เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๕ - ๙ สิงหาคม ๒๕๕๖



๑๐  สิงหาคม  ๒๕๕๖

เรียน  เพื่อนครู  ผู้บริหาร และผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๕ สิงหาคม  ๒๕๕๖  เมื่อคืนกลับจากชุมพรเพื่อไปงานฌาปนกิจศพ นายนิยม วัฒนกุล ถึงที่พักดึก ลงไปคราวนี้แบบเช้าไปเย็นกลับ พบมิตรรักแฟนเพลงได้เพียงเล็กน้อย ก่อนออกจากเขตชุมพร แวะชมหอประชุมและห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๗๖ (บ้านพละ) ของ ผอ.ศักดิ์สิทธิ์  แร่ทอง ทำได้ยอดเยี่ยมมาก รวมถึงการพัฒนาอาคารสถานที่ให้ทันสมัยและสวยงาม ใครผ่านไปสามารถแวะชมได้ไม่ผิดหวัง  ตื่นเช้าเข้าสำนักงานทำงานเอกสารที่ห้องชั้น ๓ เนื่องจากต้องปิดงบประมาณจึงไม่อยากให้แฟ้มค้างโต๊ะ  กินข้าวกลางวันที่ห้องมีกับข้าวพิเศษแกงกล้วยเล็บมือนางดิบกับไก่บ้าน ฝีมือคุณวิชชุนัย ชุมคช สำหรับกล้วยดิบเป็นของในสวนหลังบ้านคุณมาลี โภชนาทาน จากชุมพร คล้ายแกงป่าแต่น้ำขลุกขลิก ไม่ใส่กะทิ รสชาติกำลังดี บ่ายประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑ มีท่านสมชาย อัฒชากุล เป็นประธานการประชุม ซึ่งประธานคณะกรรมการการศีกษาขั้นพื้นฐาน ได้แต่งตั้งท่านเป็นประธานอย่างเป็นทางการแล้ว เรื่องงบประมาณเหลือจ่ายที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ปกติจะนำขอความเห็นชอบที่ประชุมก่อนเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติ สำหรับปีนี้เวลากระชั้นมากจนต้องเสนอท่านผู้ว่าฯอนุมัติก่อน จึงนำมาแจ้งที่ประชุมทราบ เรื่องเพื่อพิจารณาที่ประชุมได้ตั้งอนุกรรมการพิจารณางบประมาณแทนคณะกรรมการทำนองเดียวกับกรรมการคณะที่แล้ว เรื่องอื่น ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิได้เสนอให้จัดหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับนักเรียนเียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมปทุมธานี นอกจากนั้นในการประชุมคราวถัดไป คณะกรรมการเขตพิ้นที่การศึกษาจะรับฟังความเห็นจากผู้บริหารโรงเรียนถึงทิศทางพัฒนาการศึกษาของจังหวัดปทุมธานี เลิกประชุมออกมาลงชื่อในแฟ้มเอกสารจนเย็น ก่อนกลับที่พักไปห้างเซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์เพื่อเปลี่ยนซิม โทรศัพท์มือถือเป็น 3G 2100 ของค่าย AIS รู้สึกว่าสัญญานเน็ตจะเร็วขึ้น ดูหนังไม่กระตุก 

                                      

วันอังคารที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ ออกจากบ้านพักก่อน ๖ โมงเช้า แต่รถไปติดยาวช่วงถนนราชพฤกษ์บรรจบถนนบรมราชชนนี กว่าจะหลุดสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าไปได้ต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมง นำรถขึ้นไปจอดที่ชั้น ๙ โรงแรมปริ้นพาเลส มหานาค สถานที่ประชุม ผอ.เขต ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ ๖ - ๗ สิงหาคม  ๒๕๕๖ ตารางประชุมเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เริ่มด้วยพิธีเปิดและมอบนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเลขาธิการ กพฐ. ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ท่านซอยนโยบายของท่านรัฐมนตรีให้ที่ประชุมรับทราบแบบละเอียดละออ แม้อีก ๕๖ วันท่านจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ไฟยังแรงมาก มากกว่าผมที่ต้องต่อสู้กับความง่วงตลอด ๒ ชั่วโมง  จากนั้นวิทยากรภายนอกจากสมาคมการศึกษาทางเลือกแห่งประเทศไทย มาเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ทราบจากผู้บริหาร สพฐ. ว่าตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ จะปลดล็อคให้สามารถแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า ๖๐ คนได้ตามปกติ   ภาคบ่ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบาย ๘ ประการ พร้อมอธิบายที่มาที่ไปเกือบชั่วโมง กล่าวคือ (๑) เร่งปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน (๒) ปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู (๓) เร่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการสื่อสารมาใช้ในการปฏิรูปการเรียนรู้ (๔) พัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบได้กับระดับสากล (๕) ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน (๖) ส่งเสริมให้เอกชนและทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น (๗) เพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ (๘) พัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เลขาธิการ กพฐ. มานำอภิปรายถึงตัวชี้วัดคุณภาพของโรงเรียนตามโจทย์ที่รัฐมนตรีให้ไว้ ก่อนแบ่งกลุ่มไปศึกษาตัวชี้วัดและเกณฑ์ที่ สพฐ.ยกร่างไว้แล้วว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ให้นำมาเสนอที่ประชุมในวันพรุ่งนี้   ขากลับขับรถเลียบคลองผดุงกรุงเกษม มาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เจอรั้วลวดหนาม ตำรวจปราบจลาจลตั้งแถวเตรียมพร้อม ปิดการจราจรถนนราชดำเนินนอก ดูแล้วเมืองไทยน่ากลัวจัง ต่างจากที่ไปเห็นตำรวจทหารใน ๓ จังหวัดภาคใต้เห็นแล้วรู้สึกว่าน่าสงสารจัง 

                         

วันพุธที่ ๗  สิงหาคม  ๒๕๕๖  เต้ย หมู ภา และรองฯ ประพฤทธิ์ มารับที่บ้าน ไปส่งโรงแรมปริ้นพาเลส มหานาคเพื่อประชุม ผอ.เขต เป็นวันที่สอง ภาคเช้า ดร.สุรัฐ  ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศีกษาขั้นพื้นฐาน มาบรรยาย ให้ฟังถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ต่อด้วยประสบการณ์ตรงในการจัดการศึกษาจาก นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้จัดตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา บุรีรัมย์และเมืองพัทยา    เที่ยงฝากพรรคพวกช่วยเก็บรายการประชุมในภาคบ่ายให้ด้วย เดินทางไปกาญจนบุรีเพื่อบรรยายให้เจ้าหน้าที่ใน สพป.ปทุมธานี เขต ๑ ฟังในโปรแกรมพัฒนาบุคลากร ที่สายธาร ไอยรา รีสอร์ท อำเภอไทรโยค เย็นมีงานเลี้ยงแสดงมุทิตาจิตให้คุณธนะ โพธิ์ชัย นิติกรชำนาญการพิเศษ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖  ที่พักเป็นหลัง ๆ เหมือนกุฏิพระ ลดหลั่นกันไปตามตลิ่งของแม่น้ำแควน้อย นอนไม่ค่อยหลับเพราะปวดหัว จากอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นร้อนชื้นและฝนสลับกัน พึ่งยาแก้ปวดพอเอาตัวรอดไปได้

                          

วันพฤหัสบดีที่ ๘ สิงหาคม  ๒๕๕๖  อาหารเช้าที่รีสอร์ท ออกมาดูสินค้าที่ระลึกจากพ่อค้าที่ตามมาบริการนักท่องเที่ยวถึงที่ เป็นเสื้อยืดสกรีนตัวหนังสือและภาพให้เข้ากับแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี ขาออกเลาะแม่น้ำแควน้อยไปออกอำเภอไทรโยค ผ่านหน้า สพป.กาญจนบุรี เขต ๓ ข้ามทางรถไฟขึ้นเนินเพื่อไปออกถนนกาญจนบุรี-สังขละบุรี ผ่านน้ำตกไทรโยค ขึ้นเขาลงเนินไปจนถึงทองผาภูมิ แวะชมตลาดสด ซื้อปลาหัวยุ่งครึ่ง กก.จะนำไปทอดเป็นอาหารกลางวัน เดินทางขึ้นภูเขาสูงไปเรื่อย ๆ จนทันกับคณะซึ่งใช้รถบัส ๒ คัน ที่บริเวณน้ำตกเกริงกระเวีย หน้าสำนักสงฆ์สุญญตาราม ของพระยันตระในอดีต ให้แม่ค้าทอดปลาหัวยุ่งให้ กลิ่นรุนแรงมากเหมือนเผาหนังวัวแห้ง ที่สำคัญเกาะติดเนื้อผ้าอมตะยาวนาน 

                         

ให้รถบัสล่วงหน้าไปก่อน เพราะเส้นทางจากนี้ไปต้องทดสอบสมรรถนะรถและทักษะของคนขับเป็นสำคัญ แต่ละปีมีคนเอาชีวิตมาทิ้งที่ยอดเขานี้หลายชีวิต ผมรับราชการที่สังขละบุรี ๔ ปี จึงจดจำเส้นทางได้ดีแต่นั่นเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว ปัจจุบันดีกว่าเดิมเล็กน้อยเพราะมีคันกั้นขอบทางและคำแนะนำการใช้รถ เพียงปฏิบัติตามป้ายของกรมทางหลวงก็จะปลอดภัย ก่อนเที่ยงก็ถึงตัวอำเภอสังขละบุรี มีอาคารบ้านเรือนหนาแน่นกว่าเดิม ให้รถวนไปดูบ้านพักที่เคยอยู่ ก็ยังมีสภาพเดิม ๆ เที่ยงไปสมทบกับคณะกินข้าวที่ครัวสามประสบ ปรับปรุงใหม่ทันสมัยและกว้างขวาง จากร้านอาหารสามารถเห็นสะพานไม้หลวงพ่ออุตตมะที่ตรงกลางขาดจากน้ำท่วมเมื่อปลายเดือนที่แล้วยังไม่ได้ซ่อมแซม ที่เรยกว่าสามประสบเป็นเพราะบาิเวณนี้มีแม่น้ำ ๓ สายมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำรันตีและแม่น้ำบีคี่ รวเป็นแม่น้ำแควน้อย ปัจจุบันกลายเป็นท้ายเขื่อนวชิราลงกรณไปแล้ว บ่ายเดินทางไปด่านพระเจดีย์สามองค์ ฝนตกลงมาอย่างหนัก พวกเราหลบฝนในตลาดสินค้าฝั่งไทย มีเครื่องประดับ เฟอนิเจอร์ไม้ และสินค้าของป่าอื่น ๆ อุดหนุนกันไปหลายเงิน เพราะฝนตกหนักและนาน 

                           

ฝนหยุดเดินทางเข้าตัวอำเภอสังขละบุรี ข้ามไปฝั่งบ้านมอญ เพื่อชมวัดวังกวิเวการามของหลวงพ่ออุตตมะ พอสิ้นหลวงพ่อวัดทรุดโทรมเงียบเหงาไปมาก แต่ที่มีมากขึ้นคือร้านขายของหน้าเจดีย์พุทธคยาจำลอง สินค้าเป็นแบบเดียวกับที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย แม้จะจากไป ๒๕ ปี เมื่อถามถึงคนเก่า ๆ ก็ยังมีชีวิตอยู่หลายคน เช่น กำนันแดะ (นายไมตรี เสตพันธ์) คุณดำรง เจ๊มณี เจ้าของซองกาเลียรีสอร์ท นักธุรกิจที่กว้างขวางชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่เชียงรายถึงระนอง หลวงพี่โจละ วัดศรีสุวรรณ(กะเหรี่ยง) แต่หลวงพี่ตึ่ง วัดเสด็จ(มอญ) เพิ่งมรณภาพไป คืนนี้พักค้างที่พรไพลินรีสอร์ท ถามไปถามมาเป็นเจ้าของเดียวกับโรงแรมสีแดง หน้าโรงพยาบาลสังขละบุรี  ขึ้นสังขละบุรีครั้งแรกเห็นชื่อโรงแรมให้ฉงนว่าทำไมชื่อนี้ คำตอบที่ได้ง่ายมาก เจ้าของคือตัวภรรยาชื่อสี สามีชื่อแดง เอามารวมกันชื่อโรงแรมสีแดง รีสอร์ทพรไพลินลูกสาวเป็นผู้จัดการ เธอบอกว่าพ่อเสียไปหลายปีแล้วเหลือแม่ป่วยต้องลงไปหาหมอที่กาญจนบุรีทุกเดือน  หลังอาหารเย็นมีคาราโอเกะให้ร้องรำทำเพลงกันพอเพลิดเพลิน นั่งมองแสงไฟฝั่งบ้านมอญ ปัจจุบันเป็นไฟฟ้า สมัยก่อนเป็นแสงตะเกียง เลยหัวค่ำหน่อยก็ดับมืดทั้งเนินเขา เดี๋ยวนี้สว่างทั้งคืน 

                           

                         

วันศุกร์ที่ ๙  สิงหาคม  ๒๕๕๖ หลังอาหารเช้าไปเดินชมตลาดสังขละบุรี พืชผักวางขายมากกว่าเมื่อก่อน ที่มากเป็นพิเศษ คือ ลูกเนียงและสะตอ ดูแล้วยิ่งกว่าตลาดหลังสวนเสียอีก หน่อไม้ไผ่รวก ไผ่ตงทั้งสดทั้งต้ม ราคาไม่แพง ฟักแม้ว กก.ละ ๒๐ บาท เท่ากับราคาที่เขาค้อ ปลายากเขื่อนมีให้เห็นไม่มากเหมือนก่อน คงจะไปส่งตามร้านอาหารเสียมากกว่า สาย ๆ เดินทางกลับเส้นทางเดิม แต่ก็แวะชมวิวเป็นระยะ ๆ สลับการซื้อพืชไร่ไปเป็นเสบียง ถึงทองผาภูมิขึ้นไปชมสันเขื่อนวชิราลงกรณ (เขาแหลม) กลับลงมาทานข้าวพร้อมคณะอีก ๒ บัสที่ร้านอาหารแปดริ้ว เชิงสะพานริมแม่น้ำแควน้อยก่อนถึงสามแยกไปสังขละบุรีและกาญจนบุรี  จากนั้นมาแวะชมน้ำพุร้อนหินดาด ก่อนถึงไทรโยค มีคนลงแช่น้ำเหมือนกัน คนไทยต้องซื้อบัตร ผู้ใหญ่ ๑๐ บาท เด็ก ๕ บาท ชาวต่างชาติ ๔๐ บาท เป็นการบำรุง อบต. ฝรั่งรัสเซียนิยมมาอาบน้ำแร่กันมากจนต้องทำป้ายเป็นภาษารัสเซียแนะนำไว้    ฝนตกตลอดเส้นทาง มาแวะอีกครั้งที่ร้านขนมศรีฟ้า ตรงข้ามร้านวุ้นเส้นท่าเรือซื้อขนมยอดนิยม เค้กฝอยทอง   มาแวะทานอาหารเย็นที่ร้านโกเท้ นครปฐม แตกสาขามาจากบางเลน เป็นสาขาที่ ๓ กลับถึงที่พักประมาณหนึ่งทุ่มครึ่ง


                         

                         

"ยามบุญมากาไก่กลายเป็นหงส์

ยามบุญลงหงส์เป็นกาน่าฉงน

ยามบุญมาหมาหมูกลายเป็นคน

ยามบุญหล่นคนเป็นหมาน่าอัศจรรย์"


                                                              นายกำจัด  คงหนู

                             ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑



หมายเลขบันทึก: 545156เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2013 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท