"กาลกลืนกาย"


                                                

                                                       "พระกาลกินเรา"

             ในช่วงปีเก่าจะผ่านไป ปีใหม่จะเข้ามาแทน เราได้อะไรกับกาลเวลานี้ ผู้คนทั่วโลกกำลังตื่นเต้น ที่เห็นปรากฏกาลที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ซึ่งก็มีให้ตื่นเต้นทุกๆ ปี เราก็อดที่จะไม่ตื่นเต้นไม่ได้อยู่ดี มุมมองของวัยที่ต่างกัน ย่อมมีเป้าหมายที่ต่างกัน มันช่วยให้เราได้รู้อะไรบ้าง

             สำหรับผู้เขียนมีมุมมองอยู่หลายมุม แต่พอประมวลได้ ๒ มุมคือ ๑) มุมเป็น ๒) มุมตาย เนื่องจาก ชีวิต สรรพสิ่ง ล้วนดำเนินไปตาม ๒ กาลเท่านั้น คือ ๑) วันสว่าง ๒) วันมืด เป็นอยู่เช่นนี้ วันแล้ววันเล่า จนสามารถนับได้เป็นปี แล้วเราก็เปลี่ยนปีพ.ศ. ค.ศ. ใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

             สาระสำคัญของกาลเวลาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา ก็เป็นการเตือนใจ เตือนเราให้รู้จักกาลเวลาที่ดำเนินไป อย่างแน่นิ่ง หนักแน่น ที่ไม่มีใจให้กับใคร ไร้ความเมตตา อารีย์ กับใครทั้งสิ้น แต่ในความโหดร้าย ไร้ความปราณีนี้ กาลเวลา กลับเป็นสัญลักษณ์ของความเที่ยงธรรม ยุติธรรมแก่สัตว์โลก แก่นสารของกาลเวลาคือ การทบทวน การรำลึกถึงชีวิตที่ถูกกาลกัดกิน เรียกว่า "กาลานุสติ" แปลว่า การทบทวนกาลเวลาให้เกิดปัญญา ซึ่งพอแจงได้ดังนี้

             ๑) นวกาล หมายถึง กาลเวลาใหม่ ที่เกิดขึ้นอยู่กับเราทุกๆวัน เช่น ในวันรุ่งขึ้น เดือนใหม่ ปี ใหม่ อยู่ประจำเช่นนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็คือ กาลเวลา กลางวัน กลางคืน นั่นเอง ที่บังคับ บีบคั้น ให้เราต้องตื่นตัว ตื่นวัน ฯ จนกายกลายเป็นคนแก่ชราและตายไป

             ๒) ปุพพกาล หมายถึง กาลเวลาอดีต เป็นเรื่องราวที่จบสิ้นไปแล้ว แต่มันก็ไม่ได้หายไปไหน ปรากฏกาลนี้ยังคงเกาะกุม ฝังจิต สถิตในสมองของเราอยู่เสมอ อยู่ที่ว่า เราจะจดจำ กำกุมเหตุการณ์ใดไว้เป็นเครื่องเตือนใจหรือเสวยสุขกับมัน

             ๓) อนาคตกาล หมายถึง กาลแห่งการรอคอย เป็นกาลที่ยังไม่มาถึงอยู่เสมอ เวลานี้ ไม่มีวันไปถึง เพราะมันเป็นกาลที่อาศัยกาลปัจจุบันผลักดัน เมื่อกาลเวลาถึง วันพรุ่งก็เลื่อนไปเรื่อยๆ จึงหาคำว่า อนาคตไม่ได้ ไม่แน่นอน ไม่จีรัง มีแต่ตารางกาลปฏิทินเท่านั้น ที่เรากำหนดตายตัวได้

             ๔) กาลชีพ หมายถึง กาลเวลาที่อยู่ในชีวิต เป็นกาลเวลาที่ฝังอยู่กรอบของชีวิตทุกชีวิต เพราะชีวิตมีเงื่อนไข มีอายุไขที่จำกัด ในการอยู่ในโลกนี้ การดำเนินของกาลเวลาในชีวิตเริ่มจากตอนเกิด การเจริญเติบโต การแก่ชรา และกาลมรณา

             ๕) อารยกาล หมายถึง กาลเวลาที่ทำให้เราเกิดปัญญา ตระหนักในตนเอง เป็นกาลขณะที่เกิดพร้อมด้วยการตระหนักในการดำรงชีวิตด้วยลมหายใจเข้า-ออก เป็นช่วงเวลาที่สร้างปัญญาให้เกิด เช่น ในเวลาอยู่กับตนเองอย่างสงบนิ่ง ในที่สงัดๆ หรือในเวลาฝึกปฏิบัติสมาธิ สมถะ วิปัสสนา ที่กำหนดอิริยาบถน้อย-ใหญ่ ในทั้งสี่ให้ละเอียด จับให้ทัน ปัญญาก็จะผุดได้

             ๖) กาลภัย หมายถึง กาลเวลาที่เหมือนเป็นภัยที่กลืนกินเราให้เสื่อมสิ้นไป เป็นเวลาที่เป็นภัยแก่เรา ที่ทำให้เราเติบโต แก่ชรา เสื่อมไปในที่สุด ไม่มีชีวิตใดเป็นอมตะ มีตัวอย่างมากมาย หลายล้านที่ปรากฏอยู่บนโลกมาก่อนเรา แต่สุดท้ายพวกเขาก็ลาโลกไปตามกาลที่กลืนกิน เหมือนยักษ์ใหญ่ มี ๓ หน้า มี ๒ ตา มีปาก ๑๒ ปาก มีเขี้ยว ๓๒ ซี่ ที่จับกินสัตว์บนปฐพี

             ดังนั้น กาลเวลา คือ เป็นทั้งผู้หล่อเลี้ยง เป็นผู้รักษา เป็นทั้งผู้ทำลาย ในชีวิตเรา ๑ ภพนี้ เราใช้เวลาให้มีค่าต่อตนเองอย่างไรบ้าง เราประมาทหรือไม่ ที่ฉลองวันสำคัญๆ เรารื่นเริงจนเหลิงหลงในกาลชีวิตหรือไม่ ได้ใช้ชีวิตในช่วงกาลผ่านกายเราอย่างไร เราแก่ไปอีกปี ชีวิต สมอง ปัญญา พัฒนาอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ขอให้ชาวไทย ปลอดภัยในช่วงปีใหม่ทุกคน อย่าได้พบภยันตรายทั้งหลาย ทุกคน สวัสดิกาลา สาธุ 

                                                              "สวัสดีปีเก่า สวัสดีปีใหม่"

                                                     -------------------<>--------------------

คำสำคัญ (Tags): #กาล#กลืน#กาย
หมายเลขบันทึก: 557657เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2013 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2013 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นเพื่อนกับปัจจุบัน เป็นมิตรกับอนาคตค่ะ

เพียงใช้ทุกวินาทีให้เป็นไปโดยธรรมชาติและความสุขค่ะ

ขอบคุณบันทึกเตือนสติและให้ความรู้ค่ะ

มาขอสยบ..กับ..มหากาล...เจ้าผุ้ยิ่งใหญ่..แห่งกาลเวลา..เจ้าค่ะ...

ขอให้มีความสุข สุขภาพ ดี..สงบ สว่าง ว่าง วาง สบายๆ..ตลอดไป เจ้าค่ะ..ยายธี

ขอบคุณพี่Lyli ยายธี และยายกาญ ครับ ขอให้ความสวัสดิ มั่นคง ปลอดภัย ทั้งกาย ใจ ตลอดปีนะจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท