แนวคิดการจัดการศึกษาในสังคมที่มีความหลากหลายของต่างประเทศ


หมายเหตุผู้เขียน บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนเรื่อง การจัดการศึกษาในสังคมที่มีความหลากหลาย : ความท้าทายที่ยังก้าวไปไม่ถึง ใช้ประกอบการเรียนวิชา สัมมนา ผู้เขียนได้เลือกเนื้อหาในส่วนที่เป็นแนวคิดจากต่างประเทศ เพื่อให้มีมุมมองที่หลากหลาย สามารถนำไปใช้ในบริบทของพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม

แนวคิดการจัดการศึกษาในสังคมที่มีความหลากหลายของต่างประเทศ  

ผู้เขียน กฤษฎา  กุณฑล

เขียนเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554

ความท้าทายของนักการศึกษาและผู้รับผิดชอบงานด้านการศึกษาในปัจจุบันคือ การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความหลากหลาย คำว่า”ความหลากหลาย” (diversity) เป็นคำที่ใช้ในการอธิบายความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น บุคลิกภาพ รูปแบบการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งความแตกต่างของกลุ่มหรือสังคม เช่น เพศ เชื้อชาติ ประเทศที่เกิด รวมทั้งวัฒนธรรม การเมืองและศาสนา ดังนั้นในโลกปัจจุบันที่มีความเป็นสากลหรือโลกไร้พรมแดน ส่งผลทำให้ประเด็นการอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายได้รับความสำคัญเพิ่มมากขึ้น (Virginia Tech Diversity Strategic Plan, 2010)


ภาพประกอบจาก http://blog.centerforautism.com/

จากการศึกษานโยบายทางการศึกษาของประเทศที่มีความหลากหลายในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เข้าใจมุมมองของศักยภาพความท้าทายในการกำหนดนโยบายการศึกษา และการนำนโยบายไปใช้ปฏิบัติของประเทศที่มีประชากรหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและภูมิหลังทางวัฒนธรรม ท่ามกลางความขัดแย้ง การปราบปราม การมีสภาพภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย บางประเทศมีความพยายามอย่างมากเพื่อแก้ไขปัญหาของการอยู่ร่วมกันผ่านนโยบายทางการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป Berns และคณะ (2010) ได้เสนอนโยบายการศึกษาเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายของประเทศต่าง ๆ สามารถสรุปแนวคิดสำคัญได้  7  ประการ ดังนี้

1.  การให้ความสำคัญกับนโยบายการศึกษาเพื่อการอยู่ร่วมกัน และการพัฒนาครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในสังคมที่หลากหลาย จากการวิเคราะห์นโยบายการศึกษาของประเทศบราซิล ซึ่งประสบปัญหาสำคัญของการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกัน  ข้อมูลในปีค.ศ. 2008 ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นคนผิวขาว ร้อยละ 53.7 มูแลตโต(ผสมกันระหว่างผิวขาวและผิวดำ) ร้อยละ 38.5  คนผิวดำ 6.2 และอื่น ๆ (ญี่ปุ่น อาหรับ อเมอริเดียน ร้อยละ 1.6) ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษาโปรตุเกสและเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน  พื้นฐานของระบบการศึกษาที่ไม่ดี นักเรียนที่มาจากภูมิหลังที่ไม่ดี ไม่ได้รับการศึกษาที่ดีเหมือนคนฐานะดีที่เรียนในโรงเรียนเอกชน การไม่รู้หนังสือของคนผิวดำที่ยังมีถึงร้อยละ 20 รัฐบาลมีงบประมาณน้อย ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนรัฐบาลอย่างเพียงพอ ในขณะที่บางรัฐที่มีรายได้สูง สามารถจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือนโยบายการศึกษาเพื่อการอยู่ร่วมกัน (coexistence) ไม่ได้รับความสำคัญ  ระบบการพัฒนาโรงเรียนที่ไม่ดี อัตราการอ่านออกเขียนได้ต่ำเช่นเดียวกับภูมิภาคที่ยังด้อยการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ถึงแม้จะมีการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาในสัดส่วนที่มาก รัฐบาลกลางจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและกลยุทธ์ทางการศึกษา ส่วนการปฏิบัติเป็นเรื่องของรัฐและท้องถิ่น

ปัจจุบันปัญหาหลักของประเทศบราซิลด้านระบบการศึกษาคือขาดการอบรมครู ซึ่งยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญจากรัฐบาล นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อจำกัดของสถาบันฝึกอบรมครูในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคนิควิธีสอนในสังคมที่มีความหลากหลาย รวมทั้งมีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นว่าครูได้รับการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน

2.  การจัดการศึกษาที่ตอบสนองความหลากหลายทางวัฒนธรรมและพหุนิยม โดยมีการนำไปใช้ในการออกแบบหลักสูตรเพื่อจัดการศึกษาระดับชาติและระดับจังหวัด การวิเคราะห์นโยบายการศึกษาของประเทศแคนาดา ประเทศที่รวมประชากรที่มีความหลากหลายอันเนื่องมาจากนโยบายเปิดรับผู้อพยพปีละมากกว่าสองแสนคน  ทำให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศในอุดมคติของความหลากหลายทางวัฒนธรรม (multiculturalism) และพหุนิยม (pluralism) มีการนำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองประเด็นนี้ไปใช้ในการจัดการศึกษาระดับชาติ และระดับมณฑล รัฐบาลประกาศนโยบายที่เป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายในกรอบสองภาษา (multiculturalism within a bilingual framework) คนกลุ่มน้อยได้รับโอกาสจากรัฐบาลในการรักษามรดกทางภาษา ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน

นโยบายการศึกษาและหลักสูตรของโรงเรียนได้รับการออกแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับประชาชน การมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยของแคนาดาและเพื่อปลูกฝังค่านิยมที่ใช้ร่วมกันซึ่งหนุนเอกลักษณ์ประจำชาติ ในขณะที่การยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาษา การศึกษาของรัฐได้เปิดโอกาสให้แต่ละมณฑลกำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนาตนเองและมุ่งเน้นไปที่การศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ตัวอย่างนโยบายการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมณฑล  Manitoba ซึ่งได้กำหนดนโยบายการศึกษาที่สำคัญสามประการ

ประการที่หนึ่ง การศึกษาเพื่อการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยนักเรียนทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสีผิว เพศ ภาษา มรดกทางวัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติ ความสามารถหรือศักยภาพทางปัญญา

ประการที่สอง การศึกษาเพื่อการพัฒนาทางวัฒนธรรมและภาษา คณะกรรมการจัดการศึกษามีเป้าหมายในการส่งเสริมความเป็นพหุนิยมทางวัฒนธรรม และช่วยให้นักเรียนที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้มีรับการพัฒนาทางการศึกษา  รวมทั้งได้สัมผัสถึงความเข้มแข็งของอัตลักษณ์

ประการที่สาม การศึกษาเพื่อช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจในการพัฒนาความภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem) รวมทั้งความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของตนเอง

โรงเรียนในประเทศแคนาดาที่รับผิดชอบนักเรียนที่มีความหลากหลายในแง่มุมต่าง ๆ ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐบาลกลางและระดับ มณฑลมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการเป็นพลเมือง สิ่งสำคัญคือการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมครู รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอและต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนชนกลุ่มน้อยและตอบสนองนโยบายทางวัฒนธรรม เพื่อรักษาสิทธิทางวัฒนธรรมและการศึกษาของประชากรพื้นเมืองของแคนาดาและผู้อพยพที่ไม่ใช่คนฝรั่งเศส

3.  การศึกษาเพื่อส่งเสริมการพึ่งพาระหว่างกันและการสร้างความร่วมมือกันระหว่างชุมชน ประเทศอิสราเอลยังคงมีปัญหาด้านอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ในสังคม ซึ่งได้เกิดมาอย่างยาวนาน ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมทั้งความไม่เท่าเทียมกันของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เช่น กลุ่ม Druze และกลุ่มเบดูอิน (Bedouin)

นโยบายการศึกษาแห่งชาติอิสราเอลสะท้อนให้เห็นถึงการมีเสรีภาพ และความเสมอภาคของสิทธิทางสังคมและการเมืองสำหรับพลเมืองทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อย่างไรก็ตามยังมีความรู้สึกทั้งในอดีตและยังคงอยู่ในปัจจุบันคือ ระบบการศึกษาของอิสราเอลเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบางกลุ่ม  นอกจากนั้นแล้วปัญหาเกี่ยวกับภาษาเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมากในอิสราเอล ภาษาฮิบรูและภาษาอาหรับที่ใช้เป็นภาษาทางการทั้งสอง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาในการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การทดสอบระหว่างช่วงชั้นและการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพ

การออกแบบการศึกษาเพื่อส่งเสริมการพึ่งพาระหว่างกัน และการสร้างความร่วมมือกันระหว่างชุมชนผ่านหลักสูตรที่เรียกว่า "การเรียนรู้จากเรื่องเล่าที่สำคัญทางประวัติศาสตร์” (Learning Each Other's Historical Narratives) เป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับการยอมรับในการจัดการเรียนการสอน ความตึงเครียดจากความแตกต่างกัน ของมุมมองทางประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลาง เรื่องเล่าจากประวัติศาสตร์ที่เขียนจากมุมมองของชาวยิว อิสราเอล และชาวอาหรับปาเลสไตน์ จะได้รับการแปลเป็นภาษาฮิบรูและภาษาอาหรับ และนำความคิดไปสอนในห้องเรียน เปิดเผยให้นักเรียนหลายมุมมองของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เดียวกัน จะช่วยเพิ่มความเข้าใจและความอดทนระหว่างกลุ่ม

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีโครงการที่อิสราเอลและนักศึกษาอาหรับทำงานร่วมกันในความพยายามที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมมรดกและวัฒนธรรมของพวกเขา โครงการ "เพื่อนสอนเพื่อน" เป็นโครงการที่นำนักเรียนยิวและอาหรับ ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นและครูผู้สอนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้สร้างความคุ้นเคยและมีส่วนร่วมในการศึกษาซึ่งกันและกัน หลักสูตรนี้จะใช้เวลาในช่วงเวลาเรียนปกติของโรงเรียน รวมทั้งมีกิจกรรมร่วมกันในด้านโบราณคดี ภาษาและการละคร

4.  การสร้างความใกล้ชิดกันของนักเรียนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์แตกต่างกันและการจัดกิจกรรมระหว่างโรงเรียนที่จะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และความเป็นเอกภาพแห่งชาติ ในประเทศมาเลเซียมีประชากรที่มีความหลากหลาย ประกอบด้วยคนมาเลเซียซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด กลุ่มชนพื้นเมืองของจีนและอินเดีย ภายใต้การปกครองของอังกฤษยุคอาณานิคม การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้ถูกแบ่งแยกเชื้อชาติ โดยมีนักเรียนชาวมาเลเซียที่เรียนในโรงเรียนของคนมาเลย์ นักเรียนจีนเรียนในโรงเรียนจีนที่ร่วมดำเนินการโดยชุมชนของตนเองและนักเรียนชาวอินเดียที่เรียนในโรงเรียนทมิฬตั้งโดยอังกฤษ (ที่นำเข้ามาใช้แรงงานจากประเทศอินเดีย) โดยมีข้อยกเว้นสำหรับมิชชันนารีคริสเตียนที่สามารถรับนักเรียนจากทั้งสามกลุ่ม

หลังจากที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ มาเลเซียได้พัฒนาระบบการศึกษาของชาติ โดยให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ การขจัดความยากจนและการให้โอกาสสำหรับชาวมาเลเซียให้มีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงด้านเศรษฐกิจและการศึกษา

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาและการอยู่ร่วมกันในประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วย  1) ระบบการศึกษาชาติที่ยอมรับ ตอบสนองความต้องการและส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรม สังคมเศรษฐกิจและการเมืองของทุกกลุ่ม 2)การใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาประจำชาติและยังคงสนับสนุนการอนุรักษ์และการเจริญเติบโตและวัฒนธรรมของชุมชนอื่น ๆ ในมาเลเซียและ 3) การกำหนดเป้าหมายสูงสุดของนโยบายการศึกษาที่ใช้ภาษาประจำชาติเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน

ในขณะที่ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติของมาเลเซีย ประชาชนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมยังมีอิสระในการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตัวเอง ในโรงเรียนขณะที่นักเรียนมุสลิมเรียนศาสนาอิสลาม คนที่ไม่ใช่มุสลิมสามารถเรียนจริยธรรมของศาสนาอื่น ๆ ที่ตนนับถือได้ นอกจากนั้นแล้วการให้ศึกษา”หน้าที่พลเมือง" สำหรับนักเรียนทุกคนเพื่อปลูกฝังความรู้สึกรักชาติและสอนนักเรียนให้อยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย

ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ ในขณะที่มาเลเซียใช้ภาษามลายูในโรงเรียนประถมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้วิชาภาษาจีนและภาษาทมิฬเป็นวิชาเลือก เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มเพิ่มขึ้นของนักศึกษาจีนและทมิฬ ทำให้เกิดการอภิปรายในสื่อและในวงการการศึกษากันอย่างกว้างขวาง สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมความใกล้ชิดของนักเรียนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน การจัดกิจกรรมระหว่างโรงเรียนจะส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นระหว่างนักเรียนและจะส่งเสริมให้เกิดความเป็นเอกภาพแห่งชาติอย่างแน่นอน

5.  การส่งเสริมความสามัคคี ความสมานฉันท์ การเข้าใจวัฒนธรรมและการเคารพซึ่งกันและกัน  การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของคนเผ่าทุตซี่ (Tutsi) และฮูตู (Hutus) สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาในประเทศรวันดา จากเหตุการณ์ดังกล่าวผู้รับผิดชอบได้มองเห็นความสำคัญของระบบการศึกษาที่มีต่อการสร้างความไว้วางใจ และความเข้าใจระหว่างกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน เป้าหมายหลักของนโยบายการศึกษาคือการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ การให้ความสำคัญกับการเข้าถึงวัฒนธรรมอื่น การส่งเสริมมนุษยธรรมและการเคารพซึ่งกันและกัน  ศูนย์พัฒนาหลักสูตรแห่งชาติ (NCDC) ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบหลักสูตรใหม่และการฝึกอบรมครู การกำหนดหลักการสำคัญไว้ในนโยบายการศึกษาใหม่ที่พยายามจะเสริมสร้างความสามัคคีและความสมานฉันท์ในชาติ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างทักษะชีวิต เช่น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การให้ความเคารพในความแตกต่างและเคารพสิทธิมนุษยชน

ความท้าทายของระบบโรงเรียนในประเทศรวันดาคือ การขาดครูที่มีคุณภาพอย่างรุนแรงอัตราส่วนของนักเรียนต่อครูอยู่ในเกณฑ์สูง ครูหลายคนถูกฆ่าตายจากสงครามทำลายชนชาติ ครูอพยพออกจากประเทศครูที่เหลืออยู่เป็นคนที่ขาดประสบการณ์และมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาครูที่มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียนมีความสามัคคี สามารถสร้างความสมานฉันท์ เข้าใจและยอมรับในวัฒนธรรมของผู้อื่น รวมทั้งมีความเคารพซึ่งกันและกัน

นับจากข้อมูลในปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศรวันดาเพียงเล็กน้อย คณะกรรมการเสริมสร้างความสามัคคีและความสมานฉันท์แห่งชาติ (NURC) ได้มีความพยายามที่จะสร้างกิจกรรมการเรียนการสอนที่สร้างความสามัคคีและความสงบสุขให้แพร่หลายในวงกว้าง เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันในชุมชน โดยมุ่งเน้นในกลุ่มครู ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความสามัคคีและไม่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนในทุกระดับ ผู้นำชุมชน ผู้ลี้ภัย ทหาร นักโทษ ครูและคนพิการได้เข้ามาส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศ

6.  การใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาระบบการศึกษาและการทำงานร่วมกันของครู ผู้ปกครองเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน  ในประเทศสหภาพแอฟริกาใต้ ซึ่งมีประชากรร้อยละ 79 เป็นคนผิวดำ ผลกระทบของระบบการปกครองที่ยังคงอยู่ในสถาบันการศึกษา ได้แก่ การมีอคติทางเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่ม ได้นำไปสู่ความแตกต่างในการจัดการศึกษา

สิ่งสำคัญสามประการในการปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี ค.ศ. 1996 ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ได้แก่ 1) นโยบายการศึกษาแห่งชาติที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถเลือกโรงเรียนให้ลูกตามความต้องการ 2) การกำหนดมาตรฐานชาติด้านการศึกษา และ 3) การศึกษาเพื่อการมีงานทำ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดนโยบายระดับชาติ จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนในทุกเมืองโดยตรง จัดหากองทุนสาธารณะให้กับโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพโดยรวมของการจัดการศึกษา 

ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการจัดการศึกษาคือการใช้ภาษาราชการ 11 ภาษา ซึ่งเป็นภาษาของคนแอฟริกันพื้นเมือง 9 ภาษา ภาษาอังกฤษและภาษาแอฟริกันซึ่งเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการเรียนรู้ นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลยังให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยในประเด็นการจัดการศึกษาเพื่อความหลากหลายและการศึกษาเพื่อการอยู่ร่วมกัน

หนึ่งในความท้าทายของสหภาพแอฟริกาใต้ในปัจจุบันคือ ถึงแม้รัฐธรรมนูญและนโยบายการศึกษาได้ระบุไว้ว่า ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของการศึกษา แต่ในความเป็นจริงแล้วโรงเรียนแถบชานเมืองและชนบทจำนวนมากอยู่ในสภาพที่ไม่ได้รับการพัฒนา ขาดการมีส่วนร่วมโดยชุมชน ดังนั้นองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาจึงมีนโยบายสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปรับปรุง
ระบบการศึกษา โดยครูและผู้ปกครองจะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็กให้มีคุณภาพดีขึ้น

7.  สร้างความเสมอภาคและโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน รวมทั้งสนับสนุนการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความหลากหลาย  ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดในโลก จากประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่การตั้งอาณานิคม การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ สิทธิพิเศษของคนบางกลุ่ม การต่อสู้ทางสิทธิมนุษยชนมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดนโยบายการศึกษาของชาติ

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 การศึกษาเพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นนโยบายการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญมาโดยตลอด การทำให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์และการมีส่วนร่วมของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ความพยายามลบภาพลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อส่วนรวม  หนังสือเรียนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และหลักสูตรจำนวนมากได้รับการปรับปรุงและให้ความสำคัญกับคนพื้นเมืองอเมริกัน ทาส การเคลื่อนไหวของสตรี เพื่อสร้างประสบการณ์กลุ่ม ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางบวกกับกลุ่มและการประนีประนอมในระยะยาว การดำเนินงานด้านการศึกษาและการปฏิรูปหลักสูตรได้ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย  รัฐบาลกลางและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีวิธีการที่โดดเด่นหลายอย่างเพื่อการศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น 1) การสนับสนุนความพยายามในการจัดการเรียนการสอนวิธีการที่แตกต่างกันเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในแต่ละวัฒนธรรม2) การใช้รูปแบบในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม โดยไม่ให้ความสำคัญกับอำนาจและฐานะทางเศรษฐกิจ 3) ใช้วิธีการศึกษาเฉพาะกลุ่ม เพื่อศึกษาเกี่ยวกับประวัติและประเด็นร่วมสมัยเกี่ยวกับคนผิวสี สตรี กลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ กลุ่มเกย์และเลสเบี้ยน 4)ส่งเสริมการศึกษาเพื่อความเป็นพหุวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นถึงอุดมคติของประชาธิปไตยในสังคมหลายฝ่าย นักเรียนจะได้รับการเรียนรู้ในการส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม
และความแตกต่าง
5) ใช้แนวคิดการปฏิรูปทางสังคมในการจัดการศึกษาเพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม สอนนักเรียนให้เรียนรู้ผลของการกดขี่และการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้และมีบทบาทในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลกลางและแต่ละรัฐได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนรัฐและการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ในปีค.ศ. 2001 รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายเพื่อให้เยาวชนอเมริกันทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูง (No Child Left Behind :NCLB) เป็นการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานครั้งใหญ่ มีหลักการสำคัญ 4 ประการคือ (1) Stronger Accountability for Results ให้รัฐและเขตการศึกษาถือเป็นภาระรับผิดชอบในการดูแลให้นักเรียนในโรงเรียนมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็กด้อยโอกาส (2) More Flexibility for States and Communities ให้รัฐและชุมชนบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลกลางได้ยืดหยุ่นมาก ขึ้น สามารถโยกย้ายงบประมาณที่ได้รับไปใช้โครงการอื่นที่มีความจำเป็นมากกว่าโดย ไม่ต้องขออนุมัติใหม่ (3) Proven Education Methods พัฒนาโปรแกรมการศึกษาและวิธีการเรียนการสอนภายใต้กระบวนการวิจัยที่เข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่ามีประสิทธิภาพในการสร้างศักยภาพแก่ผู้เรียน (4) More Choices for Parents ให้ผู้ปกครองย้ายนักเรียนไปโรงเรียนอื่นในเขตการศึกษานั้นได้หากโรงเรียนเดิมไม่ผ่านมาตรฐานที่รัฐกำหนดภายใน 2 ปีการศึกษาติดต่อกัน โดยโรงเรียนต้องเป็นผู้จัดบริการรับ-ส่งนักเรียนไปโรงเรียนใหม่ ซึ่งจากกฎหมายดังกล่าวส่งผลให้ลดช่องว่างของความแตกต่างของกลุ่มคนที่มีรายได้  เชื้อชาติ การด้อยความสามารถและข้อจำกัดจากการใช้ภาษาอังกฤษ ส่งผลให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศหลากหลายรูปแบบและมีเป้าหมายที่ชัดเจน

แหล่งค้นคว้า

Berns  et al.  2010.  Education Policy in Multi-Ethnic Societies: A Review of National Policies that Promote Coexistence and Social Inclusion.  (Online). http://www.brandeis.edu/ethics/pdfs/publications/EducationPolicy.pdf, December 22, 2010.

Virginia Tech. 2010.  Growing and Sustaining a Diverse and Inclusive Environment : The 2010-2013 Virginia Tech Diversity Strategic Plan.  (Online). http://www.vt.edu/diversity/diversity-strategic-plan.pdf, December 24, 2010.

เผยแพร่วันที่ 9 สิงหาคม 2556
หมายเลขบันทึก: 545057เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท