ปฏิรูปประเทศไทย: เพียงเยียวยาด้วยพาราเซตามอล


การรักษาตามอาการก็แค่บรรเทาความเจ็บไข้ ไม่ใช่การ “รื้อถอน” เราต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้างสำคัญๆ อันได้แก่ โครงสร้างอำนาจ โครงสร้างสังคมและโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากร

ปฏิรูปประเทศไทย : เพียงเยียวยาด้วยพาราเซตามอล?

เกศินี จุฑาวิจิตร

            เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร ฉันนั่งอยู่ในที่นั้น

            เวที Thailand Development Forum เริ่มขึ้นแล้ว เวทีนี้เป็นเวทีกลางของการร่วมคิดร่วมทำ ไม่ใช่เวทีการต่อสู้ทางการเมือง มีไว้เพื่อการถักทอไม่ใช่ด่าทอ เพื่อสร้างปัญญาร่วม ไม่ใช่เพื่อเป็นปฏิปักษ์กับใครหรือกลุ่มใด

            ท่ามกลางปัญญาชนแถวหน้า แกนนำเอ็นจีโอและแกนนำภาคประชาชนของเมืองไทยประมาณ 50 คน โดยมีคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม อาจารย์ประเวศ วะสี คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ นั่งหัวโต๊ะ

 

            “ปฏิรูปประเทศไทย ไม่ใช่การกินยาพาราเซตามอล” อาจารย์ประเวศ พาดหัวด้วยคำพูดอย่างน่าสนใจ

            การรักษาตามอาการก็แค่บรรเทาความเจ็บไข้ ไม่ใช่การ “รื้อถอน” เราต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้างสำคัญๆ อันได้แก่ โครงสร้างอำนาจ โครงสร้างสังคมและโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากร

            การรวมศูนย์อำนาจดังที่เป็นอยู่นี้สร้างปัญหาให้กับสังคมไทยอย่างน้อย 6 เรื่อง คือ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอทั้งประเทศ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นปัญหาชายแดนภาคใต้ ระบบราชการก็อ่อนแอเพราะรู้จักใช้แต่อำนาจ ไม่ได้ใช้ปัญญา ปัญหายากๆ ต้องใช้ปัญญา

            นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาคอรัปชั่นตามมา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์แต่ก่อนนี้เคยรวมศูนย์อำนาจ ปรากฏว่าโกงกินกันทั้งประเทศ แต่พอกระจายอำนาจออกไป คอรัปชั่นก็หมดตาม

            ทั้งยังทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้นักการเมืองกล้าลงทุนเพราะคือโอกาสของ “การกินรวบ” ได้หมด จึงกล้าที่ลงทุน จะทำรัฐประหารก็ได้ ใช้ทหารไม่เท่าไร ประเทศอินเดียแม้ว่ายากจนแต่รัฐประหารไม่ได้เพราะอำนาจอยู่ที่ท้องถิ่นทั้งหมด

            โครงสร้างอำนาจ ต้องเริ่มจากการปลดล็อกที่กฎหมาย มีกฎหมายกว่าสองร้อยฉบับที่ทำให้เรา “จัดการตนเอง” ไม่ได้

            โครงสร้างสังคม สังคมแนวดิ่ง คือสังคมที่มีการสื่อสารจากบนลงล่าง จากผู้มีอำนาจสู่ผู้ไม่มีอำนาจ ถ้าเป็นแบบนี้การเมือง เศรษฐกิจและศีลธรรมจะไม่ดี ส่วนสังคมแนวราบซึ่งคนมีความเสมอภาคกัน เป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่มีความเป็นพลเมืองก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เช่น ประเทศอิตาลี ประเทศเดียวกันแท้ๆ ทางตอนเหนือ เศรษฐกิจการเมืองดี ส่วนตอนใต้ไม่ดีเพราะเป็นสังคมแนวดิ่ง ในขณะที่สังคมภาคเหนือเป็นสังคมแนวราบ สังคมไทยก็เช่นกันเป็นสังคมแนวดิ่งทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่เมืองไทยเป็นพุทธ พุทธศาสนาเป็นแนวราบแต่มาเจอสังคมแนวดิ่ง เศรษฐกิจ การเมืองและศีลธรรมจึงไม่ดี

            ส่วนโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากรนั้น ปัญหาเริ่มมาจากการที่รัฐไปยึดดินป่า น้ำ มาเป็นของตัวเองแต่ไม่สามารถจัดสรรได้อย่างเป็นธรรม จึงทำให้เกิดความยากจน ถ้ามีที่ดินคนจนจะหายไปเพราะพวกเขาจะมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและมั่นคงด้านอาหาร ที่ดินเพียงคนละ 1 ไร่ก็สามารถเลี้ยงครอบครัวให้มีอยู่มีกินได้ สามารถขุดสระน้ำประจำครอบครัว เก็บน้ำได้ทั้งปี ทุกบ้านมีสระน้ำของตัวเอง ความเป็นป่าจะกลับคืนมา ไม่ต้องตัดไม้ สร้างเขื่อน ความเป็นป่าจะเพิ่มขึ้นป้องกันได้ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง เกิดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

           แต่ในกระบวนการปฏิรูป คนส่วนน้อยทำไม่ได้ ต้องกระทำโดยประชาชนบนพื้นฐานพลังต่างๆ 5 พลัง คือ พลังทางสังคมโดยการร่วมคิดร่วมทำ พลังปัญญา คือต้องใช้ข้อมูล ต้องมีความรู้ พลังการจัดการอันเป็นการจัดการแบบบูรณาการ พลังความถูกต้องเพื่อการยู่ร่วมกันอย่างสมดุล และพลังแห่งสันติวิธีไม่คิดแยกข้างแยกขั้วแยกข้าง ไม่คิดเชิงปฏิปักษ์

            พบกันในเวทีต่อไปนะคะ..

           

 

หมายเลขบันทึก: 551950เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 04:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 04:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเรื่องที่อาจารย์หมอพูดครับผม..ช่วงจังหวะเวลานี้น่าจะสมที่สุดสำหรับการปฏิรูปครับ..

ขอบคุณ..อ.เกศ ครับที่นำเรื่องดีๆ มาเล่าให้ฟัง

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ ในวันนี้ครับ

ท่านอาจารย์เกศครับ..ผมพร้อม..เอ้า..นืงส่.อ.ง.ซ๊ำ

 ครับ... ต้องกระทำโดยประชาชนบนพื้นฐานพลังต่างๆ 5 พลัง คือ พลังทางสังคม....พลังปัญญา... พลังการจัดการ...

 พลังความถูกต้อง.... และพลังแห่งสันติวิธี

          ขอบคุณครับสำหรับสิ่งที่ดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท