ภาษาสื่อความจริงหรือภาษาเป็นความจริง



ภาษาสื่อความจริงหรือภาษาเป็นความจริง

ประเด็นเรื่องความสามารถของภาษา ได้ถูกตั้งคำถามมานานแล้วในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในวงการปรัชญา ศาสนา และวรรณคดีวิจารณ์ (literary criticism) นักปรัชญาท่านหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นในการวิพากษ์ภาษา คือ วิตเกนสไตน์ (Wittgenstein) เขาได้เปรียบการใช้ภาษาเหมือนกับเกม เรียกว่า “เกมภาษา” (Language-games) ซึ่งคำที่ใช้เรียกในเกมต่าง ๆ จะถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์ที่เป็นกติกาของการเล่นเกมนั้น ๆ คำว่า ชู้ตลูก ยิงประตู ฯลฯ เมื่อใช้ในการเล่นฟุตบอล แฮนด์บอล หรือโปโล แม้จะเป็นคำคำเดียวกัน ออกเสียงเหมือนกัน สะกดเหมือนกัน แต่เมื่อใช้ในเกมที่ต่างกัน ก็จะมีความหมายต่างกันไปด้วย ตามกติกาที่ใช้ในบริบทที่ถูกกำหนดโดยเกมนั้น ๆ ภาษาที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันก็เช่นเดียวกัน จะถูกกำหนดความหมายโดยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ อาทิ น้ำเสียง สีหน้า กิริยาอาการ ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์หนึ่ง เมื่อเราใช้คำพูดกระเซ้าเย้าแหย่เพื่อน อาจทำให้เพื่อนของเรารู้สึกเบิกบาน เป็นกันเองและสนุกสนาน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เพื่อนกำลังหงุดหงิด อารมณ์เสีย เมื่อเราใช้คำพูดกระเซ้าเย้าแหย่ด้วยถ้อยคำ น้ำเสียง และกิริยาท่าทางแบบเดียวกับที่ใช้ในตอนแรก แทนที่จะรู้สึกสนุกสนาน เป็นกันเอง เขาอาจจะกลับรู้สึกโกรธเคือง หาว่าพูดจาซ้ำเติม หรือดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นต้น

การที่ความหมายของถ้อยคำถูกกำหนดโดยบริบทของสถานการณ์ในการใช้ที่แตกต่างกัน เหมือนกับคำต่าง ๆ ในแต่ละเกม ที่ถูกกำหนดโดยกติกาของเกมนั้น ๆ ทำให้วิตเกนสไตน์เรียกบริบทของการใช้ภาษาในแต่ละสถานการณ์นี้ว่า “เกมภาษา” ภายใต้บริบทของเกมภาษาที่แตกต่างกัน ความหมายของภาษาก็จะแตกต่างกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่วิตเกนสไตน์เรียกว่าเกมภาษานี้ มิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวในสูญญากาศ แต่ทว่าจะฝังตัวอยู่ภายใต้แบบวิถีชีวิตหนึ่ง ๆ (form of life) ภายใต้แบบชีวิตที่แตกต่างกัน จะนำไปสู่แบบการใช้ภาษาหรือเกมภาษาที่แตกต่างกันและทำให้ความหมายของภาษาแตกต่างกันไปด้วย ตัวอย่างเช่น คำว่า “กู-มึง” ในชนบทซึ่งมีแบบวิถีชีวิตทางสังคมไม่ซับซ้อนอะไรมาก คำคำนี้ก็จะใช้เป็นสรรพนามแทนบุรุษที่ ๑ และที่ ๒ โดยไม่รู้สึกหยาบคายอะไร แต่สำหรับคนในสังคมเมือง ซึ่งมีแบบวิถีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้น อันสะท้อนให้เห็นผ่านทางภาษาต่าง ๆ แม้สรรพนามบุรุษที่ ๑ เพียงคำเดียว ก็มีชื่อเรียกมากมาย อาทิ เกล้ากระผม หม่อมฉัน ข้าพเจ้า กระผม ดิฉัน ฉัน เดี๊ยน ฯลฯ ซึ่งการใช้คำแต่ละคำจะสะท้อนถึงสถานภาพทางสังคมในแง่ต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน ภายใต้แบบวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่เกมภาษาที่แตกต่างกันเช่นนี้ การใช้คำว่า “กู-มึง” ของคนสังคมเมือง หรือในเกมภาษาของคนเมือง จะมีความหมายแตกต่างไปจากที่ใช้ในสังคมชนบท อาทิ สะท้อนถึงความหมายในแง่เป็นคนหยาบคาย เป็นนักเลงหัวไม้ ไร้การศึกษา หรืออยู่ในฐานะคนชั้นต่ำ เป็นต้น วิตเกนสไตน์ จึงกล่าวว่า แม้สมมติให้สิงโตสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ เราก็ไม่มีทางจะเข้าใจความหมายของถ้อยคำเหล่านั้น เพราะมีแบบวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน

ความหมายของภาษาที่เราเข้าใจ จึงเป็นสิ่งทีมีปฏิสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับแบบวิถีในการดำเนินชีวิตของเราเอง ขณะที่แบบวิถีในการดำเนินชีวิตกำหนดความหมายของภาษาหรือเกมภาษาที่เราใช้สื่อความกัน เกมภาษานั้นก็จะช่วยตอกย้ำหรือเป็นกรอบกำหนดให้เกิดแบบวิถีในการดำเนินชีวิตนั้น ๆ ด้วย

แนวคิดแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) ที่เชื่อมั่นว่ามีความจริงหรือสัจธรรมที่รอคอยการค้นพบ (Logocentric) และความจริงนี้สามารถเข้าถึงได้ด้วยด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น ยังสามารถเสนอภาพตัวแทน (representation) ของความจริงได้โดยผ่านโครงสร้างของภาษา ดังคำกล่าวที่ว่า “สัจธรรมสูงสุด อาจจะมีอยู่ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะพูดถึงมันได้ ตราบใดที่เรายังคิดและสื่อสารความคิดผ่านทางภาษา…แม้เราจะรู้ว่าภาษาคืออุปสรรคในการเข้าถึง คิดถึง หรือพูดถึงสัจธรรม แต่นั่นก็เป็นอุปสรรคที่เราไม่อาจก้าวข้าม เพราะเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า metalanguage (อภิภาษา) ที่จะใช้อธิบายการทำงานของภาษาได้…”

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) มองข้อจำกัดของภาษาว่า “ภาษาไม่สามารถแสดงหรือถ่ายทอดความจริงหรือสัจธรรมได้โดยสมบูรณ์ เพราะว่าภาษานั้น ไม่ใช่เป็นการเอาสิ่งนั้นมาตั้งหรือมาแสดงให้ดู เราไม่ได้เอาของนั้นที่เป็นของจริงมาไว้ข้างหน้า” นอกจากภาษาจะสื่อความจริงได้ไม่สมบูรณ์แล้ว ยังอาจจะมีโทษต่อมนุษย์ได้ด้วยในแง่ที่เป็นตัวปิดบังความจริง ถ้าหากปฏิบัติต่อภาษาอย่างไม่ถูกต้อง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “นอกจากภาษา จะสื่อความจริงได้ไม่สมบูรณ์ผิดพลาดแล้ว บางทีก็เป็นตัวบังสัจธรรมเสียเองด้วย ในกรณีนี้คือการที่เราไม่รู้จักปฏิบัติต่อภาษาอย่างถูกต้อง เราก็จะได้รับโทษจากภาษาอย่างที่ทางพระเรียกว่า ติดสมมติ”

ภาษาไม่ได้มีความหมายโดยสมบูรณ์ในตัวเอง แต่อาศัยตรรกะของความแตกต่าง และการชะลอ (differance) ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจในการสื่อสาร ดังนั้น ภาษาจึงไม่ได้เพียงแต่สะท้อนความเป็นจริง (reality) อย่างง่าย ๆ แต่ภาษาในตัวของมันเองมีส่วนในการสร้างความจริงด้วย[1]

 

 

[1] http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=458&articlegroup_id=102

 

คำสำคัญ (Tags): #ฆ.ระฆัง
หมายเลขบันทึก: 555084เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2013 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2013 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท