สื่อการ์ตูน... แก้ปัญหาการเรียนรู้ได้... ถ้าใช้ถูกและใช้เป็น


สื่อการ์ตูนไม่เคยตาย ... หากรู้จักประยุกต์ใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างถูกหลัก ก็มีคุณค่าพอที่แก้ปัญหาคุณภาพนักเรียนในระดับชาติได้

 

 

 สื่อการ์ตูน... แก้ปัญหาการเรียนรู้ได้... ถ้าใช้ถูกและใช้เป็น

        สื่อการ์ตูนก็เหมือนกับสื่อการเรียนรู้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อไฮเทคหรือโลว์เทค ที่ต้องนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่การนำไปใช้เป็นสื่อแทนตัวครู เพราะตัวครูนั่นเองคือสื่อการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในโลก ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเทคโนโลยีการศึกษาคือ “การประยุกต์เอาวัสดุอุปกรณ์ กระบวนการวิธีการ มาออกแบบระบบการสอน ออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างถูกต้อง เหมาะสม พอเพียง ให้สนองธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกเวลาทุกสถานที่” เน้นให้ผู้เรียนเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่าย เสริมแรงจูงใจให้แสวงหาความรู้  มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่ายการเรียนรู้  ข้อสำคัญช่วยให้ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย

       การใช้สื่อการ์ตูนหรือสื่อใดๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล จึงขึ้นอยู่กับการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของครู การรู้จักเลือกใช้รูปแบบเฉพาะหรือคุณลักษณะพิเศษของสื่อการ์ตูนอย่างเข้าถึง  ซึ่งหากศึกษาให้ดี สื่อการ์ตูนออกแบบได้หลายมิติ สามารถนำไปใช้ในกระบวนการเรียนรู้ได้ตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงระดับมหาวิทยาลัย เงื่อนไขของผู้เรียนคือ วินัยในการเรียน ความต้องการในการเรียนรู้ รวมทั้งความคิดนอกกรอบและจินตนาการที่แฝงด้วยอารมณ์ขัน

      จากการอบรมเชิงปฏิบัติการครูผู้สอนระดับชั้น ป.1 – 3 ในโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 112 คน โดยใช้คู่มือใช้สื่อลายเส้นการ์ตูนสอนเสริมทักษะความสามารถด้านภาษาและการคิดคำนวณ ที่ออกแบบขึ้น เป็นสื่อการอบรม ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจมากคือ สื่อการ์ตูนที่มีอยู่มากมายในตลาดหนังสือ และเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์นั้น  มีสื่อการ์ตูนที่ใช้เป็นต้นแบบหรือสร้างแนวคิดใหม่สู่การนำไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน หาได้น้อยมาก ส่วนใหญ่นำเสนอแนวหรือรูปแบบการเขียนการ์ตูนแบบต่างๆ  ตัวอย่างการวาดภาพประกอบเรื่อง  ตัวอย่างแบบฝึก หรือสร้างใบงาน ผู้สอนต้องนำมาคิด ออกแบบดัดแปลงเป็นสื่อการเรียนรู้ ให้เหมาะกับระบบการสอนที่ออกแบบไว้ (สื่อสำหรับเด็กเล็ก จำเป็นต้องใช้สื่อพื้นๆ เช่น บัตรคำ บัตรภาพ กระดาน แผนภาพ หนังสือภาพ ประกอบการเล่น การฝึกลีลามือ การรับรู้ เรียนรู้ของเด็ก หรือประกอบการสาธิตขั้นตอนกระบวนการ ฝึกสมาธิการรับรู้ของเด็ก)   ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมสื่อมากพอสมควร (ครูมืออาชีพ) และการปฏิบัติการสอนจริงในชั้นเรียน การใช้สื่อการ์ตูนในรูปแบบใดๆ ก็ต้องใช้ประกอบด้วยกระบวนการ กิจกรรมที่เหมาะสม อาจอยู่ในขั้นกิจกรรมเสริมทักษะ สรุปองค์ความรู้ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับบริบทหรือสถานการณ์ ข้อสำคัญกิจกรรมสำหรับเด็กเล็กต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายตามธรรมชาติเด็ก เช่น ได้พูด ได้คุย ได้เล่น(ปนเรียน) ได้ลุก ได้เดิน ได้หยิบ ได้จับ ได้เสนอ หรือมีกิจกรรมประเภท Brain Gym อื่นๆ ที่ผู้สอนเลือกใช้  ดังนั้นครูที่เข้าอบรมส่วนใหญ่จึงประเมินตนเองว่า ยังขาดทักษะการใช้สื่อที่ถูกต้อง เหมาะสม  เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีแนวการใช้สื่อการ์ตูนที่ใกล้ตัวเด็ก และเสนอแนะให้เพิ่มรายละเอียดแนวการจัดกิจกรรมในบางตอน และให้ศึกษานิเทศก์หมั่นนิเทศติดตาม

สื่อนิเทศ  “ลายเส้นการ์ตูนสอนเสริมทักษะทางภาษา” ตอนที่ 1  คลิ๊กที่นี่https://docs.google.com/file/d/0By6jkLUH1vK3U3RLT0wzUXpLMEE/edit?pli=1

หมายเลขบันทึก: 547615เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2013 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมากเลยครับ

ใช้ได้กับหลายวัยของผู้เรียนรู้มาก

....ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์ และ“ลายเส้นการ์ตูนสอนเสริมทักษะทางภาษา” ตอนที่ 1 ...นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท