สภาประชาชน / สมัชชาประชาชน จดหมายจากผู้ใหญ่(ที่มีคุณธรรม)ในบ้านเมือง (1)


ถึง มิตรสหายและพี่น้องที่รักทุกคน
 
ความตื่นเต้นที่ประเทศไทยจะข้ามภพที่สิ้นหวัง หมดแรง หมดกำลังใจ ไปสู่ความฮึกเหิม ความใฝ่ฝันอันงดงาม กำลังจะใกล้เป็นจริงแล้วครับ

มีรายละเอียดอีกเล็กน้อย ที่เราต้องศึกษา ทบทวน ก่อนจะก้าวไปข้างหน้า ช่วยกันอ่านและออกความเห็นให้ผมทราบด้วย ถ้าคิดว่ามันดีและเป็นประโยชน์ ก็ลองไปคุยกันในหมู่เพื่อนฝูงที่จะช่วยกันขยายความคิดและการกระทำ
 
รักและคิดถึง
ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ (๓ วันหลังจากวันมวลมหาประชาชน)

สภาประชาชน/ สมัชชาประชาชน

            เมื่อแผ่นดินไทยกำลังเดินก้าวมาสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ และจะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าของประชาชนชาติต่างๆทั่วโลก ในการใช้จังหวะและโอกาสพัฒนาประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง อันจะเป็นการสถาปนาโครงสร้าง กระบวนการ และรูปแบบของประชาธิปไตยอย่างมีวิจารณญาณ (Deliberative Democracy) ซึ่งจะทะลวงออกนอกกรอบประชาธิปไตยของนักการเมืองและพรรคการเมือง (โดยเฉพาะนักการเมืองที่มีเงินและใช้เงินเป็นอำนาจในการเลือกตั้งเพื่อขึ้นมาปกครองประเทศ (Plutocracy))

            การรวมพลังเพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทยร่วมกันของประชาชน สามารถทำได้ในรูปแบบที่เราเรียกว่า สภาประชาชน หรือ สมัชชาประชาชน ซึ่งเราจะต้องเข้าใจธรรมชาติ ปรัชญา หรือหลักการ และกระบวนการของมันให้ถ่องแท้ ก่อนที่จะสร้างเครื่องมือหรือพาหนะที่จะนำเราไปสู่ความฝัน ผมจึงขอเสนอความคิดบางอย่างเพื่อพิจารณา ดังนี้

 

คำนิยาม สภาประชาชน หรือสมัชชาประชาชน

ในบริบทแห่งศตวรรษที่ ๒๑ หรือพุทธศตวรรษที่ ๒๖ คือ พื้นที่ (space/ place) ที่ประชาชนได้มาปรึกษาหารือกันอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยพลังความคิดที่สร้างสรรค์ และมีพลังกาย พลังใจ ที่มุ่งมั่นพากเพียรจะสร้างวิสัยทัศน์ (vision) เพื่อมอบอนาคตของแผ่นดินให้กับลูกหลานของเราสืบไป โดยเชื่อมวิสัยทัศน์ของเราให้เข้ากับความรู้สึกกตัญญูกตเวที ที่บุรพกษัตริย์และบรรพบุรุษของเราได้ส่งมอบมาให้เรา อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้จะเป็นการระดมความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหาของประชาชน ในหัวข้อต่างๆ ในท้องถิ่นต่างๆ ที่สามารถเอาไปใช้แก้ปัญหาได้จริง

เนื่องจากโลกปัจจุบันนี้ เรามีโครงสร้างที่ทันสมัยอีกประเภทหนึ่ง คือ ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัย ทำให้เกิด “พื้นที่เสมือนจริง (virtual space) หรือ เราเรียกว่า social media นั่นเอง อันเป็นสังคมออนไลน์ เราก็สามารถสร้างสภาประชาชน หรือสมัชชาประชาชนออนไลน์ ได้ เพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่มี lifestyle แบบนี้ อีกทั้ง เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถขยายความคิดให้แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถขยายผลไปยังพี่น้องชาวไทยในต่างประเทศ อีกทั้งพลเมืองต่างชาติที่สนใจกระบวนการประชาธิปไตยประชาชนในประเทศไทย

 

ทำไมต้องมีสมัชชาประชาชน หรือสภาประชาชน?

การตอบคำถามนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ทำให้เราสามารถยึดกุมจิตวิญญาณ ปรัชญา กระบวนการ และจังหวะปฏิบัติการได้อย่างมั่นคง เพราะ

๑.    รัฐสภา ซึ่งเป็นพื้นที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ต้องมาพูดจาหารือกันเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของประชาชน และออกกฎหมายที่ดีเพื่อรับใช้ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและอาเซียน อีกทั้งต้องกำหนดวาระแห่งชาติในการรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้และพื้นที่แห่งนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่ดังคำปณิธานที่ให้ไว้กับประชาชน กลับไปรับใช้กลุ่มผู้ปกครองที่ใช้เงินเป็นอำนาจและขาดจริยธรรม

๒.    ๔๐ ปี ๑๔ ตุลาฯ วีรชนทั้งหลายที่เคยฝันจะเห็นท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ และประชาชนจะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ต้องประสบความผิดหวัง เจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องจากระบบรัฐสภาที่มี สส. มาจากนักการเมืองและพรรคการเมือง ที่ยังใช้เงินเป็นอำนาจในการเลือกตั้ง ซึ่งระบาดไปจนถึงระดับท้องถิ่น เราจึงต้องแสวงหาสถานที่และพื้นที่แห่งใหม่ที่เปลี่ยนดุลกำลัง อำนาจ จากอภิสิทธิ์ชนผู้มีเงิน ให้ดุลกำลังและอำนาจมาอยู่ในมือของประชาชน ทุกสาขาอาชีพและทุกเพศ วัย อย่างแท้จริง

๓.    บทเรียนของสมัชชาต่างๆ ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ แสดงเห็นชัดเจนว่า ประชาชนมีความสามารถ มีข้อมูล และความรู้ อีกทั้งเข้าใจปัญหาของพื้นที่และปัญหาของตนเองเป็นอย่างดี เมื่อใดที่ประชาชนได้มีโอกาสประชุมร่วมกันด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ ประชาชนก็สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา และมีแผนปฏิบัติการไปทำได้อย่างจริงจัง

๔.    ตัวอย่างรูปธรรมของสมัชชาประชาชนที่ผ่านมาแล้ว เช่น สมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดและระดับภาค สมัชชาคุณธรรมอันเป็นสมัชชาระดับชาติ สมัชชาประชาชนประชาธิปัตย์ที่มีผู้เข้าร่วม ๓,๐๐๐ คนเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๘ และสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ จนถึงวันนี้ ล้วนเป็นประจักษ์พยานของการได้ทดลองประชาธิปไตยแบบวิจารณญาณของประชาชนมาแล้ว เราจึงเชื่อมั่นได้ว่า จากบทเรียนดังกล่าว ถ้าได้มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง เราก็จะทำให้เป็นประชาธิปไตยของประชาชนทุกระดับจนเต็มแผ่นดิน เป็นดอกไม้ประชาธิปไตยอันงดงาม บานสะพรั่งทั่วแผ่นดินไทย และเป็นแบบอย่างที่ชาติอื่นๆมาเรียนรู้ และไปปรับใช้ตามสภาพการณ์ของสังคมเขาได้

๕.    แก่นแท้ของสมัชชาประชาชน หรือสภาประชาชน คือเป็นแหล่งสร้างความหวัง สร้างกำลังใจ และความพากเพียรของประชาชนทุกระดับ ทุกสาขา อาชีพ ในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน และปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยร่วมกัน ซึ่งจะมีความเข้มข้นในเบื้องต้น ๑ ปีแรก และสามารถจัดซ้ำได้ทุกๆปี ในทุกระดับ

ดังนั้น สิ่งที่สภาประชาชน หรือสมัชชาประชาชน ต้องกุมหลักการให้มั่น ไม่ไขว้เขว ซึ่งมีหลักคิดดังต่อไปนี้

ก.     สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (share vision) ว่าเราปรารถนาอยากเห็นอนาคตเป็นอย่างไร? รูปร่างหน้าตาของมันคืออะไร? และจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร? และมีใครจะต้องเข้าร่วมทำบ้าง? (คำถามนี้เป็นคำถามปลายเปิด เพื่อให้แต่ละกลุ่มได้คิดอย่างอิสระ เสรี ไม่มีการสั่งการจากข้างบนลงมา)

ข.     เน้นไปที่กระบวนการระดมพลังความคิด และหัวจิตหัวใจอย่างสร้างสรรค์ ไม่ติดรูปแบบที่แข็งกระด้าง

ค.     สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นมิตร เป็นพี่เป็นน้อง เกิดกระบวนการสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ ทุกเพศ วัย ทุกสาขา อาชีพ มีการเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน เกิดความรักสามัคคี ผูกพัน และสามารถหลอมจุดร่วม โดยการบูรณาการความหลากหลายเข้าด้วยกัน

ง.      รูปแบบและพิธีกรรมต้องเป็นองค์ประกอบที่เอื้ออำนวยต่อข้อ ก. ถึง ข้อ ค. ต้องไม่ทำลายบรรยากาศที่อบอุ่นและมีพลัง อย่าใช้รูปแบบที่จะให้คนมาโอ้อวดอัตตา และครอบงำความคิดของคนอื่นเป็นอันขาด

จ.     สมัชชาประชาชน หรือสภาประชาชนนั้น ทำได้ทั้งในแง่ประเด็น (issues) และในแง่ของพื้นที่หรือท้องถิ่น เช่น ระดับจังหวัดหรือระดับภาค อันจะเป็นเมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของกระบวนการจังหวัดจัดการตนเอง สมัชชาเชิงประเด็น เช่น สมัชชาต่อต้านคอร์รัปชั่น สมัชชาประชาชนร่วมบริหารจัดการน้ำ สมัชชาปฏิรูประบบยุติธรรมและตำรวจ สมัชชาเยาวชนคนหนุ่มสาว สมัชชาผู้สูงอายุ สมัชชาอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เราควรสนับสนุนให้กระบวนการสมัชชาเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของผู้คนที่อยากแก้ปัญหาและอยากสร้างวิสัยทัศน์ของท้องถิ่นที่ตนเองต้องการ

การเตรียมการ และการจัดการสมัชชาอย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อให้กระบวนการระดมพลังความคิดและพลังใจอย่างมีประสิทธิภาพ ก็สมควรมีวิทยากรกระบวนการ หรือกระบวนกร (facilitator) หน่วยงานหรือองค์กร และสถาบันที่จะมาทำโครงการสมัชชาประชาชน ควรศึกษา สรุปบทเรียนการทำสมัชชาที่ผ่านๆมาแล้ว คือ ทำ After Action Review (AAR) เสียก่อน เพื่อค้นหาจุดแข็ง-จุดอ่อน ที่ได้ทำมา อีกทั้งเป็นการเตรียมการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพ กระบวนการ การจัดหาสถานที่เพื่อสร้างบรรยากาศ และการเตรียมกระบวนการให้เกิดพลังปัญญา ร่วมคิดร่วมทำอย่างแท้จริง

องค์กร หรือสถาบันที่ร่วมสนับสนุน ได้แก่ สมัชชาปฏิรูปประเทศไทยซึ่งมีบทเรียนมาแล้ว ๓ ปีเต็ม สภาพัฒนาการเมือง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าจังหวัดต่างๆ สสส. พอช. สช. สถาบันสมัชชาคุณธรรม มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ เป็นต้น องค์กรและสถาบันเหล่านี้ควรช่วยสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร ทักษะความรู้ สถานที่ และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

ข้อควรระวังในการจัดตั้งและดำเนินการสภาประชาชน หรือสมัชชาประชาชน

๑.    ศึกษาบทเรียนการล้มเหลวที่ผ่านมาของสภาต่างๆ เช่น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นแหล่งที่บุคคลจำนวนมากเข้ามาเพื่อหวังไต่เต้า และหวังสถาปนาฐาน ที่เป็นฐานเลือกตั้ง เป็นนักการเมือง หรือเป็นฐานเพื่อไต่เต้าสู่ตำแหน่งในสถาบันอิสระอื่นๆ ควรศึกษาจุดอ่อนของสภาองค์กรชุมชน และสภาเด็ก สภาเยาวชน เป็นต้น

๒.    ควรเน้นกระบวนการและความไม่เป็นทางการ และไม่ควรเป็นการเลือกตั้งตัวแทน เพื่อเข้าสู่สภาประชาชนหรือสมัชชาประชาชน เพราะจะกลายเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนกระหายอำนาจ อย่าใช้สมัชชาเป็นที่ไต่เต้าทางการเมือง มาแสดงอัตตา ทำให้กระบวนการมีความสร้างสรรค์และทำให้มีส่วนร่วมต้องล้มเหลว

๓.    ไม่เป็นสภารวมศูนย์อำนาจ และสภาที่แสดงอำนาจเหนือกว่าผู้อื่น (power over) แต่เป็นแหล่งพลังอำนาจของมิตรภาพและความผูกพันที่เคารพศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ อันเป็นอำนาจที่ทุกคนชื่นใจ (power with) ซึ่งจะเกิดความหวัง เกิดความสนุกสนาน เกิดความสุข ที่ได้เข้าอยู่กระบวนการประชาธิปไตยของประชาชน มันเป็นแหล่งพลังปฏิรูปประเทศไทยที่ไม่มีวันเหือดแห้งในทุกระดับ ทุกพื้นที่ และทุกประเด็น

หมายเลขบันทึก: 555156เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2013 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2013 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท