งานประชุมวิชาการอีเลิร์นนิ่งแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๖


วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ วันนี้ต้องเดินทางไปร่วมงานประชุมวิชาการอีเลิร์นนิ่งแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๖ 
เดินทางออกจากบ้าน เวลา ๐๗.๓๐ น. ขึ้นรถสาย ๕๑๕ เวลา ๐๗.๔๐ น.ถึงอนุสาวรีย์ชัยเวลา ๐๙.๔๐ น.(ธรรมดาก็รถติดอยู่แล้ววันนี้มีการปิดถนนช่วงจากเขาดินจนถึงแยกมรภ.สวนดุสิต เป็นพื้นที่ควบคุมเนื่องจากกรณีที่มีการชุมนุมต่อต้านกฏหมายนิรโทษกรรม) ใช้เวลาเดินทาง ๒ ชั่วโมง มานั่งรอรถตู้ไปอิมแพคเมืองทองธานี อีกประมาณ ๑๐ นาที ถึง เมืองทองธานี ๑๐.๔๐ น.ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม 
๑ ปีมีครั้งเดียว โอกาสดีๆ ที่จะได้มีการชุมนุมของคณาจารย์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านอีเลิร์นนิ่งมาร่วมตัวกัน ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำผลงานด้านการเรียนการสอน การวิจัยด้านอีเลิร์นนิ่งมานำเสนอทำให้เห็นพัฒนาการของการเรียนการสอนออนไลน์ว่า ณ ปัจจุบันอยู่ระดับไหน? ใครทำอะไรไปบ้าง? อนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไร?
ในกลุ่มของผู้มีความเชี่ยวชาญด้านอีเลิร์นนิ่งที่ถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านนี้ก็มี รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ,รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย, ศาสตราจารย์ ดร.วิลาศ วูวงษ์, Professor Dr.Okabe Yoichi, Professor Dr. Daniel L Clay, Professor Dr. Zachary March, Professor Dr.Dae Joon Hwang, ฯลฯ 

ช่วงเช้ามาทันฟังการบรรยายของท่านอาจารย์รศ.ยืน ภู่วรวรรณ เรื่อง "เทคโนโลยีอุบัติใหม่ ความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้" ก็ได้รับความรู้ใหม่ๆ สมความตั้งใจ สมกับที่ต้องอดทนเดินทางมา
เวลา ๑๑.๔๐ น. ฟังการบรรยายพิเศษ รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย เรื่อง "Learning Styles and Brain-Based Learning"

ช่วงบ่าย
ฟังการนำเสนอกลุ่มย่อย แยกห้อง มีแต่หัวข้อวิจัยด้านอีเลิร์นนิ่งที่น่าสนใจทั้งนั้น แต่ในเมื่อต้องเลือกก็เลยเลือกไปนั่ง ที่ห้อง Sapphire Room ๑๑๐ ห้องนี้มีการนำเสนองานวิจัยและผลงานหลากหลาย มี 

๑) งานวิจัยเรื่อง ชุดเครื่องมือเรียนรู้ชนิดโต้ตอบ ๓ มิติ บนเว็บไซต์ สำหรับการเขียนแบบวิศวกรรม โดย...กฤตชัย บุญศิวนนท์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์ 
จุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ ได้พัฒนาชุดเครื่องมือการเรียนรู้ชนิดโต้ตอบ ๓ มิติ VR-Learning ทำให้นักศึกษา สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และสาขาออกแบบอุตสาหกรรม มีผลการเรียนรู้ที่สูงขึ้นกว่าวิธีการเรียนรู้แบบ ๒ มิติ

๒) งานวิจัยเรื่อง การพัฒนามหาวิทยาลัยในโลกเสมือนเพื่อเสริมสร้างความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยรังสิต โดย...ศิราภรณ์ ศิริพัลลภ, วลัยภรณ์ นาคพันธุ์, ดวงรัตน์ อาบใจ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยรังสิต 
จุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ ได้นำโปรแกรม Second Life มาสร้างมหาวิทยาลัยรังสิตในโลกเสมือนสามมิติ หรือที่เรียกว่า "RSU Virtual Campus" ในโลกของ Second Life นั้นมีการติดต่อสื่อสารกันระหว่างนักศึกษาและคนทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ยังมีการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศใน Second Life ด้วย ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามีการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศสำหรับนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย

๓) งานวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนเอ็มเลิร์นนิ่งโดยใช้กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ โดย...เพ็ญศรี ศรีสวัสดิ์ สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุพรรณบุรี
จุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ การพัฒนารูปแบบการสอนผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าเรียน ค้นหาข้อมูลที่อาจารย์ผู้สอนได้จัดเตรียมไว้ ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ และติดต่อสอบถามอาจารย์ผู้สอนได้ตลอดผ่านระบบออนไลน์ผ่านมือถือ แก้ปัญหาการที่นักศึกษาพลศึกษาไปเข้าค่ายเก็บตัวแข่งกีฬา

๔) งานวิจัยเรื่อง การเรียนรู้แบบต้นไม้ตัดสินใจด้วยโทรศัพท์อัจฉริยะสำหรับการวิจัยโรคเบื้องต้น โดย...รักษ์วริน วรรณศิลป์ สาขาวิชาแพทย์แผนไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร, กฤตชัย บุญศิวนนท์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์
จุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ การนำทฤษฎีการเรียนรู้แบบต้นไม้มาพัฒนาเป็นระบบออนไลน์ใช้ผ่านมือถือเพื่อการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ทำให้ง่ายต่อการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นของนักศึกษาแพทย์แผนไทย

๕) งานวิจัยเรื่อง ความต้องการบริการสารสนเทศผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย...อินทิรา นนทชัย นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, กันยารัตน์ เควียเซ่น กลุ่มวิชาการจัดการสารสนเทศและการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จุดเด่นงานวิจัยนี้ คือ ทำให้ทราบถึงความต้องการของผู้ใช้บริการศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ว่ามีความต้องการบริการสารสนเทศอะไรบ้าง ผ่านระบบอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นความต้องการพื้นฐานทั่วไปที่นักศึกษาหรือผู้ใช้ห้องสมุดต้องการให้ห้องสมุดหรือศูนย์บรรณสาร ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ มี และได้แนวทางในการพัฒนาห้องสมุดหรือศูนย์บรรณสาร ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้
๖) นำเสนอทางวิชาการ เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการสอนด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบพกพา โดย... พูลศรี เวศย์อุฬาร บัณฑิตวิทยาลัยการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
จุดเด่นของการนำเสนอ คือ การนำเสนอการเพิ่มประสิทธิภาพการสอนด้วยรูปแบบการเรียนรู้แบบต่างๆ เช่น การเรียนแบบยูเลิร์นนิ่ง(Ubiquitous Learning or u-Learning)

(ท่านอาจารย์ดร.พูลศรี เวศย์อุฬาร เป็นอาจารย์ที่สอนและให้ความรู้ในอีเลิร์นนิ่งมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม เป็นอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องอีเลิร์นนิ่งเป็นอย่างมากทุกครั้งที่ได้มาฟังอาจารย์บรรยายก็จะได้ความรู้ใหม่ๆอยู่ตลอด หลายเรื่องที่ท่านอาจารย์นำมาบรรยายผมว่าน่าจะเป็นคนแรกๆของประเทศไทยที่พูดถึงและนำมาใช้ จึงทำให้ต้องติดตามผลงานของท่านอาจารย์ตลอด)

*วันนี้ได้พบคณาจารย์หลักสูตร e-Pro หลายท่านเท่าที่พอจะนึกชื่อออกก็มี ท่านอาจารย์ปราวีณยา, ท่านอาจารย์อนิรุทธิ์, ท่านอาจารย์จินตวีร์, ท่านอาจารย์วรสรวง ฯลฯอีกหลายท่าน และคุณมณีรัตน์(นวล)และเจ้าหน้าที่ TCU หลายท่านที่คุ้นเคยกันแต่เดินหลบอายท่านอาจารย์เรียนหลักสูตรนี้ไม่จบนะ และเพื่อนๆหลักสูตร e-Pro

พรุ่งนี้มีประชุมอีกวัน คงต้องพึ่งรถประจำตำแหน่ง(พี่แท็ก)ซะแล้ว ประหยัดเวลาในการเดินทางแต่ไม่ประหยัดสตางค์

    

  

  

  

  

  

  

  

  

  

  

  


หมายเลขบันทึก: 544756เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์นะคะ

เสียดายที่ไม่่มีโอกาสไป แต่ขอบคุณอาจารย์มากค่ะที่นำความรู้ข่าวสารด้านนี้มาแบ่งปัน

ครับรายละเอียดเพิ่มดูที่ http://www.thaicyberu.go.th 

หลังงาน ทางTCU จะนำวิดีโอ และข้อต่างๆอัพโหลดไว้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท