โครงการ 1 ไร่ 1 แสนบาท


โครงการหนึ่งไร่ หนึ่งแสนบาท

            โครงการหนึ่งไร่ หนึ่งแสนบาท เป็นองค์ความรู้ที่หอการค้าไทย โดยคุณอดิศร พวงชมพู อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครปฐม เป็นผู้เริ่มท้าทายกับชาวนาว่าทำนาหนึ่งไร่ต้องได้หนึ่งแสนบาท จากนั้นท่านก็เริ่มถอดองค์ความรู้การทำนา โดยใช้วิธีทางการบริหารธุรกิจ เริ่มจากการวิเคราะห์ต้นข้าวหนึ่งกอมีต้นข้าวกี่ต้น ในต้นข้าวหนึ่งต้นมีข้าวกี่รวง ในหนึ่งรวงมีข้าวกี่เมล็ด จากนั้นในนาในการปลูกข้าวระดับน้ำที่เหมาะสมที่ต้นข้าวเจริญเติบโตคือระดับน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร ในระดับน้ำขนาดนั้นจะเกิดวงจรของแพลงตอน ควรใส่ลูกปลา ใส่ลูกกุ้งตอนไหนที่จะบริโภคสารอาหารคือแพลงตอน ขี้ปลา ขี้กุ้งก็จะเป็นธาตุอาหารให้ต้นข้าว จากนั้นเวลาไหนควรใส่กบลงในนา ล้อมรอบนาด้วยตาข่ายสีฟ้า ชาวนาก็จะได้กบขาย นอกจากกุ้งกับปลาที่ใส่ไปก่อน วงจรของนาก็จะมีหอยเชอรี่ ต้องเลี้ยงเป็ดเพื่อให้เป็ดทำลายหอยเชอรี่ และได้ทั้งไข่เป็ดและเป็ดเนื้อขายเมื่อครบวงจร จากนั้นคันนา โดยฐานความรู้เดิมชาวนาจะทำคันกั้นนาประมาณ 1 เมตร รอบที่นา ท่านอดิศร พวงชมพูก็จะแนะนำชาวนาให้ขยายคันนาเป็น ข้างละ 2 เมตร ตรงคันนาที่ขยายจะปลูกพืชตามความต้องการของตลาด เช่นปลูกพริก ช่วงนี้ราคาพริกในตลาดราคาเกือบห้าร้อยบาทต่อกิโลกรัม ชาวนาไทยถูกระบบทุนนิยมเป่าสมองผ่านการโฆษณาให้ทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ไปใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ชาวนายิ่งทำนายิ่งจนลงๆ และชาวนาที่ใส่ปุ๋ยเคมีมากๆ แม้กระทั่งตัวเองก็แทบไม่กล้าบริโภคข้าวที่ปลูก คุณอดิศร  พวงชมพูท่านมีโรงงานอุตสาหกรรมที่นครปฐม มีเศษอาหารวันละเกือบห้าร้อยกิโลกรัม ในอดีตต้องทิ้งเป็นขยะ เมื่อท่านเริ่มโครงการนี้ท่านก็นำเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อใส่แปลงนา ทำให้ไม่มีขยะต้องทิ้งอีกเลย การทำท่านได้ทดลองทำนาบริเวณที่ว่างหน้าโรงงาน และขยายไปยังชาวนาอาสาสมัครอีกหลายจังหวัด ปรากฏว่ามีชาวนาที่เก่งอันดับหนึ่งในหนึ่งปีสามารถทำรายได้ต่อไรเกือบสี่แสนบาท อันดับสองทำรายได้สองแสนแปดหมื่นบาท จากนั้นท่านได้ขยายแนวคิดสู่ที่ประชุมหอการค้าไทย ในยุคที่ท่านดุสิต  นนทะนาคร เป็นประธานหอการค้าไทยหากความเหลื่อมล้ำของรายได้ของพ่อค้ากับชาวนามากๆ ระยะยาวจะมีปัญหาที่จะไม่มีใครทำนา ดังนั้นเมื่อได้ชุดองค์ความรู้ออกมา จึงเป็นภารกิจที่หอการค้าไทยจะเผยแพร่เพื่อเป็นการยกระดับรายได้ของชาวนาไทย จึงเป็นนโยบายหอการค้าไทยกำหนดให้หอการค้าทั้งประเทศขยายแนวคิด โครงการหนึ่งไร่ หนึ่งแสนบาท โดยที่ทางหอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดต่างๆ ได้ร่วมเป็นกรรมการในวิทยาลัยชุมชนทั้งประเทศก็ได้ขยายแนวคิดโครงการนี้เข้าสู่วิทยาลัยชุมชนทั้งประเทศให้ถือเป็นตัวชี้วัดการทำงานของวิทยาลัยชุมชนด้วย

            โดยที่ผู้เขียนเป็นกรรมการก่อตั้งมูลนิธิชุมชนสงขลา เป็นกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนสงขลา และกรรมการหอการค้าจังหวัดสงขลา(ผู้เขียนไม่ได้รับมอบหมายโดยตรงแต่สนิทกับคุณปรีชา กิจถาวร ผู้ได้รับมอบหมายจากหอการค้าจังหวัดสงขลา) จึงจับมือกันตามหาชาวนาที่สนใจร่วมทำโครงการดังกล่าว ก็ไปพบทางองค์การบริหารส่วนตำบลควนรูสนใจที่จะร่วมโครงการ หลังจากได้ประชุมร่วมกันก็ได้พบว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมชาวนาจะมีบ่อมายา(หลุมสำหรับใส่ขี้ค้างคาวโดยจะไปเก็บจากถ้ำบริเวณใกล้เคียง)ไว้หัวนา ในการทำนาก็จะนำต้นกล้าไปชุบมายาแล้วนำมาปลูกโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยใดๆ อีกเลย ทางผู้เขียนก็ได้ตกลงกับทางอบต.ควนรูว่าเราจะร่วมมือระหว่างชาวบ้าน อบต.ควนรู หอการค้าจังหวัดสงขลา วิทยาลัยชุมชนสงขลา และมูลนิธิชุมชนสงขลา มาร่วมมือกันถอดชุดองค์ความรู้โครงการหนึ่งไร่หนึ่งแสนของหอการค้าไทยมาทำนาให้ได้หนึ่งไร่ หนึ่งแสนบาทขึ้นไป และทางมูลนิธิชุมชนได้มีโอกาสพบท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา(ท่านกฤษฏา บุญราช) และท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา(ท่านณัฐพงษ์ ศิริชนะ) ได้พูดคุยโครงการหนึ่งไร่หนึ่งแสนบาท เป็นการยกระดับเงินได้ของชาวนา ปรากฏว่าทั้งสองท่านสนใจสนับสนุนโครงการ ทางพันธมิตรของโครงการหนึ่งไร่หนึ่งแสนได้ชักชวนชลประทาน และเกษตรจังหวัดเข้ามาร่วมโครงการอีก โดยจะเปิดโครงการในวันที่ 22 พฤษภาคม ศกนี้ ที่อบต.ควนรูมีนาสาธิต จะเรียนเชิญท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานในพิธี โดยทางอบต.ควนรู จะแต่งชุดเทวดา(เหมือนกับผู้อัญเชิญพระโกศ ของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์) แล้วนำต้นกล้าไปชุบบ่อมายา นำมาส่งมอบให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นท่านผู้ว่าราชการก็จะมอบต้นกล้าส่งให้ชาวนาอาสาสมัครนำลงปักดำในนาสาธิต และจะนำชุดความรู้ของหอการค้าไทยมาปรับใช้ อีกสามเดือนจะประเมินผล มาบอกแฟน ๆ ในครั้งนี้ขอชักชวนแฟนบทความสนใจไปร่วมงานหนึ่งไร่หนึ่งแสนบาทที่ อบต.ควนรูครับ

 

หมายเลขบันทึก: 553835เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อยากไปดูครับ แต่วันเปฺดโครงการเป็นวันที่22พฤษภาคมศกนี้มันเลยมาแล้วนี่ครับ

หรือท่านลงผิดไปหรือเปล่าครับ

ที่ผมอยู่มีผู้ใหญ่ทำโครงการนี้ครับ

เอามาฝากด้วย

http://www.gotoknow.org/posts/552515

ขอบคุณทุกท่านครับ หากสนใจที่สำเร็จความสำเร็จ ประสานกับ อ.มาณพ คงยะฤทธิ์ วิทยาลัยชุมชนสงขลา ไปดูได้ที่ตำบลเกาะแต้ว อ.เมืองสงขลาครับ ติดต่อที่เบอร์ 074-376667 ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท