๑๗๗. มารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม


มารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม

         ผู้เขียนไม่ทราบว่าส่วนราชการทุกแห่งมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่อง "มารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม" โดยเฉพาะสังคมไทย แต่สำหรับในการทำงานของผู้เขียน เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับมารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน เมื่อเกือบ ๓๐ ปี เป็นอย่างมาก ผู้เขียนเห็นความเจริญของทางด้านวัตถุมีความเจริญเติบโตขึ้น แต่ในทางกลับกัน ด้านจิตใจกับลดหรือเสื่อมถอยลง อาจเป็นเพราะการไม่ใส่ใจที่จะทำ หรือไม่ก็เพราะความเจริญด้านวัตถุเข้ามาเบียดบังความเจริญด้านจิตใจก็เป็นได้

         การไปลามาไหว้ มารยาทไทยที่เป็นวัฒนธรรม การทักทายเวลาพบปะกันหรือลาจากกัน "การไหว้" เป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน นอกเหนือจากการกล่าวคำว่า "สวัสดี" แล้วยังแสดงออกถึงความหมาย "การขอบคุณ" และ "การขอโทษ" การไหว้เป็นการแสดงมิตรภาพ มิตรไมตรีที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี อันดีงามซึ่งนับวันจะค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย ซึ่งมุมมองของผู้เขียนมีความคิดว่า สิ่งนี้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย สมัยก่อนก็ยังไม่ค่อยเท่าไรกับเรื่อง "การไหว้" แต่มา ณ ปัจจุบัน ยิ่งเข้าสู่โลก Online ด้วยแล้ว คนไทยหรือเด็กไทยเรารับมาเต็ม ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวต่างชาติ โดยนำมาถือปฏิบัติ เช่น การทักทายด้วยการจับมือ ด้วยการผงกศีรษะ หรือพยักหน้าตอบรับกัน ซึ่งโดยปกติความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นวัฒนธรรมไทยที่แสดงความเคารพด้วยการไหว้ผู้อาวุโส หรือการรับไหว้ผู้อาวุโสน้อย ปัจจุบันกลายเป็นวัฒนธรรมที่เกิดเฉพาะกลุ่ม แทนที่จะเป็นวัฒนธรรมในสังคมของคนทุกชนชั้น

         สาเหตุนี้ที่ทำให้เด็กไทยมองข้ามวัฒนธรรมไทยที่ดีงามไป มารยาทในสังคมไทยจึงผิดเพี้ยนไป สำหรับมารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น มีดังต่อไปนี้

         ๑. การรู้จักวางตน ต้องเป็นคนที่มีความอดทน มีความสงบเสงี่ยม ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าว อวดรู้ อวดฉลาด อวดมั่งมีและไม่ควรตีตัวเสมอผู้ใหญ่ แม้ว่าจะสนิทสนมหรือคุ้นเคยกันสักปานใดก็ตาม

         ๒. การรู้จักประมาณตน มีธรรมของคนดี ๗ ประการ ได้แก่ รู้จักเหตุผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน และรู้จักบุคคล (ซึ่งผู้เขียนก็ได้เรียนในสมัยมัธยมปลาย) โดยไม่ทำตัวเองให้เด่น เรียกร้องให้คนอื่นสนใจ หรือสร้างจุดสนใจในตัวเรามากเกินไป 

         ๓. การรู้จักการพูดจา ต้องไม่ทักทายปราศรัยกับคนด้วยคำพูดที่จะทำให้คนเขาเกิดความอับอายในสังคม และไม่คุยเสียงดังหรือยักคิ้วหลิ่วตา ทำท่าทางประกอบจนทำให้เสียบุคลิกได้

         ๔. การรู้จักควบคุมอารมณ์ คือ รู้จักข่มจิตของตน ไม่ใช่อารมณ์รุนแรงเพื่อไม่ให้ล่วงสิ่งที่ไม่ควรล่วง ได้แก่ การข่มราคะ โทสะ โมหะ ไม่ให้กำเริบเป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ รู้จักข่มอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ทำลายข้าวของ ไม่พูดและแสดงกิริยาประชดประชันหรือส่อเสียด

         ๕. การสำรวมกิริยาเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่ ขณะที่เดินผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มตัวพองาม หรือหากผู้ใหญ่กำลังเดิน ไม่ควรวิ่งตัดหน้า ควรหยุดให้ผู้ใหญ่เดินไปก่อน หรือไม่ควรเดินผ่านกลางขณะที่ผู้ใหญ่กำลังพูดกัน (ข้อนี้ ผู้เขียนถูกสอนมาตั้งแต่ชั้นประถมต้น)

         ๖. การรู้จักควบคุมอิริยาบถ ถือเป็นคุณสมบัติที่ดี เช่น เมื่อเราได้ยินเสียงเพลงก็ไม่ควรเขย่าตัว กระดิกเท้า หรือเคาะจังหวะโดยไม่เลือกสถานที่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นอาการของคนที่ไม่ควบคุมอิริยาบถ และไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ

         ๗. ความมีน้ำใจไมตรีอันดีต่อกัน การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ด้วยความรักและเข้าใจกัน ควรมีความเอื้ออาทร มีน้ำใจต่อกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีความเห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ ทุกข์สุขของผู้เกี่ยวข้อง มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ที่สำคัญ คือ มีน้ำใจในการช่วยเหลือ หรือช่วยทำประโยชน์ให้แก่สังคม

         ๘. การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นคุณธรรมชั้นสูงของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งเป็นเสียสละเพื่อส่วนรวม

         การกระทำทั้ง ๘ ข้อ เป็นมารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งสมัยก่อนจะให้ความสำคัญมากต่อการทำงานหรืออยู่ร่วมกันในสังคมของการทำงาน หรือสังคมอื่น ๆ แต่ปัจจุบันมารยาทเหล่านี้ ค่อย ๆ เสื่อมลง จึงเห็นได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือพฤติกรรมของบุคคลที่ก่อเกิดมาให้เราได้พบเห็น...

 

ขอขอบคุณ : ที่มากระทรวงวัฒนธรรมไทย

 

 

หมายเลขบันทึก: 547441เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2013 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2013 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

...กาย...วาจา...ใจดี...ปฏิบัติตนดี...ปฏิบัติต่อผู้อื่นดีนะคะ

ขอขอบคุณทุกท่านที่แวะมาอ่านค่ะ และขอขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจจากทุก ๆ ท่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท