การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและ อบต. : กรณีศึกษา อบต.เมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย


การวิจัยท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่น เพื่อคนในท้องถิ่น

         การอบรมหลักสูตร “นักบริหารงานท้องถิ่นระดับสูง” (นบส.ท)รุ่นที่ ๑๒/๒ เมื่อ ๑ กรกฎาคม-๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น จ.ปทุมธานี โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักสิริพัฒนา สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีอาจารย์สุรพล เจริญภูมิ เป็นผู้อำนวยโครงการ โดยผู้เข้าอบรมเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ระดับ ๘ ขึ้นไปจากทั่วประเทศ  จำนวน ๖๔ คน (ระดับ ๙ จำนวน ๑ คน) มีหลายตำแหน่งคละกันไป  เช่น ปลัด อบจ. ปลัดเทศบาล ปลัด อบต. รองปลัดฯ  หัวหน้าสำนักปลัดฯ  ผอ.กองต่างๆ  กำหนดให้ผู้ที่จะผ่านการอบรมต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ 

         การอบรมในครั้งนี้มีการมอบรางวัล รวม ๘ รางวัล ได้แก่  รางวัลผลการเรียนยอดเยี่ยม ๑ รางวัล, รางวัลมนุษยสัมพันธ์ยอดเยี่ยมในรุ่น ๑ รางวัล, รางวัลกลุ่มดีเด่น ๑ รางวัล, รางวัลผลงานโครงการดีเด่น ๖ ด้าน ๖ รางวัล  คือ  ด้านโครงสร้างพื้นฐาน  ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้านการรักษาส่งเสริมความสงบเรียนร้อย ด้านการท่องเที่ยว การลงทุนและพาณิชยการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น   ทั้ง ๖ ด้านนี้ ผศ.ดร.วีระวัฒน์ ปันนิตามัย อาจารย์จากนิด้าและ ผอ.สุรพล จะคัดเลือกผู้มีผลงานที่น่าสนใจนำเสนอหน้าห้อง ๒๕ คน เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น

         ผลการคัดเลือกผู้นำเสนอหน้าชั้น ปรากฏว่า ผู้เขียนเป็น ๑ ใน ๒๕ คน และผลการตัดสินผู้เขียนได้รับรางวัลโครงการดีเด่นด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ ดังนั้นจะขอนำเสนอโครงการดีเด่นดังกล่าว 

         ชื่อโครงการ การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบล : กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลัง  อำเภอสวรรคโลก  จังหวัดสุโขทัย

หลักการและเหตุผล    

                เมืองบางขลัง มี ๙ หมู่บ้าน ประชากร ๔,๘๙๓ คน จำนวน ๑,๖๒๔ ครัวเรือน มีเนื้อที่ ๕๔.๑๒ ตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม   เมืองบางขลังเป็นชุมชนโบราณ อยู่ในพื้นที่สวรรคโลก  จังหวัดสุโขทัย  ถือกำเนิดร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย  หลักฐานบ่งบอกว่าเป็นจุดกำเนิดประเทศไทย  ตามหลักศิลาจารึกหลักที่  ๒  วัดศรีชุม  ด้านที่  ๑  สรุปได้ว่า  พ่อขุนบางกลางท่าวและพ่อขุนผาเมืองยกทัพรวมพลกัน ที่เมืองบางขลัง  ใช้เป็นที่พักฝึกกำลังพลและกะเกณฑ์ไพร่พลนักรบจากเมืองบางขลัง เข้าตีเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง  และสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย  นอกจากนี้เมืองบางขลังยังเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรล้านนา  โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและพุทธศาสนา  มีหลักฐานว่า  ในปี  พ.๑๙๑๓  มีพระภิกษุจากเมืองเชลียงนำพระธาตุที่ฝังใต้กอดอกเข็มที่เมืองบางขลังไปถวายพระเจ้ากือนา  พระองค์ได้นำพระธาตุไปประดิษฐานไว้ที่วัดสวนดอกและวัดพระธาตุดอยสุเทพ  จังหวัดเชียงใหม่  อีกทั้งยังมีความสำคัญและคุณค่าทางประวัติศาสตร์  โบราณคดี มีโบราณสถาน  ปูชนียสถานต่างๆ  บนเส้นทางโบราณที่เรียกกันว่า  ถนนพระร่วงหรือ ท่อปู่พญาร่วง   มีเชื้อพระวงศ์เสด็จพระราชดำเนิน ๓พระองค์ ได้แก่  รัชกาลที่ ๖  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  ยังมีโบราณสถานวัดโบสถ์ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติแล้ว  เตาเผาโบราณ  แหล่งตัดศิลาแลง  ไหกระดูก เครื่องสังคโลก  พระเครื่องกรุเมืองบางขลัง  ฯลฯ   

         ปัจจุบันมีผู้สนใจมาศึกษา  มาท่องเที่ยวเมืองบางขลังมากขึ้น  จากเดิมที่ไม่มีใครรู้จักและสนใจเลย  การมาศึกษาหรือท่องเที่ยวที่ผ่านมาจะเป็นไปในลักษณะของ เจ้าหน้าที่ อบต. คอยอธิบายถึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ความสำคัญของเมืองบางขลังเท่านั้น  ยังขาดการเชื่อมโยงถึงรายละเอียดส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  เช่น  ด้านสังคม  วัฒนธรรม  อาหารการกิน  ความคิด ความเชื่อ พืช สมุนไพร ฯลฯ และที่สำคัญยังขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะเข้ามาร่วมคิด ร่วมค้น ร่วมศึกษา  ตลอดจนร่วมอธิบายถึงเรื่องราวแห่งบ้านเมืองของตน

                สิ่งที่กล่าวมา ถือได้ว่าเป็นทุนท้องถิ่นอย่างหนึ่ง  หากสามารถค้นหาว่าอัตลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลังว่ามีอะไรบ้าง  และเป็นมาอย่างไร  จะทำให้สามารถแสวงหาแนวทางพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่พัฒนาจากทุนของชุมชน  เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนได้    ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสุโขทัยต่อไป

วัตถุประสงค์

             . เพื่อสำรวจอัตลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง  ทั้งในลักษณะกายภาพและคุณค่าทางจิตใจ

             เพื่อศึกษาบทบาทของภาคีที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนโบราณเมืองบางขลัง

             เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ  และทักษะในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนโบราณเมืองบางขลัง

สภาพปัญหา

             สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับเมืองบางขลัง  นับแต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารีฯ  เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรร่องรอยอารยธรรมโบราณเมืองบางขลัง ปฐมบทแห่งการสร้างบ้านแปลงเมือง  หลังจากนั้นนักวิชาการ  หน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น  กรมศิลปากร  สภาวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย  และยุทธศาสตร์จังหวัด  รวมถึงสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นได้เข้ามาสานต่อ  ดำเนินการพัฒนาจัดกิจกรรมต่างๆ  ที่จะนำไปสู่การสร้างเมืองบางขลังให้มีชีวิต       ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่เฝ้ามองเริ่มรับรู้และเข้าร่วมกิจกรรมตามแต่ละโครงการ

             ผลจากการเข้าร่วมทำให้ชาวบ้านเริ่มรับรู้ว่าชุมชนโบราณที่ตนเองอาศัยอยู่มีเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา  รู้สึกตื่นเต้น  สนใจที่จะค้นหา  และอยากรู้อัตลักษณ์ที่แท้จริงของชุมชน  รวมถึงสนใจที่จะรักษาสภาพวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเองให้คงอยู่สืบไป  ประกอบกับผลจากการทำประชาคมชุมชนโบราณเมืองบางขลัง  ประชาชนตื่นตัว ให้ความสนใจ มีความตระหนัก ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  เพื่อหาแนวทางที่จะศึกษาเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชุมชนที่แท้จริง  พัฒนาการของวิถีถิ่นชุมชนตั้งแต่โบราณ  รวมถึงแนวทางที่จะใช้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวของชุมชนสร้างเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวในรูปแบบเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่บริหารจัดการ ดำเนินการโดยชุมชนเมืองบางขลัง แต่ขั้นตอนของการดำเนินการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะ และไม่มีประสบการณ์มาก่อน

         ดังนั้น ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง และภาคีในชุมชน  ได้แก่  วัด  โรงเรียน  และองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลัง  จึงมีความต้องการที่จะพัฒนาท่องเที่ยวของชุมชนด้วยกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ใช้ฐานประวัติศาสตร์ และ วิถีวัฒนธรรมชุมชนเป็นตัวเชื่อมร้อยคนในชุมชน และ ภาคีให้มาร่วมกันทำงานวิจัย เรื่อง   การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบล : กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลัง  อำเภอสวรรคโลก  จังหวัดสุโขทัยโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จำนวน  ๓๐๐,๐๐๐ บาท 

         ใช้เวลาในการวิจัย เก็บข้อมูล ๑๘ เดือน ครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ด้านโบราณสถาน, ด้านโบราณวัตถุ, ด้านประวัติศาสตร์, ด้านวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะการแสดง ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ด้านความความคิด ความเชื่อไสยศาสตร์, ด้านสมุนไพร พืช สัตว์ธรรมชาติในท้องถิ่น, ด้านอาหาร และด้านการผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรม

         เส้นทางท่องเที่ยวที่ได้ เป็นวงกลม เริ่มจาก ที่ทำการอบต.เมืองบางขลัง


                               (๑๖.๔๐ น.)  ที่ทำการ อบต.เมืองบางขลัง (๐๙.๐๐ น.)                                  

              (๑๖.๒๐ น.) ขอนซุงโบราณ                                      ชมวีดีทัศน์ประวัติศาสตร์เมืองบางขลัง (๐๙.๑๐ น.

           (๑๕.๓๐ น.)   บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์                                          ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง (๑๐.๐๐ น.)


     
 


          (๑๔.๒๐ น.)โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคคล                       แหล่งตัดศิลาแลงลุงสนิท ภู่ลพ (๑๑.๐๐ น.)


             (๑๔.๐๕) ถนนพระร่วงช่วงเมืองบางขลัง                       โบราณสถานเขาเดื่อ (จุดซ้อมรบ ๑๑.๒๐ น.)                 

                  (๑๓.๓๐ น.)พิธีทำพระเครื่องกรุเมืองบางขลัง         สมุนไพร / พืชประจำถิ่น (๑๑.๔๐ น.)


     
 

                               โบราณสถานวัดโบสถ์ (๑๒.๐๐ น.) ชมระบำเทววารีศรีเมืองบางขลัง/อาหารกลางวัน/

         สาธิตการทำขนม อาหารพื้นถิ่น/จุดรวมพล/ฆทฑป  เตาโบราณ/พระศิลปะสุโขทัย/โบสถ์ สระน้ำโบราณ

การต่อยอดโครงการ

                จากผลงานการดำเนินงานที่ผ่านมา  เป็นที่ประทับใจของคณะทำงานจาก สกว. นำโดย ผศ.ดร.บัญชร  แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (เคยได้ยินสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตรัสถึงเมืองบางขลัง) ดร.จันทรวิภา  ธนะโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.สุภาพร  สุกสีเหลือง  ดร.พรทิพย์  บุญทรง  คุณชวิศร์  อรรถสาสน์ คุณเวธนี  ตั้งสินมั่น คุณดารารัตน์  โพธิ์รักษา และคุณปวีณา  ราชสีห์  คณะทำงานจาก สกว.มีความปรารถนาที่จะต่อยอดพัฒนางานวิจัยที่เกิดจากการมีส่วนรวมของ อบต.เมืองบางขลังและชุนชนในเขตเมืองบางขลัง ให้มีความเป็นรูปธรรมและมีมูลค่าเพิ่มในการสร้างจิตสำนึกแก่ชุมชนและผู้มาเยือนมากขึ้น

         เสนอให้พัฒนาชุมชนโบราณเมืองบางขลังให้สมบูรณ์เพิ่มขึ้น ในระยะที่ ๓  โดยมีเป้าหมายที่จะนำถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ ในวโรกาสฉลองพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๘

 

         จึงได้นำเสนอของบประมาณดำเนินการ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ วช.ก็ได้อนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการ ๕๐๐,๐๐๐ บาท  เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ โดยเพิ่มเป้าหมายศึกษาครอบคลุมทั้งตำบลเมืองบางขลัง  โดยมีคณะทำงานของ สกว.ให้การดูแล  และ ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าโครงการ  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในชุมชน ทั้งในส่วนของผู้นำชุมชน ชาวบ้าน วัด และคณะครู นักเรียน โรงเรียนในพื้นที่ รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย.

 

หมายเลขบันทึก: 547019เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท