ชมเขื่อนเอนกประสงค์กั้นน้ำทะเล และ อะไรหว่า sand engine


วันที่ 3 กันยายน 2555

เมืองแรกที่ไปเยี่ยมชมคือกรุงเฮก เพื่อที่จะป้องกันน้ำท่วมรัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงได้ดำเนินการสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลบริเวณจุดที่จะเป็นอันตราย รวมถึงชายฝั่งของ Scheveningen ในกรุงเฮกด้วย แต่เนื่องจากบริเวณนี้เป็นสถานตากอากาศที่สำคัญแห่งหนึ่ง เทศบาลของกรุงเฮก (The municipality of The Hague) จึงได้วางแผนออกแบบการคันกั้นน้ำอยู่ภายใต้ถนนที่สร้างขึ้นใหม่อย่างสวยงาม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันน้ำทะเลท่วมเข้ามาในเมือง ดูแลเรื่องระบบนิเวศน์ คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจ มีการออกแบบที่สามารถใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ มีความงดงามไม่ขัดตา เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย ออกแบบโดยนักสถาปัตยกรรมชาวสเปนชื่อ Manuel De Solà-Morales ซึ่งมีการสนใจในรายละเอียดไปถึงสีที่ใช้กับเสาไฟที่มีการใช้สีฟ้าหลายโทนสี น้ำหนักของวัสดุที่ใช้ซึ่งคำนึงถึงกรณีเกิดการแตกหักเสียหายจากคลื่นต้องมีน้ำหนักไม่มากกว่า 700 กิโลกรัมต่อชิ้น เพื่อไม่ให้มีผลเสียต่อเขื่อนในภาพรวม น่าเสียดายที่ผู้ออกแบบได้เสียชีวิตลงเมื่อกุมภาพันธ์ปี 2555 และไม่ได้มีโอกาสได้ชมผลงานที่ท่านได้ออกแบบไว้ตอนที่เสร็จแล้ว

 

 

 ก่อนปรับปรุง พื้นที่ให้ผู้คนได้มาใช้ประโยชน์มีน้อย

ปรับปรุงเสร็จแล้ว พื้นที่ใช้สอยมาก และเอนกประสงค์ มีจุดแสดงงานศิลปะ เล่าเรื่องราว ภาพนี้แสดงถึงปลาแฮริ่งที่ขึ้นชื่อของที่นี่ และวิธีการกิน ต้องกินท่านี้เลย

จากนั้น เดินทางต่อไปยัง Netherlands Water Partnership ฟังบรรยายเรื่องการจัดการน้ำ โดยควรมีการทำความเข้าใจธรรมชาติของน้ำ มากกว่าที่จะไปทำอะไรที่ต่อต้านมัน (Build with nature rather than against nature) มีโครงการที่น่าสนใจชื่อ Room for the river เป็นการเพิ่มพื้นที่ให้น้ำอยู่ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำ มากกว่าการเพิ่มความสูงของเขื่อน

ดังคำกล่าวที่ว่า From heightening dike to river widening ซึ่งเราจะได้ไปดูกันวันหลัง

และโครงการ Sand engine

ที่ใช้ระบบธรรมชาติในการกระจายทรายไปที่หาด แทนที่จะนำทรายไปถมทุก 2-3 ปีเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ศึกษาคลื่นและกระแสน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งที่ถูกกัด กร่อนอย่างรุนแรง เมื่อพบว่าคลื่นและกระแสน้ำทะเลมีทิศทางอย่างไร จึงน้ำทรายไปกองไว้เพื่อให้คลื่นและกระแสน้ำพัดพาทรายออกไปช่วยเสริมชายฝั่ง ที่เดิมถูกกัดกร่อนให้มีพื้นที่งอกออกมา

โดยกลไกธรรมชาติมีการทดลองแก้ปัญหาการกัดกร่อนชายฝั่งโดยนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของ Rijkswaterstaat และจังหวัด South-Holland ได้ร่วมกันสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์(Computer Simulations) เพื่อศึกษากระแสน้ำทะเลคลื่นและลมที่กัดกร่อนชายฝั่ง จากนั้นได้ทดลองนำทรายในทะเลน้ำตื้นที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลปริมาณ 21.5 ล้านลูกบาศก์เมตร มากองตามตำแหน่งที่คำนวณไว้ มีพื้นที่กว้างประมาณ 256 สนามฟุบอลรวมกันและยื่นออกไปในทะเล 1 กิโลเมตร โดยกองเป็นรูปคล้ายตะขอบริเวณ Ter Heijde ใช้เวลาสร้างทั้งหมดประมาณ 4 เดือน จากนั้นปล่อยให้กระแสน้ำทะเล คลื่นและลม พัดพาทรายไปตามธรรมชาติ ซึ่งจะมีทิศทางขนานไปกับแนวชายฝั่ง ปรากฏว่ามีพื้นที่ชายหาดเพิ่มขึ้นตามแนวชายฝั่งเป็นระยะทางยาว 4-5 กิโลเมตร(แนวขนานกับชายหาด) นับว่าเป็นการทดลองที่น่าทึ่งในการใช้ธรรมชาติลดภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจาก ธรรมชาติ และยังสามารถสร้างชายหาดตามธรรมชาติขึ้นมาได้อีกด้วย โครงการนี้ได้รับรางวัลระดับชาติ สาขา Public Works and Water Management

มีการปลูกหญ้าน่าเพื่อยึดทรายเอาไว้

 

ภาพนี้จาก เว็บไซด์นี้ มีวิดิทัศน์ให้ชมด้วย

http://www.dutchwatersector.com/news-events/news/979-north-point-of-sand-motor-is-already-at-work.html

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับประชาชนมาออกกำลังกาย เดินเล่น ปั่นจักรยาน ก่อนถึงบริเวณ Sand Engine ด้วย

 

วันนี้ประทับใจคำพูดจากคนในประเทศที่มีประสบการณ์ยาวนานเรื่องการจัดการน้ำว่า

ควรทำความเข้าใจธรรมชาติของน้ำ และทำให้สอดคล้องกับธรรมชาติ

มากกว่าที่จะไปทำอะไรที่ต่อต้านมัน

(Build with nature rather than against nature)

แทนที่จะสร้างเขื่อนให้สูงขึ้นสูงขึ้น หรือเพิ่มเขื่อน

แต่ไปเพิ่มพื้นที่ให้น้ำมีที่อยู่มากขึ้น และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

หมายเลขบันทึก: 552449เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2013 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2013 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ทสม.  พัทลุง มารายตัวครับ....

ขอบคุณที่นำชมเขื่อนอเนกประสงค์

ขอบคุณ ค่ะ เจอกันอีกแล้วนะค่ะ ท่านวอญ่า (บังหีม)

...โครงการ Sand engine เป็นการบริหารจัดการน้ำในทะเลของประเทศเนเธอร์แลนด์...และประเทศฮอล์แลนด์...ที่ประสบความสำเร็จนะคะ...

ค่ะ เป็นการใช้กลไกทางธรรมชาติ ในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท