ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง กิจกรรมนักศึกษา: กรณีศึกษา การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่


            บทความชิ้นนี้ผู้เขียนมีความหวังในใจเล็ก ๆ ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของตนเองที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรนักศึกษาภายใต้องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีพัฒนาการของการดำเนินงานที่ยาวนาน และเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

            ในปัจจุบันองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ.มช.) ดำเนินงานตามระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากระระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๔ มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดและความชัดเจนของการดำเนินกิจกรรมนักศึกษาไปอย่างมาก ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอในโอกาสต่อไป

            องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วยสภานักศึกษา และสโมสรนักศึกษา อีกทั้งยังมีองค์กรพรรคนักศึกษาที่จดทะเบียนจัดตั้ง ซึ่งอยู่ภายใต้องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เช่นเดียวกับสภานักศึกษาและสโมสรนักศึกษา เพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น ผู้เขียนขออธิบายรายละเอียดไว้เพิ่มเติมด้วย

            สโมสรนักศึกษานั้น หมายถึง สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ส.มช.) มีรูปแบบการทำงานเป็นคณะกรรมการบริหาร จำนวน ๓๗ คน โดยมาจากการเลือกตั้งมาจากพรรคนักศึกษาหรือกลุ่มนักศึกษาที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง จำนวน ๑๑ คน (ตำแหน่ง นายกฯ รองนายกฯ ผู้ช่วยนายกฯ เลขานุการ และเหรัญญิก) มาจากการคัดเลือกของฝ่ายในสังกัด ส.มช. ซึ่งประกอบด้วยชมรมต่าง ๆ จำนวน ๕ คน (ตำแหน่ง ประธานกรรมการฝ่าย) และนายกสโมสรนักศึกษาคณะ/วิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน ๒๑ คน

            พรรคนักศึกษา ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีพรรคนักศึกษาที่จดทะเบียนก่อตั้งกับมหาวิทยาลัยและยังคงดำเนินการอยู่จำนวน ๒ พรรคนักศึกษา คือ พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ และพรรคนักศึกษา ๑๒ ประสาน ซึ่งพรรคนักศึกษาทั้งสองดำเนินการมาแล้วมากกว่า ๓๐ ปี และการก่อตั้งพรรคนักศึกษาในปัจจุบันเป็นไปได้ค่อนข้างยาก อีกทั้งยังมีการแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้มีข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

            และสภานักศึกษา หมายถึง สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สน.มช.) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภานักศึกษาที่เป็นตัวแทนนักศึกษาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากคณะ จำนวนแห่งละ ๒ คน ปัจจุบันสภานักศึกษาจึงประกอบด้วยสมาชิกทั้งสิ้น ๔๒ คน

            เมื่อมองถึงองค์กรนักศึกษาหลักใน อ.มช. จะพบว่าสภานักศึกษาน่าจะเป็นองค์กรนักศึกษาที่มีความเป็นกลางทางการเมือง และสามารถดำเนินงานตามหน้าที่และภารกิจของสภานักศึกษาได้เป็นอย่างดีกว่าองค์กรนักศึกษาอื่น ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่เรามองหรือคิดแต่อย่างใด มีปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากทั้งภายในและภายนอกเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึงเริ่มต้นการนำเสนอปัญหาด้วยการหยิบยกกรณีของการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสังคมศาสตร์ นายธีรญา ชาวนา ซึ่งได้สำเร็จการศึกษาในภาคการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๖

            สภานักศึกษาได้แจ้งเรื่องการสิ้นสุดสมาชิกสภาพของสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของนายธีรญา ชาวนา ให้มหาวิทยาลัยพิจารณาดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาแทนตำแหน่งที่ว่างลง

            โดยประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณสมบัติและสมาชิกภาพ ข้อ ๒ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ (๑) พ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษาตามระเบียบของมหาวิทยาลัย (๒) ออกตามวาระ และ (๓) ลาออก การพ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษาจากการสำเร็จการศึกษาของนายธีรญา ชาวนา จึงส่งผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงตาม (๑) แต่ระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๔ และประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้กำหนดให้มีขั้นตอนการดำเนินการใด ๆ เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภานักศึกษาสิ้นสุดลง งานกิจกรรมเสริมหลักสูตร กองพัฒนานักศึกษา จึงเสนอให้มหาวิทยาลัยพิจารณาในกรณีดังกล่าว และรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาได้วินิจฉัยเห็นควรให้การดำเนินงานของสภานักศึกษาประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖ ให้มีสมาชิกสภานักศึกษา จำนวน ๔๑ คน จนครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗ โดยไม่ให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาแทนตำแหน่งที่ว่างลงตามข้อเสนอของสภานักศึกษาแต่อย่างใด

            เป็นเรื่องจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าไม่มีระเบียบหรือประกาศใด ๆ ของมหาวิทยาลัยได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้เลยว่าเมื่อตำแหน่งผู้นำองค์กรนักศึกษาในองค์กรนักศึกษาตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งว่างลง จะต้องมีการเลือกตั้งหรือคัดเลือกนักศึกษาให้ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งเป็นปัญหาในระบบส่วนบนว่าทำไมถึงไม่มีการกำหนดการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไว้เลย ทั้งที่เป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานขององค์กรนักศึกษา   

            และในกรณีดังกล่าวแล้วหากพิจารณาในระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๔ ส่วนที่ ๒ สภานักศึกษา ข้อ ๑๒ ให้มีสภานักศึกษาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภานักศึกษาที่เป็นตัวแทนนักศึกษาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากคณะ จำนวนแห่งละ ๒ คน แล้วนั้นจะพบว่าเจตนารมณ์ของระเบียบดังกล่าวต้องการให้สมาชิกสภานักศึกษามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากนักศึกษา จำนวนแห่งละ ๒ คน และเมื่อตำแหน่งสมาชิกสภานักศึกษาว่างลง มีความเหมาะสมและจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาแทนตำแหน่งที่ว่างลง เพื่อให้แต่ละคณะ/วิทยาลัย มีจำนวนสมาชิกสภานักศึกษาครบตามจำนวน ๒ คน การดำเนินการดังกล่าวน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการที่ให้สภานักศึกษามีสมาชิกคงเหลือเท่าที่มีอยู่ โดยที่ไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งแทนในตำแหน่งที่ว่างลง เพราะเมื่อพิจารณาในระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๔ และประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยสภานักศึกษา ลว. ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ไม่ได้ปรากฏถ้อยคำที่ให้การดำเนินงานของสภานักศึกษามีสมาชิกสภานักศึกษาเท่าที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใด ๆ ก็ตาม

            ผู้เขียนซึ่งในปัจจุบันอยู่ในวาระดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานักศึกษาอยู่ด้วยนั้น จึงมีความรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากถึงผลการพิจารณาของมหาวิทยาลัยต่อเรื่องที่สภานักศึกษาได้เสนอให้พิจารณาดำเนินการ โดยมองไม่เห็นความเหมาะสมหรือความจำเป็นใด ๆ ของมหาวิทยาลัยที่ไม่ให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาแทนตำแหน่งที่ว่างลง หรืออาจเป็นเพราะในเวลานี้มหาวิทยาลัยได้ประกาศรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗ แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตามการดำเนินงานของสมาชิกสภานักศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖ เพิ่งผ่านพ้นไปเพียงครึ่งทางเท่านั้น โดยยังคงเหลือวาระการดำรงตำแหน่งเกือบ ๕ เดือนเลยทีเดียว หรือเป็นเพราะมหาวิทยาลัยต้องการประหยัดงบประมาณในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง หรืออาจจะเป็นด้วยเหตุผลอื่น ๆ ที่ผู้เขียนไม่อาจเสาะแสวงหาคำตอบมาได้

            การดำเนินงานขององค์การนักศึกษามีความมุ่งหวังที่จะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาการ วิชาชีพ ให้บัณฑิตมีความสมบูรณ์ ทั้งด้านสติปัญญา ร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วการปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตย ในระบบกิจกรรมนักศึกษา และหากมหาวิทยาลัยมีความต้องการที่จะเดินเคียงข้างกับประชาธิปไตยแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะสามารถปฏิเสธการเลือกตั้งในทุกระดับ ทุกองค์กร และทุกเวลาได้เลย

 

อ้างอิง

เชียงใหม่, มหาวิทยาลัย. ระเบียบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๔. เชียงใหม่.

เชียงใหม่, มหาวิทยาลัย. ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลว. ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔. เชียงใหม่.

เชียงใหม่, มหาวิทยาลัย. สำนักงานมหาวิทยาลัย. กองพัฒนานักศึกษา. บันทึกข้อความ ที่ ศธ ๖๓๙๒(๖)/๐๘๒๕๔ ลว. ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เรื่อง การพ้นสภาพจากสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สภานักศึกษา#มช.
หมายเลขบันทึก: 553356เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

  ขอบคุณบทความดีดี นี้ค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท