ปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มของธุรกิจประกันชีวิตในอนาคต


ปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มของธุรกิจประกันชีวิตในอนาคต
ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดโดยเบี้ยประกันชีวิตรับรวม (written premium) โตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 2555 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม391,358.01 ล้านบาทโตขึ้นถึง 19.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 10 ปี และในปี 2556 สมาคมประกันชีวิตไทยได้ออกมาเปิดเผยถึงเบี้ยประกันชีวิตรับรวมในช่วง 8 เดือนแรกว่า มีจำนวนถึง 286,633.40 ล้านบาท โตขึ้นถึง 16.8 เปอร์เซ็นต์ อัตราความยั่งยืนของกรมธรรม์ (policy persistency) อยู่ที่ระดับ 88เปอร์เซ็นต์ มีสัดส่วนของเบี้ยประกันชีวิตต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (insurance penetration rate) อยู่ที่ 2.7เปอร์เซ็นต์

ยุทธศาสตร์การพัฒนาการประกันชีวิตในปัจจุบัน ดำเนินตามมาตรการแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2553-2557) ซึ่งเท่ากับว่ามาตรการดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดในปีหน้านี้

และแน่นอนว่าจะต้องมีมาตรการสำหรับการพัฒนาการประกันภัยออกมาต่อเนื่องจากฉบับที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาการประกันภัยในอนาคต ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายรออยู่

เมื่อหันมาวิเคราะห์ปัจจัยและแนวโน้มของการประกันชีวิตในอนาคต เพื่อนำมากำหนดมาตรการในการการพัฒนาการประกันชีวิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นพบว่า มีปัจจัยต่างๆมากมายที่จะส่งผลต่อธุรกิจประกันชีวิตในอนาคต และแน่นอนว่าจะมีทั้งปัจจัยที่ส่งผลทางบวกและทางลบ ดังนั้นการวิเคราะห์แนวโน้มและปัจจัยให้รอบด้านจึงมีความจำเป็นต่อการกำหนดแนวทางในการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิต

แนวโน้มต่างๆที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตและจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจประกันชีวิต ได้แก่

1. โครงสร้างประชากร (Population Structure)
2.
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technology Advancement)
3.
ความก้าวหน้าของการศึกษา (Education Development)
4.
ผู้เล่นในตลาด (Players)
5.
การเมืองและนโยบายของรัฐ (Politics and Policy)

โครงสร้างประชากร

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคการเจริญเติบโตของประชากรชะลอตัว อัตราการเกิดลดลง นอกจากนี้สังคมไทยยังเข้าสู่สังคมสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2547 และคาดการณ์ว่าไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์คือมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 14 ในปี 2567 เพราะประชากรไทยมีอายุยืนขึ้น (extended life expectation) โดยผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย74.5 ปีและผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 69.9 ปี ทำให้ในอนาคตจะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก การหดตัวของครอบครัว (ขนาดครอบครัวเล็กลง) เนื่องจากการแยกออกจากครอบครัวใหญ่ที่มีคนหลายรุ่นอยู่รวมกันในครอบครัวเดียวกันไปอยู่ลำพังหรืออยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว (newclear family) คือ แต่เดิมครอบครัวหนึ่งจะมีการอยู่ร่วมกันของคนสามรุ่นในรูปแบบครอบครัวขยาย (extended family) ได้แก่ รุ่นปู่ย่าตายาย อยู่รวมกับคนรุ่นพ่อแม่ ลุงป้าน้าอาและลูกหลาน การแยกออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยวจึงทำให้ครอบครัวเดี่ยวมีแค่พ่อ แม่ ลูกอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้การแต่งงานช้า การมีบุตรช้าและจำนวนบุตรต่อครอบครัวน้อยลง จำนวนวัยแรงงานลดลง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าในอนาคตอาจมีการขยายอายุการเกษียณอายุถึง 65 ปี นั่นหมายความว่าจะมีเวลาในการทำงานเพื่อเก็บออมเงินเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่อายุการเกษียณอยู่ที่ 60 ปี ซึ่งในบางแห่งมีการพิจารณาการต่ออายุการทำงานหลังเกษียณไปบ้างแล้วเนื่องจากขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในองค์กร

จากจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มมากขึ้น จึงมีความสำคัญและมีแรงดึงดูดพอให้ธุรกิจประกันชีวิตมุ่งทำการตลาดและออกผลิตภัณฑ์เพื่อจับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งในขณะนี้เริ่มมีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเพื่อการเกษียณและเพื่อผู้สูงอายุออกมาให้เห็นมากขึ้น จะเห็นได้ว่าคนทำงานในปัจจุบันนั้นจะเริ่มขาดรายได้หลังจากอายุ 60 ปีและหลังจากนั้นจะต้องนำเอาเงินออมในช่วงที่ทำงานจนถึงเกษียณอายุมาใช้ไปอีกอย่างน้อย 10 – 15 ปี และเนื่องจากในอนาคตประชากรมีแนวโน้มที่จะอายุยืนมากขึ้นดังนั้นจึงต้องมีเงินออมสำหรับใช้ในช่วงหลังเกษียณอายุมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทประกันชีวิตบางแห่งจึงออกผลิตภัณฑ์ที่เน้นการออมเพื่อการเตรียมพร้อมสู่การเกษียณมากขึ้น เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Product) เป็นต้น และในอนาคตคาดว่าน่าจะมีผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่วางแผนทางการเงินหลังเกษียณออกมามากขึ้น

จากแนวโน้มที่ว่าในอนาคตอาจมีการขยายอายุการเกษียณอายุถึง 65 ปี จะทำให้คนสูงอายุมีเวลาในการออมเงินมากขึ้นนี้เอง จึงทำให้น่าจะมีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เน้นการออมหรืออาจมีผลิตภัณฑ์ที่ควบการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสำหรับผู้สูงอายุออกมาขายเนื่องจากในวัยเกษียณนั้นต้องการเก็บออมเงินในแหล่งที่ความเสี่ยงต่ำเพราะต้องเก็บไว้ใช้จ่ายมากกว่าที่จะนำเงินไปลงทุนซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะการลงทุนมักมีความเสี่ยงสูงกว่า และอาจทำให้เงินต้นลดลงจนมีผลต่อเงินออมของคนสูงอายุได้ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เน้นการออมและให้ความคุ้มครองชีวิตโดยอาจควบการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำจึงสามารถตอบโจทย์และน่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้สูงอายุแน่นอ

ถึงแม้ประชากรจะมีแนวโน้มอายุยืนขึ้นแต่คุณภาพชีวิตนั้นแย่ลง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการรับประกันชีวิต แต่เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น บริษัทประกันชีวิตจึงสนใจที่จะออกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ลดข้อจำกัดในการรับประกันลงไป อย่างเช่นที่ผ่านมานั้น หลายๆบริษัทประกันชีวิตได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพและไม่ต้องตรวจสุขภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ และในอนาคตอันใกล้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะออกมามากขึ้นและหลากหลายขึ้นด้วยเช่นกัน

แนวโน้มการหดตัวของขนาดครอบครัว การแต่งงานช้าลง การมีจำนวนบุตรลดลง ก็เป็นอีกปัจจัยทางด้านประชากรที่ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อธุรกิจประกันชีวิตในอนาคต ประการแรกคือคนสูงวัยในอนาคตจะต้องดูแลตัวเองมากขึ้น เนื่องจากไม่มีลูกหลานอยู่ด้วยจึงขาดลูกหลานคอยดูแล ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุต้องสะสมความมั่นคงไว้สำหรับดูเองตัวเองในอนาคต ดังนั้นคนเหล่านี้จะมองหาแหล่งเงินออมที่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ำต่อเงินต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการผลตอบแทนจากการออมเงินต้นด้วย ซึ่งเป็นโอกาสของบริษัทประกันในการออกผลิตภัณฑ์มารองรับความต้องการดังกล่าว

ประการที่สองคือจากขนาดของครอบครัวที่หดตัวลง โดยแนวโน้มของคนที่อยู่เป็นโสดมีมากขึ้น แต่งงานช้าลง บางคู่ที่แต่งงานก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องของการมีบุตร หรือหากมีบุตรก็มีจำนวนน้อยลง เนื่องจากมองว่าเป็นภาระทางการเงิน ในส่วนของกลุ่มคนโสด (Single) และกลุ่มคนมีคู่แต่ไม่มีบุตรหลาน (Double income no kids) รายได้ของคนกลุ่มนี้จะมีเหลือมากขึ้นเพราะมีรายได้รวมกันสองคนและไม่ต้องเผื่อค่าใช้จ่ายไว้สำหรับการเลี้ยงดูและค่าเล่าเรียนบุตรหลานในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้จะกังวลถึงความมั่นคงในวัยเกษียณมากกว่ากลุ่มคนที่มีบุตรเพราะในอนาคตกลุ่มคนเหล่านี้จะต้องอยู่กันเองโดยไม่มีลูกหลานคอยดูแล ซึ่งความสามารถในการออมของคนกลุ่มนี้มีค่อนข้างสูง คนกลุ่มนี้เป็นคนสมัยใหม่ที่มีการศึกษาดี มีความรู้ด้านการลงทุน ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถตอบโจทย์คนกลุ่มนี้สามารถทำได้หลากหลายตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่มีการลงทุนแต่มีความเสี่ยงต่ำไปจนถึงเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงได้ ส่วนกลุ่มคนที่มีบุตรซึ่งแนวโน้มจะมีจำนวนบุตรต่อครอบครัวน้อยลง ทำให้รายได้ของคนกลุ่มดังกล่าวนำมาทุ่มเทให้กับบุตรของตนมาขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจะเกิดปรากฏการณ์การออมไว้ให้สำหรับอนาคตของบุตร ทั้งในด้านการเลี้ยงดู การศึกษาและเป็นเงินออมสำหรับให้บุตรไว้ตั้งต้นชีวิต คาดว่าประกันชีวิตจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกอันดับต้นๆที่คนกลุ่มนี้จะใช้สำหรับเป็นการออมไว้ให้บุตรหลานของตน ซึ่งจะคล้ายกับประเทศบางประเทศที่พ่อแม่มักซื้อประกันไว้ให้ลูกในแต่ละช่วงเวลารวม 2-3 ฉบับ เช่น ฉบับแรกซื้อให้บุตรในช่วงแรกเกิดเพื่อรับขวัญและหลักประกันสำหรับอนาคตบุตร ฉบับที่สองซื้อในช่วงบุตรเริ่มโตเพื่อใช้ในการศึกษาและตั้งตัวของบุตร และฉบับที่สามซื้อในช่วงที่พ่อแม่เริ่มเข้าสู่วัยใกล้เกษียณเพื่อไม่ต้องการเป็นภาระบุตรหลาน เชื่อว่าบริษัทประกันจะมองเห็นเทรนด์นี้และจะมีการออกผลิตภัณฑ์ต่างๆออกมาเพื่อรองรับแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญต่อธุรกิจประกันชีวิตในอนาคต ที่ผ่านมาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การประกันชีวิตพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว บริษัทประกันชีวิตต่างนำเอาเทคโนโลยีต่างๆมาพัฒนาโครสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตขององค์กรและเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการลูกค้า ทั้งในเรื่องการขาย การออกกรมธรรม์ การตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า การเคลมหรือแม้กระทั่งการจัดการเรื่องร้องเรียน เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และใช้ในการสำรวจพฤติกรรมของลูกค้าได้เป็นอย่างดี และในอนาคตความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะยิ่งก้าวไกลไปมากกว่าปัจจุบัน จากการพัฒนาของระบบโทรคมนาคมและเทคโลโลยีสารสนเทศ การพัฒนาที่ไปไกลของ Smart Phone และ Tablet เราจะได้เห็นการซื้อประกันผ่านทางอุปกรณ์เหล่านี้โดยมี online application ซึ่งในอนาคตจะมีเทคโนโลยี Electronic signature ที่ทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเซ็นชื่อในเอกสารใบคำขอเพื่อซื้อประกันแต่จะเซ็นหรือสแกนลายนิ้วมือโดยใช้อุปกรณ์ดังกล่าวแทนและสามารถส่งข้อมูลไปยังบริษัทเพื่อทำการพิจารณาและอนุมัติกรมธรรม์ ทำให้การซื้อประกันมีความสะดวกและรวดเร็วกว่าเดิม

เทคโนโลยีจะมีความสำคัญต่อการให้บริการลูกค้าของบริษัทประกันชีวิตมากขึ้น จากการที่ลูกค้าสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ผ่านเครื่องมือที่หลากหลายทำให้บริษัทประกันนำเอาบริการต่างๆมาไว้บน platform ดังกล่าวเพื่อให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทได้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันบริษัทประกันเองก็จะยิ่งเข้มงวดต่อการป้องกันข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของลูกค้ามากขึ้นด้วยเช่นกัน

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลต่อประกันชีวิตในอนาคต เพราะธุรกิจประกันชีวิตนั้นยังรวมถึงการประกันด้านสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคมีความรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนอายุยืนขึ้น แต่ในขณะเดียวกันค่ารักษาพยาบาลในอนาคตก็จะสูงขึ้นตามเนื่องจากเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆเหล่านี้มีราคาแพง ดังนั้นค่ารักษาพยาบาลในอนาคตจะต้องสูงขึ้นกว่าปัจจุบันมากอย่างแน่นอน ซึ่งจะเป็นภาระด้านการเงินที่ทุกคนจะต้องสำรองไว้ ดังนั้นการประกันสุขภาพจะมีบทบาทสำคัญในการลดภาระด้านค่ารักษาพยาบาล แนโน้มให้รัฐอาจเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในด้านค่ารักษาพยาบาล แต่อาจเป็นการอาจเลือก First deducted payment คือให้ประชาชนจ่ายส่วนแรกซึ่งอาจกำหนดเป็นจำนวนขั้นต่ำที่ประชาชนต้องจ่าย แล้วรัฐบาลช่วยจ่ายส่วนที่เหลือ เพื่อให้ประชาชนตระหนักในการดูแลสุขภาพของตนเองด้วย

ความก้าวหน้าทางการศึกษา

การศึกษาทำให้ประชาชนเข้าใจการทำประกันมากขึ้นส่งผลดีต่อการขายประกันชีวิตได้ง่าย ในประเทศที่ประชาชนมีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่า จะมีอัตราการซื้อประกันสูงกว่า เช่น ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอมเมริกา อังกฤษ เป็นต้น นอกจากนี้ประชาชนยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนมากขึ้น ทำให้เกิดจำนวนตัวแทนนายหน้าที่สามารถขายประกันควบลงทุนมากขึ้น และผลิตภัณฑ์ด้านประกันชีวิตควบลงทุนจะได้รับความนิยมมากขึ้น

ผู้เล่นในตลาด

เนื่องจากอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตในประเทศไทยยังค่อนข้างต่ำ โดยใน ปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์รวมกรมธรรม์อุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident หรือ PA) แต่ถ้าไม่รวมพีเอจะมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นที่อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตสูงเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ที่ระดับ 70-90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงมองว่าโอกาสของการขยายตัวของธุรกิจประกันชีวิตยังไปได้อีกไกล ซึ่งก็จะเป็นโอกาสของบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นผู้เล่นในตลาดผู้ที่จะออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและแข่งขันการให้บริการ เพื่อโกยส่วนแบ่งให้ได้มากที่สุด โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการและการบริหารจัดการ ผลิตภัณฑ์ในอนาคต จะเน้นไปที่การขายผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงอายุ การออมทรัพย์สำหรับผู้เยาว์ และประกันชีวิตควบการลงทุนมากขึ้นตามแนวโน้มโครงสร้างของประชากร

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของผู้เล่นในตลาดอันเนื่องมาจากการปรับปรุงการดำรงกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital หรือ RBC) ทำให้บางบริษัทอาจไม่สามารถดำเนินตามได้ตามเงื่อนไขหรือบางบริษัทต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน จึงจำเป็นต้องหาพันธมิตรมาถือหุ้นเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันในธุรกิจต่อไปได้ นอกจากนี้ยังจะเห็นการร่วมมือกับบริษัทต่างชาติเพื่อให้ได้ Know How และ เทคโนโลยีมาใช้สำหรับการพัฒนาและแข่งขันของบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย

การเมืองและนโบายของรัฐ

ในช่วงระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา รัฐได้มีการผลักดันและส่งเสริมให้การประกันชีวิตเป็นอีกหนึ่งหนทางในการออม เสริมความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับคนไทยนอกเหนือจากการออมในธนาคารและในรูปแบบอื่นๆ เห็นได้จากการขยายเพดานเบี้ยประกันชีวิตที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท และให้สามารถนำเอาเบี้ยประกันบำนาญไปลดหย่อนภาษีได้อีก 200,000บาท นอกจากนี้ยังได้ยกระดับกรมการประกันภัยเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.” เพื่อดูแล กำกับและส่งเสริมกิจการประกันภัยอันมีทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย โดยที่ผ่านมาได้ออกกฎเกณฑ์และนโยบายต่างๆที่ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตมีความเข้มแข็งมากขึ้น และในอนาคตเชื่อว่ารัฐและ คปภ. จะส่งเสริมการประกันชีวิตใน 2 รูปแบบคือการควบคุมและการส่งเสริม

ประการแรกในเรื่องของการควบคุมการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตนั้น จะเป็นแนวทางที่ออกมาเพื่อควบคุมในเรื่องของการขายประกันชีวิตให้มีการขายประกันผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย ส่วนการลงทุนของบริษัทประกันชีวิตก็จะเปิดให้บริษัทประกันชีวิตสามารถนำเอาเงินไปลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสผลตอบแทนแก่บริษัทและผู้เอาประกัน และการดำรงเงินทุนเพื่อให้ฐานะของบริษัทประกันชีวิตมีความเข้มแข็งมากพอที่จะสามารถจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้ถือกรมธรรม์ได้ถึงแม้จะบริษัทจะเจอภาวะวิกฤติ ดังนั้นก็จะมีความเข้มงวดในเรื่องความมั่นคง ความโปร่งใสและการให้บริการของบริษัทประกันมากขึ้น

ประการที่สองการส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตคือในอนาคตจะมีแนวโน้มที่จะขยายเพดานเบี้ยที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นเพื่อจูงใจให้ประชาชนซื้อประกันให้มากขึ้น นอกจากนี้จากภาวะค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เชื่อว่ารัฐจะไม่สามารถแบกรับภาระการดูแลค่ารักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนได้ ดังนั้นรัฐอาจจะผลักภาระด้านนี้ส่วนหนึ่งไปให้ประชาชนรับผิดชอบตัวเอง และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพเพื่อคุ้มครองค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลรัฐอาจอนุมัติให้สามารถเอาเบี้ยประกันสุขภาพหรืออุบัติเหตุมาลดหย่อนภาษีได้

นอกจากนี้ปัจจัยด้านการเมืองรวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆยังส่งผลต่อธุรกิจประกันชีวิตอย่างมากเช่นกัน ในช่วงที่การเมืองไม่สงบและเกิดเหตุการณ์ชุมนุมในปี 2553 ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตชะลอตัว ปัจจุบันการเมืองก็ยังไม่นิ่งและอาจเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นอีก นอกจากนี้เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ก็ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตไม่เป็นไปตามเป้าหมายเช่นกันและมีแนวโน้มว่าจะเกิดอุทกภัยมากขึ้นและบ่อยขึ้น นอกจากนี้ยังมีภัยธรรมชาติต่างเกิดขึ้นในอนาคตอีก ทั้งนี้จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นนอกจากทำให้เกิดผลเสียต่อธุรกิจประกันชีวิตแล้ว ยังมีผลดีด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ประชาชนไม่ต้องการเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินทำให้เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้ประชาชนซื้อประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้

หมายเลขบันทึก: 550412เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2013 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2017 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทุกวันนี้ยังมีคนไม่เข้าใจประกันชีวิตอีกมาก 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท