612. ถอดบทเรียนมหาสงครามเมืองทรอย


หนังที่ผมชอบมากและดูหลายรอบมากเรื่องหนึ่งคือหนังเรื่องทรอย (Troy) หรือสงครามเมืองทรอย เป็นหนังเก่าอยู่ครับ หนังนี้สร้างจากวรรณกรรมที่เล่าต่อกันมาราวๆ 3,000 ปี.. ที่น่าสนใจคือตอนแรกนึกว่าเป็นแค่นิยาย ไปๆมาๆ มีการเจอเมืองทรอยนี้จริงๆครับ และเท่าที่นักประวัติศาสตร์ศึกษาก็พบว่าเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่และมีร่องรอยจากสงครามจริงๆ.. เอาเป็นว่าเป็นหนังที่สร้างจากเหตุการณ์ที่อาจมีเค้าความจริงครับ.. หนังเรื่องนี้สะท้อนด้านมืดด้านสว่างของมนุษย์ได้สุดๆมาก เอาเป็นว่าสามพันปีที่แล้วเป็นอย่างไรปัจจุบันก็ไม่ต่าง..

                    

มหาสงครามเมืองทรอย เริ่มด้วยเหตุที่ไม่น่าจะเกิดครับ คือเจ้าชายปารีสเมืองทรอยมีโอกาสเดินทางไปนครรัฐกรีกแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าเกิดไปตกหลุมรักราชินีของกษัตริย์นครนั้น ที่ชื่อพระนางเฮเลน เลยลอบเป็นชู้ และพากันหนีกลับบ้าน คือเมืองทรอยที่ถือเป็นนครรัฐมีกษัตริย์ปกครองชื่อเพรียม ฝั่งสามีคนเดิมรู้เรื่องเลยเป็นเดือดเป็นแค้น ก็ไปฟ้องกษัตริย์อกาเมมนอน กษัตริย์ที่ถือว่าเป็นพี่ใหญ่ ประมาณว่าถือว่าเป็นใหญ่ในหมู่กษัตริย์ทั้งปวงของกรีก.. โดยของให้รวบรวมชาวกรีกไปรบกับทรอยเพื่อทวงศักดิ์ศรีคืนมา... โดยตั้งเป็นกองกำลังพันธมิตร ในนั้นมียูลิสซิส กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดพากองทัพของตนเข้าร่วมกองกำลังด้วย..ยูลิสซิสเป็นคนไปกล่อมอาคิลิส ที่เป็นนักรบที่เก่งกล้าที่สุด แต่มีนิสัยไม่ก้มหัวให้กษัตริย์องค์ไหน พูดง่ายๆ เหล่ากองทัพกรีกจำต้องง้ออาคีลิส ทั้งๆที่ชังมากๆ.. ที่สุดก็พากันยกทัพไปเมืองทรอย ที่ตั้งอยู่ในฝั่งประเทศตุรกีในปัจจุบัน... ส่วนอาคิลิสตัดสินใจไปในศึกนี้ทั้งๆที่ไม่ชอบ โดยรู้สึกไร้สาระมาก.. แต่ยูลิสซิสก็ใช้วาทะศิลป์ จนจุดประกายอาคิลิสได้ว่า .. “ศึกนี้จะสร้างชื่อตนเองให้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกตลอดกาล".. 

                      

ทั้งหมดยกทัพไปทรอย ส่วนทางทรอยเองกษัตริย์เพรียมก็มึนส์ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร แต่ที่สุดก็ถือหลักว่าเมื่อเฮเลนมาอยู่ทรอยแล้วก็ถือเป็นคนของทรอย เพราะฉะนั้นก็จะเลยประกาศสงครามกับชาวกรีก.. ต่อมามีเหตุการณ์ที่ทำให้อาคิลิสแค้น ด้วยว่าปิโตรคัสศิษย์รักถูกเฮคเตอร์ มกุฎราชกุมารของทรอยฆ่าตาย เลยเกิดการท้ารบตัวต่อตัว ที่สุดเฮคเตอร์ถูกฆ่าตาย.. แม้ว่านักรบที่เก่งที่สุดจะถูกฆ่า ชาวกรีกก็ยังเข้าเมืองไม่ได้ ต่อมายูลิสซิสได้คิดกลศึก โดยสร้างม้าไม้ขนาดใหญ่ ข้างในให้ทหารซ่อนตัวไว้..จากนั้นแกล้งยกทัพกลับ ชาวทรอยดีใจคิดว่าของบูชาเทพเพื่อคุ้มครองชาวกรีกตอนยกทัพกลับนี้เป็นมงคล จึงลากเข้าเมือง.. กลางคืนเมื่อทุกคนหลับไหล ทหารออกมา แอบไปเปิดประตูเมือง ชาวกรีกเข้้ามาได้ ไล่ฆ่าชาวเมือง.. อาคิลิสเข้ามาเช่นกัน แต่ถูกเจ้าชาวปารีสซึ่งแม่นธนูยิงไปที่ข้อเท้า เลยตายในที่สุด.. เมืองล่มสลาย อะกาเมมนอนก็ตาย สามีคนเก่าเฮเลนก็ตาย... ตายกันเกือบหมด.. เจ้าชาายปารีสและเฮเลนหนีไปได้..

 

เรื่องนี้สอนอะไรครับ.. สอนหลายเรื่องวันนี้ขอวิเคราะห์สองสามประเด็นครับ ประเด็แรก เรื่องเป้าหมายของคนอริสโตเติ้ลพูดไว้เมื่อสองพันปีก่อนว่า.. การกระทำของมนุษย์มาจากสาเหตุหนึ่งหรือมากกว่าในเจ็ดประการนี้คือ โอกาส ธรรมชาติ การบีบบังคับ นิสัย เหตุผล ความหลงใหล และตัณหา

                     

มาวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสงครามบ้าคลั่งที่ทำลายทุกอย่าง มันเริ่มจาก

เจ้าชายปารีส เกิด"ตัณหา" เลยจัดเต็มเป็นชู้กับพระนางเฮเลน

สามีพระนางเฮเลน เสียหน้า ด้วย "นิสัย" ที่ยอมใครไม่ได้ เลยไปฟ้องอะกาเมมนอน

อกาเมมนอน อยากบุกทรอย เพราะเมืองนี้รุ่งเรื่องมาก เกิดความอยากขึ้น เลยรับเป็นผู้นำกองทัพกรีก

ยูลิสซิสเป็นกษัตริย์ก็จริงแต่ก็มีอำนาจน้อยกว่าอกาเมมนอน เลยต้องยกทัพมาแจมด้วย.. นี่คือมาเพราะการถูกบีบบบังคับ

ยูลิสซิสรู้ว่าคนเก่งตัวจริงที่ช่วยได้คืออาคิลิส เลยไปกล่อม นี่คือทำอะไรตาม "เหตุผล"

อาคิลิสไม่ยอมไป แต่ยูลิสซิสไปกระตุ้นต่อมความอยากดังเลยมุ่งมั่นไปทรอบเพื่อให้จะรบอย่างสุดเหวี่ยงเพื่อให้มีชื่อไปตลอดกาล นี่คือทำไปด้วย "ความหลงใหล"

ส่วนกษัตริย์เพรียมปกป้องเฮเลน โดยเอาอนาคตอาณาจักรเป็นเดิมพันนี่คือทำเพราะ "นิสัย" ครับ

อาคิลิสท้ารบกับเฮกเตอร์ตัวต่อตัว เพราะแค้นที่เฮกเตอร์ฆ่าศิษย์เอก โดยไม่สนใจทำตามคำสั่งกษัตริย์กรีก นี่ก็ด้วย "นิสัย"

เฮกเตอร์ไปรบด้วยเพราะสถานการณ์ "บีบบังคับ"

สุดท้ายมีการหลอกชาวเมืองทรอยโดยสร้างม้าไม้ด้วยรู้ "ธรรมชาติ" ของคนเมืองทรอยที่มีความเชื่อเรื่องโชคลาง

สุดท้ายเมืองทรอยแตก แต่ก่อนหนีเจ้าชายปารีสสามารถยิงธนูใส่ข้อเท้าอาคีลิสจนตายได้.. เข้าจุดอ่อนพอดี.. นี่เป็นการกระทำที่เกิดจากการรู้ "ธรรมชาติ" ของฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง..

สุดท้ายแทบตายกันหมดครับ..เหลือเพียงยูลิสซิส ปาริสและเฮเลน คนตายมหาศาล เมืองล่มสลายกลายเป็นตำนานเล่าขานมาถึงทุกวันนี้..

                                     

คุณจะเห็นว่า "ตัณหา" ...ของเจ้าชายปารีสแท้ๆ เรียกว่าจุดไม้ขีด จากนั้นโยนเข้าป่าทั้งป่าด้วยตัณหาของอะกาเมมนอน และถูกกระพือด้วยตัวละครที่มีเหตุผลของการกระทำของตัวเองไปในทิศทางต่างๆ.. จนที่สุดพากันล่มสลายไปครับ..ถ้าไม่มีตัณหา หรือจัดการมันได้ คงไม่เกิดเรื่องน่าเศร้านี้..

 

ในทางการพัฒนาองค์กร เราเรียก "ตัณหา" นี้ว่า "การทำเพื่อตนเอง (Self-serving)ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่อาชีพไหน.. มันอาจไม่ดีนักครับ ..สมัยผมทำปริญญาเอกด้าน OD.. อาจารย์ผมจะถามเสมอว่าทำเพื่อตนเองหรือเปล่า.. หมายความว่าไงครับ.. คนเรามีแนวโน้มว่าจะ "ยัดเยียด" สิ่งที่ตนเองเห็นว่าดี โดยไม่คำนึงถึงความสมัครใจหรือความเหมาะสมใดๆ.. เรามีแนวโน้มว่าจะไม่ให้ข้อมูลคนอื่น ทำนองว่าอยากทำอะไรก็เกณฑ์คนเข้ามาเต็มใจไม่เต็มใจไม่รู้ ขอเราพัฒนาก่อน.. ส่งที่คน OD ต้องทำเสมอคือกลยุทธ์การสร้างการมีส่วนร่วม (Inclusion Strategy) ครับ..ต้องพยายามดึงการมีส่วนร่วม ให้ดีที่สุดมากที่สุด โปร่งใสที่สุด.. คิดดูสิครับถ้าไม่พยายามทำเลย.. จะเจอเหตุการณ์อย่างนี้ครับ.. “.. คนข้างในน่ะอาจารย์ ทุกครั้งที่มีเทรนอะไรก็ตามนะ เขาจะคิดว่า..ผู้บริหารต้องพยายามกล่อมให้ทำอะไรสักอย่าง"... นี่ไงครับ ต่อให้เขามาเข้าสัมมนากับคุณ คุณคิดว่าเขาจะเข้ามาด้วยระดับการเรียนรู้แบบไหน.. ดังนั้นในโครงการ OD ในบางที ถึงกับมีการเชิญคนทั้งบริษัทหรือกว่า 8,000 คนเข้าร่วมสัมมนากำหนดวิสัยทัศน์บริษัท.. ที่แต่เดิมทำโดยผู้บริหารไม่กี่คน.. นี่ไงครับ.. การมีส่่วนร่วมจึงสำคัญมากๆ ในด้าน OD การมีส่วนร่วมทำให้เรามีโอกาสที่จะตรวจสอบ สมมติฐานของความเชื่อได้ครับ.. อย่างเรื่องทรอย ชะตากรรมของทรอยและผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก อยู่ในมือ (หรือตัณหา) ของคนไม่กี่คน.. ในภาษา OD เราเรียกว่าทำแบบ Single Loop Learning  หรือเรียกว่าทำอะไรแบบเดิมๆ 

                     

 

จะเห็นว่า.. ดูตัวกลางนะครับ.. Goal Value และกลยุทธ์ ผู้นำแบบเดิมๆ คืออย่างกลุ่มผู้นำกรีก ทรอย ทำอะไรแบบเดิมๆ คือไม่เคยตรวจสอบความเชื่อของตัวเอง (Underlying Assumption) ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังการกระทำ (Goal Value and Strategies).. เมื่อเจอเหตุการณ์มากระทบ พี่ลุยเลย ตั้งแต่เป็นชู้กับเมียชาวบ้าน จากนั้นพาภัยมาสู่ประชาชนทั้งหมด...

 ลองจินตนาการนะครับ ในทาง OD เราไม่ยอมให้ใครคิดอย่างนี้ครับ.. เรามีกระบวนการการมีส่วนร่วม (Inclusion) ก็คืออะไรครับ.. ปารรีส ก่อนจะพาเฮเลนมาต้องมาหารือกับคนทั้งหมดในทรอยครับ.. ไม่ใช่แค่พ่อ.. ลองคิดดูสิครับ ถ้าผมเป็นประชาชนในทรอบอย่างน้อยผมก็จะยกเรื่อง Single Loop Learning ให้ท่านฟัง หลายคนก็จะพากันช่วยคิด.. หลลายคนอาจพาคิดก่อน.. เอ๊อน้อง..กำลังรบเราไม่พร้อมนะ.. อีกคนที่เป็นผู้หญิงอาจบอกปาริสว่า.. ลูกพวกเรายังเล็กถ้าแพ้สงครามพาหนีไม่ไหว.. อีกคนอาจบอกว่าใจเย็นน่ะน้อง.. สามีเฮเลนนี่แก่คราวปู่ ใจเย็นไม่นานก็ไปแล้ว.. รอหน่อยได้ไหม.. ด้วยกระบวนการที่เราดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมปารีสมีสิทธิได้คิดและเกิดความคิดดีๆได้.. เพราะความเชื่อหรือสมมติฐานอาจเข้าท่ากว่าครั้งแรก คือเกิดภาวะ Double Loop Learning แล้ว คือเกิดภาวะที่มีการกลับไปตรวจสอบสมมติฐานของการกระทำเดิมๆ ... สมมติฐานเปลี่ยน การกระทำเปลี่ยน ผลก็เปลี่ยน..

เช่นจากเดิมทำแบบไม่มีส่วนร่วม...คือ

ทางเลือกเดิม..

เชื่อว่าไม่น่ามีอะไร---> เป็นชู้เมียชาวบ้าน ---> อาณาจักรพินาศ พ่อแม่ตาย พี่ชายตาย คนตายทั้งเมือง

แต่พอทำแบบมีส่วนร่วม ประชุมกับคนทุคนในอาณาจักรผู้เฒ่าผู้แก่อาจชี้แนะ..

ทางเลือกใหม่

เชื่อว่าขืนทำไม่คิดมีสิทธิตายอย่างเขียด -->รอสามีปู่แก่ตายก่อนค่อยว่ากัน --> เมืองยังอยู่ ประชาฮาเฮ แถมอาจได้เฮเลนที่ไม่รู้สึกผิดไปจนตาย เพราะเป็นสาเหตุของคนตายจำนวนมาก..

 

นี่ครับในทาง OD เรามีแนวคิดแบบนี้ครับสรุปเราเปิดให้มีส่วนร่วม เพื่อสร้างโอกาสให้มีการทบทวนความเชื่อ หรือสมมติฐาน ที่บางครั้งเราเอง ด้วยสาเหตุบางอย่างอาจมองไม่เห็น.. ทำให้เราคิดกระทำการณ์อะไรที่อาจส่งผลไม่ดีได้.. OD สอนให้เราสร้างสรรค์การมีส่วนร่วม เพื่อช่วยร่วมกันมอง ช่วยกันคิด เราจะไม่ติดกับดักความเชื่อของเราเอง. กระบวนการมีส่วนร่วมจะทำให้เราเห็น "ตัณหา" ของเราครับ ก่อนที่เราจะถูกมันผลักไปทำอะไรที่สร้างผลเสียอย่างไม่น่าให้อภัยตามมาครับ.. ถ้าไม่ทำก็ย้อนไปที่อริสโตเติ้ลคุณจะเห็นยอดมนุษย์แต่ละคน ที่ทำตามตัณหา ความหลงใหล ความอยากใหญ่ ที่พากันบ้าคลั่งจนคนดีต้องถูกบีบบังคับให้เข้ามาอยู่ในสถานการณ์ลำบากในที่สุด และก็ไปไหนไม่รอด.. เห็นมามากแล้วครับ

 

วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ...

 

Reference:

The first picture retrived September 9, 2013 from http://www.movpins.com/dHQwMzMyNDUy/troy-(2004)/

The second picture retrived September 9, 2013 from http://www.scenicreflections.com/download/31201/Achilles_in_Battle_-_Troy_Wallpaper/

The third picture retrived September 9, 2013 from http://jobspapa.com/aristotle-famous-quotes.html

The fourth picture retrived September 9, 2013 from http://downloadfreehollywoodmovie.blogspot.com/2012/06/free-download-troy-2004-english-movie.html

The fifth picture retrived September 9, 2013 from http://johnmeunier.wordpress.com/2010/08/27/single-loop-solutions-in-a-double-loop-world/

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 552993เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2013 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2013 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรื่องนี้ ดูในTrue หลายรอบครับ ชอบมาก...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท