เก็บดอกไม้รายทาง...มาฝาก..จาก Panel Review ที่บางแสน


เมื่อวานนี้  สคส.  ได้รับการประเมินจากคณะกรรมการ ชุดพิเศษ  โดยการประสานงานของ  สสส.  (คุณหมอมานิตย์  ประพันธ์ศิลป์)   ซึ่งกรรมการประกอบด้วย 6 ท่าน   คือ  ศาสตราภิชานไกรฤทธิ์  บุณยเกียรติ,   ศ.ดร. ทวีทอง  หงษวิวัฒน์, ดร.วรภัทร  ภู่เจริญ,  นพ. วิพุธ  พลูเจริญ,  นพ. มงคล  ณ สงขลา,  รศ. นิโลบล  นิ่มกิ่งรัตน์      โดยใช้รูปแบบการประเมินที่เรียกว่า  "Panel Review"  

ตัวแทนภาคีเด่นที่ร่วมงานกับ  สคส.  10  หน่วยงาน  จึงได้รับเชิญมาให้สัมภาษณ์แก่กรรมการประเมินในวันนี้    ซึ่งมี  คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์, ผศ.ดร. วิบูลย์  วัฒนาธร,  ดร.วัลลา  ตันตโยทัย,  ผศ.ดร. เลขาปิยะอัจฉริยะ, อ.พิชิต เรืองแสงวัฒนา,  พญ. นันทา  อ่วมกุล, ดร. ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ, คุณสมพร อินทร์แก้ว, และคุณเดชา  ศิริภัทร     ขาดไป 1 หน่วยงานคือ  ตัวแทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ติดภารกิจสำคัญด่วน  จึงไม่สามารถมาร่วมให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ได้

เราออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่  ล้อหมุน  07.45 น.  จากหน้าตึก SM สนามเป้า     ทั้งภาคี และทีมงาน สคส.  นั่งรถไปพร้อมกันด้วยรถตู้จำนวน 2 คัน      ในระหว่างการเดินทางคันที่ผมนั่งไป  คุณแกบก็เริ่มแนะนำที่มาที่ไปของการประเมินครั้งนี้   และอาจารย์หมอวิจารณ์  ช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ภาคีของเราที่นั่งในรถมาด้วยกัน     จากนั้น  KM Intern  คือ คุณอุทัย  อันพิมพ์  จาก  ม. อุลราชธานี  ได้แนะนำตัวและเล่าว่ามาทำอะไรที่ สคส.  และเพื่อกลับไปทำอะไรที่ ม.อุบลฯ ต่อ   

ก่อนถึง The Tide  Resort  ในรถได้คุยกันถึงประเด็น  วัฒนธรรมด้านบวก  กับวัฒนธรรมด้านลบของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย     อาจารย์หมอวิจารณ์ได้แสดงความเห็นไว้ (ประมาณ)ว่า   วัฒนธรรมด้านลบนั้นจะขึ้นมาบดบัง  ด้านบวกได้ง่าย   เช่น  หากนักศึกษาคนใดจะทำเรื่องอะไรดีๆขึ้นมา  ก็มักจะถูกแซวบ้าง  anti เล็กๆบ้าง  ทำให้คนคิดทำดีต้องฝ่อไป   เรื่องนี้เป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ต้องดึงอย่าให้วัฒนธรรมด้านลบมาบดบังด้านบวกจนไม่สามารถขึ้นมาได้.......แล้วรถก้อถึงหน้า The Tide

เมื่อเขาไปในโรงแรม   มีจัดเตรียมห้องประชุมขนาดกลางไว้ 2 ห้อง   ห้องแรกเป็นห้องที่ใช้สัมภาษณ์ภาคเด่น    ห้องติดกันเป็นห้องที่ สคส. ขอเอาไว้   โดยที่ทีมงานคุยเตรียมการณ์กันเอาไว้ว่า  จะทำเวทีเล็กๆให้ภาคีได้ share สิ่งดีๆระหว่างกันเอง   เผื่อจะได้อะไรติดมือกลับบ้านบ้าง   ด้วยความกังวลว่าภาคีจะเกิดความรู้สึกว่ามาให้สัมภาษณ์แป๊บเดียวแล้วก็กลับไม่ได้อะไรเลย  นอกจากค่าเดินทาง  

ในห้องข้างๆนี่แหละครับ...ที่เกิดเรื่องราวดีๆขึ้นเยอะมาก    จากที่เพียงแค่ขอให้แนะนำตัวเอง   ภาคีทุกคนที่มาก็ได้เล่าว่าทำอะไร?  ทำ KM อย่างไรมาบ้าง?   มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นมาอย่างไรบ้าง?    ผมเลยขอเก็บสิ่งดีๆเล็กๆ  จากเวทีนี้มาฝากไว้ในพื้นที่นี้พอสังเขปก่อนนะครับ

"ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือตัวใด   หาก approach เข้าไปแล้วทำให้เกิดการพัฒนางานดีขึ้น  ก็จะสนับสนุนให้คนทำต่อไป    สิ่งใหม่ๆที่นำเข้าไปในนั้น ต้องทำให้คนทำงานไม่ร้องยี้! ...มาอีกแล้ว" - อ.พิชิต ม.สงขลานครินทร์

"การดูจังหวะ  และเลือกหยิบเอาเครื่องมือที่ถูกกับจังหวะนั้นไปใช้   เป็นสิ่งที่คุณอำนวยต้องเรียนรู้   และเรียนรู้เครื่องมือหลายๆตัว"  - พี่ทรงพล  โครงการสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข

"พบว่า  ปัญหาของชาวนานั้น ไม่ใช่เรื่องเทคนิค หรือเทคโนโลยีการผลิตข้าว  มีของดี หรือ best practice  อยู่แล้ว  แต่การเรียนรู้ของชาวนาไม่เกิด  เพราะติดด้วย "กระบวนทัศน์"  ที่ถูกฝังหัวมานาน    การเปลี่ยนกระบวนทัศน์นั้น  เป็นเรื่องยาก   แต่จากการทำงานพบว่ามี 2 ปัจจัยที่ทำให้คนค่อยๆเปลี่ยนได้   นั่นคือ   1) กระบวนการเรียนรู้ (ด้วยตัวเอง)  2) กระบวนการกลุ่ม (เรียนรู้เป็นกลุ่ม)" - พี่เดชา   มูลนิธิข้าวขวัญ

"อธิบดีชอบวิธีการ KM  ที่ทำ  และประกาศว่าหากมีเวทีแบบนี้อีก  ผู้บริหารทุกคนต้องเข้า  และปีหน้าให้ทุกหน่วยกลับไปดูว่างานเด่นของตัวเองคืออะไร?"   พี่สมพร   กรมสุขภาพจิต

"KM  สามารถทำให้คนที่ไม่เคยมีโอกาสขึ้นเวทีแสดงความสามารถ   ก็ได้เข้ามาร่วมแจมด้วย  เช่น  งานฝ่ายการคลัง   กลุ่มคนขับรถในกรมฯ   และการแสดงความสามารถเหล่านี้ต้องให้อธิบดีได้มีโอกาสเห็นด้วย"   หมอนันทา - กรมอนามัย    

"สิ่งที่ผู้บริหาร (ตัวเอง) ต้องทำเสมอ คือ  1)  สร้างศรัทธาในวิธีการที่ทำ  นั่นก็หมายถึง  หากเตรียมตัวดี  ภาพดีๆก็จะเกิดมากขึ้น  ศรัทธาก็จะตามมา  2)  สร้างของยากให้เป็นของง่าย    ทำให้เป็นเรื่องที่คนทำงานเห็นว่าเป็นเรื่องที่เขาทำได้  ไม่เกินความสามารถแน่ๆ  และ 3) คอยดูให้รางวัลเสมอๆ   เพื่อเรียกขวัญกำลังใจทีมงานคนทำดี"  -  ผศ.ดร. วิบูลย์   ม. นเรศวร

"KM ทำให้คนเห็นมิติของวัฒนธรรมใหม่    คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ   เห็นการริเริ่ม KM ที่แตกต่างกันในหลายวิธี ของหลายๆโรงเรียน   เห็นความสร้างสรรค์    เห็นสื่อที่สามารถดลใจคนได้   ต่อไปภาคการศึกษาจะต้องมี หนังที่ดลใจครู ได้เช่นกัน"  ผศ.ดร. เลขา  นักวิชาการอิสระภาคการศึกษาพื้นฐาน - สกศ. 

"พอให้ครูเริ่มพูดคุยกันเป็นกลุ่ม STAR : Small Team Activity Relationship  ก็เริ่มเห็นผลการเรียนของเด็กดีขึ้น     KM ใช้ได้กับทุกกลุ่ม  แม้แต่คนขับรถ    เมื่อว่างจากงานขับรถ  ให้คนขับรถไปทำงานในกลุ่มความถนัดพิเศษที่แต่ละคนมี   คนที่มีฝีมือช่าง  ก็ช่วยกันทำโต๊ะ-เก้าอีให้นักเรียน  ซึ่งประหยัดงบปีๆหนึ่งได้เยอะ"   ดร.ปฐมพงศ์   โรงเรียนจิระศาสตร์

"เนื่องจากมีคนมาดูงานเยอะ  จึงปรับเทคนิค "เพื่อนช่วยเพื่อน"  (Peer Assist)  มาใช้แทน    ได้ผลดีกว่าการดูงานแบบเดิมเยอะ      ตอนนี้ทุกหน่วยที่ขอมาดูงานจะถูกปรับให้เป็นการทำ peer assist แทน  เป็นต่างฝ่ายต่างให้   ไม่ได้มารับอย่างเดียว"  ดร. วัลลา  โรงพยาบาลเทพธารินทร์

   

 

หมายเลขบันทึก: 55213เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2006 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ขอบคุณค่ะ แม้เป็นดอกไม้ที่แตกต่าง งอกงามตามดิน ภูมิอากาศ วันนึงนำมาประดับในสวนร่วมกัน เป็นสวนสวยงามที่สุดค่ะ
  • ขอบคุณคุณธว้ชมากค่ะ  ที่นำมาถ่ายทอดได้อย่างกระชับ  เข้าใจ และเห็นภาพ (เหมือนเคย)
  • ครั้งนี้ค่อนข้างกังวล (ลึกๆ) แทน สคส. เพราะก่อนหน้าที่จะไปกับ สคส. ท่านอาจารย์วิบูลย์เดินสายค่อนข้างยาว  ทำให้อาจารย์ค่อนข้างเหนื่อย (มาก) เกรงว่าจะทำหน้าที่ได้ไม่เต็มร้อยค่ะ 
  • แต่เท่าที่อ่านจากที่คุณธวัชเล่าขออนุญาตคิดเอาเองว่า  OK ใช่มั้ยคะ ?
  • ขอบคุณมากคะ
  • เสียดายมากคะที่ไม่สามารถมาร่วมได้ แต่ก็ส่งแรงใจไปช่วยคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท