โลกทัศน์เรื่องชีวิตหลังความตายกับการพูดถึงความตาย


เมื่อต้นเดือนตุลาคม ผมได้คุยกับ อ.ประมวล เพื่อปรึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวสร้างความตระหนักเรื่องการเผชิญความตาอยย่างสงบ ที่คุยกับอ.ประมวลเพราะเห็นว่าเพราะหลังๆ อาจารย์พูดถึงความตายอยู่บ่อยๆ อีกเหตุหนึ่งก็เพราะความชื่นชมในวิถีการเลือกใช้ชีวิตที่แม้จะไม่ได้บวชเป็นพระ แต่ชีวิตกลับแนบแน่นในเส้นทางจิตวิญญาณ

ประเด็นหนึ่งที่ผมจับความได้คือ "การสร้างความตระหนักในเรื่องความตายจะทำไปได้ไม่ลึกซึ้งกว้างไกลหากละเลยเรื่องโลกทัศน์ต่อชีวิตหลังความตาย" เช่น ตายแล้วไปไหน ตายแล้วสูญหรือตายแล้วเกิดใหม่ การตายที่ดีอยู่ตรงไหนของการเวียนว่ายตายเกิดที่ดี ฯลฯ

เพราะโลกทัศน์เรื่องชีวิตหลังความตาย จะมากำหนดท่าทีและแนวทางปฏิบัติขณะที่อยู่ในวิถีการตาย (และวิถีตอนใช้ชีวิตด้วย) ดั่งแนวทางการปฏิบัติของชาวธิเบตที่มีโลกทัศน์ต่อชีวิต วิถีชีวิต พิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนการจัดรูปแบบชีวิตและการจัดองค์กรทางศาสนา ให้เป็นไปอย่างสอดรับกัน (ตัวอย่างเช่นพิธีกรรมสวดมนต์ให้ศพผู้ตายในธิเบต ชาวบ้านและพระเชื่อว่าแม้ว่าผู้ตายจะตายแล้ว แต่วิญญาณก็ยังวนเวียนอยู่ใกล้ศพไม่ไปไหนภายใน 49 วัน การสวดมนต์นำทางจึงเป็นไปได้ พิธีกรรมการสวดนำทางวิญญาณจึงเกิดขึ้น และพิธีการสวดนำทางวิญญาณนั้นเองที่มีอิทธิพลกำหนดโลกทัศน์ต่อชีวิตและความตายอีกทีหนึ่ง)

หันมามองดูสังคมไทย เราไม่ได้มีวิถีเช่นนี้อีกต่อไป การตัดบาตรทุกวันพร้อมทั้งอธิษฐาน "นิพฺพาน ปจจฺโย โหตุ" แทบจะไม่มีอีกแล้ว ความเชื่อเรื่องโลกหน้า เรื่องนิพพาน นั้นเข้มข้นจริงจังเพียงใดไม่มีใครทราบ ที่สังเกตได้คือ การพูดเรื่องชีวิตหลังความตายอยู่ในวงจำกัด เป็นกระแสรอง ต้อง "ดูต้นทาง" ให้ดีก่อนจะพูดเรื่องชีวิตหลังความตาย มิฉะนั้นเดี๋ยวจะถูกหาว่างมงาย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

การพูดถึงความตายอย่างสงบดูจะไปได้ดีเมื่อพูดถึงการตายในเชิงอรรถประโยชน์และคุณค่าเชิงโลกย์ๆ เช่น ตายได้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รักษาสิทธิในการเลือกตาย ตายอย่างไม่ทรมาน ตายท่ามกลางคนรัก ฯลฯ การพูดถึงการตายดีในมิติเหล่านี้จะดูเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า สื่อได้ง่ายและตรงกว่า

แต่สำหรับตัวผมเองก็ยังคิดไม่ไม่พอ หากจะทำงานใคร่ครวญเรื่องชีวิตและความตายอย่างลึกซึ้ง เราจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เราควรจะพูดถึงชีวิตหลังความตายได้ และยิ่งไปกว่านั้น เราควรจะมีรูปแบบชีวิตในเชิงวัฒนธรรมที่สอดรับต่อวิถีการตายอย่างสงบ หากรูปแบบความคิดความเชื่อ วิถีชีวิตเรื่องโลกหน้าสูญหายหรืออ่อนแอไป (อาจนึกถึงรูปแบบการอธิษฐาน นิพฺพาน ปจฺจโย โหตุ) เราจะฟื้นฟูความเชื่อมาได้อย่างไร

รวมถึง หากเรายอมรับว่ารูปแบบชีวิต "นิพฺพาน ปจฺโย โหตุ" นั้นไม่ได้ผลกับบริบทสังคมสมัยใหม่เสียแล้ว เราจะสร้างรูปแบบความคิดความเชื่อวิถีปฏิบัติใหม่ๆ ที่สอดรับกับวิถีสมัยใหม่ แต่ก็เอื้อให้ชีวิตนั้นๆ ได้ตายอย่างสงบได้อย่างไร

หมายเลขบันทึก: 552042เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ตุลาคม 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

...การยอมรับ...ทำใจให้สบายๆ และปกติสุขเมื่อความตายมาถึงนะคะ...

  • มาร์ทโยนเรื่องที่ผมไม่เคยคิดถึงมาก่อน
  • ทำให้คิดไปถึงความเชื่อ ศรัทธาทางศาสนา
  • ระหว่างกลุ่ม ศรัทธา กับ ปัญญา แบบไหนจะช่วยให้เรายอมรับความตายได้ดีกว่ากัน
  • อยากอ่าน เอกสาร ของผู้ให้ความเห็นท่านแรกข้างบนด้วยจัง

 

  ความตาย การยอมรับความจริง ว่ามันคือ ความจริง นะคะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท