มะกอกป่า...ไม้มีคุณหรือไม้อัปมงคล???


 

มะกอกป่า...ไม้มีคุณหรือไม้อัปมงคล???

      ก่อนที่ผมจะปลูกบ้าน หน้าบ้านผมเคยเป็นร้านอาหารอีสานเล็กๆ ชวนให้คนเดินทางผ่านไปมาแวะมาพักรถดับความหิว แม่ครัวเป็นพี่สาวภรรยาที่ผมพาลูกเรียกว่า “ป้า”จนติดปาก ป้าของผมรสมือดีมากจนมีแขกประจำแวะเวียนมาบ่อยๆ เวลาว่างลูกค้าแกชอบเดินเก็บผักตามรั้วมาวางโต๊ะเป็นผักเคียงลาบ ยอดมะกอกอ่อนเป็นสิ่งหนึ่งที่แขกประจำชอบมาก และในครัวก็ขาดไม่ได้คือลูกมะกอกป่า ส้มตำอีสานที่ขาดความเปรี้ยวอมหวานของมะกอกป่าแทบจะขาดเอกลักษณ์ของส้มตำลาวไปเลย  ต้มยำปลาหมอนาตัวโตๆ นั่นก็อีกอย่างที่ถูกกันกับมะกอกป่ายิ่งนัก น้ำแกงข้นที่ออกสีคล้ำๆ นั้นอร่อยถูกปาก ชนิดว่าเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม  แล้วเมล็ดมะกอกป่าที่ถูกโยนทิ้งก็ผลิแตกเป็นต้นมะกอกริมรั้วขนาดหนึ่งคนโอบเช่นทุกวันนี้…นี่คือตำนานของต้นมะกอกป่าหน้าบ้าน 

      ต้นมะกอกป่าต้นนี้ แม้มันจะสร้างภาระให้ผมออกกำลังกายเก็บกวาดใบที่ร่วงทุกวันในหน้าหนาว ผมก็ไม่เคยมีความคิดที่โค่นมันตามคำแนะนำของเพื่อนบ้านบางคน ด้วยเหตุผลเรื่องภูมิทัศน์ และความเชื่อที่เป็นไม้อัปมงคลห้ามปลูกในบ้าน ซึ่งในชีวิตผมเชื่อเรื่องกรรมปัจจุบันมากกว่า ใบแห้งที่ร่วงก็กวาดสุมให้เป็นปุ๋ย ใบที่ร่วงปลิวตามแรงลมก็เหมือนจะสอนสัจธรรมอะไรบางอย่างด้วยซ้ำ ยามที่กิ่งก้านที่ปราศจากใบก็ดูเหมือนงานศิลป์ของจิตรกร ทั้งลูกมะกอกสุกที่ส่งกลิ่นหอมกรุ่นๆ  หล่นเกลื่อนกราดใต้ต้นตอนเช้าๆ ชาวบ้านที่เดินผ่านหน้าบ้านอดไม่ได้ที่จะแวะมาเก็บลูกมะกอกสุกที่หล่นคนละกำมือ เขาบอกนำไปบีบน้ำใส่น้ำพริก (แจ่วหรือป่น ในภาษาอีสาน) อร่อยมาก ผมไม่เคยหวง บอกให้เขาเก็บเอาตามความพอใจ ถือว่าเป็นเรื่องแบ่งปันกันกิน หากเป็นของขายไปถึงตลาดสดก็จะตกลูกละบาทเลยทีเดียว... 

      ลูกมะกอกป่า มีเนื้อน้อยเมล็ดใหญ่จึงกินได้เมื่อผลสุกสัมผัสเอารสเปรี้ยวอมฝาด แรกๆก็เปรี้ยวสักครู่ก็ออกหวานชุ่มคอ ปกติไม่นิยมนำมากินแบบผลไม้ แต่นำไปปรุงรสชาติอาหารมากกว่า ปู่ย่าตายายบอกว่า ผลมะกอกป่านี้เป็นยาฝาดสมาน แก้เลือดออกตามไรฟัน หมอสมุนไพรรุ่นใหม่ยังค้นพบว่า ลูกมะกอกป่ามีธาตุเหล็กถึง 9.9 มิลลิกรัม/ 100 กรัม มีวิตามินซีสูง แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ แก้ธาตุพิการ แก้โรคขาดแคลเซียม  เนื้อในเมล็ดก็ยังมีสรรพคุณแก้ธาตุพิการ แก้บิดอีกด้วย แม้แต่เปลือกลำต้น ใบ ก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ ทุกส่วนล้วนเป็นคุณต่อมนุษย์ทั้งสิ้น เพียงแต่มนุษย์เห็นว่ามะกอกป่า เป็นต้นไม้ใหญ่กิ่งเปราะ ถ้าปลูกไว้ในบ้านจะเป็นอันตรายแก่เด็กๆ ที่ชอบปีนป่าย เป็นเหตุผลที่พอรับได้ ส่วนชื่อ “มะกอก” คงจะไปพ้องกับคำ “กลิ้งกลอก” หรือคำพังเพยที่ว่า “มะกอกสามตะกร้า ปาไม่ถูก” ซึ่งหมายถึง “คนกะล่อน กลับกลอกเชื่อถือไม่ได้” (ชื่อต้นไม้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนตรงไหน?...งงมาก)  จึงไม่นิยมปลูกในบ้าน...แต่ในที่หัวไร่ปลายนาคงพออนุโลมปลูกได้กระมัง...ไม่แน่ใจเลยว่าจะเหลือป่าไว้ให้เกิด 

      เนื่องจากมะกอกมีหลายพันธุ์ มะกอกป่าที่ผมนำมาเล่าในที่นี้ หมายถึง พันธุ์มะกอกที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า spondias pinnata Kurz. ภาษาอังกฤษเรียก Hog Plum นั่นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 554864เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 08:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นอกจากเขียนเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา ท่าน ศน. ยังเขียนเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้ได้ ได้อย่างน่าอ่าน ด้วยนะคะ

มะกอกเป็นไม้ที่ไอดินฯ ชอบมากค่ะ ทั้งชอบกินยอดอ่อน และลูกสุกที่นำไปทำอาหาร ที่สวนข้างบ้านของแม่ (สมัยไอดินฯ เรียนชั้นประถมต้น.) ก็มีมะกอกต้นโตที่มีลูกสุกหล่นเกลื่อนพื้นให้เก็บไปทำอาหารและไปกินสดๆ ได้ทั้งคุ้ม นอกจากนำไปทำอาหารตามที่ท่านเล่าให้ฟัง อีกอย่างที่อร่อยมากคือ นำไปใส่ก้อยกุ้งที่เจ้าฟ้ากุ้งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า "ก้อยกุ้งปรุงประทิ่น วางถึงลิ้นดิ้นแดโดย" นั่นแหละค่ะ

ที่ "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" มีต้นมะกอกทั้งที่เกิดเอง และที่ปลูก ต้นในภาพเป็นต้นที่ปลูกค่ะ เคยออกดอกแต่ยังไม่เคยติดผล นอกจากนั้นยังมีมะเดื่อ และมีสวนลิ้นฟ้าที่ปลูกแซมสวนกล้วยและสวนมะม่วง ไม้ทั้ง 3 ชนิด เป็นไม้ที่เคยเห็นในสวนและในป่าตอนเด็กๆ จึงหาไปปลูกเพื่อรำลึกถึงแม่และชีวิตวัยเด็กค่ะ

...คุณประโยชน์น่าจะมากกว่าโทษนะคะ...

ขอบคุณครับ ที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ที่ป่ายายธี..มันขึ้นเอง..และเก็บไว้..วันดีคืนดี..ชาวบ้าน..ก็มาเฉาะต้น..เป็นรูๆว่าเอาไปทำยา..แก้ปวดฟัน..อ้ะะ..ตอนแรกกลัวว่าต้นจะตายเหมือนกัน..แต่..ก็รอด..

ดหกดฟหกฟหดหกฟ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท