคาย "เราควรใช้สติเป็นตา ใช้ปัญญาเป็นกล้องส่องใจ" สติ แปลว่า ระลึกได้ มักจะมาคู่กับ สัมปชัญญะ แปลว่า รู้ตัว เมื่อเราระลึกได้ในกิจ ในกาย ใจตนเองได้ ความรู้ตัวจะสำทับหรือรู้เหนือความระลึกอีกทอด เพื่อให้ใจ คือ ผู้รู้ในตนละเอียดขึ้น อาการกิริยานี้เรียกว่า ปัญญา นั่นเอง

            ๑๓) หลวงปู่เทสก์ เทศรังสี : วัดหินหมากเป้ง หนองคาย "การเห็นความฟุ้งซ่านของจิต คือ ปัญญาขั้นต้น" ปกติปุถุชนมักจะยุ่งอยู่กับความอยาก ความต้องการ ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับการเอาตัวรอด จนจิตผูกติดกับกิจต่างๆ จนทำให้จิตวุ่นวายและฟุ้งซ่าน แล้วเราก็พยายามหาทางออก แต่ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง นั่นคือ เราไม่ได้เห็นความยุ่ง ที่ฟุ้งซ่านอย่างแท้จริง ถ้าเห็นเหนือเห็น เราก็ได้ปัญญาหรือคำตอบ

             ๑๔) หลวงพ่อลี ธัมมธโร : วัดอโศการาม สมุทรปราการ "ร่างกายนั้น เขาวางเรา และหนีเราไปทุกๆ วัน แต่เราสิไม่เคยหนีเขา" ประโยคธรรมดาๆ เช่นนี้ เป็นประโยคทองที่สอนเราได้เป็นอย่างดี เนื่องจากว่า ชีวิตที่เราใช้มันทุกๆวัน มันหนีเราอยู่จริงๆ ไม่ยอมเชื่อฟังเราเลย  แต่เรากลับไม่ได้ใส่ใจเลย เหมือนวิ่งหนีมัน ต่อสู้กับมัน เพื่อให้ตนอยู่ยืนยาวอีก

              ๑๕) หลวงปู่เกษม เขมโก : สำนักสุสานไตรลักษณ์ ลำปาง "การเห็นเป็นเหตุแห่งการคิด การคิดเป็นเหตุแห่งความเห็น" หมายความว่า การมองแล้วเห็น จึงนำไปสู่กระบวนการคิด เมื่อคิดแยบคาย ผ่านจิต ผ่านสมองเราแล้วก็ตกผลึกกลายเป็นความเห็น หรือเป็นทัศนะของเรา ฉะนั้น การใช้สายตา มีความหมายต่อความคิด ความเห็นของเราด้วย

              ๑๖) หลวงพ่อสด จันทสโร : วัดปากน้ำภาษีเจริญ กทม. "เห็น จำ คิด รู้ ... หยุดที่ศูนย์กลางกาย" การมอง การใช้สายตาอ่าน ย่อมได้ข้อมูล กลายเป็นความจำ ความคิด แล้วก็กลายเป็นความรู้ของเราเอง นี่คือ กระบวนการสร้างความรู้ รู้อะไร รู้ที่น้อมมาสู่ตน คือ กายตน ในกายตนมีจุดเกิด จุดดับ จุดเข้าสู่กระแสธรรมกาย นั่นคือ ฐานที่ ๗ ของกายนั่นเอง

              ๑๗) หลวงพ่อพุทธทาส : วัดสวนโมกขพลาราม สุราษฎร์ธานี "อดีต คือ ปัญหาที่สะสมไว้ ปัจจุบันคือ ภาพมายา อนาคตคือ ความฝัน (ส่วน) พระอรหันต์อยู่เหนือกาลเวลา" หมายถึง กาลเวลานั่นมีกรอบที่จำกัด แม้เวลาในตัวเราก็มีทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ซึ่งเป็นการบอกให้เรารู้ว่า นี่คือ กาลที่มีเงื่อนไข เพราะทุกชีวิตเกิดมา สุดท้ายก็ต้องถูกเวลากัดกิน จากปี จากชาติ จากภพ เป็นวัฏ จนกว่าจะถึงนิพพาน จึงจะสิ้นภพแห่งวัฏไป

              ๑๘) หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ : วัดศรีสุทธาวาส เลย "กายเหมือนเรือ ใจเหมือนนายเรือ ถ้านายเรือไม่ฝึกพายเรือ เรือจะไปสู่อันตรายได้ ถ้าฝึกดี ฝึกเป็น มีสติ เรือก็จะไปถึงท่าได้" ชัดเจนว่า นาวากาย ต้องได้รับการขับเคลื่อนไป ในร่องเรือที่ถูกต้อง นั่นหมายถึงต้องมีคนขับเรือที่มีทักษะ มีสติดี ก็จะนำพาเรือข้าม ให้พ้นห้วงทะเลวัฏสงสารได้

              ๑๙) หลวงพ่อชา สุภัทโท : วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี "คนตายแล้วเดินได้ พูดได้ หายใจได้ คือ ตายทางจิต ทางสติปัญญา" มีคำหนึ่งที่เราได้ยินบ่อยๆว่า คนประมาทคือ คนที่ตายแล้ว คนที่ขาดสติ ขาดปัญญา ก็ไม่ต่างอะไรกับผีหรือผู้ที่ตายแล้ว แต่เมื่อตายแล้วเช่นนี้ กลับมีกำลังเดินได้ ไปได้ อย่างไม่รู้ตัว การมีสติ ปัญญา คือ คุณสมบัติความเป็นคนสดๆ นั่นเอง

               ๒๐) เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต : วัดเทพสิรินทราวาส กทม. "กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกล้ากลางสนาม" สติเป็นพลังมหาศาล และมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตทุกขณะทีเดียว ถ้าเราใช้สติดั่งโล่ ป้องกันตัวเองได้ เพทภัยทั้งหลายย่อมลดลง ท่านกล่าวไปถึงสนามการต่อสู้กับหมู่มาร อย่างกล้าหาญได้

               ดังนั้น คำพูด ข้อคิดเหล่านี้ เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น  หวังว่า เมื่อท่านอ่านแล้ว จะได้ฐานสติ ข้อคิด คำคม จากมนุษย์ที่เคยปรากฏอยู่บนโลกใบนี้ แผ่นดินนี้กับเรามาก่อน  เมื่อท่านเหล่านี้ รู้ เห็น เป็น ธรรม ท่านก็สื่อ พูดเอาไว้ เตือน สอน ให้เราได้ตระหนักว่า ตัวตนที่เคยมี เป็นแค่สื่อธรรม ให้เรารู้ถึงแก่นแท้ของกาย ชีวิต เท่านั้น ที่หลงเหลือไว้ เป็นอนุสรณ์สอนเราคือ ภาษาที่เป็นคำพูด ที่บริสุทธิ์ ไร้มายา ต่อเราทั้งสิ้น

--------------------<>--------------------

คำสำคัญ (Tags): #ค้นธรรม#ในคำคน
หมายเลขบันทึก: 558026เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2014 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มกราคม 2014 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท