มองอาเซียนศึกษา...เรื่อยถึงเมืองอิเหนา


มองอาเซียนศึกษา...เรื่อยถึงเมืองอิเหนา 

        อันที่จริงนิยาม “ประชาคมอาเซียน” มีหลายมิติให้เรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งการเศรษฐกิจ(การค้าการลงทุน) การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ การเมืองความมั่นคง ฯลฯ แต่ไปๆมาๆก็มาลงที่เศรษฐกิจเป็นหลัก(AEC : Asean Economics Community) ในวงการศึกษาพอพูดถึงเรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องก็จะพุ่งตรงไปที่ “อาเซียนศึกษา” ซึ่งเด็กในระดับประถมและมัธยมจะต้องเรียนรู้ตามหน่วยการเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนดในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ

       ในปีที่ผ่านมามีการเร่งให้เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษกันเป็นการใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของอาเซียน ถึงกับส่วนกลางได้จัดสรรงบประมาณลงไปให้เขตพื้นที่การศึกษาหรือโรงเรียนจ้างครูชาวต่างประเทศมาสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนเป็นที่เอิกเกริก จนมีเสียงท้วงติงถึงใบประกอบวิชาชีพครู ปัญหาแอบแฝงเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความมั่นคงของครูต่างชาติบางคนผลสุดท้ายเรื่องนี้ก็ดูซาๆ ไป และเด็กส่วนใหญ่ก็ยังใช้ภาษาอังกฤษกันแบบงูๆปลาๆ กันเช่นเดิม เพราะเรียนแล้วก็ไม่รู้จะไปพูดกับใคร โรงเรียนบางแห่งมีเด็กลาว เด็กเขมร เด็กพม่าติดตามแรงงานพ่อแม่เข้ามาเรียนด้วย ครูผู้สอนบอกว่า เด็กเหล่านี้จะกระตือรือร้นในการเรียนภาษาไทยมากกว่ามากกว่าเด็กไทยเจ้าของภาษา แถมยังติดนิสัยจากการหล่อหลอมโดยธรรมชาติให้ประหยัด อดออม อดทน ซื่อสัตย์ ตามคุณธรรมพื้นฐานอีกด้วย บางแห่งต้องรับเด็กเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนแรงงานพ่อแม่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่สังเกตว่า ตามฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู ร้านอาหาร ป๊มน้ำมัน โรงงานขนาดย่อม เต็มไปด้วยคนพูดภาษาไทยแปร่งๆ หรือพูดภาษาไทยไม่รู้เรื่องผมเองยังแอบวิตกจริตลึกๆ ว่า ถึงคราวที่ประเทศในประชาคมอาเซียนเปิดประเทศไปมาหาสู่กันแบบไร้กำแพงจริงๆ คนไทยเราจะมีสภาพการมีงานทำอย่างไร?? (แม้จะเรียนสูงก็ตามที)เพราะอาชีพเดิมๆ ถูกทดแทนโดยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเงียบเชียบขนาดตู้เอทีเอ็มของธนาคารก็มีเมนูโอนเงินไปพม่าไปเขมรไปลาวกันแล้ว พอหันมาดูเจ้าของประเทศก็ยังแข่งกันตั้งหน้าตั้งตาเรียนเพื่อให้มีดีกรีสูงๆ หวังได้งานสบายรายได้สูง แม้จะปฏิรูปการศึกษายังไง เรายังเรียนเพื่อสอบ เรียนแบบกวดวิชากันอยู่เช่นนี้ ผลผลิตที่เห็นส่วนหนึ่งก็คือ คนดีกรีสูงแต่ทำงานไม่เก่ง คนเก่งแต่สอบตกวิชาชีวิต ดังนั้น“อาเซียนศึกษา”จึงเป็นเรื่องที่ของการเตรียมคนสู่อนาคตในจุดแข็งของความเป็นไทย มากกว่าการเรียนรู้ข้อมูลธรรมดา

       จริงอยู่เรื่องเศรษฐกิจเราอาจจะไม่ทันชาติที่เป็นพ่อค้าโดยสายเลือด แต่เมืองไทยเราก็มีสิ่งดีๆ ที่ชาติร่ำรวยเขาไม่มีอย่างเป็นแหล่งอาหารของโลก เป็นแผ่นดินแห่งรอยยิ้ม มีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสวยงาม  ในอาเซียนเราไม่เป็นรองชาติใด ...เท่าที่สัมผัสมาเป็นเช่นนั้นจริงๆ ....ล่าสุดผมมีโอกาสเดินทางไปสัมผัสเมืองอิเหนาในวรรณคดีไทย ซึ่งหมายถึง อินโดนีเซีย นั่นเอง สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้จากแผ่นดินอินโดนีเซีย ขอบรรยายด้วยภาพและบทกลอนสั้นๆ ดังนี้

        เมืองมุสลิมฮินดูพุทธสุดแนวเกาะ          เดินทางเลาะห้าเที่ยวบินถึงถิ่นเที่ยว

       ลายบาติกอีกวัดพราหมณ์งามนักเชียว   นาข้าวเขียวเลี้ยวหลั่นขั้นบันได

       ทะเลสวยด้วยเกลียวคลื่นครืนโตรกผา    ปุ๋ยลาวารถขนปลูกผลไม้

       บางถิ่นเก่าด้วยเถ้าภูเขาไฟ                 แผ่นดินไหวถือเป็นภัยที่คุ้นเคย

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 553059เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2013 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2013 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรายังเรียนเพื่อสอบ เรียนแบบกวดวิชากันอยู่เช่นนี้ ผลผลิตที่เห็นส่วนหนึ่งก็คือ คนดีกรีสูงแต่ทำงานไม่เก่ง คนเก่งแต่สอบตกวิชาชีวิต ดังนั้น“อาเซียนศึกษา”จึงเป็นเรื่องที่ของการเตรียมคนสู่อนาคตในจุดแข็งของ ความเป็นไทย มากกว่าการเรียนรู้ข้อมูลธรรมดา

ชอบมากๆๆๆ คะข้อความข้างบน อยากให้ผู้นำ อ่านเยอะๆ เพื่อสะกิดต่อมคะ

ต้องประสานใจ..แบ่งปันความรู้...ร่วมกันพัฒนาภูมิภาค...สู่ความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน...ขอบคุณภาพงามๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท