เรียนรู้จากเวที Asia Education Leaders Forum (AELF) ในงาน Wolrddidac Asia 2013


วันที่ 9-11 ตุลาคม 2556 มีงานการศึกษาระดับโลก Worlddidac Asia 2013 และการประชุมผู้นำด้านการศึกษาแห่งเอเชีย หรือ Asia Education Leaders Forum (AELF) ที่จัดโดยสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาของเอเซียตะวันออเฉียงใต้ (SEAMEO) องค์การยูเนสโก (UNESCO) สมาคมเวิล์ดไดแด็ค (Worlddidac Assosiation) และบริษัท เทรดเด็กซ์ ประเทศไทย จำกัด 

สมาคมเวิร์ลไดแด็คเป็นกลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุ อุปกรณ์ หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ สำหรับวงการศึกษา มีสมาชิกกว่า 300 บริษัท จาก 42 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นจึงเป็นงานแสดงมหกรรมสินค้าทางการศึกษาจากทั่วโลกจริงๆ คิดว่าคงไม่ต้องเล่าให้ฟัง เพราะสตางค์โรงเรียนของเราก็คงไม่ค่อยมีมาซื้อ เช่น กล้องดูดาวตัวละแสนสามหมื่น เป็นต้น จากที่ได้เดินตระเวนดู 1 รอบ หากให้แสดงความเห็นและที่อยากจะสะท้อน มีดังนี้ครับ

  • ผอ.แสน พูดกับผมหลังจากที่ท่านไปตระเวนดูว่า อยากเสนอให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ที่เด็กๆ นักเรียนจะได้เข้ามาดูอุปกรณ์ที่เขานำมาจัดแสดงโชว์อย่างนี้บ้าง เพราะเมื่อทางโรงเรียนคงไม่มีทุนทรัพย์จะจัดซื้อได้.. ผมเห็นด้วยกับท่านบางส่วน คือมหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีอุปกรณ์สาธิตต่างๆ และคิดต่อว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ว่าควรจะสร้างจากนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนที่ไฮเท็คล้ำหน้าที่มหาวิทยาลัยไม่มี รัฐบาลต้องลงทุนทำพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ไว้ในแต่ละภูมิภาค...
  • ผมเห็นส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ช่วย "การสอน" มากกว่าช่วย "การเรียน" หรืออีกนัยคือ อุปกรณ์ช่วยครูมากกว่าอุปกรณ์ช่วยเด็ก เช่น กระดานอัฉริยะ โมเดลเครื่องยนต์กลไกสำเร็จรูป โปรเจ็คเตอร์ ซอฟแวร์เกมส์ เป็นต้น.... แต่ก็ไม่แปลกเพราะ didactic แปลว่า "ชอบสอน" เน้น "สอน"... อย่างไรก็ดี ก็มีบางอันที่สนใจที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดใช้ความสามารถ และน่าจะได้ฝึกความฉลาดและทักษะ เช่น เกมส์ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ และโมเดลกลไกสาธิตหลักการและกฎต่างๆ ในธรรมชาติ ที่เด็กต้องต่อตั้งเองเหมือนเล่น Lego... ผมคิดถึงลูกสาวขึ้นมาทันทีที่ได้เห็น และเมื่อเห็นราคาอันเล็กๆ 2,500 ผมก็คิดขึ้นได้ว่า เดี๋ยวไปหาทางสร้าง "ปั้งโป๊ะ" ให้เล่นดีกว่า...ฮา
  • เมื่อเปรียบกับ "ปัญหาหน้างาน" ของการศึกษาไทยแล้ว คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องเร่งด่วนซื้อไปแจกแบบ "ยกเข่ง" เว้นแต่ว่าจะเป็นโรงเรียนเฉพาะทางจริงๆ 

ส่วนการประชุมผู้นำด้านการศึกษาแห่งเอเชีย (AELF) ที่จัดพร้อมกันนั้น ปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “Southeast Asia Education, Working Together for Sustainable Future”  ผู้จัดใช้คำว่า "ร่วมมือประสานเพื่ออนาคตอันยั่งยืน" ผมเห็นในโบรชัวร์และเว็บไซต์แจ้งว่าจำนวนผู้นำด้านการศึกษาน่าจะประมาณ 2,000 ราย ผมประมาณด้วยสายตาได้ประมาณ 200 วันแรก และประมาณ 60 คนในวันถัดมา สะท้อนในมุมหนึ่งว่า คนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา ไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นปัญหาเร่งด่วนจริง...

ผมมีเหตุจำเป็นต้องเดินทางกลับก่อนครบกำหนดวันสุดท้าย จึงได้เข้าร่วมฟังแค่เพียง 2 วันแรก แต่จากการฟัง 2 วันแรก ที่เห็นเป็นรูปแบบเดียวกัน คือ ในช่วงวันเวลาครึ่งวัน จะ เริ่มด้วยการ "ปาฐกถาพิเศษ" จากวิทยกรที่เด่นที่สุดในช่วงนั้น 1 ชั่วโมง แล้วตามด้วยการ "เสวนาร่วม" ของวิทยากร 3 ท่าน โดยผู้ดำเนินรายการ (modulator) 1 ท่าน อีก 2 ชั่วโมง... ทั้งสองวัน การเสวนาร่วมเป็นเหมือนการกล่าว "ปาฐกถา" ประกอบพาวเวอร์พ็อยท์นั่นเอง...ดังนั้นวันที่สามก็คงจะมีรูปแบบเดียวกัน.. ความน่าสนใจจึงน่าจะไปอยู่ที่ตัววิทยากรและหัวเรื่องที่ท่านพูดมากกว่ากิจกรรมนำเสนอ...

เช้าวันแรก ท่านรัฐมนตรีฯ กล่าวถึงเป็นนโยบายที่ท่านได้ประกาศทางสื่อไปแล้วเช่น เน้นพัฒนาให้อัตราผู้เรียน อาชีพ:สามัญ เป็น 50:50 และพัฒนาการวิจัยของครูสู่การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน (อ่านคำกล่าวของท่านได้ที่นี่)  ดร.วิทยา จิระเดชากุล ผู้อำนวยการ SEAMEO บอกว่า ต้องจัดการระบบเทียบโอนนิสิต และแลกเปลี่ยนบุคลากร และพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน ส่วนศาสตราจารย์ วัสสิลิออส อี เอฟธีนากิส ประธานสมาคมเวิร์ลไดแด็คบอกว่า เอเชียและอาเซียนจะต้องร่วมมือกัน พัฒนานักศึกษาให้ก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลก และต้องคุยกันให้ชัดว่าครูต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ในสังคมอย่างไรบ้าง

ตอนบ่ายเป็นปาฐกถาพิเศษของ ศาสตราจารย์ ตัน อุน เซง คณบดีคณะครุศาสตร์ สถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (NIE) วิธีการ "นำสู่บทเรียน" ของท่านแปลกดีครับ...

ท่านเล่าว่า วันหนึ่งไอน์สไตน์ขึ้นรถไฟจะไปไหนสักแห่ง พอพนักงานมาขอตรวจดูตั๋ว ไอน์สไตน์ก็ค้นหาในกระเป๋าเสื้อผ้าและทุกกระเป๋าที่เขามีแล้วบอกว่า "ผมลืมไปแล้วผมเอาไว้ไหน" .. พนักงานพอจำได้ว่าเขาคือไอน์สไตน์ผู้โด่งดัง ก็บอกทันทีว่า "ไม่เป็นไรครับ เชิญท่านเดินทางพักผ่อนให้สบาย ผมจะอำนวยความสะดวกให้เอง"...แล้วก็กำลังจะเดินออกไป  (ศ.ตัน ท่านพูดทั้งทำท่าทาง จึงทำให้ผู้ฟังสนใจยิ่ง) ... แต่ไอน์สไตน์กลับพูดขึ้นเสียงดังว่า... " ผมลืมไปด้วยว่าผมกำลังจะไปไหน รถไฟขบวนนี้จะไปไหนครับ"...ฮา ศ.ตันท่านสรุปว่า การศึกษานั้นไม่ใช่เพียงรู้ว่ากำลังทำอะไรแก้ปัญหาอะไรเท่านั้น แต่ต้องรู้ด้วยว่ากำลังจะไปทางไหนและไปอย่างไรด้วย


ท่านบอกว่า ปัจจัยของความสำเร็จทางการศึกษาของสิงคโปร์นั้น คือความร่วมมือประสานกัน 3 ส่วนคือ โรงเรียน (Schools) มหาวิทยาลัย (NIE) และกระทรวงศึกษาธิการ (MOE)... ผมชอบตรงที่ท่านเปรียบเทียบกับรูปสามมิติหลอกสายตา จนไม่รู้ว่าอะไรเกิดก่อนอะไร ขึ้นกับว่าเราจะมองใหมุมไหนเท่านั้น..ท่านบอกว่าในศตวรรษใหม่นี้ การศึกษาของครูก็ต้องปฏิรูป (Reform) เช่นกัน


อีกสไลด์หนึ่งที่ผมชอบ คือการแบ่งขั้นการพัฒนาบทบาทครูออกเป็น 3 ชั้นดังรูป


  • ชั้นแรกคือ สอนดี ครูเป็นแหล่งความรู้ถ่ายทอด ถ่ายโอนสู่นักเรียน 
  • ชั้นที่สองคือ อำนวยช่วยกัน เน้นความผูกพัน ทำข้อตกลง หรือสัญญา เน้นกระบวนการและการมองอย่างองค์รวม 
  • ชั้นที่สามคือ การออกแบบ สร้างสรรค์ จัดการความรู้ สื่อสารเผยแพร่ และสร้างสังคมหรือสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ 

ต่อมาในช่วงเสวนา เป็นตอนที่ผมคิดว่า "คุ้มค่า" กับการมา และค่าลงทะเบียน (ขอบคุณมูลนิธิสยามกัมมาจล ไว้ ณ ที่นี่ด้วยครับ) อย่างยิ่ง เมื่อได้ฟัง ศาสตราจารย์ ไค มิง เชง จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ที่ประทับใจเพราะท่านใช้ข้อมูลสนับสนุนได้อย่างนาเชื่อถือ และหักมุมความเข้าใจของคนทั่วไป หลายประเด็นดังนี้ครับ ท่านบอกว่า

  • มีการสำรวจพบว่า ที่ Imperial College มหาวิทยาลัยอันดับ 10 ของโลก (ดูลำดับ 1-9 ที่นี่) นิสิตมีแรงบันดาลใจในการเป็นวิศกรลดลงอย่างน่าตกใจ เมื่อเรียนปีสูงขึ้น ดังสไลด์

 

  • มีการสำรวจวิชาต่างๆ ที่เรียนรู้ใน MIT โดยสมาคมศิษย์เก่า เทียบกับความรู้ที่ได้นำไปใช้จริงในชีวิตจริง พบว่า สวนทางกันแบบชนิดที่ว่า เรียนหนักมากอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้ใช้ในชีวิตจริงกลับเป็นสิ่งที่ไม่ได้เน้นในมหาวิทยาลัย (วิชาฝั่งซ้ายเรียนหนัก ขวาเรียนเบา..เสียดายที่ผมถ่ายรูปอีกสไลด์ที่แสดงสิ่งที่นำไปใช้จริงไม่ทัน)

 

  • ในปี 2006 สำรวจพบว่า คนอังกฤษมีการเปลี่ยนงานเฉลี่ย 13 ในชีวิต และ 10.6 ครั้งสำหรับคนอเมริกา 
  • คนอเมริกันจะเปลี่ยนอาชีพโดยเฉลี่ยน 4.3 อาชีพในชีวิต (สำรวจเมื่อปี 2002)
  • งานจะมีขนาดเล็กลงแต่จะซับซ้อนขึ้น งานไม่จำเป็นต้องมีสังกัดหน่วยงาน และคนจะทำงานเชิงประสานระหว่างงานมากขึ้น ฯลฯ
 
  • มีชีวิตที่หลากหลายมากกว่าการทำงานกับธุรกิจ เช่น ครอบครัว วัฒนธรรม การเมือง จิตวิญญาณ ชีวิตที่ผ่านคลายยามว่าง และชีวิตหลังเกษียณ เป็นต้น 
 
 
  • และในยุคศตวรรษใหม่ ก็มีอะไรๆ ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยจากสงคราม  เศรษฐกิจล่มสลาย ฯลฯ 

 

 
วันที่สองพูดเรื่องการวัดผลและประเมินผล ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรใหม่ ที่ประทับใจเท่าใดนัก อาจเป็นเพราะรู้จักกับ PISA มากบ้างจากเว็บนี้ของไทย  จึงไม่ได้บันทึกอะไรไว้มาแลก...
 
 
หมายเลขบันทึก: 550789เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2013 03:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2013 03:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท