ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๓๘. ภาษาปักษ์ใต้นานๆ คำ : (๕) ไม่มี ก สะกด ในบางสระ


 

          “ถ่างวั่นเอาะ” น้องชายพูด    ปรับเป็นสำเนียงกรุงเทพได้ว่า “ทาง(ทิศ)ตะวันออก”    นี่คือสำเนียงภาษาปักษ์ใต้บ้านผม    ที่คำสะกดด้วย ก ไก่ เราพูดห้วนและตัดตัวสะกดออกไป

 

          เช่น ผลมะกอก เราเรียก “หลุ่เก้าะ” (ลูกกอก) เสียงวรรณยุกต์เพื่อบอกสำเนียงของคนปักษ์ใต้นี้เขียนให้ตรงจริงๆ ยากมาก   ที่ต้องการแสดงในที่นี้คือ    ในภาษาบ้านผม ทั้ง ลูก และ กอก พูดแบบไม่มี ก สะกด   คือคำแม่กอก กลายเป็น แม่เกาะ 

 

          หัวโหนก  พูดว่า  หัวโหนะ (ฮั่วโนะ)     หัวโจก  พูดว่า  หัวโจะ (ฮั่วโจ่ะ)    บ้านนอก  พูดว่า  บ้านเนาะ (บ๊านเหน่าะ ในสำเนียงใต้)

 

          เอาอีก  พูดว่า เอาอิ (เอาอิ่ ในสำเนียงใต้)    ฉีก  พูดว่า  ฉิ (ชิ ในสำเนียงใต้)

 

          แต่คำว่า รก   เราพูดว่า  รก(หรก)   มี ก สะกด,     สกปรก  พูดว่า  สกปรก (ซกปร่ก),    ชก  พูดว่า  ชก (ฉก)     

 

          วันนี้อ่านหนังสือ อังคาร กัลยาณพงศ์ กลับบ้านเกิด    พบคำว่า “ลูกบ่าว” ซึ่งหมายถึงลูกชาย   คู่กับลูกสาว    ทำให้นึกขึ้นได้ว่าแถวบ้านผมก็ใช้    และยังมีคำ “น้องบ่าว” (น้องชาย)    ซึ่งเดี๋ยวนี้คงใช้กันน้อย    เพราะไปสบสนว่า คำ “บ่าว” ที่หมายถึงข้า หรือคนรับใช้   

 

          นึกได้อีกคำ “ไม้ฮ้าน” (ไม่หาญ)  แปลว่า ไม่กล้า    เดาว่า หาญ มาจากคำว่า กล้าหาญ    ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนขี้ขลาด  ผู้ใหญ่ใช้ให้ทำอะไรที่ไม่เคยทำก็จะอ้างว่า ไม้ฮ้าน                                                                                                                                        

 

 

วิจารณ์ พานิช

๖ ต.ค. ๕๖  เพิ่มเติม ๘ ต.ค. ๕๖

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 553955เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบจังค่ะ อาจารย์ อ่านแบบมีเสียงไปด้วย เป็นคนภาคกลางที่ชอบฟังคนใต้คุยกัน โดยเฉพาะคำสั้นๆอย่างที่อาจารย์เอามาเล่าให้ฟังนี่แหละค่ะ ฟังครั้งแรกๆจะรู้สึกถูกใจ เพราะแม้จะไม่เคยได้ยินแต่พอได้ยินก็เดาได้ว่าหมายความว่าอะไร และชอบคนที่คิดใช้คำนั้นๆนะคะ ได้ใจความมากๆแถมยังมีสำเนียงที่น่ารักอีกด้วย

สวัสดีค่ะอาจารย์

ภาษาผู้ไทก็ไม่มีกสะกดบางสระเหมือนกันค่ะตะวันออกก็จะพูดว่าตะเง่นเอ้าะ มะกอกก็พูดว่าหมะเก้าะ

เอาอีกก็ว่าเอ่าอิ้ บ้านนอกก็ว่าบ้านเน้าะค่ะ

- ผมพบตัวเองว่า ไม่มี "ก" ก็เมื่อไปอยู่ที่นครศรีธรรมราช โดยเพื่อนในชั้นเรียนที่มีพื้นเพจากสงขลาล้อเลียนเรื่องนี้

- เมื่อสังเกตว่า ไม่มี "ก" จริง จึงพัฒนาตัวเอง คือมีสติใส่ "ก" ให้ได้ ทุกวันนี้มี "ก" ไก่แล้ว แต่สิ่งที่คนพื้นบ้านแถบชุมพรมีคือสำเนียง "ง" ขณะที่คนพื้นบ้านสงขลา พูด "ง" ไม่ชัด (นครศรีฯด้วย) ที่สังเกตอีกอย่างคือ สำเนียงแถบชุมพรจะออกเสียงคำหลังด้วยเสียงสูง (ขึ้นเสียง-ประมาณว่าใส่อารมณ์ขึ้นนาสิก) สำเนียงสงขลาจะอ่อนไปทางสำเนียงกลาง

- สำเนียงใต้นั้น แต่ละจังหวัดจะแตกต่างกัน ผมเคยสังเกตคนภูเก็ต จะออกสำเนียงคล้ายคนหลังสวนครับ

- คำว่า "ฉีก" สำเนียงชุมพรน่าจะตรงกับคำว่า "ชี้" ในสำเนียงภาคกลางนะครับ (ผิดพลาดประการใดขออภัยด้วยครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท