ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๓. กรรมเก่าของลุงแซม


 

คอลัมน์ Fact & Comment โดย Steve Forbes บรรณาธิการใหญ่ของนิตยสาร Forbes ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๕๖ เรื่อง Why Uncle Sam Became a Monster  ประทับใจผมมาก   โปรดสังเกตว่า ชื่อเรื่องในบทความลงเว็บ ต่างจากบทความในนิตยสารที่นำมาเผยแพร่ในบ้านเรานิดหน่อย

เขาบอกว่า ปี ค.ศ. 2014 จะเป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปีของสงครามโลกครั้งที่ ๑   และครบรอบ ๘๕ ปีของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)    โดยที่ถ้าไม่มีสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็จะไม่มีเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่   ไม่เกิดลัทธินาซี   และไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒   เป็นอิทัปปัจยตา ของเศรษฐกิจและสงคราม ของโลก

เขาอธิบายว่า สงครามโลกครั้งที่ ๒  และเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ กำลังตามมาหลอกหลอนสหรัฐอเมริกา    

ย้อนกลับไปดูความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ของโลกในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๙ เกิดขึ้นที่อังกฤษ    จากการมีทะเล คือช่องแคบอังกฤษคั่นออกจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้ค่อนข้างปลอดสงคราม   ไม่ต้องใช้เงินสร้างกองทัพเพื่อทำสงคราม   ไม่ต้องขูดรีดภาษี    มีความอิสระ และบ้านเมืองมีขื่อมีแป   ประกอบกับการสร้างระบบการเงินที่ระมัดระวัง คือผูกค่าเงินปอนด์ไว้กับทองคำ ในปี ค.ศ. 1717    และอื่นๆ   ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ตามมาด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้นที่อังกฤษ   แต่ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม คือผลผลิตทางเกษตร ของอังกฤษก็สูงกว่าของฝรั่งเศสถึง ๓ เท่า

ต้องอ่านรายละเอียดเอาเองนะครับ จึงจะได้รสชาติ   ว่าประเทศอื่นๆ ก็เอาอย่างอังกฤษ โดยเฉพาะประเทศลูกอย่างสหรัฐอเมริกา    โดยมีลักษณะสำคัญคือ อัตราภาษีต่ำ และค่าใช้จ่ายทางทหารต่ำมาก 

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปี 1914 งบทหารก็เพิ่มอย่างมากมาย   และกลายเป็นความเคยชินเรื่อยมา จนปัจจุบัน   นี่คือมรดกบาป ที่กลายเป็นกรรมเก่าอย่างหนึ่งของลุงแซม

มรดกบาปที่สองคือ สงครามไม่ใช่แค่ทำลายชีวิตคนและบ้านเมืองส่วนที่เป็นวัตถุสิ่งของเท่านั้น   แต่ยังได้ทำลายระบบการเงินที่ระมัดระวังของประเทศไปด้วย   นักการเมืองเกิดความเคยชินกับการมีอำนาจ ในการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน   ตามข้ออ้างทางเศรษฐศาสตร์ว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ   ด้วยความเชื่อ หรือข้ออ้าง ว่าจะสามารถควบคุมระบบเศรษฐกิจได้   ซึ่งไม่เป็นความจริง    ความจริงคือวงจรขึ้นลงแกว่งไกว ทางเศรษฐกิจ   ซึ่งนั่นหมายความว่า การกระทำของรัฐบาลนั่นเอง เป็นเหตุให้เกิด the Great Depression

คุณ Steve Forbes บอกว่า เมื่อระบบกำกับดูแลการเงินอย่างระมัดระวังถูกทำลายไป หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑   ระบบการเงินแบบ มีการจัดการมาแทนที่   การจัดการนี้ พิสูจน์แล้วว่า ให้คุณแก่คนส่วนน้อย   คนส่วนใหญ่เสียประโยชน์    และเป็นบ่อเกิดของระบบการเมืองที่เลวร้าย เบียดบังเงินไปซื้อเสียงและซื้ออำนาจ (การเมืองแบบประชานิยมเป็นรูปแบบหนึ่ง - วิจารณ์)   และนำไปสู่อัตราภาษีที่สูงลิ่ว เมื่อเทียบกับสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑

ขอเพิ่มเติมว่า รายละเอียดความชั่วร้ายของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และการเมืองในสหรัฐอเมริกา อ่านได้จากหนังสือ The Price of Inequality   อ่านแล้วจะขนลุกทีเดียว  

หมายความว่า ชีวิตสมัยใหม่ แทนที่ปัจเจกบุคคลจะมีอิสรภาพมากขึ้น    กลับตกอยู่ใต้อำนาจรัฐมากขึ้น    นอกจากเพิ่มภาษีแล้ว    ยังมีการออกกฎหมาย ให้อำนาจรัฐมากขึ้น ควบคุมเสรีภาพของปัจเจกบุคคลมากขึ้น

รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ใหญ่ขึ้นและกลายเป็นสัตว์ประหลาด (monster)    แล้วรัฐบาลของประเทศไทยเล่า เป็นอะไร?!

 

 

วิจารณ์ พานิช

๖ ก.ย. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 550872เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจว่าประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะเป็นโลกแห่งวิทย์และเทคโนฯ 

แต่รัฐฯก็ให้ความสำคัญกับศาสนา ดังเช่นในธนบัตรจะเขียนว่า In God We Trust

และทุนนิยมของเขานั้นมีกติกาเข้มงวดชัดเจน เรียกว่า ทุนนิยมบนฐานความรู้

ไม่ใช่แบบของเราที่ ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท