คนตาบอด & ตะเกียง


    มีเรื่องเล่าที่แฝงแง่คิดอยู่ว่า....

           ณ หมู่บ้านหนึ่งมีคนตาบอดอาศัยอยู่ที่ด้านหน้าของหมู่บ้าน...และมีเพื่อนสนิทอยู่ท้ายหมู่บ้าน...วันหนึ่งคนตาบอดก็ไปเที่ยวหาเพื่อนที่ท้ายหมู่บ้านตามประสาคนคุ้นเคย...คุยกันจนดึกคนตาบอดก็ขอตัวกลับบ้าน...เพื่อนของคนตาบอดก็ให้ตะเกียง... คนตาบอดก็พูดด้วยความตลกขบขันว่า

             นี่...นายลืมไปหรือเปล่า...เราตาบอด...ไม่ต้องใช้หลอกตะเกียงหรอก

      เพื่อนของคนตาบอดก็บอกว่า

            ที่ให้ตะเกียงน่ะไม่ได้ให้นายไว้ใช้ส่องดูทาง...แต่ให้ไว้เพื่อที่จะให้คนอื่น ๆ ที่เดินตามทางนั้นได้เห็นนาย

          จากนั้น...คนตาบอดก็ถือตะเกียงเดินทางกลับบ้านของตน... แต่ก่อนที่จะถึงบ้านก็มีคนเดินมาชนเข้าอย่างจัง...

        คนตาบอดถึงกับหัวเสียเลยพลั้งด่าไปว่า

          ตาบอดรึไงถึงได้มองไม่เห็น...เราถือตะเกียงอยู่นี่ไง

      ฝ่ายคนที่เดินมาชนก็เลยตอบกลับไปว่า  ตะเกียงที่นายถือไว้  ไฟมันดับไปแล้ว...

                            

 

             เป็นเรื่องเล่าที่ผู้เขียนได้ฟังหรืออ่านมานานพอสมควรแล้ว...ส่วนนัยก็มีผู้ตีความไปได้หลายแง่แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน...ในครั้งนั้น ผู้เขียนก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก...

             หากแต่พอนำกลับมาคิดอีกครั้งในมุมมองของธรรมะ...ก็สามารถให้แง่คิดที่เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์บ้าง ซึ่งในมุมมองของผู้เขียน...

 

            คนตาบอด : ก็เปรียบเสมือน มนุษย์ ปถุชนทั่วไปที่เกิดมาพร้อมกับความไม่รู้...แต่สามารถที่จะเป็นผู้รู้ได้จากการเรียนรู้ทั้งจากในตำรา ประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นก็คือความสามารถในการฝึก.... .พระพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ ยืนยันในศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ คำศัพท์ที่แท้ท่านว่า ทมะ แปลว่า ผู้ที่จะพึงฝึก คือ ฝึกได้หรือต้องฝึก และฝึกได้จนถึงขั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ มองอีกแง่หนึ่งก็ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และจะประเสริฐสุดได้ด้วยการฝึก...มนุษย์จึงมีศักยภาพสูงสุดในการฝึก ซึ่งหมายถึง การพัฒนาตน 

 

     เพื่อนที่ให้ตะเกียง : ก็เปรียบเสมือนการที่เราคบกับ บัณฑิตคอยชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้แสงสว่าง (ตะเกียง) ทางปัญญา

  

     คนที่เดินมาชน : เปรียบเสมือน ปัญหาที่ผ่านเข้ามาในระหว่างทางของการดำเนินชีวิต

 

     คนตาบอดที่หัวเสียโวยวาย : เปรียบเสมือนตัวเราที่บางครั้งพบเจอปัญหาที่เข้ามาจู่โจม แทนที่จะมี สติกำกับ กลับยึดติดถือมั่นในสิ่งที่มองไม่เห็น (ตะเกียงที่ถือ) คิดว่า เมื่อมีความรู้แล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้...แต่แก่นแท้แล้วหาใช่ไม่...ความรู้ที่ได้ศึกษามาหลายอย่างแม้กระทั่งจากบัณฑิตหากเรายังคงยึดติดถือมั่นอย่างไม่ได้ตรวจสอบใคร่ครวญด้วย ปัญญาที่ถูกกำกับด้วยสติเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็อาจทำให้สำคัญผิดคิดว่าปัญญาที่ได้รับรู้จากการสดับฟัง (ตะเกียง) นั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง...แต่ในทางที่แท้จริงแล้วต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง...บัณฑิตย่อมฝึกตน

 

         ในปัจจุบันนี้...เราตาดีหรือตาบอด...?

 

 เครดิตภาพ : http://poem-benuser.blogspot.com/2010/10/benuser_20.html

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 546075เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2013 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2013 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เคยอ่านมาว่าเป็นนิทานเซนเรื่องหนึ่งค่ะ , อ่านอีกกี่รอบก็ได้ข้อคิดอยู่เสมอ

 

น่าติดตามค่ะ

ขอบคุณ คุณaoiwhywanna มากครับที่แวะมาเยี่ยมเยือน

ขอบคุณ ทุกกำลังใจที่มอบผ่านดอกไม้มากครับ...:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท