ข้อเท็จจริงในเรื่องทำดี ได้ดี


ข้อเท็จจริงในเรื่องทำดี ได้ดี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ (ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕ : ๑๓๓) ให้ความหมายข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นไว้ว่า

“ข้อเท็จจริง” หมายถึง ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเป็นอยู่ตามจริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่าเท็จหรือจริง

“ข้อคิดเห็น” หมายถึง ความเห็น ความรู้สึกนึกคิดของผู้ส่งสารที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหา

อาจกล่าวได้ว่า

ข้อเท็จจริง นั้นต้องสามารถพิสูจน์สนับสนุนยืนยันได้

ข้อคิดเห็น นั้นไม่สามารถสนับสนุนยืนยันได้[1]

คำว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

จากภาวะวุ่นวายใจหลายด้าน ทั้งปัญหา อุปสรรค ที่กระหน่ำซำเติมมาเป็นระยะๆ ก็เลยมุ่งหาธรรมะ เป็นเครื่องคุ้มครองใจไม่ให้หวั่นไหว ได้รับความรู้สึกนี้ที่เกิดขึ้นกับคำว่า ทำดีได้ดี ทำชัวได้ชั่วดังนี้

“ทำดี” ก็คือ คิดดี พูดดี ทำดี

“ทำชั่ว” ก็คือ คิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี

“ได้ดี” ก็คือ ความสุขใจ สบายใจ

“ได้ชั่ว” ก็คือ ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ปัจจุบันคงไม่ค่อยได้ยินกันแล้ว เดี๋ยวนี้คงเป็น "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป"คำพูดนี้อาจจะออกมาจากความท้อแท้หรือน้อยเนื้อต่ำใจ ของคนที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี เห็นแต่คนที่ทำไม่ดีกลับได้ดี

1.ทำดี แล้วจะเอาอะไรมาวัดการทำความดี ในความคิดเราน่าจะเป็น "ความสมควร ความเหมาะสม ที่สังคมยอมรับ" (คนส่วนใหญ่)ที่ทำแล้วเกิดผลดีต่อคนอื่น ทำให้แยกได้ว่า

-คนดี คือคนที่ทำให้เกิดผลดีต่อส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัว ทำให้เกิดคุณค่าต่อคนอื่น

-คนไม่ดี คือคนที่ทำให้เกิดผลไม่ดีต่อส่วนรวม เห็นแก่ตัว ทำความเสียหายให้คนอื่น

2.ได้ดี เป็นอย่างไร เป็นการทำอะไรสักอย่างแล้วได้ผลตอบกลับมาที่ตนเอง แล้วทำให้ตนเองรู้สึกดี

-คนที่ได้ดี คือคนที่ได้รับผลดีต่อตนเอง ให้ตนเองมีคุณค่ามากขึ้น

-คนที่ไม่ได้ดี คือคนที่ได้รับผลที่ไม่ดีต่อตนเอง หรือ ไม่ได้ตามที่ตนเองคาดหวัง[2]

ดี  ชั่ว  เป็นสิ่งที่นิยามได้

นิยามความหมายของการทำดี

การกระทำดี คือ การกระทำที่เกิดจากเจตนาดี (Good will) เจตนาดีคือการทำตามหน้าที่ มี 2 ลักษณะสำคัญ

1. ไม่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ทั้งอารมณ์ในทางบวก (รัก ชอบ สงสาร) หรืออารมณ์ในทางลบ (เกลียด โกรธ อาฆาตแค้น)การกระทำดีต้องเป็นอิสระจากอารมณ์ความรู้สึก และการกระทำดีที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องใช้ความสำนึกในหน้าที่ฝืนแรงผลักดันของอารมณ์ความรู้สึก (เช่น ช่วยชีวิตศัตรูที่เดือดร้อน ทั้งๆ ที่เราเกลียดเขา แต่ฝืนทำได้โดยสำนึกในหน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์ที่ต้องช่วยเหลือกัน)

2. ต้องไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ไม่ว่าจะเพื่อตนเองหรือเพื่อคนอื่นก็ตาม มนุษย์มีหน้าที่ทำความดี แต่ไม่มีหน้าที่คาดหวังผลลัพธ์อะไรทั้งสิ้น สิ่งหนึ่งๆ ถ้ามันดี มันจะดีตลอดไป ทุกยุคสมัย และทุกสถานการณ์ ไม่ว่าผลของมันจะออกมาอย่างไรก็ตาม ( เช่น การพูดความจริง ดี )

นักปรัชญาในกลุ่มนี้ เช่น นักปรัชญาชาวอเมริกันชื่อเปอรี่ (Ralph Barton Perry : 1876 -) นักปรัชญาชาวอังกฤษชื่อเวสเตอมาร์ค (Edward  Westermarck) มีความคิดแตกต่างกันไปอีกมากมายในกลุ่มนี้ แต่พอสรุปได้ว่า เราสามารถนิยามค่าทางจริยธรรมได้โดยใช้สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมารองรับ สามารถตรวจสอบให้รู้ได้โดยอาศัยประสาทสัมผัสปกติเป็นรากฐาน

ตัวอย่าง สิ่งที่ดี คือ สิ่งที่มหาชนชอบ  เราเอาธรรมชาติคือความเห็นชอบของมหาชนไปนิยามศัพท์ทาง จริยะ หรือกลุ่มประโยชน์นิยมได้นิยามคำว่า ดี คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุข เราเอาธรรมชาติคือความสุขไปรับรองคำว่าดี เป็นการก้าวจากข้อเท็จจริงไปสู่ค่าทางจริยธรรม ในทัศนะของกลุ่มนี้ศีลธรรมมิได้มีค่าในตัวมันเอง แต่ค่าของมันพามนุษย์ไปสู่ความสุข หลักศีลธรรมมาจากข้อเท็จจริงที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติมนุษย์รักสุขเกลียดทุกข์ ความดีตามหลักศีลธรรมก็คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นสุข ความชั่วก็มีนัยตรงกันข้าม

แนวคิดของกลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีคือ สุขนิยม ประโยชน์นิยม  พวกนี้ถือว่าการพูดถึงเรื่องความดีเป็นเรื่องที่มีสาระ  เพราะเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นคำพูดที่เป็นจริงหรือเป็นเท็จ  ด้วยการหาข้อเท็จจริงทางจิตวิทยามารองรับ  การเถียงกันในเรื่องศีลธรรมก็คือการเถียงกันในเรื่องธรรมชาติ  สำหรับกลุ่มนี้ถือว่าหลักศีลธรรมไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์จะแสวงหา  แต่หลักศีลธรรมเป็นเพียงบันไดที่จะทำให้มนุษย์ก้าวไปสู่เป้าหมายหลักคือความสุข

อริสโตเติลเห็นว่าชีวิตที่ดี (หรือ “ความสุข” หรือ “ความเจริญงอกงาม”) เป็นสิ่งที่มีค่าในตนเอง และคุณค่าของสิ่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับการดำเนินไปตามธรรมชาติของตน ชีวิตที่ดีจึงไม่ใช่ภาวะแต่เป็นกิจกรรม (activity) ที่เกิดจากการปฏิบัติตามธรรมชาติอันเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์ อันได้แก่ เหตุผล ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีคุณธรรม เนื่องจากคุณธรรมคือความเป็นเลิศ (excellence) ในการนำธรรมชาตินั้นมาปฏิบัติ เนื่องจากเหตุผลของมนุษย์นั้นประกอบด้วยสองส่วนได้แก่ ด้านปฏิบัติ (practical) และด้านทฤษฎี (theoretical) คุณธรรมจึงสามารถแบ่งเป็นสองด้านเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คุณธรรมที่เกี่ยวกับกิจกรรมของเหตุผลด้านปฏิบัติอันเรียกว่า “คุณธรรมเชิงจริยธรรม” (moral virtue) นั้นมีลักษณะแตกต่างจากคุณธรรมที่เกี่ยวกับกิจกรรมของเหตุผลด้านทฤษฎี หรือ “คุณธรรมเชิงสติปัญญา” (intellectual virtue) กล่าวคือ คุณธรรมเชิงสติปัญญานั้นสามารถสั่งสอนกันได้โดยตรง แต่การจะเรียนรู้คุณธรรมเชิงจริยธรรมนั้น บุคคลต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจนกระทั่งเกิดเป็นคุณลักษณะของตน[3]

หากผลออกมาเป็นสุขก็ถือว่าดี สิ่งที่ดีคือสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุด (ดีในตัวเอง) ดังนั้น ความดีกับความสุขจึงเป็นสิ่งเดียวกัน ในการคำนวณความสุข เราต้องถือว่าตัวเรา (ผู้กระทำ) กับคนอื่นมีค่าหนึ่งหน่วยเท่ากัน ไม่มีใครมีค่ามากกว่าคนอื่น ดังนั้น เราจึงไม่ควรเห็นแก่ตัวเองหรือพวกพ้อง หลักมหสุขมีไว้สำหรับตัดสินการกระทำ ไม่ใช่ตัดสินคน จึงไม่สนใจเจตนาของคน เมื่อเลือกไม่ได้ ก็จงทำสิ่งที่ทุกข์น้อยที่สุด คนที่ทำด้วยเจตนาต่างกัน แต่หากผลลัพธ์ออกมาเหมือนกันก็ถือว่าค่าของการกระทำนั้นเท่าเทียมกัน (นายแดงช่วยคนที่กำลัง   จะจมน้ำตายโดยไม่หวังผลตอบแทน กับนายดำที่ช่วยโดยหวังผลตอบแทน ถ้าทั้งสองคนสามารถช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำ  ตายขึ้นมาได้เหมือนกัน ก็ต้องดีเท่ากัน)

คานท์เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมัน คานท์เห็นว่า “ความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด นั้น เป็นสิ่งตายตัว หมายความว่า ถ้าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดีมันจะต้องดีเสมอโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ สิ่งแวดล้อม หรือตัวบุคคล ใดๆ เลย เช่น พูดความจริงไม่ว่าจะพูดเวลาไหนย่อมดีเสมอ”

“ค่าทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อมีจริงก็ต้องตายตัว และเมื่อตายตัว ก็จะเอาผลการกระทำตัดสินไม่ได้”

“ไม่มีอะไรในโลกที่คิดได้ว่า เป็นสิ่งที่จะวัดความดีความชั่วได้นอกจากเจตนาดี”คานท์ถือว่า “การกระทำที่เกิดจากการเจตนาดี คือการกระทำตามหน้าที่เหนือจะพูดว่าการกระทำตามหน้าที่คือการกระทำด้วยเจตนาดีนั่นเอง”

“การกระทำที่เกิดจากแรงกระตุ้น หรือจากความรู้สึก ไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากหน้าที่ไม่ถือวาเป็นเจตนาดี เช่น แรงกระตุ้นพวกความอยาก ความปรารถนา อารมณ์ ความรู้สึกเป็นต้น”

“ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่อยู่กับศีลธรรม คืออยู่กับหน้าที่ไม่ใช่อยู่กับความสุข หรือความรู้สึก”

“การกระทำตามหน้าที่ มิใช่การกระทำที่มุ่งไปยังที่ผลประโยชน์หรือโทษของการกระทำแต่มุ่งไปที่ตัวการกระทำนั้นๆ ว่าเป็นสิ่งที่ดีจริงในตัวมันเอง เช่น ถ้า ก. พูดจริง เพราะคิดว่าคนเขาจะเชื่อ คนเขาจะรัก เช่นนี้ไม่ใช่การกระทำตามหน้าที่ แต่ถ้าเขาพูดจริงเพราะคิดว่าพูดจริงมันดี ใครจะรักจะเกลียดก็ช่างใคร เช่นนี้ การกระทำของเขาจึงจะเป็นการกระทำตามหน้าที่และมีค่าทางจริยธรรมจริง”

“การกระทำตามหน้าที่ ที่จะเป็นหลักศีลธรรมได้ต้องเป็นการกระทำที่เป็นหลักสากลหมายความว่า เมื่อเรากระทำแล้วคนอื่นเห็นก็รู้สึกเหมาะสมหรือคนอื่นทำแล้วเราดูก็รู้สึกว่าเหมาะสม เช่น เราถือว่า ถ้าเราหิวเราขโมยเขาได้ ทีนี้ในทางกลับกัน เมื่อคนอื่นเขาคิดว่าเมื่อหิวเขาหิวเขาก็มาขโมยของๆเรากิน เช่นนี้เรายอมรับไหม เราไม่ยอมให้เขามาเอาของๆเราไป จึงไม่เป็นสิ่งสากล การกระทำที่ไม่เข้ากฎสากลเช่นนี้ไม่เป็นกฎศีลธรรม”[4]

การทำดีได้ดี เป็น "การกระทำให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดีๆและเราจะได้รับความรู้สึกดีๆ" แต่เราจะพยายามมองในด้านตัวเราเองมากเกินไป คาดหวังเกินไป เราทำให้คนอื่นดีแต่สิ่งที่เราได้รับกลับมาไม่เป็นดั่งที่เราหวังไว้ เราลืมไปหรือเปล่าว่าเราได้อะไร สิ่งนั้นคือความรู้สึกดีๆ ความสุขที่เราได้ทำให้ผู้อื่นสิ่งๆนี้เป็นสิ่งที่วิเศษที่คนอื่นจะมองไม่ เห็น เราจะรับรู้ที่ตัวเราเองเท่านั้น เปลี่ยนความคิดบ้างอย่าไปหวังที่วัตถุมากเกินไป "เราลองทำอะไรโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนสิ" อาจจะพูดแบบนี้ไม่ถูกเพราะทุกอย่างมีเหตุและผลแล้วอะไรล่ะ?ที่เป็นผล ผลนั้นก็คือ ความรู้สึกดีๆที่เราได้รับนั้นเอง

อย่าท้อถอยกับการทำความดี อย่างน้อยเราก็ได้ทำ อย่างน้อยเราก็รู้สึกดี ถึงผลที่เราคาดหวังไว้จะไม่เป็นไปตามนั้นแต่บางทีเราก็คิดนะ เช่น เราขยันตั้งใจทำงาน ต้องการให้งานออกมาดี แต่กลับมีปัญหาต่างๆ มองเพื่อนที่ขี้เกียจไม่ค่อยทำงาน กลับได้รับการเอาใจใส่อย่างดี งานราบรื่น แต่เราต้องดึงจิตใจของเรากลับมาให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่หลุดจากความรู้สึกไม่ดีแบบนั้น ด้วยการคิดว่า"อย่างน้อยเราก็ได้ทำ อย่างน้อยเราก็รู้สึกดี "จะยังไงเราก็จะพยายามทำดีต่อไป ต้องใช้คำว่าพยายามให้มาก เพราะความพยายามเป็นการบ่งบอกถึงความพร้อม ความตั้งใจ ที่จะทำ บางคนจะบอกว่าเริ่มทำดีอย่างไร หลักง่ายๆ

  1. เราตั้งเป้าหมายไว้คือ "ทำความดี"
  2. จะไปถึงได้ไง เราก็ต้อง"พยายาม"ก่อน
  3. เมื่อเรารู้ว่าเราต้องพยายามทำ เราก็จะเริ่มเอง

 

[1] http://kunkrunongkran.wordpress.com/

[2] http://musagood.blogspot.com/2012/12/blog-post.html

[3] http://www.philospedia.net/virtueethics.html

[4] http://www.oknation.net/blog/print.php?id=58729

คำสำคัญ (Tags): #ฆ.ระฆัง
หมายเลขบันทึก: 555147เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2013 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2013 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท