“ปัญหาล่ามแปลภาษาในกระบวนการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา๑๓:กรณีศึกษาในพื้นที่ศาลจังหวัดยะลา”


ปัญหาล่ามแปลภาษาในกระบวนการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา๑๓:กรณีศึกษาในพื้นที่ศาลจังหวัดยะลา

 

บทที่ ๑

บทนำ

๑.๑ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

        เมื่อมนุษย์เกิดมา สิ่งแรกที่สามารถสัมผัสได้ถึงตัวมนุษย์ผู้นั้น คือ เสียงจากทารกแรกเกิด แรกเริ่มนั้นมนุษย์ไม่สามารถที่จะสื่อสารเป็นคำพูดที่ชัดเจนได้ ดังเช่นทารกทำได้เพียงการเปล่งเสียงร้องไห้เพื่อสื่อให้มารดาผู้ให้กำเนิดได้รับรู้ถึงอารมณ์ และความรู้สึกต่างๆของทารกเอง โดยจะถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับรู้ผ่านทางเสียงร้องไห้

                การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ผู้เขียนเห็นว่า มนุษย์ถูกสังคมในยุคปัจจุบัน บีบคั้นให้เสพติดข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา ไม่เพียงแค่การสื่อสารกันในครอบครัวหรือชุมชนเท่านั้น เพราะสังคมไม่หยุดยั้งในการพัฒนา มนุษย์จึงต้องสืบทอดการพัฒนา เรียนรู้และรับรู้วัฒนธรรมของตนเองและสังคมอื่นๆได้

                คำว่า การสื่อสาร ( communications ) มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า communis หมายถึง ความเหมือนกัน หรือ ร่วมกัน การสื่อสาร (communications) หมายถึงกระบวนการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการจากผู้ส่งสารโดยผ่านสื่อต่างๆ ไปยังผู้รับสาร ซึ่งอาจจะใช้กระบวนการสื่อสารที่ต่างกันไปตามความเหมาะสมหรือความจำเป็นของตนเองและคู่สื่อสาร โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน บริบททางการสื่อสารที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล

                ประเด็นปัญหาที่พบในสังคมทุกวันนี้ คือ ความไม่เข้าใจกันในการสื่อสารระหว่างภาษาที่ใช้อยู่ทั่วไป หรือเรียกว่า ภาษาราชการกับภาษาท้องถิ่น เห็นได้ว่าประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีภาษาพูด ภาษาเขียน สำหรับใช้ในการสื่อสารที่เป็นภาษาของตัวเองมาช้านาน ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาทางด้านภาษาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ภาษากลางเป็นภาษาที่ใช้พูดและเขียนอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ แต่เมื่อแบ่งภูมิประเทศออกเป็นภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ทุกภาคจะมีภาษาพูดเป็นของตนเอง แม้แต่จังหวัดในภาคเดียวกันก็ยังมีภาษาที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันไป จึงนับว่าเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นเสน่ห์ที่น่าศึกษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง

                ผู้เขียนในฐานะนักศึกษากฎหมายได้มองในมุมมองสิทธิมนุษยชนถึงปัญหาล่ามในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งล่ามถือเป็นตัวกลางสำคัญในการสื่อสารแปลความหมายจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี ในระหว่างดำเนินกระบวนการพิจารณา เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งหน้าที่ที่สำคัญในศาลยุติธรรม คือ แปลภาษาไทยท้องถิ่น ภาษาถิ่น ภาษาต่างประเทศ ภาษามือ หรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น โดยจักต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นกลาง ปราศจากอคติ ประพฤติตนตามกฎหมาย อีกทั้งต้องมีความรู้และความเข้าใจในภาษาที่แปลอย่างถ่องแท้ โดยมีความพร้อมที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นสำคัญ

หลักกฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิการมีล่ามของผู้ต้องหากฎหมายที่ได้บัญญัติถึงสิทธิของการมีล่ามของผู้ต้องหาในคดีอาญานั้น ได้มีอยู่มากมายทั้งที่เป็นกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ จึง สื่อให้เห็นว่าทั่วโลกให้ความสำคัญแก่สิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพราะสิทธิการมีล่ามของผู้ต้องหานั้นเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ผู้ต้องหาสามารถเข้าใจและสื่อสารกันได้อย่างถูกต้อง โดยหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีดังต่อไปนี้

-                   กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ ๑๔.๓ (ฉ)

-                   รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ก็ได้บัญญัติสิทธิดังกล่าวไว้ในหลายมาตราเช่นเดียวกัน เช่น มาตรา ๔๐

-                   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓ การสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาให้ใช้ภาษาไทย แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องแปลภาษาไทยท้องถิ่นหรือภาษาท้องถิ่นหรือภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยหรือต้องแปลภาษาไทยเป็นภาษาไทยท้องถิ่นหรือภาษาท้องถิ่นหรือภาษาต่างประเทศให้ใช้ล่ามแปล

ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยหรือสามารถพูดหรือเข้าใจเฉพาะภาษาไทยท้องถิ่นหรือภาษาถิ่น และไม่มีล่าม ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาลจัดหาล่ามให้โดยมิชักช้า

ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานไม่สามารถพูดหรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ และไม่มีล่ามภาษามือ ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลจัดหาล่ามภาษามือให้หรือจัดให้ถาม ตอบ หรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควร

เมื่อมีล่ามแปลคำให้การ คำพยานหรืออื่นๆล่ามต้องแปลให้ถูกต้อง ล่ามต้องสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทำหน้าที่โดยสุจริตใจจะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล

ให้ล่ามลงลายมือชื่อในคำแปลนั้น

ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลสั่งจ่ายค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักแก่ล่ามที่จัดหาให้ตามมาตรานี้ ตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุดหรือสำนักงานศาลยุติธรรม แล้วแต่กรณี กำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง โดยผู้เขียนและคณะจะมุ่งศึกษาเกี่ยวกับตัวบทมาตรานี้เป็นสำคัญ

และเนื่องด้วยพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร อีกทั้งประชาชนบางส่วนไม่มีความรู้ความเข้าใจในภาษาไทย เมื่อมีคดีความเกิดขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาลควรจะมีล่ามที่ขึ้นทะเบียนไว้ประจำศาลแต่ละศาลเพื่อให้คู่ความได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๐ ประกอบกับมาตรา ๑๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติไว้ ดังนั้นผู้เขียนและคณะจึงเลือกศาลจังหวัดยะลาเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการศึกษาวิจัย เพื่อที่จะทราบถึงปัญหาในเรื่องของล่ามแปลภาษาได้อย่างเต็มที่และตรงประเด็น

และเมื่อทำการพิจารณาถึงประเด็นปัญหาของล่าม จากบทบัญญัติในมาตรา๑๓ ป.วิ.อาญา และมาตรา๔๐ แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ทำให้เห็นได้ชัดว่าในกระบวนการยุติธรรมได้ระบุถึงหลักการและรายละเอียดของการจัดหาล่ามไว้อย่างชัดเจน แต่กระนั้นแล้วเมื่อถึงขั้นตอนการดำเนินการนำกฎหมายเหล่านี้ไปบังคับใช้กลับพบว่า ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือแม้กระทั้งตัวของศาลเองกลับเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน นอกจากนี้ปัญหาก็อาจเกิดจากตัวล่ามที่ไม่ยอมรักษาสิทธิการพิจารณาคดีแก่ผู้ต้องหาเพราะจากการที่ได้ไปสังเกตการณ์นั้นพบว่าศาลได้มีการจัดหาล่ามให้แก่ผู้ต้องหาแล้ว และล่ามก็ได้เข้าไปฟังการพิจารณาคดีของศาลด้วย แต่ล่ามมิได้ทำหน้าที่แปลภาษาให้แก่ผู้ต้องหาแต่อย่างใดทำให้น่าคิดว่าเกิดจากความไม่รู้ของล่ามเกี่ยวกับขั้นตอนการพิจารณาคดีว่าช่วงใดบ้างที่ล่ามจะต้องทำการแปลภาษา หรืออาจเกิดจากตัวศาลเองที่มีการจัดหาล่ามเอาไว้เพื่อครบองค์ประกอบในกระบวนการพิจารณาคดีเท่านั้น

 

๑.๒ วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย

                ๑.๒.๑ เพื่อศึกษาและวิจัยปัญหาเกี่ยวกับล่ามแปลภาษาในกระบวนการยุติธรรมดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๓

                ๑.๒.๒ เพื่อศึกษาและตรวจสอบมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของล่ามแปลภาษาในกระบวนการยุติธรรม

                ๑.๒.๓ เพื่อศึกษาถึงผลกระทบอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของล่ามโดยบกพร่อง

                ๑.๒.๔ เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่และความสำคัญของล่ามแปลภาษาในกระบวนการยุติธรรม

๑.๒.๕ เพื่อศึกษากระบวนการในการจัดหาล่ามแปลภาษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

๑.๓ ข้อสมมติฐานงานวิจัย

ล่ามแปลภาษาประจำศาลจังหวัดยะลาสมควรจะได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับที่กฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๓

 

๑.๔ วิธีการศึกษาวิจัย

การศึกษาทั้งหมดใช้การวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

เชิงปริมาณ โดยผู้เขียนและคณะลงพื้นที่สังเกตการณ์กระบวนการพิจารณาทางศาลซึ่งจะมุ่งประเด็นเกี่ยวกับล่ามแปลภาษาไทยกลาง-มลายูเป็นสำคัญ ในพื้นที่ศาลจังหวัดยะลา

เชิงคุณภาพ โดยผู้เขียนและคณะได้ทำการศึกษาค้นคว้าจากตัวบทกฎหมายมาตรา ๑๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับมาตรา ๔๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ และศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา บทความเชิงวิชาการประกอบด้วย

 

๑.๕ ขอบเขตของการศึกษา

๑.๕.๑ ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาของล่ามที่ไม่เพียงพอในศาลจังหวัดยะลา

๑.๕.๒ ศึกษาเกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓ และกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๐

๑.๕.๓ ศึกษาเกี่ยวกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ ๑๔ (ฉ)

๑.๕.๔ ศึกษาเกี่ยวกับสิทธิที่พึงควรได้รับในกระบวนการยุติธรรมในกรณีที่มีการใช้ล่ามแปลภาษา

 

๑.๖ ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

๑.๖.๑ ได้รู้ถึงกระบวนการหรือที่มาในการจัดหาล่ามแปลภาษาในกระบวนการยุติธรรม

๑.๖.๒ ได้รู้ถึงจริยธรรมล่ามในศาลยุติธรรมอันเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินการในชั้นศาล

๑.๖.๓ ได้รู้ถึงโทษอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องของล่ามแปลภาษา

๑.๖.๔ ได้รู้ถึงปัญหาการขาดแคลนล่ามแปลภาษาในกระบวนการยุติธรรม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทที่ ๒

ประวัติศาสตร์ล่าม

ล่ามไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์    

ตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนรัตนโกสินทร์ ราชอาณาจักรสยามเปิดกว้างให้พ่อค้าวาณิชทั้งตะวันตกและตะวันออก ถ้าไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกจนกระทบกระเทือนความมั่นคงของราชบัลลังก์แล้วพระเจ้าแผ่นดินส่วนใหญ่ไม่ทรง รังเกียจชาวต่างชาติ หลายรัชกาลก็ถึงกับส่งทูตไปสู่อาณาจักรอื่นเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีต่อกันการสื่อสารติดต่อต้องอาศัยล่าม ซึ่งเป็นคนไทยที่รู้ภาษาต่างประเทศดีพอจะสื่อสารกับเจ้าของประเทศนั้นๆได้ ล่ามไทยที่ว่านี้ แบ่งได้ออกเป็น ๒ ประเภทคือ ล่ามไทยที่รู้ภาษาตะวันออก กับล่ามไทยที่รู้ภาษาตะวันตก ล่ามไทยพวกแรก ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนและแขก เกิดจากการติดต่อค้าขายกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คำว่า "จีน" มีแห่งเดียวคือจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วน "แขก " ครอบคลุมถึงอินเดีย อาหรับ ลังกา ทมิฬ มลายู ชวา ทั้งหมดนี้คนไทยเรียกกันรวมๆว่า "แขก" ถ้าจะเจาะจงว่าเป็นพวกไหน ก็ใช้คำว่า "แขก" นำหน้าแล้วต่อด้วยเชื้อชาติถิ่นที่อยู่ เช่นแขกทมิฬ แขกชวา แขกลังกา ฯลฯ    บรรพชนคนไทยเหล่านี้เดินทางมาถึงไทยด้วยเหตุผลทางการค้าเป็นอันดับแรก เมื่อสบโอกาส เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินต้อนรับด้วยดีและตัวเองมีช่องทางจะตั้งหลักแหล่งได้ในดินแดนนี้ ก็สมัครเข้ารับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางไทย อย่างเช่นต้นตระกูลไกรฤกษ์ เป็นจีนแซ่หลิม ตระกูลบุนนาคเป็นพ่อค้าจากเปอร์เชียชื่อ เฉกอะหะหมัด ตระกูลบุณยรัตพันธุ์มาจากพราหมณ์พฤติบาศในอินเดีย ลูกหลานที่สืบเชื้อสายต่อมาก็นับตนเองเป็นไทย ในจำนวนนี้ยังมีบางคนที่รู้ภาษาดั้งเดิมของบรรพบุรุษอยู่   พวกที่มีเชื้อสายจีนพูดภาษาจีนได้ ก็เข้ารับราชการในกรมท่าซ้าย ส่วนคนที่พูดภาษาแขกก็เข้ารับราชการในกรมท่าขวา ขึ้นอยู่กับพระคลัง ซึ่งสมัยโบราณทำหน้าที่เป็นทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคนจีนในไทย คือเจ้ากรมท่าซ้าย มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ส่วนเจ้ากรมท่าขวา เจ้ากรมมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี     อีกพวกหนึ่งคือล่ามไทยที่รู้ภาษาตะวันตกมีอยู่น้อยนับตัวถ้วน ไม่มากมายอย่างพวกแรก ล่ามพวกนี้ได้แก่พวกคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสซึ่งบรรพบุรุษเข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงเมืองอยุธยา เรียกว่า หมู่บ้านโปรตุเกส    เมื่อตั้งกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ คนไทยเชื้อสายโปรตุเกสอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวตำบลกุฎีจีน ตำบลสามเสน ออกเสียงเรียกอย่างชาวบ้านว่า "ฝรั่งกฎีจีน" หรือ "ฝรั่งกระดีจีน" พวกนี้พอจะเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสบ้างตามที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงมักรับราชการในตำแหน่งที่เรียกว่า "ล่ามฝรั่ง" อยู่ในกรมท่า มีอัตราอยู่ 5 คน หัวหน้ามีราชทินนามเป็นขุนเทพวาจา รับเบี้ยหวัดปีละ ๗ ตำลึง หน้าที่การงานมีน้อยมาก เพราะไทยติดต่อกับโปรตุเกสก็แต่เฉพาะการค้าขายที่เมืองมาเก๊า นานๆเจ้าเมืองจะมีหนังสือมาสักครั้งหนึ่ง ส่วนการติดต่อค้าขายกับอังกฤษเริ่มมีขึ้นมาบ้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไม่มีล่ามไทยคนไหนพูดอังกฤษได้ นายเรืออังกฤษจึงต้องอาศัยแขกมลายูเป็นล่าม ดังนั้นการติดต่อค้าขายระหว่างรัฐบาลไทยกับเรือสินค้าอังกฤษก็ดี หรือการติดต่อทางราชการกับอังกฤษที่เกาะหมาก และสิงคโปร์ก็ดี ต้องใช้ภาษามลายูล้วนๆ ในปลายรัชกาลที่ ๓ ไวศ์รอยหรือผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย มีบัญชาให้นายจอห์น ครอฟอร์ด เป็นทูตมาเจรจาติดต่อกับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๔ ก็ต้องอาศัยภาษามลายูเป็นพื้นฐานการติดต่อ ปรากฏในจดหมายเหตุของครอฟอร์ด ฟังดูก็ค่อนข้างทุลักทุเล คือทูตอังกฤษเริ่มต้นด้วยการพูดภาษาอังกฤษแก่ล่ามมลายูที่พามาด้วย ล่ามแปลคำพูดจากอังกฤษเป็นภาษามลายูให้ล่ามไทยที่รู้ภาษามลายูชื่อหลวงโกชาอิศหากฟัง แล้วหลวงโกชาอิศหากจึงแปลจากภาษามลายูเป็นภาษาไทยให้เจ้าพระยาพระคลังรับทราบอีกทีหนึ่ง เมื่อเจ้าพระยาพระคลังจะตอบว่าอะไร ก็ต้องแปลย้อนกลับเป็นลำดับจากไทย มลายู และอังกฤษ กลับไปเป็นทอดๆอีกที  เมื่ออังกฤษรบกับพม่า ครอฟอร์ดแจ้งข่าวให้ไทยทราบจากสิงคโปร์ ก็ต้องแปลหนังสือพิมพ์ข่าวจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาโปรตุเกสเสียก่อนแล้วค่อยให้ล่ามแปลเป็นไทย เพราะมลายูมีคำน้อยไม่พอจะอธิบายความได้แจ่มแจ้ง

ดังนั้น ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภาษาต่างประเทศที่คนไทยรู้จักเพื่อจะติดต่อกับประเทศตะวันตก มีอยู่ ๒ ภาษาคือโปรตุเกสและมลายู ส่วนภาษาจีน ใช้ติดต่อกันระหว่างไทยกับจีนเท่านั้น ล่ามไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้เพิ่งมีในรัชกาลที่ ๓ เมื่อมิชชันนารีชาวอเมริกันเดินทางมาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย สอนภาษาให้คนไทยจนเขียนและพูดอังกฤษได้คล่อง ล่ามไทยคนแรกที่ติดต่อสื่อสารได้ระหว่างสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และทูตชาวอังกฤษคือพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๔ ล่ามไทยคนสำคัญที่ไปกับคณะทูตไทยเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยาม และพระราชินีนาถวิกตอเรียนแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ คือหม่อมราโชไทย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) ผู้แต่ง นิราศลอนดอน[1]

ส่วนล่ามในต่างประเทศ  ในสหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดแห่งวิสคอนซิน ได้จัดทำคู่มือล่ามศาล(Supreme Court ofWisconsin, 2004) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ศาล ทนายความ ล่าม และผู้มาศาลอื่นๆ คู่มือนี้กล่าวรายละเอียดสำคัญตั้งแต่บทบาทของล่าม การจัดหาและคัดเลือกล่ามตลอดจนค่าตอบแทน โดยล่ามที่คู่มือนี้กล่าวถึงหมายรวมถึงล่ามภาษามือด้วย นอกจากนี้ยังให้รายละเอียดเรื่องจรรยาบรรณอาชีพล่าม เน้นย้ำเรื่องความเป็นกลางว่าล่ามไม่ควรมีอคติเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง ไม่ควรมีความรู้สึกผูกพันส่วนตัวใดๆกับคู่กรณีหรือผู้ที่ตนทำหน้าที่ล่ามให้ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความถูกต้องคู่มือเล่มนี้คำนึงถึงความต้องการของล่ามอย่างถี่ถ้วน โดยกล่าวว่าในห้องพิจารณาจะต้องมีระบบเสียงและบรรยากาศที่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ล่าม ผู้พิพากษามีหน้าที่เตือนให้ผู้เข้าร่วมการพิจารณาคดีพูดด้วยความเร็วที่เหมาะสม และให้ล่ามหยุดพักเป็นระยะ หรือจัดทีมล่ามหากพิจารณาคดีเป็นเวลานาน  ชเวดา-นิโคลสัน (Schweda-Nicholson, 1985) กล่าวไว้ว่า นอกจากล่ามจะต้องมีความรู้ด้านภาษาสองภาษาหรือมากกว่าเป็นอย่างดีเยี่ยมแล้ว บุคลิกของล่ามก็สำคัญเช่นกัน ล่ามควรมีบุคลิกกล้าแสดงออก ใฝ่ รู้ และแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี และความรู้เกี่ยวกับศัพท์ทางกฎหมาย ระบบการพิจารณา และโครงสร้างกฎหมายอเมริกันและกฎหมายต่างชาติเป็นสิ่งจำเป็น  ชเวดา-นิโคลสันให้ความเห็นว่าล่ามไม่ควรรับงานที่เห็นว่าเกินขีดความสามารถของตน และต้องแก้ไขความผิดพลาดโดยทันที ในการล่าม จะต้องล่ามคำต่อคำ ไม่ใช่อธิบายหรือถอดความ ไม่ว่าสิ่งที่ล่ามนั้นจะเป็นคำพูดเรื่อยเปื่อยก็ตาม ล่ามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี แต่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการรักษาความยุติธรรม  ลี เบิร์กแมน และอิสมาอิล (Lee, Bergman and Ismail, 2008) ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นล่ามภาษาอาหรับในศาล (Becoming an Arabic Court Interpreter) เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ National Center for State Courts (NCSC) เอกสารฉบับนี้ กล่าวว่าการรู้ภาษา ๒ ภาษา ไม่เพียงพอต่อการเป็นล่ามในศาล ผู้ที่ต้องการเป็นล่ามภาษาอาหรับในศาลจะต้องถามตัวเองว่าตนมีทักษะทางภาษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับเทียบเท่ากับผู้ที่ใช้ภาษาเหล่านี้เป็นภาษาแม่อย่างมีการศึกษาหรือไม่ สามารถเข้าใจและใช้ภาษาเหล่านี้ในระดับต่างๆ ได้หรือไม่

หมายเลขบันทึก: 547870เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2013 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ทุกครั้งที่เขียนมี ไม้ยมกต้องเว้น 1 เคาะ หลังตัวเลขก้ต้องเว้นด้วยจ้าตรวจทานดุอีกที

ยังไม่มีหัวข้อที่ 1 เลยแต่กลับมี 1.1 แล้วดูระเบียบให้ดีนะ

มีคุมือในการเขียนนี่จ๊ะ

ครูหยินช่วยให้จ้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท