สิ่งที่ได้จากการดูงานสวนไม้ตัดใบ "อุดมการ์เด้น"


                

                  การเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร ของคณะนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับภาคกลาง รุ่นที่ 62  จำนวน 105 ชีวิต ด้วยการนำของ ผศ.รัตนา อังกสิทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากเรียนรู้ธุรกิจการแปรรูปจากข้าวจากบริษัท ชอเฮง โรงเส้นหมี่ จำกัด. 19 หมู่ 1 ซ.เอราวัณ ถ.เพชรเกษม ต.ยายชา อ.สามพราน จ.นครปฐม 73110 พร้อมทั้งได้ลิ้มรสอร่อยจากผลิตภัณฑ์ของข้าวที่ปรุงรสอย่างลงตัวแล้ว จุดที่สองที่จะเข้าศึกษาเรียนรู้คือ สวนอุดมการ์เด้น ตำบลดอนคลัง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เรียนรู้กระบวนการพัฒนาการบริหารจัดการไม้ประดับเชิงธุรกิจ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาเกษตรกร การเดินทางเข้าสู่เป้าหมายแม้ว่าจะไม่ใช่ทาง สี่เลน แต่ก็มีความสะดวกด้วยเส้นทางที่เรียบสบาย เมื่อเข้าสู่เขตของตำบลดอนคลัง อำเภอดำเนินสะดวก จะรู้สึกสบายตาด้วยบรรยากาศกลิ่นไอของชาวสวนราชบุรีที่มีประวัติอันยาวนานมา  เมื่อก้าวลงจากรถบัสเข้าสู่เขตขอบของสวนอุดมการ์เด้น นอกจากจะพบกับความตื่นตาตื่นใจจากใบใบหลากหลายชนิดแล้ว ก็ได้รับความสบายใจจากการต้อนรับด้วยใบหน้าอันยิ้มแย้มแจ่มใสของทีมงานนายกอบลาภ เขียวอุดม  เกษตรอำเภอดำเนินสะดวก และคุณอุดม   ฐิตวัฒนะสกุล

นายอุดม  ฐิตวัฒนะสกุล กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงาน ก่อนแนะนำให้รู้จักนายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซี โคโดนัท จำกัด และมอบให้เป็นวิทยากร โดยกล่าวว่า จากการเป็นลูกหลานของเกษตรกรชาวสวน และเป็นผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสัมผัสกับเกษตรกรที่หลากหลาย พร้อมด้วยใจรักที่จะสืบทอดความเป็นเกษตรกร ของบรรพบุรุษ จึงปรับปรุงสวนองุ่น และสวนมะพร้าว แต่เพื่อการมีส่วนร่วมต่อชุมชนช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกร จึงก้าวสู่ผู้ประกอบการธุรกิจทำการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมมานานกว่า 10 ปี ในรูปของมะพร้าวควั่น มะพร้าวเจีย และวุ้นในลูกมะพร้าว บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม และช่วยเก็บรักษาความสดของมะพร้าวได้ตามที่เราต้องการจนถึงมือลูกค้า ทั้งในประเทศ และต่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งได้ประสานงานกับผู้ประกอบการต่างประเทศจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล มหาชัย กรีน เพาเวอร์ ด้วยการนำเปลือกมะพร้าว และก้านมะพร้าวที่เหลือทิ้งนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค้า ทดแทนการทิ้งสร้างมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อม เกิดปัญหากับชุมชน อีกทั้งเป็นพลังงานทดแทนพลังงานจากน้ำมันที่จะหมดไปจากโลกในอีกไม่ช้านี้

นายอุดม ฐิตวัฒนะสกุล ผู้เป็นเจ้าของสวนที่ยึดหลักการจัดการแบบธรรมชาติ กล่าวว่า ก่อนที่จะมาทำสวนนั้น ได้รับจ้างทำงานกับบริษัทเอกชน แต่จำต้องผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเต็มขั้น เพื่อสานต่ออาชีพทำสวนของครอบครัว หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งพ่นพิษเมื่อปี 2540 ได้ตัดสินใจมาทำงานด้านเกษตรกรรมโดยเริ่มจากพื้นที่ผืนเล็กๆ ด้วยเงินก้อนหนึ่งที่ได้รับหลังออกจากงานบริษัทเอกชน ด้วยวุฒิการศึกษาศาสตร์บัณฑิต จากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การทำการเกษตร ดำเนินการได้ไม่ยากนัก เนื่องจากครอบครัวมีอาชีพทำสวนกล้วยไม้ ได้นำความรู้ต่อยอดมาสู่การทำสวนไม้ใบเพื่อให้สอดคล้องกับการตลาดในช่วงนั้น โดยเริ่มจากการเพาะชำไม้กระถางแล้วตระเวนขาย  ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นจำนวนมากและสร้างรายได้ที่ดี โดยใช้เวลาไม่นานมากนัก แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องโรคและแมลงมากมาย จึงหันมาปลูกไม้ประดับประเภทไม้ใบ อย่าง ฟิโลเดนดรอน ซานาดู มอนสเตร่า เฟิร์น ฟิโลเลนดรอน หน้าวัว หมากแดง เป็นต้น โดยนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาใช้ในการพัฒนางานของตนเองจนกลายเป็นสวนไม้ใบที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน ก่อนขยับขยายมาทำสวนไม้ใบจนประสบความสำเร็จ ภายใต้ชื่อ "สวนอุดมการ์เด้น" บนเนื้อที่กว่า 60ไร่ ในท้องที่ตำบลดอนคลัง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

 

จากการสัมผัสความอลังการของสวนไม้ตัดใบที่คิดว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งรวมไม้ตัดใบหายากมากกว่า 400 สายพันธุ์ บนพื้นที่กว่า 60 ไร่ กลายเป็นอาณาจักร "ไม้ใบ" ที่เขียวขจีและเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้เจ้าของได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ภายใต้เบื้องหลังความสำเร็จนี้มีองค์ความรู้ที่บ่มเพาะตลอดระยะเวลาที่เปลื่ยนผ่าน ดังที่เจ้าของสวนอุดมการ์เด้นเผยจุดเริ่มต้นการเข้าสู่การทำสวนไม้ใบเมื่อ 10 กว่าปีก่อน หลังจากปลูกไม้ผลเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเงินที่ได้มาจากการขายพืชผัก ผลไม้ต้องจ่ายค่าแรงงาน และค่ายาฆ่าแมลง ทำให้ขาดทุน ต่อมาจึงเสริมด้วยการปลูกไม้ดอกไม้ประดับจำพวก ดอกดาวเรือง จึงพอทำกำไรได้บ้าง แล้ววันหนึ่งมีผู้แนะนำให้ตัดใบไม้ขาย  จึงเกิดความคิดว่าใบไม้ก็เป็นเงินได้ จึงขอซื้อกล้าพันธุ์มาทดลองปลูกที่สวน โดยอาศัยความรู้ด้านวิชาการเกษตรที่ได้ศึกษาเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ มาประยุกต์จนไม้ใบแตกหน่อแล้วนำไปขาย ปรากฏว่าขายดีมาก เพราะลูกค้าบางส่วนเขาต้องการใบ เพื่อนำไปจัดช่อดอกไม้ใช้ในงานต่างๆ ตามโรงแรมใหญ่ๆ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมาก จนมาถึงตอนนี้ตลาดไม้ใบก็ยังดีมากและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ แถบยุโรป อเมริกา จะเน้นเฉพาะใบอย่างเดียว

การทำธุรกิจ คงจะไม่สมบูรณ์ถ้าขาดการเรียนรู้เรื่องตลาด และสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันมุ่งสู่อนาคตได้อย่างแม่นยำ คุณอุดม ฐิตวัฒนะสกุล เกษตรกรหัวไวใจสู้ หรือกล่าวได้ว่าผู้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างแท้จริงไร้สึกข้อทวงติงใดๆ ทั้งสิ้น เปิดเผยเคล็ดลับว่า ผู้จะทำการเกษตรให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องมองเรื่องการตลาดและผลิตประกอบกับการวางแผนการปลูกไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาด รวมไปถึงการมีข้อมูลในการตัดสินใจ จากการยึดหลักดังกล่าว การทำสวนไม้ตัดใบจึงไม่มีปัญหาในเรื่องผลผลิตล้นตลาด หรือไม่มีตลาดรองรับ ยิ่งไปกว่านั้นได้จัดทำห้องปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ สำหรับการทดลองวิจัยและขยายพันธุ์ไม้ใบชนิดใหม่เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเล็บครุฑผักชี ฟิโลเดนดรอน ซูเปอร์เซรุ่มและอีกหลายตัว ซึ่งเป็นผลงานจากการวิจัยในห้องแลปของสวนอุดมการ์เด้นนั่นเอง

เจ้าของสวนอุดมการ์เด้น ได้ให้ข้อคิดว่า ตลาดไม้ตัดใบขณะนี้เริ่มขยายตัวดีขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากตามการจัดงานประชาสัมพันธ์  งานประชุมสัมมนาในกลุ่มธุรกิจโรงแรม และงานต่างๆ ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัสน์จะมีการใช้ไม้ใบมาประดับตกแต่งกันมาก นอกจากนี้ผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็มีคำสั่งซื้อมากขึ้นเพื่อนำไปตกแต่งสวนในบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม จนทำให้ขณะนี้ยังไม่สามารถผลิตป้อนตลาดได้ทันความต้องการ ปัจจุบันผลผลิตไม้ใบจากสวนมีสัดส่วนตลาดในประเทศ 30% และตลาดส่งออก 70% ตลาดที่สำคัญได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและบรูไน  การผลิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้แม้ว่าจะผ่านการกีดกันทางการค้าด้วยมาตรการกำแพงภาษี แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะต้องถูกตรวจสอบในหลายๆ ปัจจัย เช่น ที่มาของแหล่งผลิตว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เศษวัสดุเหลือใช้เอาไปไหน ปลอดภัยกับผู้ผลิตและผู้บริโภคหรือไม่เพียงใด ถ้าเกษตรกรไทยทุกคนปฏิบัติตามกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานหรือการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) อย่างเคร่งครัด ผลผลิตทางการเกษตรของไทยจะต้องรุ่งเรืองอย่างแน่นอน

การสร้างเครือข่ายภาคการเกษตร  เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องสร้างให้เป็นรูปธรรม  เนื่องจากปัจจุบันการมองเรื่องตลาดเป็นสิ่งสำคัญการทำงาน ถ้าอยู่อย่างโดดเดี่ยวจะเติบโตได้ยาก การอยู่รอดของเกษตรกรในยุคนี้จะต้องมีการรวมกลุ่มหาจุดเด่นจุดด้อยแล้วก้าวไปด้วยกัน ทุกวันนี้สวนอุดมการ์เด้นกลายเป็นสวนเปิดให้แก่ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้ในธุรกิจไม้ตัดใบแบบครบวงจรตั้งแต่ระบบการปลูกจนถึงการตลาดส่งออก อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยการใช้เป็นสถานที่ฝึกงานของนิสิตนักศึกษาคณะเกษตรฯ จากหลาย สถาบันทั่วประเทศอีกด้วย

จากความสำเร็จด้วยความมุ่งมั่นบนฐานแห่งความอุตสาหะ ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยว ทำให้ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาทำสวนในปี 2549 พ่วงด้วยปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงปี 2550 และล่าสุดปี 2555 ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นเกษตรศาสตร์ปราดเปรื่อง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายอุดม ฐิตวัฒนะสกุล กล่าวเสริมอีกว่า การเกษตรมีคุณค่าต่อชีวิต แต่พบว่ายังไม่ก้าวไกล การทำการเกษตรจะต้องปรับปรุงใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้วยการพัมนาและพื้นที่การเกษตร ดังนี้

1.             การบริหารจัดการความคิด การจัดการพื้นที่และการออกแบบ

2.             การบริหารจัดการแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันลดความเสี่ยง สามารถกักเก็บน้ำเป็นแก้มลิงในฤดูฝนยามน้ำหลากเข้าสวน และไว้ใช้ในฤดูแล้งหรือยามฝนทิ้งช่วง

3.             การวางระบบน้ำเข้าสู่บ่อ และการสร้างคันดินกั้นน้ำ ป้องกันยามน้ำท่วม อีกทั้งต้องปลูกพืชบนคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันการพังทลายของคันดิน

4.              การปลูกไม้ป่าตามหัวไร่ปลายนา เช่นยางนา สัก หรือพยุง เพื่อความมั่นคงสร้างรายได้ในอนาคต

5.             การขนส่งในฟาร์ม มีความสำคัญมาก จะสามารถลดราจ่ายด้านแรงงาน และเกิดประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น

6.             เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หรือระบบอำนวยความสะดวกในสวนอย่างมีคุณภาพที่ดี เป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะลดปัญหาด้านแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างดี และคุ้มค่ากับการลงทุน

7.             การจัดการ เศษวัสดุ และสิ่งเหลือใช้ในสวน ควรบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นทำน้ำหมัก หรือปุ๋ยหมัก เป็นต้น

8.             การจัดการผลผลิตผลิต ให้มีคุณสมบัติ คุณภาพ และช่วงระยะเวลา ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งการจัดการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ด้วยการแปรรูปผลผลิต และการจัดทำบรรจุภัณฑ์ที่ดีได้อย่างเหมาะสมอย่างลงตัวตรงตามความต้องการของตลาดและโดนใจผู้บริโภค

9.             การจัดทำแผนการพัฒนา มีความสำคัญยิ่งต่อเกษตรกร การผลิตสินค้าที่เกษตรกรสามารถตั้งราคาได้เอง เช่นไม้ตัดใบนี้  เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมเพิ่มการผลิตของเกษตรกรให้เกิดความหลากหลาย เป็นทางเลือกของเกษตรกร สำหรับการพัฒนาเกษตรกรไทยไม่ควรมองข้ามภูมิปัญญาไทย ดังนั้นจึงต้องผสมผสานองค์ความรู้ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาไทยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และอื่น ประยุกต์ใช้ผสมกลมกลืนอย่างลงตัว เกิดกระบวนการที่ดีและเหมาะสมปลอดภัยและได้มาตรฐาน เกิดเทคโนโลยีตำหรับของสวนหรือฟาร์มของเกษตรกรผู้นั้น ต่อไป

 

จากการรับฟัง และคล้อยคิดตาม วิทยากรที่นำพาศึกษาดูงานภายในสวนอุดมการเด้น ตื่นตาตื่นใจกับหลากหลายไม่ประดับต่างๆ บางครั้งความเพลิดเพลินก็ทำให้ลืมคำแนะนำด้านการผลิตไป แต่ยังจดจำคำแนะนำของเจ้าของสวนได้ว่า การรับรู้ถึงเทคโนโลยีการผลิตในแต่ละสวนที่ได้ติดตามไปศึกษานั้น ไม่สามารถนำไปผลิตและเกิดผลได้เหมือนกับสวนเดิม ดังนั้น ผู้ที่จะทำตามจะต้องมีใจรักที่แท้จริง และต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม พร้อมทั้งนำไปปฏิบัติ เมื่อพบปัญหาจะต้องพยายามแก้ปัญหานั้น โดยไม่ท้อถอย ส่งผลให้ผู้เขียนหวนคิดถึงคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบทอิทธิบาท ซึ่งเป็นบาทฐานแห่งความสำเร็จ ตามที่ความประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น   วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น  จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น  และวิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

หมายเลขบันทึก: 547950เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2013 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2013 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นแล้วน่าไปเรียนรู้ด้วย

หายไปนานเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท