ศิลาเพชร ตำบลจัดการสุขภาพ


ผู้เขียนมีโอกาสไปเรียนรู้เรื่องตำบลจัดการสุขภาพที่ตำบลศิลาเพชร ตำบลในฝันที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม วิถีชีวิตชุมชน ที่มีนาข้าว ห้างนา และสายน้ำไหลรินมาจากขุนเขาที่ตั้งตระหง่านทอดตัวเป็นแนวยาวเป็นฉากหลังของชุมชน ช่างเป็นภาพที่งดงามยิ่งนัก ราวกับภาพวาดในจินตนาการเมื่อครั้งเด็กๆ ที่มักจะวาดประจำในชั่วโมงศิลปะ

“ตำบลศิลาเพชร” อำเภอปัว อยู่ห่างจากตัวอำเภอปัวประมาณ ๑๓ กม. ห่างจากตัวเมืองน่าน ประมาณ ๖๐ กม. ลักษณะพื้นที่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา พื้นที่ลุ่มน้ำ มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ทอดยาวต่อกันจากตำบลศิลาแลงมาถึงศิลาเพชร ส่วนมีอาชีพเกษตรกรรม ยังมีการลงแขกช่วยเหลือกัน เป็นหมู่บ้านไทลื้อ ๑๐ หมู่บ้าน มีความเป็นอยู่แบบพอเพียง เอื้ออาทรกัน เป็นต้นกำเนิดของเมืองน่าน มีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า “ศิลาเพชรตำบลน่าอยู่ ประชาคมเข้มแข็งมุ่งวิถีพอเพียงเคียงคู่การพัฒนา

การดำเนินการตำบลจัดการสุขภาพ เริ่มมาจากการดำเนินงานต่อเนื่องจากหมู่บ้านจัดการสุขภาพ โดยร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน ซึ่งได้ปัญหาสุขภาพสำคัญคือ ปัญหาโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง และผู้พิการ แล้วนำปัญหามาวิเคราะห์หาสาเหตุและกำหนดแนวทางร่วมกัน

ตำบลจัดการสุขภาพประกอบด้วย

Ø ระบบเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ โรงเรียนชาวนา, บ่อแก๊สชีวภาพ

Ø ระบบวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ ผ้าทอไทลื้อ โฮมสเตย์ แปรรูปอาหาร(ข้าวแต๋น, แหนม, น้ำพริก) การปั้นหม้อ

Ø ระบบอาสาสมัครดูแลสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มอสม.และจิตอาสาดูแลผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน

Ø ระบบกู้ชีพกู้ภัย ได้แก่ ทีมกู้ชีพกู้ภัยของอบต. และของเอกชน

Ø ระบบสวัสดิการชุมชน ได้แก่ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มกองทุนเงินล้าน กลุ่มสวัสดิการชุมชนบ้านดอนมูล

Ø ระบบสาธารณสุข ได้แก่ รพ.สต.ศิลาเพชร และรพร.ปัว ในการจัดบริการด้านสุขภาพ และสนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพ

มีคณะกรรมการตำบลจัดการสุขภาพระดับตำบล และหมู่บ้าน ที่มาจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน มีการอบรมนักจัดการสุขภาพทุกปี

มีการร่วมกันจัดทำแผนงานโครงการขับเคลื่อนด้านสุขภาพ โดยใช้กองทุนต่างๆ ที่มีอยู่ ได้แก่ กองทุนสุขภาพตำบล จำนวน ๑๑ โครงการ, กองทุนสสม.หมู่บ้านละ ๑ หมื่นบาท, โครงการสสส. ๑ โครงการ, งบอบต. ๒ โครงการ, เงินปันผลจากกองทุนต่างๆ ในหมู่บ้าน

กระบวนการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

Ø การคัดกรองสุขภาพโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับอสม.

Ø การฟื้นฟูสุขภาพที่บ้าน โดยมีอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมเข้าไปดูแลผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุดูแลด้านการความดันโลหิต การกินยา แนะนำการกินอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการอารมณ์ การไปตรวจตามนัด

Ø ทีมหมอพื้นบ้าน ที่รวบรวมภูมิปัญหาด้านการแพทย์แผนไทย สมุนไพร

Ø การดำเนินงานชุมชนลดเสี่ยงลดโรค จำนวน ๓ หมู่บ้าน

Ø ส่งเสริมการออกกำลังกาย โดยการเดิน รำไม้พลอง เล่นเปตอง กีฬา

Ø ทันตกรรมชุมชน โดยมีการอบรมอสม.เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมชุมชน หมู่บ้านละ ๓ คน ในการดูแลทันสาธารณสุขในชุมชน

Ø ค้นหาบุคคลต้นแบบ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ และนำมาถ่ายทอดประสบการณ์

Ø ดำเนินการโครงการตำบลสุขภาวะ เครือข่ายตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่โดยดำเนินการโครงการศิลาเพชรสดใสลดขยะ มีกรรมการมนุษย์ทองคำ ดำเนินการส่งเสริมการจัดการขยะในครัวเรือน การออกมาตรการจัดการขยะในบริเวณตำตกศิลาเพชรซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลและจังหวัด

Ø การดำเนินงานอาหารปลอดภัย – การเจาะเลือดหาสารพิษตกค้างในเกษตรกร ส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ การทำนาอินทรีย์ มีหลักสูตรการเรียนโรงเรียนชาวนาร่วมกับโรงเรียนศรัทธาศิลาเพชร ส่งเสริมการกินอาหารเป็นยา การดำเนินงานสุขาภิบาลอาหาร การประกอบอาหารในงานเลี้ยงในชุมชน มีการสุ่มสำรวจร้านค้าร้านชำและการตรวจประเมินสารปนเปื้อนในอาหาร (บอแรกซ์,สารฟอกขาว,สารกันรา,ฟอร์มาลีน,แบคทีเรีย) ส่วนกลุ่มท่องเที่ยวโฮมสเตย์มีเมนูอาหารพื้นบ้านที่เป็นอาหารปลอดภัยสำหรับเลี้ยงแขก ส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารให้มีคุณภาพและปลอดภัย

Ø กำหนดมาตรการชุมชน

o การใช้สารเคมี โดยห้ามใช้บริเวณใกล้แหล่งน้ำ ๒๐๐ เมตร, ในชุมชน

o การจัดการขยะในบริเวณน้ำตกศิลาเพชร โดยการมัดจำเงิน ๒๐ บาท สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำอาหารเข้ามาแล้วต้องมีการนำกลับคืนไป ถ้าไม่มีการนำกลับคืนมาก็จะถูกริบเงินมัดจำไว้

o อาหารปลอดภัยในงานเลี้ยง ให้มีสารวัตรอาหารดูแล ห้ามนำอาหารดิบเลี้ยงแขก มีการเก็บตัวอย่างอาหารไว้สำหรับการตรวจหาเชื้อ

o ยาเสพติด

Ø การดำเนินการด้านการป้องกันภัยพิบัติ โดยมีการจัดทำแผนรับภัยพิบัติร่วมกัน การซ้อมแผนบนโต๊ะการช่วยเหลือผู้จมน้ำ แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย และการเฝ้าระวังโรคระบาดในพื้นที่ มีหน่วย OTOS ของอบต. และของเอกชน ที่คอยส่งต่อผู้ป่วยตลอด ๒๔ ชม.

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

Ø มีบุคคลต้นแบบด้านสุขภาพ เป็นวิทยากร

Ø มีโรงเรียน อสม.ในเรื่องการฟื้นฟูผู้พิการ

Ø เกิดนวัตกรรม ในเรื่องหมอฟันชุมชน

Ø มีศูนย์การเรียนรู้ในเรื่องโรงเรียนชาวนา

Ø เป็นที่ศึกษาดูงาน ในเรื่องอาหารปลอดถัย

Ø มีการสร้างเครือข่ายการพัฒนาความร่วมมือระหว่างตำบลในเรื่อง ตำบลสุขภาวะ

Ø วิสาหกิจชุมชนดีเด่นกลุ่มแปรรูปอาหาร ศิลาเพชรโฮมสเตย์เกษตรอินทรีย์

Ø ผลงานเด่น/ที่ภาคภูมิใจ คือการพัฒนาระบบบริการ ใกล้บ้าน ใกล้ใจ แบบบูรณาการ

จากการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ราว ๒ ชั่วโมง ได้เห็นภาพของการบูรณาการในการจัดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ที่มีมิติสุขภาพเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลายๆ ฟันเฟือง ที่หมุนไปอย่างต่อเนื่อง ของห่วงโซ่การพัฒนาที่นำเอาวิถีชีวิตธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมร้อยคน กิจกรรม และทุนทางสังคมที่มีอยู่ ภาพของศิลาเพชรวันนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่ตำบลที่มีน้ำตกศิลาเพชรอันลือชื่อ หากแต่มีกระบวนการของชุมชนที่เข้มแข็งที่น่าภาคภูมิใจยิ่งนัก

ขอบคุณเรื่องราวดีดีจากชุมชนตำบลศิลาเพชร และรูปภาพสวยสวยจาก รพ.สต.ศิลาเพชร

หมายเลขบันทึก: 545972เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดีมากๆ เลยค่ะ เป็นกำลังใจทำดีต่อไปนะคะ

ขอบคุณบันทึกที่ดีและมีประโยชน์นะคะ

เป็นกำลังใจให้เช่นกันค่ะ สู้ๆเพื่อสุขภาพคนในชุมชน

-สวัสดีครับ

-ตามมาชมกิจกรรมดี ๆครับ

-เป็นกำลังใจให้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท