ขันติ หิต สุขาวหา ความอดทนนำมาซึ่งความสุข


ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช มีภาษิตบาลีอยู่ที่ตราโรงเรียนเขียนว่า

"ขันติ หิต สุขาวหา"

 

ขันติ แปลง่าย ๆ หมายถึง ความอดทน แต่ความอดทนที่เป็นขันติ คือ ความอดทนต่อความทุกข์ที่ได้รับ อดทนต่อความยั่วยวนที่มาปะทะ และอดทนที่จะให้สิ่งที่ผ่านไปแล้วผ่านพ้นไป  ขันติ จึงเป็นทั้ง ความอดทนที่จะเอาชนะในทางที่ดี อดทนที่จะไม่ยอมแพ้ในสิ่งที่ไม่ดี และอดทนที่จะให้อภัยกับคนที่ทำไม่ดีกับเรา

ขันติเช่นนี้ จึงจะ "นำมาซึ่งความสุข" ได้จริง ๆ ตามภาษิตที่ว่า

 

 

 

สภาพสังคมการเมืองทุกวันนี้ มีสิ่งกระตุ้นให้คนเกลียดกันอย่างมากมาย บรรยากาศทางสังคมเต็มไปด้วยถ้อยคำ รูปภาพ และความคิดที่จะแบ่งแยก แย่งชิง ผู้คนให้เป็นพวกเดียวกับคน พร้อมกันนั้น ก็ก่นด่าคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกับตนให้มีค่าต่ำกว่าคนและเหยียบย่ำลงอย่างสนุกสนาน

การลดทอนความเป็นมนุษย์ ใกล้เคียงกับภาษาบาลีที่เรียกว่า มิคสัญญี

มิคคะ หมายถึง ทราย เก้ง กว้าง สมัน หรือที่เรียกรวม ๆ ว่า "เนื้อ" รวมกับ สัญญา แปลว่า จำได้ หมายรู้  คำว่า มิคสัญญี จึงอาจหมายถึง "การเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเหมือนสัตว์ที่ล่าได้ ฆ่าได้ อย่างเพลินเพลิน"

ถ้าคนในสังคมเพลินเพลิดกับความย่อยยับฉิบหายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ยินดีปรีดาในความตายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นั่นย่อมหมายความว่า สังคมนั้นเข้าสู่กลียุคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

 

 

สิ่งที่ขันติจะช่วยเราได้มากทีสุด ก็คือ ทำให้เราไม่ด่วนตัดสินใจ ไม่ด่วนเผลอไผลไปตามอารมณ์ ไม่รีบลงมือทำไปตามสภาพเฉพาะหน้าที่ได้ยินได้ฟัง

ทั้งนี้ เพราะคนมีความขันติ คือคนที่มีความอดทน

อด คือ ไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้

ทน คือ ได้ในสิ่งที่ไม่อยากได้

พอรวมกันเป็นอดทนก็คือ ยืนหยัดท่ามกลางสภาพที่ลำบาก

ขันติ หรือ การอดทนที่ดีจึงไม่ใช่ความร้อนรน แต่ต้องเป็นความสุขุมรอบคอบ ซึ่งหมายถึง ต้องเย็นพอที่จะหาสาเหตุ หาที่มา หาความรู้เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นให้ได้ว่า สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์อยู่นี้มีสาเหตุมาจากอะไร  ถ้าทำได้ ก็จะไปสู่การสังเคราะห์หาวิธีการและหนทางที่ดี เพื่อแก้ปัญหาของความทุกข์นั้น ๆ ได้

แน่นอนว่า ขันติ ย่อมไม่ใช่การยอมอมทุกข์ไปเรื่อย ๆ โดยไม่คิดหาทางออก  (คิดว่าอย่างนั้นน่าจะเรียกว่า อรติ แต่ไม่แน่ใจว่าจะแปลว่าอย่างไรดี) เพราะการก้าวสู่ขันติธรรมนั้น สิ่งสำคัญนอกจากความอดทนแล้ว ที่ต้องมีอีกอย่างหนึ่งคือ ปัญญา และต้องมีความรู้ เพื่อที่จะได้เห็นปัจจัยที่มาของสภาพการณ์ที่เรามองว่าเป็นปัญหาได้อย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม และไม่เฉพาะเพียง สภาพการณ์ แต่รวมไปถึง มองเห็นใจตัวเองว่าเมื่อถูกสภาพที่ลำบากกระทบเข้าตัวเองเข้า ตัวเองยังคงความเป็นปกติของตนได้ดีเพียงใด

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญญาเท่านั้น จึงอดทนได้

ผู้มีปัญญาเท่านั้น จึงเอาความรู้ มาแก้ปัญหาได้

 

 

 

ขันติ หิต สุขาวหา

ความอดทน จึงนำมาซึ่งความสุข ฉะนี้เอง


ปล. แก้ไขคำผิด จาก ขันติ หิตวา สุขาวหา เป็น ขันติ หิต สุขาวหา 9 สิงหาคม 2556 17:06 น.

หมายเลขบันทึก: 544964เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2013 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เข้าใจเขียนเรื่องขันติให้เข้าใจง่ายนะครับ

ทีมสันติวิธีงานยุ่งไหมครับ

ดีใจยิ่งที่ชอบครับผม

คนทำงานสันติภาพในชายแดนภาคใต้ตอนนี้ ยังคงตั้งใจทำงานด้วยความอดทน (ขันติ) อย่างสูงมากเลยครับ เพราะสถานการณ์ความรุนแรงที่นี้มีกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุเยอะมาก ๆ เลยครับ  บางทีก็ต้องอั้นลมหายใจไว้ก่อน เพื่อคิดทบทวนอะไร ๆ เยอะมากเลยครับผม

 

พุทธศาสนสุภาษิต น่าจะเพี้ยนไปหรือเปล่าครับ ที่ถูกน่าจะเป็นอย่างนี้

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=159353

ผิดจริง ๆ ครับ 

เนื่องจากเขียนแบบสด ๆ ตามความเข้าใจตนเอง จึงเขียนผิดพลาดไป ต้องขอบคุณคุณ pornphot ที่กรุณาชี้แนะด้วยครับผม

ปล. ประโยคนี้ ที่โรงเรียนแปลว่า ความอดทน นำมาซึ่งความผาสุก  แต่ผมก็จำที่อาจารย์สอนสังคมท่านหนึ่งบอกว่า แต่เดิมมันเป็นแค่ความสุข แต่ ผ.อ. ท่านหนึ่ง อยากให้มันกินความให้ครบ เลยไปให้พระท่านช่วยดู จึงเป็น ผาสุก ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท