606. "ไฮพาเทีย" แรงบันดาลใจข้ามกาลเวลา..


ผมชอบประวัติศาสตร์มาก เรียกว่าตามอ่านมาเรื่อยๆ สมัยนี้มีหนังดีๆ มากมายที่เติมเต็มจินตนาการ เรียกว่าเหมือนจริงจนน่าตื่นตาตื่นใจ หนังเรื่องหนึ่งที่ผมดูอยู่สองสามรอบก็คือ Agora เป็นอะไรที่สุดๆ กับความอลังการ

                    

หนังพาเราย้อนกลับอดีตเมื่อ 1,500 ปีก่อน ที่เมืองอเล็กซานเดรีย สมัยโรมันตะวันออก ปลายๆแล้ว เมืองที่เป็นที่ตั้งของประภาคารฟาโรห์ หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ และเป็นที่ตั้งห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกโบราณ ... เรื่องราวดำเนินอยู่รอบตัวของนักคณิตศาสตร์ชื่อไฮพาเทีย สุภาพสตรีนักปราชญ์ นักดาราศาสตร์ ผู้เรืองนาม ผู้ซึ่งอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชาวคริสตร์ สาวกศาสนาเก่าของกรีกโบราณ และศาสนายิว.. ที่เกิดมีเรื่องกันจนนำไปสู่การกวาดล้างกัน จนนำมาสู่เรื่องเศร้า คนล้มตายกันมากมาย เหตุการณ์นี้เชื่อกันว่าเป็นจุดเริ่มจุดสิ้นสุดของของยุคความรู้แบบกรีก และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคมืด..

                  

ในเรื่อง ท่ามกลางความรุนแรง ที่คุกคามชีิวิตของไฮพาเทีย เธอยังคงความเป็นนักปราชญ์ พยายามขบคิดปัญหาที่เธอติดใจมาตลอด.. นั่นคือเธอตั้งข้อสงสัยว่าทำไมในบางฤดู ดวงอาทิตย์ดูใหญ่ บางฤดูดวงอาทิตย์มีขนาดเล็กลง.. ทำไม.. ที่สุดนำมาสู่การค้นพบว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ไม่ใช่เป็นวงกลมแต่เป็นวงรี และวงจรการเคลื่อนตัวของโลกก็ไม่ได้นิ่งๆ โลกยังมีวงโคจรเล็กๆ ด้วย ผมดูฉากนี้แล้วตื่นเต้นมากๆครับ แม้เป็นฉากสั้นๆ เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวของเครื่องมือ OD ตัวหนึ่งคือ Kolb's Model Experiential Learning .. วงจรการเรียนรู้เป็นแบบภาพข้างล่างนี้ครับ..

                           

คุณจะเห็นว่าวงจรการเรียนรู้นี้เริ่มจากการที่คุณสังเกต ค้นพบประสบการณ์ที่เข้มข้น (Concrete Experience) ประมาณว่าเป็นประสบการณ์ที่มันโดดเด่น แตกต่างจากประสบการณ์ปรกติ ในหนังคุณจะเห็นว่าไฮพาเทียยามว่างจะมองท้องฟ้ายามค่ำคืน แล้วรำพึงรำพัน ว่าทำไม่ไม่เหมือนกับความเชื่อที่พูดกันอยู่ ทำไมดวงอาทิตย์มันจึงมีขนาดไม่เท่ากันในบางฤดูกาล นี่แหละครับ Concrete Experience มันเป็นประสบการณ์ที่มันโดดออกมาจนทำให้เราคิดถึงมันบ่อยๆ ว่าเอ๊ เกิดอะไรขึ้น ...

แล้วคุณเริ่มรู้สึกว่า เอ๊มันเชื่อมโยงกับอะไร มันคล้ายอะไร หรือต่างจากอะไร (Reflection) เมื่อประมวลเหตุการณ์ที่โดดเด่น และข้อมูลที่คุณประมวลมา ไม่ว่าจะจากการค้นหาข้อมูล การไตร่ตรอง การถามผู้รู้ จะทำคนเดียวหรือทำกับคนอื่นก็ได้.. ในเรื่องจะเห็นว่าไฮพาเทียจะคิดออกมาดังๆ บางทีก็ถามความเห็นผู้ช่วย หรือแม้กระทั่งทาสคนสนิท ถามไปถามมาก็ "พรึ่บ" .. เธอเกิดไอเดีย คราวนี้เธอไปที่กระบะทราย ลองปักเสาสองเสา โดยจำลองว่าเสาหนึ่งเป็นดวงอาทิตย์ อีกเสาหนึ่งเป็นโลก ผูกเชือกแล้วลองวาดไปมาเป็นวงกลม แล้วเธอก็เห็นชัดว่า..โลกเราไม่ได้หมุนรอบดวงอาทิตย์เป็นวงกลม..

                        

โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี จึงเป็นเหตุให้บางครั้งโลกอยู่ไกลดวงอาทิตย์ บางครั้งก็อยู่ไกล้.. ขั้นตอนการสรุปเหตุและผลนี้เป็นการค้นพบใหม่ เราเรียกว่าขั้นสร้างข้อสรุป (Conceptualization) ...กลายเป็นทฤษฎีใหม่ไป.. สุดท้ายอีกตัวก็มาถึงคำว่า "การทดลอง (Experimentation) ...จริงๆแล้วคือการทดลองเอาไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ แล้วดูว่าข้อสรุปที่สร้างใหม่นั้น เหตุและผล ยังคงใช้ได้ในสถานการณ์ที่ต่างออกไปหรือไม่.. หรือมันใช้ได้ใช้ไม่ได้ตรงไหน.. เรียกว่าสามารถค้นหา Concrete Experience แล้วต่อด้วย Reflection Conceptualization Experimentation ได้ไปเรื่อยๆ... เราจะเห็นว่าในเรื่องไฮพาเทียทำกับเรื่องอื่นๆได้อีกเช่นเรื่องแรงโน้มถ่วงโลก... โดยเธอยังค้นพบว่าโลกไม่ได้อย่นิ่งแต่เคลื่อนที่ไปด้วย มนุษย์เองอยู่บนโลกที่กำลังเคลื่อนที่ เพียงแต่เราไม่รู้ตัวเท่านั้น ..ผ่านขั้นตอนของการเรียนรู้แบบ Kolb's Experiential Learning เป๊ะ..

 ในด้านการพัฒนาองค์กร แม้กระทั่งสาย Appreciative Inquiry .. วงจรการเรียนรู้แบบ Kolb นี้ถือว่าสุดยอดมากๆ..ในระหว่างการเรียนปริญญาเอก ผมนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์การทำ Action Research ของผม.. ผมว่าวงจรนี้ช่วยให้ผมยกระดับการเรียนรู้ การพัฒนาตัวผมเองมากๆ.. เพราะทำให้เรารู้จักสังเกต.. และสร้า'ข้อสรุปใหม่ ทำให้งานมีการปรับปรุงกระบวนการไปเรื่อยๆ จนในที่สุดผมเองสามารถพัฒนา Appreciative Inquiry เป็น The Tipping-Point Appreciative Inquiry วงจร 5D Discovery Dream Design Destiny Dance และอื่นๆ .. จะว่าไปผมเขียนบทความมากกว่า 606 บทความนี่ ผมอาศัยทักษะการเรียนรู้แบบ Kolb ที่ผมได้ติดตัวมาจากการทำปริญญาเอกด้าน OD .. เป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ... งานเขียนของผมทั้งหมดมาจากกระบวนการมองโลก และเรียนรู้แบบ Kolb ล้วนๆครับ.. และจากการที่ผมก็สอนเรื่อง Learning Organization ผมมองว่า Kolb นี่ถ้าทำเป็นจะให้ผลพอๆกับทำ Learning Organization ครับ

เรื่อง Agora จบลงด้วยความเศร้าครับ เพราะศาสนิกต่างศาสนาต่างทะเลาะกัน จนมีกลุ่มคนหัวรุนแรงทำร้ายไฮพาเทียจนตาย และถ้ามองจากเรื่องนี้ เรายังเห็นอะไรอีกหลายอย่างครับ.. ไว้โอกาสหน้าจะพาวิเคราะห์อีกครับ.. วันนี้ผมอยากฝากความตื่นเต้นนี้ไว้ครับ Kolb's Model of Experiential Learning... เป็น OD ที่สุดยอดที่สุดที่ผมเคยเห็นมา และเห็นคนทำน้อยครับ.. และถ้าไม่ทำ เรามีสิทธิยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ.. ทำอะไรแบบเดิมๆได้ .. และ OD ของคุณจะไม่ก้าวไกลเพียงพอ ด้วยอาจใช้เวลานาน ด้วยว่าคุณอาจทำผิดไม่รู้ตัว.. และก็ผิดอยู่อย่างนั้น.. เหมือนความรู้ทางดาราศาสตร์ ที่ถ้าไม่มีไฮพาเทีย เราก็ยังเชื่ออย่างเดิมๆ.. Kolb เป็นอะไรที่ทำให้คุณค้นพบสิ่งที่โดดเด่นที่ซ่อนเร้นอยู่ท่ามกลางความเป็นไป.. จนอาจนำมาสู่การค้นพบที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ผลงาน หากแต่เป็นวิธีการทำงานเลย.. เรียกว่าเป็นกระบวนการ Learn how to learn ที่เขาว่ากันว่าสำคัญมากกว่าเรียนรู้ How เฉยๆครับ..

                      

จะว่าไปถ้าคุณดูจากคำคมของไฮพาเทีย จะเห้นว่าเธอพูดอะไรไว้น่าสนใจทีเดียว เธอบอกว่า "เราต้องรักษาสิทธิในการคิด แม้ว่าการคิดนั้นจะผิด ก็ยังดีกว่าไม่คิดอะไรเลย" เห็นชัดไหมครับ นั่นเธอสนับสนุนแนวความคิดการคิดจากประสบการณ์ของ Klb ชัดเจนมากๆ..    

และวันนี้บทความนี้ขออุทิศแก่ไฮพาเทีย ที่กว่า 1,500 ปีแล้วเธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังได้ แม้กระทั่งคนต่างวงการอย่าง OD ครับ..

 

วันนี้จึงพอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูเอาเองนะครับ

 

Reference:

The first picture retrieved October 27, 2013 from

http://www.medievalages.net/2013/08/agora-movie-review/

The second picture retrieved October 27, 2013 from http://csg-alandalus.blogspot.com/

The third picture retrieved October 27, 2013 from http://www.ldu.leeds.ac.uk/ldu/sddu_multimedia/kolb/static_version.php

The fourth picture retrieved October 27, 2013 from http://www.s1monlock.com/

The fifth picture retrieved October 27, 2013 from http://www.pinterest.com/elifbilginwong/empowerment-of-the-feminine/

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 551853เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2013 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2013 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้องไปดูหนังอีกแล้ว ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท