วิจารณ์การเขียนแบบคัดกรองประกอบการประเมินเป็น ร.ร. ศรร. ปศพพ. ด้านบุคลากร : ผู้บริหาร (๑)


ผมเจตนาจะนำตัวอย่างการเขียนที่ได้มีโอกาสอ่านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้เขียนเป็นขั้นต้น และเพื่อประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านที่กำลังจะเขียนแบบคัดกรองฯ ในลำดับต่อไป .... จึงขออนุญาตและขอภัยที่ถือวิสาสะต่อผู้เขียนทุกท่านที่จำได้ แม้ว่าผมจะทำการลบชื่อโรงเรียนหรือที่อยู่ใดๆ ที่จะสื่อถึงผู้เขียนแล้วก็ตาม.....

สิ่งที่สำคัญรองลงมาจาก "การเขียนตรงความจริง" คือการ "เขียนตรงกับเจตนา" เจตนาในที่นี้คือ เจตนารมณ์ของการขับเคลื่อน ปศพพ. นั่นคือ เขียนให้สอดคล้องกับเกณฑ์ก้าวหน้านั่นเองครับ ดังนั้นสิ่งที่ท่านต้องเข้าใจคือ เกณฑ์ก้าวหน้า ดังนี้ 

ระดับที่ ๑ 
- มีความรู้ ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) อย่างถูกต้อง
ระดับที่ ๒
- ปฏิบัติตนตาม ปศพพ. และ
- นำ ปศพพ. มาใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา

ระดับที่ ๓
- สามารถถ่ายทอดประสบการณ์การนำ ปศพพ. มาใช้ในสถานศึกษา และ
- มุ่งมั่นในการขับเคลื่อน ปศพพ. ในสถานศึกษา
ระดับที่ ๔
- ขยายผลการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่ภายนอกสถานศึกษา เช่น ชุมชน สถานศึกษาอื่น ฯลฯ
ระดับที่ ๕
- ชุมชนหรือหน่วยงานภายนอกเห็นคุณค่า ยอมรับ และให้ความร่วมมือในการขยายผลการขับเคลื่อน ปศพพ. สู่ภายนอกสถานศึกษา


เพื่อให้จำง่าย ใช้เทคนิคการจำเกณฑ์ก้าวหน้า ด้วยสูตร ๓-๔-๕ (อ่านได้ที่นี่) สำหรับพัฒนาการ ๕ ระดับซึ่งถือเป็นแนวทางการเขียนด้านบุคลากรได้ทั้ง ผู้บริหาร ครู และนักเรียนดังนี้ครับ  

"รู้เข้าใจ นำไปปฏิบัติ ชัดเจนถ่ายทอดได้ ขยายผลสู่โรงเรียนอื่น ยั่งยืนระเบิดจากภายใน"

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
 
ลองพิจารณาข้อเขียนแบบคัดกรองในส่วนข้อมูลของบุคลากร "๔.๑ ผูบริหาร" 

๔.๑.๑ ผู้บริหารนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง  เกิดผลอย่างไร  ยกตัวอย่างประกอบ
ในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ทางโรงเรียนxxxxxxxxxxxxxxxได้รับการจัดสรรงบประมาณจากทางราชการในการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กอันเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัย เป็นระยะทางประมาณ ๘๕ เมตร ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างจากปากทางเข้ามาในโรงเรียน
เริ่มต้นได้คิดการคำนวณพื้นที่การก่อสร้างที่ได้ทำประมาณการขอรับการจัดสรรไปอย่างถูกวิธี คือเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้าง ๔ เมตร หนา ๒๐ เซนติเมตร ปรับพื้นเรียบ มีทรายรองพื้นก่อนเทคอนกรีตไม่น้อยกว่า  ๕ เซนติเมตร และต้องมีลูกรังเทไหล่ทางอีกตลอดแนวการก่อสร้าง
จากการประชุมของคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน มีความคิดเห็นที่ตรงกันว่าให้ศึกษาสภาพปัจจุบัน ด้วยการสำรวจพื้นผิวถนนเดิมซึ่งเป็นดินเหนียวปนทรายมีระดับเดียวกับพื้นล่างของอาคารเรียนอาคารประกอบทุกหลัง แต่ต่อมาได้รับการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มดินลูกรังเพื่อแก้ปัญหา ฝุ่นละออง พื้นผิวถนนไม่เรียบ ในฤดูร้อน ถนนเฉอะแฉะในฤดูฝน มาเป็นระยะ ๆ อยู่หลายครั้ง ทำให้พื้นผิวถนนที่เป็นลูกรังมีความสูงกว่าพื้นอาคารเรียน อาคารประกอบอยู่มาก จึงมาคิดหาวิธีแก้ปัญหาไม่ให้พื้นผิวถนนสูงไปกว่าที่เป็นอยู่และได้ถนนที่ได้มาตรฐานด้วย เพราะปัญหาที่ตามมาคือเกิดน้ำท่วมขังพื้นผิวอาคารเรียน อาคารประกอบในฤดูฝนมากขึ้นไปอีก และใช้แรงงานคน เครื่องจักรในชุมชนที่มีอยู่ มาช่วยกัน
วิธีการก็คือปรับพื้นผิวถนที่เป็นอยู่ให้ต่ำลงไปอีประมาณ  ๒๕ เซนติเมตร  ซึ่งก็จะถึงดินเดิมคือดินเหนียวปนทรายทำการปรับพื้นให้เรียบ แล้วลงทรายหยาบรองพื้นความหนา ๕ เซนติเมตร  เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กความหนา ๒๐ เซนติเมตร  ซึ่งก็จะได้ความสูงของพื้นผิวถนนเท่าเดิมแต่มีความคงทนสวยงาม สะอาด สะดวก กว่าเพราะเป็นพื้นผิวถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ได้มาตรฐาน ส่วนงบประมาณที่จัดซื้อลูกรังเทไหล่ทางก็ไม่ต้องซื้อเพราะใช้ลูกรังจากผิวถนนเดิมที่ขุดออไปมาใช้แทน ส่วนทรายที่ใช้รองพื้นก็ให้ชาวบ้าน ชุมชน ที่อยู่ในหมู่บ้านช่วยกันขนมาจากที่สาธารณะที่มีทรายอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปประมาณครึ่งหนึ่งของราคาท้องตลาด งบประมาณส่วนที่เหลือสามารถขยายพื้นผิวถนนจากเดิม ๘๕ เมตร ได้เป็นประมาณ  ๑๐๐ เมตร  ซึ่งเพิ่มมาอีกประมาณ  ๒๕  เมตร  จากที่ประมาณการเอาไว้ โดยใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเท่าเดิม
การดำเนินงานได้ทั้งการประหยัดงบประมาณแต่ได้เนื้องานเพิ่มขึ้นที่สำคัญคือชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนทั้งแรงกายและแรงใจมาช่วยในการดำเนินงาน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ใช้ระบบ SBM ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมทั้งข้อเสนอแนะ ข้อตกลง ร่วมลงมือปฏิบัติ อีกทั้งเป็นการบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
จากผลการดำเนินงานในลักษณะนี้ ทำให้ในระยะต่อมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากผู้ปกครองบริจาคสมทบทุนดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ได้มาตรฐานเดียวกันเพิ่มมาอีก ประมาณ  ๕๐ เมตร นับเป็นความภาคภูมิใจของทั้งคณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนตลอดมา

 คำวิจารณ์

  • ผมเห็นนัยของ "รู้และเข้าใจ และนำไปปฏิบัติกับกับตน" เห็นวิธีคิดและวิธีการนำไปปฏิบัติจากตัวอย่างการปรับปรุงถนน เห็นมีการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกคน และบอกถึงความภาคภูมิใจของทุกฝ่ายซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ระดับคุณค่าด้วย  เป็นการเขียนที่ดีครับ.....แต่...
  • ควรเขียนให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของสิ่งที่นำไปใช้ในตนเองและการบริหารจัดการก่อน ซึ่งจะทำให้เห็น "หลักคิด" และ "หลักปฏิบัติ" แล้วยกตัวอย่าง (ที่นำมาเขียนนี้)...
  • ยังไม่เห็นการน้อมนำมาปฏิบัติกับการดำเนินชีวิต(รวมทั้งชีวิตประจำวัน)ของตนเอง ที่ยกตัวอย่างมาเป็นตัวอย่างของการน้อมนำมาใช้ในการบริหารจัดการ.... ซึ่งยกตัวอย่างเพียงการบริหารจัดการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ด้านอื่นๆ เช่น วิชาการ และพัฒนาคนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยังไม่ได้กล่าวถึง....

 ๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
              ๔.๑.๒ ผู้บริหารนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการบริหารจัดการศึกษาทั้ง  ๔  ด้านอย่างไร  (งานบริหารงานทั่วไป / งานบริหารงานวิชาการ /การบริหารงานบุคคล /การบริหารงานงบประมาณ)  และจากการดำเนินงานดังกล่าว  ส่งผลให้เกิดขึ้นต่อสถานศึกษาและบุคลากรของสถานศึกษาอย่างไรบ้าง  (Best  Practice)

                              การบริหารงานโดยการนำหลักปรัชญาชองเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารจัดการศึกษา  สิ่งแรกเราต้องรู้ก่อนว่าภาระงานของโรงเรียนมีอะไรบ้าง  มีครูและบุคลากรอยู่จำนวนกี่คน  แต่ละคนมีความถนัดหรือความเชี่ยวชาญอย่างไรบ้าง  เพื่อจะได้มอบหมายงานได้ตรงกับคน  มอบคนให้ตรงกับงาน  โรงเรียนบริหารจัดการศึกษาออกเป็น  ๔  ด้าน  ประกอบด้วย งานบริหารงานทั่วไป / งานบริหารงานวิชาการ /งานบริหารงานบุคคล /บริหารงานงบประมาณ  โดยการมอบหมายงานโรงเรียนจะใช้รูปแบบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ทำความเข้าใจให้ตรงกันเพื่อลดความขัดแย้งในโรงเรียน  การรับผิดชอบงานทั้ง  ๔  ด้าน  จะอาศัยความสมัครใจเพื่อให้ครูและบุคลากรได้ทำงานเต็มความสามารถ  ในส่วนของงานที่ยังไม่มีใครอยากทำหรือรับผิดชอบ  ผู้อำนวยการจะให้เหตุผลและมอบหมายคนที่บุคลากรทั้งโรงเรียนเห็นว่าเป็นคนมีความสามารถและจะสามารถปฏิบัติงานได้บรรลุเป้าหมาย  และที่สำคัญที่สุดครูและบุคลากรทุกคนจะมีงานรับผิดชอบเท่ากัน  เพราะโรงเรียนยึดหลักคุณธรรม  โดยภาพรวมโรงเรียนจะบริหารจัดการแบบบูรณาการ  อยู่แบบพี่แบบน้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ทำทุกอย่างด้วยใจและเห็นเป้ามายที่จะพัฒนานักเรียนให้เกิดอุปนิสัย  “พอเพียง”  ในส่วนของการพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของผู้บริหารและบุคลากร  โรงเรียนมองว่าครูทุกคนล้วนมีความสามารถ  และจิตใจดี  ใครจะย้าย  ใครจะมา  โรงเรียนเราก็ยึดแนวทางพัฒนานักเรียนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  จากการดำเนินงานการขับเคลื่อนโรงเรียนให้เตรียมพร้อมรับการประเมิน  งานทุกอย่าง  ทุกด้านดำเนินไปได้ดี  มีพัฒนาการไปในทางที่ดีมาก  ครูและบุคลากรทุกคนเห็นคุณค่าและให้ความร่วมมือในการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดอุปนิสัย  “พอเพียง”  จนเกิดนวัตกรรมที่พวกเราภูมิใจคือ  “แก้ว  ๕  ใบ”  เพราะครูและบุคลากรทุกคนเชื่อว่าหากเราเป็นแก้วที่พร้อมรับน้ำอยู่เสมอ  เปิดรับสิ่งใหม่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง งานทุกอย่างก็จะสำเร็จตามวัตถุประสงค์

  คำวิจารณ์

  • เห็นหลักคิดเห็นวิธีคิดและหลักการทำชัดครับ เช่น ....จะอาศัยความสมัครใจเพื่อให้ครูและบุคลากรได้ทำงานเต็มความสามารถ ...หรือ....  อยู่แบบพี่แบบน้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน...
  • เห็นการเขียนแสดงวิธีการชัดครับ เช่น ..ในส่วนของงานที่ยังไม่มีใครอยากทำหรือรับผิดชอบ  ผู้อำนวยการจะให้เหตุผลและมอบหมายคนที่บุคลากรทั้งโรงเรียนเห็นว่าเป็นคนมีความสามารถและจะสามารถปฏิบัติงานได้บรรลุเป้าหมาย  และที่สำคัญที่สุดครูและบุคลากรทุกคนจะมีงานรับผิดชอบเท่ากัน .... 
  • แต่จุดบกพร่องคือ การเขียนไม่ครอบคลุมทุกประเด็นที่กำหนดไว้ คือ เขียนตรงประเด็นแต่ไม่ครอบคลุมทุกประเด็น ยังไม่เห็นวิธีการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์  และนำกลยุทธ์ที่กำหนดมาสู่การปฏิบัติ วิธีการติดตามประเมินผล วิธีการจัดสรรงบประมาณหรือสร้างกลไกให้กระบวนการขับเคลื่อนดำเนินไป.... ฯลฯ 

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

เป็นเพียงความเห็นนะครับ โปรดใช้พิจารณาญาณของท่าน

๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๖
อ.ต๋อย
 

หมายเลขบันทึก: 557844เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2013 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2013 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท