วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง A Brighter Summer Day


ภาพยนตร์เรื่อง A Brighter Summer Day

A Brighter Summer Day 

 

                                                                   เหมือนขวัญ เรณุมาศ

 

 

 

 

 

 

           ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำโดยการเปิดฉากวาดแสงไปยังสถานที่แห่งหนึ่งอันมืดมิด ภาพที่เรามองเห็นจึงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของภาพผ่านช่องของแสงที่เคลื่อนไหวไปมา แสงที่ปรากฏในเรื่องส่วนใหญ่ คือแสงจากไฟฉาย ฉะนั้นภาพสรรพสิ่งต่างๆ จึงดูเลือนราง แม้กระทั่งตัวละครเราก็จะไม่ได้เห็นใบหน้าของเขาและเธอชัดเจนแต่อย่างใด ราวกับว่าผู้กำกับกำหนดให้ตัวละครเคลื่อนไหวในตำแหน่งที่ถูกกำหนดโดยอาศัยช่องแสง  เราอาจเห็นตัวละครในแบบที่เลือนราง ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง  แต่นี่อาจเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่พยายามจะละทิ้งส่วนประกอบในเรื่องของแสง สี และเสียงก็เป็นได้

            ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วมองว่า นี่คือภาพยนตร์สองมิติ ทีให้มิติทั้งขาวและดำ  ให้ทั้งศีลธรรมกับความชั่ว ทางด้านศีลธรรม คือ การดำรงชีวิตของพระเอกเด็กน้อยในโรงเรียนทหาร ที่พยายามปกป้องคนที่ตนเองรัก รวมถึงเพื่อนๆในแก๊งค์ ส่วนความชั่วในด้านมืด เกิดจากความเห็นแก่ตัวและความโกรธที่สะสมกันมาจนระเบิดออกเป็นความรุนแรง (Violence) และท้ายที่สุดศีลธรรมที่เคยถูกฉายให้เห็นก็ไม่อาจเอาชนะความชั่วได้ จนชีวิตของเขาต้องจบลงด้วยการติดคุก เพราะวู่วามฆ่าคนที่ตนเองรัก

 

 

 

            ในเรื่องนอกจากเราจะได้เห็นถึง ความสับสนปนเปภายใต้จิตใจของชีวิตเด็กวัยรุ่นหลายๆ กลุ่มในไต้หวันแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตัวผู้กำกับหนังอย่าง Edward Yang พยายามจะใส่มาให้กับคนดูด้วยคือ องค์ประกอบที่เป็นจริงของสังคม และวัฒนธรรมไต้หวัน ในความเป็นจริงที่ว่า สังคมไต้หวัน เป็นสังคมที่เปิดรับวัฒนธรรมข้ามชาติเข้ามาสูงมาก ดังนั้นจะเห็นว่าตลอดทั้งเรื่อง มันมีฉากบางฉากที่เข้ามาแทรกเพื่อให้คำอธิบายตรงนี้อย่างชัดเจน เช่น การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไต้หวัน ครอบครัวพระเอก ที่ชอบเปิดเพลงญี่ปุ่นฟังขณะนั่งกินข้าว  เพื่อนรักของพระเอกที่ชื่นชอบการร้องเพลงภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ  การแต่งตัวที่เริ่มเป็นตะวันตกมากขึ้น ฯลฯ ทั้งหมดนี่เป็นผลพวงจากความเป็นจริงที่ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว อิทธิพลของอเมริกาและญี่ปุ่น กำลังขยายตัวอย่างมาก และขณะเดียวกัน คนไต้หวันก็รับเอาวัฒนธรรมป๊อบเหล่านี้เข้ามาผสมกลมกลืน ปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนจนดูสะดุดตา

 

 

            อย่างไรก็ตาม ผู้ชมจำนวนมาก โดยเฉพาะตัวผู้เขียนเอง มีความรู้สึกทึ่งและเสียดายกับฉากจบอันเจ็บปวดของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะตลอดระยะเวลานานสามชั่วโมงที่หนังดำเนินเรื่องมา หนังจะสื่อให้เห็นถึงความสูญเสีย ที่เกิดจากแก๊งค์วัยรุ่นตีกันเป็นส่วนใหญ่อยู่บ่อยๆ ทำให้คนชมรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ รู้สึกชินกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครในเรื่อง แต่ในท้ายที่สุด ตอนจบของเรื่อง กลับจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่พระเอกลงมือฆ่านางเอกด้วยภาวะจิตใจที่กำลังกดดัน ฉากจบจึงเป็นฉากที่ดึงความรู้สึกของผู้ชมให้ออกจากความสูญเสียที่เคยชิน ไปสู่ความสูญเสียที่โหดร้าย ทุกข์ทรมานอย่างแตกต่างจากฉากก่อนหน้านี้ และนี่ถือเป็นจุดจบที่สร้างทั้งความประทับใจและแปลกใจให้กับผู้ชมอย่างไม่คาดคิด ........................สุดท้ายจึงต้องขอชื่นชมผู้สร้างที่สามารถสร้างหนังที่ธรรมดาให้กลายเป็นหนังที่ไม่ธรรมดาได้อย่างน่าจดจำ

หมายเลขบันทึก: 553938เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 00:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

.. ขอบคุณมากๆค่ะ ... รู้เขา-รู้เรา ..ดีนะคะ

ครับ ขอบคุณเช่นกันคับ Dr. Ple หนังทุกเรื่่องย่อมมีประเด็นการเมือง สังคม และวัฒนธรรมสอดแทรกมาให้ขบคิดเสมอ งานชิ้นนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งงานในการเริ่มต้นลองเขียน ลองคิด เพื่อแลกเปลี่ยนกันครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท