การจัดการกับกรมธรรม์สิ้นผลบังคับในธุรกิจประกันชีวิต ตอนที่ 2 (Management of policy lapse in life insurance 2)


ข้อมูลจากรายงานและผลการวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ประกันชีวิตมีข้อมูลที่น่าสนใจมาก จากข้อมูลของ The Society of Actuaries ที่ร่วมกับ LIMRA ที่ได้ศึกษาถึงปัจจัยส่วนบุคคล (Personal factor) และปัจจัยภายนอกต่างๆ (External factor) ที่ส่งผลต่อการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์และความยั่งยืนของกรมธรรม์ประกันชีวิตรายเดี่ยว (Individual life insurance) ในสหรัฐอเมริกาพบว่าปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ (Gender) อายุขณะเริ่มทำประกัน (Issue age) อาชีพและรายได้ (Occupation and Income) สถานภาพการสมรส (marital status) ภาวะสุขภาพ (Health status) ล้วนมีความสัมพันธ์กับอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอก ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยในขณะนั้น (interest rate) แบบกรมธรรม์ (Insurance plan) จำนวนกรมธรรม์ (Number of policy) วงเงินเอาประกันต่อกรมธรรม์ (Face amount) สถานภาพการกู้กรมธรรม์ (Policy loan) วิธีการชำระเบี้ย (Mode of premium payment) ปีที่กรมธรรม์มีผลบังคับ (Policy year) ตัวแทน (Agent) ต่างมีผลกับอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ด้วยเช่นกัน

ปัจจัยส่วนบุคคล (Personal Factors)

1.เพศ (Gender)

จากผลการศึกษาของ The Society of Actuaries ที่ร่วมกับ LIMRA พบว่า ผู้เอาประกันเพศหญิงจะมีอัตราของกรมธรรม์ที่สิ้นผลบังคับสูงกว่าเพศชายเล็กน้อยในระยะ 3 ปีแรก หลังจากนั้นอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ของทั้งสองเพศจะใกล้เคียงกันโดยเพศหญิงจะมีอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ต่ำกว่าเพศชายเล็กน้อยหลังจากกรมธรรม์มีผลบังคับผ่านสามปีแรก อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาของ Charles Richardson และ John Hartwell รวมทั้งผลการศึกษาของ Norman Buck ให้ผลที่ขัดแย้งกับผลการศึกษาของ The Society of Actuaries ที่ร่วมกับ LIMRA ข้างต้น ผลการศึกษาของ Charles Richardson และ John Hartwell กับผลการศึกษาของ Norman Buck แสดงให้เห็นว่าเพศชายมีอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์สูงกว่าของเพศหญิงในช่วง 3 แรก พอถึงกรมธรรม์ปีที่ 4 เป็นต้นไปอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ของทั้งสองเพศจะใกล้เคียงกันเป็นอย่างมากซึ่งเหมือนกับผลการศึกษาของ The Society of Actuaries ที่ร่วมกับ LIMRA นอกจากนี้จากรายงานของ Canadian Institute of Actuaries ก็ให้ผลที่สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Charles Richardson และ John Hartwell และผลการศึกษาของ Norman Buck อย่างไรก็ตามแตกต่างของอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ระหว่างเพศชายและเพศหญิงมีเพียงเล็กน้อยคือประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ผลความแตกต่างของอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ระหว่างเพศชายและเพศหญิงในช่วง 3 ปีแรกที่แตกต่างกันในแต่ละผลการศึกษาที่ได้ศึกษาเรื่องผลของเพศต่ออัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์อาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น อาชีพและรายได้ สถานภาพการสมรส เป็นต้น ถึงแม้เพศชายจะมีแนวโน้มของรายได้ที่สูงกว่าเพศหญิงในช่วงอายุเท่ากัน แต่รายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ (Net income)ของผู้หญิงมักสูงกว่าผู้ชาย รวมทั้งผู้หญิงมีนิสัยการเก็บออมเงินได้ดีกว่าผู้ชาย ดังนั้นความสามารถในการชำระเบี้ยของผู้หญิงจึงมีสูงกว่าผู้ชาย ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ของเพศหญิงต่ำกว่าเพศชาย

2.อายุขณะเริ่มทำประกัน (Issued age)

อายุขณะเริ่มทำประกันมีผลอย่างมากต่ออัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ในปีแรกๆ จากผลการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า อัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ของผู้เอาประกันที่มีช่วงอายุขณะเริ่มทำประกันระหว่าง 1-20 ปีซึ่งเป็นกลุ่มวัยเรียนพบว่าต่ำกว่าช่วงอายุขณะเริ่มทำประกันระหว่าง 20-29 ปีซึ่งเป็นกลุ่มวัยเริ่มทำงาน โดยอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์จะค่อยๆสูงขึ้นในกลุ่มอายุของประชากรวัยเริ่มทำงานที่มีช่วงอายุระหว่าง 20-29 ปี ทั้งนี้อัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ของผู้เอาประกันที่มีช่วงอายุขณะเริ่มทำประกันระหว่าง 20-29 ปีจะสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงอายุขณะเริ่มทำประกันอื่นๆ รองลงมาคืออัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ของผู้เอาประกันที่มีช่วงอายุขณะเริ่มทำประกันระหว่าง 1-19 ปี อัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์จะค่อยๆลดลงในช่วงอายุ 30-39 ปี ตามมาด้วยช่วงอายุ 40-49 ปี ช่วงอายุ 50-59 ปีและกลุ่มของผู้เอาประกันที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจนถึงราว 64 ปี จะมีอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ต่ำสุด นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ของกลุ่มอายุขณะเริ่มทำประกันประมาณ 65-70 ปี จะสูงขึ้นเล็กน้อย ถึงแม้ผู้เอาประกันที่มีช่วงระหว่าง 1-20 ปีส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน ยังไม่ทำงานหารายได้ให้กับตัวเองได้ แต่การที่อัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ของผู้เอาประกันกลุ่มนี้ต่ำกว่าของกลุ่มประชากรวัยเริ่มทำงานที่มีช่วงอายุระหว่าง 20-30 ปี สาเหตุมาจากกลุ่มผู้เอาประกันที่มีช่วงอายุขณะเริ่มทำประกันระหว่าง 1-20 ปีนั้นมีรายได้มาจากผู้ปกครอง และผู้ปกครองซึ่งส่วนใหญ่คือบิดาและมารดา จะเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันให้ผู้เอาประกันที่มีช่วงระหว่าง 1-20 ปีซึ่งผู้ปกครองของผู้เอาประกันที่ยังอยู่ในวัยเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีอายุพอสมควรมีความมั่นคงทางรายได้เพียงพอที่จะสามารถชำระเบี้ยให้ลูกของตนเองได้ ดังนั้นอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ของผู้เอาประกันกลุ่มนี้จึงต่ำกว่ากลุ่มประชากรวัยเริ่มทำงาน ส่วนประชากรวัยเริ่มทำงานที่มีช่วงอายุระหว่าง 20-29 ปี ซึ่งส่วนมากต้องหารายได้เองและต้องรับผิดชอบการชำระเบี้ยประกันเอง ส่วนรายได้จากการทำงานมักจะยังน้อย และไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายส่วนตัว ดังนั้นจึงมักไม่มีเงินเหลือมาชำระเบี้ยประกันจึงทำให้อัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์สูงกว่ากลุ่มอื่น ส่วนกลุ่มอายุตั้งแต่ 30 ปีเป็นต้นไปจนถึงวัยเกษียณนั้นจะเป็นกลุ่มที่ทำงานมานานและมีรายได้สูง จึงมีเงินมากพอไว้สำหรับการชำระเบี้ยประกัน จึงทำให้อัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ค่อยๆลดลงตามอายุ แต่การที่อัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์สูงขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มผู้เอาประกันวัยหลังจากเกษียณไปสักพัก อาจเป็นเพราะกลุ่มดังกล่าวต้องการเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงเวลาหลังเกษียณมากกว่าและความจำเป็นในการทำประกันชีวิตของคนกลุ่มนี้ก็น้อยลงตามไปด้วย

3.อาชีพและรายได้ (Occupation and Income)

อาชีพและรายได้ผู้เอาประกันมีผลอย่างมากกับอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ จากการศึกษาของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Society of Actuaries) ในอเมริกาพบว่ากลุ่มอาชีพที่มีอาชีพมั่นคง มีรายได้แน่นอนและสม่ำเสมอจากการทำงาน ได้แก่ กลุ่มทำงานมืออาชีพ (Professional) กลุ่มนักธุรกิจ (Business man) กลุ่มเจ้าของธุรกิจ (Business owner) เป็นต้น จะมีอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ต่ำกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆที่ไม่มั่นคง หรือรายได้ไม่สม่ำเสมอแน่นอนอย่าง พนักงานขาย (Sale person) ผู้ใช้แรงงาน (Labors) ลูกจ้างชั่วคราวหรือรายวัน (Temporary employee) เกษตรกรรายย่อย (Small farmer) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีรายได้สูงกว่าจะมีอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ต่ำกว่าผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าอีกด้วย

4.สถานภาพการสมรส (Marital status)

สถานภาพสมรสเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่มีผลต่ออัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ ผลจากงานวิจัยหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่า คนโสดจะมีอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์สูงกว่าคนที่มีคู่สมรส เพราะคนโสดจะตระหนักถึงความจำเป็นของการประกันชีวิตน้อยกว่า ทำให้ไม่ค่อยตระหนักถึงการรักษาสถานะกรมธรรม์ให้คงอยู่เหมือนคนที่สมรส ในขณะเดียวกันคู้ที่สมรสยังมีรายได้ที่มาจากคู่สมรสของตนเองทำให้มีความสามารถในการชำระเบี้ยสูงกว่าคนโสด ในขณะที่คนที่หย่าร้างจะมีอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์สูงที่สุด เนื่องจากขาดรายได้จากคู่สมรส โดยเฉพาะคนที่พึ่งพารายได้จากคู่สมรสเพียงอย่างเดียวจะมีอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์สูงที่สุดหลังหย่าร้าง

5.ภาวะสุขภาพ (Health status)

ผู้เอาประกันที่มีภาวะสุขภาพที่แตกต่างกัน มีแนวโน้มของอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ที่แตกต่างกัน ผู้เอาประกันที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราประจำ จะมีแนวโน้มของอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ปีแรกๆสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา เนื่องจากอาจเป็นเพราะว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราทำให้ไม่มีรายจ่ายค่าบุหรี่และสุรา จึงมีความสามารถในการชำระเบี้ยได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพจะมีอัตราการสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ต่ำกว่าคนที่ยังมีสุขภาพดี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพอาจตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิตมากกว่าคนสุขภาพดี เพราะคนที่มีปัญหาสุขภาพย่อมตระหนักว่าโอกาสของการเสียชีวิตสูงขึ้นกว่าคนทั่วไปจากภาวะเจ็บป่วยของตน และคนที่มีปัญหาสุขภาพย่อมทำประกันชีวิตได้ลำบากกว่าคนมีสุขภาพดี ดังนั้นเมื่อซื้อประกันแล้วคนที่มีปัญหาสุขภาพจึงพยายามรักษาสถานะกรมธรรม์เอาไว้ไม่ให้สิ้นผลบังคับ

(อ่านต่อตอนที่ 3)

 

References

U.S. Individual Life Insurance Persistency 2001-2002

U.S. Individual Life Insurance Persistency 2004-2005

U.S. Individual Life Insurance Persistency — Observation Years 2007–2009

Lapse Rates. CHARLES F. B. RICHARDSON Al, m JOHN M. HARTWELL. TRANSACTIONS OF SOCIETY OF ACTUARIES 1951. VOL. 3 NO. 7.

FIRST YEAR LAPSE AND DEFAULT RATES. NORMAN F. BUCK. TRANSACTIONS OF SOCIETY OF ACTUARIES 1960. VOL. 12 NO. 33

Lapse Experience under Universal Life Level Cost of Insurance Policies. Canadian Institute of Actuaries 2007.

Andrew We. Modeling Anti-selective Lapse and Optimal Pricing in Individual and Small Group Health Insurance. Health Watch. FEBRUARY 2010

หมายเลขบันทึก: 557508เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2013 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2013 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท