อยู่กับย่า


อยู่กับย่า

 

ผู้เขียนก็ประสบกับปัญหานี้ตั้งแต่เกิดมาลืมตามองโลกเพราะมาเกิดในท้องของคนจน เลยทำให้เป็นคนจนมาแต่กำเนิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากร่างกายและจิตใจแล้วมรดกชิ้นแรกที่ได้มาก็คือ ความยากจน หลายชีวิตและครอบครัวพยายามขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ วันแล้ววันเล่า แต่ก็กลับเป็นช่องทางให้นักการเมืองใช้เป็นเหตุในการหาเสียงและทำประชานิยมจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑(พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๙) จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ดำเนินการมาถึง ๕๐ กว่าปี ก็ยังไม่เห็นที่ท่าว่าความยากจนจะลดลง นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นและนำไปสู่ยุคของข้าวยากหมากแพงยิ่งเสียกว่าหลังยุคสงครามโลกเสียอีก ปรากฏการณ์ที่เกิดน่าจะสืบเนื่องมาจากการวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจที่เป็นกระแสหลักของโลก คือระบบทุนนิยมที่นับวันจะห่างไกลจากคุณธรรมออกไปทุกที เพราะโลกเศรษฐกิจใบนี้เต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบทางการค้าธุรกิจ แย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แบบใครดีใครอยู่ ใครชนะผู้นั้นอยู่รอด คนไม่จนเอาเปรียบคนจนไปทั่วทุกหัวระแหง ใครชนะทางเศรษฐกิจก็กลายเป็นเศรษฐี ผู้แพ้ก็ต้องตกเป็นผู้ยากจนในสังคมเป็นสังคมแบบพึ่งพาภายนอก คนในสังคมคิดแต่จะพึ่งผู้อื่น พึ่งทุนภายนอก พึ่งความช่วยเหลือเยียวยาและการสงเคราะห์จากรัฐบาล ไม่ได้คิดพึ่งพาตนเองที่ควรจะเป็นตามลักษณะวิสัยของมนุษย์ ผู้เขียนจำได้ว่าชีวิตในวัยเด็กนั้นมีความสุขใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง แต่ก็ต้องถูกพิษร้ายจากระบบทุนนิยมที่ไร้ซึ่งคุณธรรมโจมตีจนต้องตกเป็นผู้แพ้ทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องตัดสินใจเลือกแนวทางของระบบสหกรณ์ มาพัฒนาชีวิตของตนเองและครอบครัว เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน 

ผู้เขียนถือกำเนิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ได้ดื่มนมแม่ไม่กี่วันก็ต้องพลัดพรากจากอ้อมอกพ่อแม่ด้วยความจำเป็นในเรื่องฐานะที่ไม่ค่อยดีเพราะพ่อแม่ยังมีพี่ชายและพี่สาวอีกสองชีวิตที่จะต้องเลี้ยงดูทางครอบครัวก็ส่งไปอยู่บ้านนอก มอบภาระให้ย่าและญาติช่วยกันเลี้ยงดูโดยพ่อและแม่ได้นั่งเรือข้ามทะเลสาบจากตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา ไปขึ้นที่ท่าเรือบ้านชายป่า ย่ากับญาติๆ มาคอยรับ สมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทางสำหรับเดินรถ มีแต่ทางเดินเท้า จะไปไหนมาไหนติดต่อกับโลกภายนอกต้องใช้การโดยสารเรือไปทางน้ำ ย่าเคยเล่าให้ฟังเสมอว่าผู้เขียนโตมาได้ด้วยน้ำข้าวและกล้วยน้ำว้า คือทุกครั้งที่หุงข้าวสะเด็ดน้ำจะต้องเก็บน้ำข้าวไว้ให้ดื่มต่างนม ผู้เขียนใช้ชีวิตวัยแบเบาะจนถึงวัยเด็กอยู่ทางฝั่งทะเลสาบสงขลา อำเภอสิงหนครเป็นชีวิตที่มีความสุข อาศัยอยู่กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ หน้าบ้านเป็นทะเลสาบ หลังบ้านเป็นลำคลอง ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ถึงฤดูทำนาก็เล่นน้ำในนา ผู้ใหญ่ทำนาปลูกข้าวส่วนเด็กๆ ก็สนุกไปตามประสา ตกตอนเย็นช่วยคุณอาน้องชายของพ่อ เติมน้ำมันตะเกียงกระป๋องสำหรับออกเรือหาปลาในทะเลสาบตอนกลางคืน ออกสู่ทะเลตั้งแต่ตอนพลบค่ำ หาปลาในเวลากลางคืน หลับนอนในเรือ ดักลอบ ดักตาข่ายได้กลับมาอีกครั้งตอนเช้าตรู่ นำเรือมาขึ้นเทียบท่ามีผู้คนมาคอยซื้อปลา ปู และกุ้งที่หามาได้ พอขายปลาเสร็จก็นำเรือกลับบ้านโดยลัดเลาะเข้าในคลองหลังบ้าน หน้าแล้งถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผู้ใหญ่ก็เก็บเกี่ยวข้าว ใช้วิธีเก็บข้าวทีละรวงแล้วมัดรวมเป็นเรียง สำหรับเก็บไว้กินตลอดฤดูกาล เด็กก็ช่วยบ้างแต่จะเล่นเสียเป็นส่วนใหญ่ การเก็บเกี่ยวข้าวอาศัยแรงงานผู้หญิงเป็นหลักโดยจัดมัดเรียงมารวมกัน ส่วนผู้ชายจะเป็นผู้หาบเรียงข้าวไปเก็บไว้ในเรือนข้าว ผู้เขียนเองก็มีหน้าที่ตัดต้นซังข้าว คือต้นข้าวที่เก็บเอารวงแล้วนำไปเก็บที่โรงซังเพื่อไว้ให้วัวกินในฤดูน้ำหลากเพราะหญ้าอาหารวัวหายาก และนี่คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิตในยามเกิดปัญหาและเป็นการพึ่งตนเองอย่างไม่ต้องสงสัย

 

คำสำคัญ (Tags): #ความยากจน
หมายเลขบันทึก: 550893เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2013 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าสนุกมาก

ลองปรับตัวอักษร

โดยไปที่แก้ไข

เลือกขนาดตัวกัอารด้านบนนะครับ

ขอบคุณครับ

ชื่นชม...ชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นธรรมชาติ...งดงามนะคะ...ตอนเด็กๆถ้าไม่สบายเป็นไข้ตัวร้อนแม่จะให้กินน้ำข้าวใส่เกลือหน่อยอร่อยดีค่ะ...ชอบที่มีกลิ่นหอม...ทำให้ทุกวันนี้กินยาไม่เป็นนะคะ...

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านและเป็นกำลังใจ ขอบคุณสุด ๆ สำหรับ ท่าน ขจิต  ฝอยทองครับที่แนะนำให้รู้จักการจัดการปรับตัวอักษรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท