เรื่องดีที่ มวล. : การเรียนการสอนในหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว


หากนักศึกษามีการเรียนเฉพาะในมหาวิทยาลัย จะมีทักษะไม่เพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพ

การเสวนาคณบดี ครั้งที่ 6/2556 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์เป็นเจ้าภาพ ได้นำเสนอเรื่องการบูรณาการพันธกิจสำคัญคือการวิจัย การบริการวิชาการ และการเรียนการสอน/การดูแลนักศึกษา ซึ่งสำนักวิชาฯ ทำงานดังกล่าวต่อเนื่องมาหลายปีโดยได้รับทุนสนับสนุนจากภายนอก มีโครงการ 2 โครงการคือเครือข่าย KM เบาหวาน และเพศวิถีศึกษาฯ ที่เน้นการบริการวิชาการและมีงานวิจัยเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า ดิฉันต้องการให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนโครงการแบบนี้เหมือนกลุ่มวิจัย หน่วยวิจัย และหน่วยวิจัยความเป็นเลิศ คณบดีหลายท่านให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อสภาวิชาการเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ต่อ ที่น่ายินดีคือรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม มีความเห็นว่างานลักษณะนี้มีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย ชุมชน และสังคม จึงได้นัดผู้เกี่ยวข้องมาคุยเพื่อจัดทำแนวทางการสนับสนุนต่อไป

การเสวนาคณบดี ครั้งที่ 7/2556 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 มีสำนักวิชาการจัดการเป็นเจ้าภาพ เราได้รับทราบการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของหลักสูตร บธ.บ. (อุตสาหกรรมท่องเที่ยว) ซึ่งได้มีการปรับปรุงการเรียนการสอน เพราะเชื่อว่าหากนักศึกษามีการเรียนเฉพาะในมหาวิทยาลัย จะมีทักษะไม่เพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพ

สำนักวิชาฯ จึงได้จัดให้นักศึกษาไปเรียนภาษาอังกฤษในรายวิชาของหลักสูตร ณ ต่างประเทศ ที่ Malaysian Hospitality College (MH College) 3 เดือน ใช้คำอธิบายรายวิชา แผนการสอน และการวัดผลเช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจารย์เล่าว่าวิธีการสอนและการวัดผลของเขาต่างจากของเรา การเรียนการสอนที่ MH College เน้นให้นักศึกษาได้สื่อสารมากที่สุด การวัดผลก็วัดพัฒนาการเป็นหลัก แต่ของเราวัดที่การทำข้อสอบได้หรือไม่ได้

มีการ Pre-test & Post-test และ Pre-interview & Post-interview ซึ่งใช้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาวิเคราะห์ผลเพื่อเปรียบเทียบระดับภาษาที่พัฒนาขึ้น เราได้ดู Clip การสัมภาษณ์นักศึกษา 1 คน เห็นได้ชัดว่าภายหลังการเรียน นักศึกษามีความมั่นใจ ฟังได้ดี และกล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้นอย่างชัดเจน อาจารย์ก้ประเมินว่าการไปเรียนในต่างประเทศทำให้นักศึกษามีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย เราได้เห็นภาพกิจกรรมการเรียนการสอนที่ MH College ภาพที่พักอาศัย และกิจกรรมอื่นๆ เช่น งานเลี้ยง การไป fieldtrip 

การพานักศึกษาไปอยู่ต่างประเทศ ถึง 3 เดือน การดูแลนักศึกษาเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอควร

จะมีการต่อยอดเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษของนักศึกษาผ่านหลายกิจกรรม และหนึ่งในนั้นคือการจัดการเรียนการสอนแบบ Work-integrated learning ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะวิชาชีพและทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ณ โรงแรมที่เกาะสมุย เลือกโรงแรมที่รับแขกต่างชาติเป็นหลัก  (คณบดีบอกว่าแนวคิดนี้ได้มาจากหลักสูตรด้านวิทยาการสุขภาพ) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงแรมอย่างดียิ่ง มีการจัดที่พักและอาหารให้ มีเบี้ยเลี้ยงให้นักศึกษาประมาณ 100-120 บาท/วัน จัดที่พักให้อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ และมีห้องเรียนให้สำหรับ 4 รายวิชา นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากผู้ปฏิบัติงานจริง (ผู้ปฏิบัติงานจริงมาสอนให้) และได้ฝึกทักษะทีละ task

นอกจากนี้หลักสูตรจะจัดให้มีการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาถึง 3 ภาคการศึกษาด้วยกัน ปีที่ 3 จะเริ่มพานักศึกษาไปสู่โลกของการทำงานจริง เพราะไม่อยากให้นักศึกษาได้ปริญญากลับไปแล้วทำงานไม่เป็น ที่น่าชื่นชมคือในปีที่ผ่านๆ มามีนักศึกษาของหลักสูตรนี้ได้รับรางวัลนักศึกษาสหกิจศึกษาดีเด่นต่อเนื่องกัน และเมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้งานทำในตำแหน่งงานที่ดี

น่าชื่นชมการริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ของสำนักวิชาการจัดการ ทั้งๆ ที่สำนักวิชานี้มีอาจารย์จำนวนไม่มาก แต่ก็มีคนอาสาทำงานการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่ต้องอาศัยความพยายามและความมุ่งมั่นอย่างสูง

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 545989เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ท่าศาลา กล้วยอินเดีย แซบครับ

วันข้างหน้าหากมีโอกาสที่อาจารย์ JJ มาท่าศาลาอีก จะหาของอร่อยให้ทานอีกนะคะ

เป็นหลักสูตรที่น่าเรียนมากเลยนะคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท